สุรินทร์ พิศสุวรรณ : จากการมาถึงการอำลาจาก ตอนจบ

จรัญ มะลูลีม

ดร.สุรินทร์พยายามออกแบบประชาคมมุสลิมขึ้นใหม่ โดยทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการมุสลิม โดยเน้นทั้งการยกระดับจิตใจด้วยการศึกษาศาสนาและการเข้าสู่ประชาคมโลกผ่านการศึกษาวิชาการต่างๆ ซึ่งศาสนาอิสลามได้ส่งเสริมการศึกษาตามวิถีทางนี้อยู่แล้ว

ด้วยเหตุนี้ปอเนาะบ้านตาลและโรงเรียนที่สอนทั้งศาสนาและสามัญ อย่างเช่น โรงเรียนอิสลามศรีอยุธยามูลนิธิ โรงเรียนสันติชน ฯลฯ จึงเป็นจุดบรรจบของสองสายธารแห่งความรู้ (Convergence of the two streams of knowledge)

เวลาเดียวกันก็เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับชาวมุสลิมไทยสู่ประชาคมอาเซียนในที่สุด

ครอบครัวของ ดร.สุรินทร์อาศัยอยู่ในบ้านไม้หลังใหญ่แห่งนี้อันเป็นบ้านตามแบบฉบับของโต๊ะครูปอเนาะที่มีลูกศิษย์ลูกหามาหาอยู่ประจำ

ขณะที่อาเย๊าะฮ์หรือคุณพ่อของ ดร.สุรินทร์ยังมีชีวิตอยู่นั้น บ้านหลังนี้จึงเป็นดั่งศูนย์รวมทางจิตวิญญาณของผู้คนที่มาแสวงหาความรู้และความเข้าใจ รวมทั้งการมีชีวิตอยู่ตามหลักการศาสนา

คุณแม่เศาะฟียะฮ์ได้รับการศึกษาด้านศาสนาอิสลามจากนครมักกะฮ์ อันเป็นนครที่ชาวมุสลิมทั่วโลกมุ่งหวังจะได้เดินทางไปยังศาสนสถานแห่งนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนครแห่งนี้เป็นศูนย์รวมของชาวมุสลิมไม่น้อยกว่า 2 ล้านคนทุกปีจากทั่วโลกเพื่อมาประกอบพิธีฮัจญ์

คุณแม่เศาะฟียะฮ์เล่าให้ผมฟังเมื่อผมตั้งคำถามว่าระหว่างการให้ลูกเป็นโต๊ะครูกับการได้มีโอกาสเป็นรัฐมนตรี คุณแม่จะเลือกการเป็นโต๊ะครูหรือเป็นรัฐมนตรี

คุณแม่เศาะฟียะฮ์กล่าวตอบอย่างไม่ลังเลว่า ถ้าเลือกได้ก็อยากให้ลูกเป็นโต๊ะครูมากกว่า เพราะจะได้เป็นผู้ที่ถ่ายทอดจริยธรรมและคุณธรรมให้กับสังคมมุสลิมในวงกว้าง

แต่เมื่อลูกชายเลือกที่จะอยู่ในเส้นทางการเมือง คุณแม่ก็ช่วยสนับสนุนอย่างเต็มที่และช่วยรณรงค์ให้ลูกชายได้เป็นผู้แทนราษฎรในช่วงก่อนการเลือกตั้งเสมอ

คุณแม่เป็นคนที่ชื่นชมนักการเมืองในจังหวัดนี้อย่างคุณสุรินทร์ มาศดิตถ์ จึงตั้งชื่อลูกชายว่าสุรินทร์เช่นกัน

 

ผมได้พบ ดร.สุรินทร์ครั้งสุดท้ายในวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2560 ที่ศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย รามคำแหง

ขณะที่เขานั่งอยู่กับ ส.ส.สามารถ มะลูลีม อดีต ส.ว. และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ และเป็นประธานศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ส่วนผมเป็นรองประธาน เพื่อให้มาพูดที่วิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ร่วมกับพระอาจารย์อารยวังโส เจ้าอาวาสวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย จังหวัดลำพูน และผม ในหัวข้อการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ ดร.สุรินทร์ติดภารกิจที่มาเลเซีย

สำหรับผม ดร.สุรินทร์เป็นทั้งพี่ ทั้งกัลยาณมิตร เป็นผู้มีคุณูปการต่อสังคมไทย สังคมมุสลิมและสังคมโลกโดยรวม เขาเป็นตัวแบบของคนไทยและคนในสังคมมุสลิม รวมทั้งเป็นที่ชื่นชอบของประเทศเพื่อนบ้าน

จนกระทั่งรัฐบาลมาเลเซียได้มอบตำแหน่งสูงสุดที่ให้แก่พลเรือนคือตำแหน่งตันศรี (Tan Sri) ให้กับเขาในปี 2015

ในการพบกันครั้งสุดท้ายเขาดูสดชื่น ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ได้มีอะไรที่แสดงให้เห็นว่าเขาจะกลับไปสู่อ้อมกอดของพระผู้เป็นเจ้าอย่างกะทันหันและสร้างความตกตะลึงให้แก่ครอบครัวและผู้ที่รักเขาอย่างมากแต่อย่างใด

แต่สำหรับชาวมุสลิมแล้วทุกคนเชื่อมั่นในคำสอนที่ว่าทุกคนเป็นสิทธิของพระผู้เป็นเจ้าและจะต้องกลับไปสู่ความเมตตาของพระองค์ในที่สุด

ก่อนหน้าการจากโลกนี้ไปสองสัปดาห์เป็นครั้งแรกๆ ที่เขามีเวลาอยู่บ้านอย่างน้อยติดต่อกันถึงสองสัปดาห์

เขาได้ใช้เวลาเหล่านี้นั่งรถเคียงคู่กับภริยาไปเยี่ยมเยียนคนที่เขาเคารพรู้จักและลงคะแนนให้ในสมัยที่เขาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเยี่ยมมารดา โดยเขาไม่อาจล่วงรู้ได้เลยว่าการเดินทางมานครศรีธรรมราชแผ่นดินที่เขารักและถือกำเนิดจะเป็นการเดินทางมาเยือนครั้งสุดท้าย ก่อนจะบินกลับกรุงเทพฯ

และให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ว่าด้วยความเติบโตของ ASEAN ในช่วงเช้าของวันที่ 30 พฤศจิกายน ปี 2560

 

วินาทีท้ายๆ ของชีวิตบนโลกนี้ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 เริ่มต้นด้วยการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ที่บ้านพักย่านรามคำแหง 24

หลังจากนั้น ดร.สุรินทร์ก็เตรียมเข้าเฝ้าพระผู้เป็นเจ้าด้วยการอาบน้ำละหมาดแล้วสวมเน็กไทโดยมีสูทวางอยู่ข้างๆ ตัวเขาเพื่อจะเข้าสู่พิธีละหมาดและเดินทางไปเปิดงาน Halal Assembly ที่ Impact เมืองทองธานี

ทั้งนี้ ตามกำหนดการหลังเปิดงาน Halal Assembly แล้วเขาจะต้องเดินทางไปสิงคโปร์ กลับมาเมืองไทยแล้วเดินทางต่อไปยังยุโรป

ขณะที่กำลังเตรียมตัวจะเข้าเฝ้าพระผู้เป็นเจ้า เขารู้สึกหายใจขัดข้องจึงบอกอาการที่เขากำลังเผชิญอยู่กับคุณอลิสา พิศสุวรรณ ผู้เป็นภริยา ซึ่งในเวลานั้นอยู่เคียงข้างกัน

ในเบื้องต้นเมื่อเห็น ดร.สุรินทร์มีอาการทรุดลงและวูบลงไป คุณอลิสาได้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น และโทร.เรียกน้องชายของ ดร.สุรินทร์ที่เพิ่งเดินทางกลับจากซาอุดีอาระเบียและเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดในบ้านพักมาช่วยกันปฐมพยาบาล

บ่ายสามโมงเจ็ดนาทีเป็นเวลาที่ ดร.สุรินทร์หายใจเป็นครั้งสุดท้ายโดยที่ศีรษะของเขายังคงวางอยู่บนหน้าตักของคุณอลิสาผู้เป็นคู่ชีวิตก่อนจะอำลาสังคมและประเทศที่เขารักไปชั่วนิรันดร์สมัย

 

บทส่งท้าย

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เริ่มต้นชีวิตการศึกษาจากปอเนาะและโรงเรียนวัดบ้านตาล จบประถม 4 จากโรงเรียนวัดบ้านตาลและหลักสูตรศาสนาเบื้องต้น (ฟัรฎูอัยน์) จากปอเนาะบ้านตาล ต้องเดินทางไป-กลับจากบ้านไปโรงเรียนวัดบ้านตาลถึงวันละ 20 กิโลเมตร โดยใช้เวลาไป-กลับ 2 ชั่วโมงเต็ม

จากวัดบ้านตาล ดร.สุรินทร์ได้เข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในปี 2509 ที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศและโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช

ต่อมาได้สอบชิงทุนอเมริกันฟิลด์เซอร์วิส (AFS) ไปศึกษาต่อระดับมัธยมปีสุดท้ายที่เมืองริชฟอร์ด รัฐมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา

กลับจากสหรัฐในปี 2510 และเข้าศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เรียนคณะรัฐศาสตร์อยู่สองปี ได้รับทุนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแคลมองต์ รัฐแคลิฟอร์เนีย จบปริญญาตรีเกียรตินิยม พร้อมด้วยผลงานวิทยานิพนธ์ “ทฤษฎีการเมืองอิสลาม”

จากหัวข้อดังกล่าว จึงได้รับการผลักดันจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเดียวกันให้ไปเรียนปริญญาเอกที่ ม.ฮาร์วาร์ด

ต่อมา ม.ธรรมศาสตร์เชิญมาเป็นอาจารย์และติดต่อกับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ที่ให้ทุนการศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์และกิจการภูมิภาคตะวันออกกลาง

โดยเขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง อิสลามและแนวคิดเรื่องเชื้อชาตินิยมของชาวมาเลย์มุสลิมในภาคใต้ของไทย

ในขณะที่เป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์อยู่ได้รับเชิญไปร่วมโครงการวิจัย Congressional fellowship 1 ปี และมีโอกาสได้ศึกษาการเมืองในรัฐสภาอเมริกันอย่างครอบคลุม

กลับมาเมืองไทยได้ 2 ปี มีการยุบสภาในปี 2529 ได้รับการเชิญชวนสู่เวทีการเมืองในนามพรรคประชาธิปัตย์

เข้าสู่ถนนการเมืองระหว่างปี 2529-2548 และดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลายครั้ง ทั้งรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ รัฐมนตรีต่างประเทศ รวมทั้งเป็นฝ่ายค้านและรัฐบาล

ขณะดำรงตำแหน่งมีบทบาทสำคัญ เช่น นำประเทศไทยเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ของ OIC องค์การภูมิภาคแห่งอเมริกา (OAS) ความร่วมมือด้านความมั่นคงยุโรป

ผลักดันให้ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นขึ้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) จนประสบผลสำเร็จ

และเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนในวันที่ 5 มกราคม 2550 จนถึงปี 2555

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นผู้เชื่อมั่นในสันติภาพ คุณค่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนจวบจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต