สุจิตต์ วงษ์เทศ/เลี้ยงผี เดือน 5 เมษายน สงกรานต์ของแขกพราหมณ์ ถูกแปลงเป็นไทยพุทธ สมัยอยุธยา

วัวควายและสัตว์ศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ มีตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ราว 2,500 ปีมาแล้ว ทั้งในไทยและเพื่อนบ้านโดยรอบ จึงมีพิธีกรรมเป็นมรดกตกทอดถึงสมัยอยุธยา เรียกวัวชน, กระบือชน, ชุมพาชน, รันแทะ เป็นต้น กรมศิลปากรคัดลอกจากภาพเขียน (กลุ่มบน) ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี (กลุ่มล่าง) อ.ภูกระดึง จ.เลย [จากหนังสือ ศิลปะถ้ำจังหวัดเลย กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2534]

สุจิตต์ วงษ์เทศ

เลี้ยงผี เดือน 5

เมษายน สงกรานต์ของแขกพราหมณ์

ถูกแปลงเป็นไทยพุทธ สมัยอยุธยา

เดือน 5 เป็นหน้าแล้ง ทำนาทำไร่ไม่ได้ ไม่มีฝนตกตามฤดูกาล บรรดาคนพื้นเมืองมีประเพณีเลี้ยงผีบรรพชนกับเลี้ยงผีเครื่องมือทำมาหากิน สืบเนื่องจากยุคก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้ว
สงกรานต์ เดือนเมษายนทางสุริยคติ (อยู่ในช่วงเวลาเดียวกับเดือน 5 ทางจันทรคติ) ซึ่งเป็นประเพณีของแขกพราหมณ์ในอินเดียที่ไทยรับเข้ามาไว้ในราชสำนัก แล้วแปลงเป็นประเพณีพุทธตั้งแต่สมัยอยุธยา
ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประเพณีเลี้ยงผีกับสงกรานต์จะกลืนเข้าหากันเป็นเนื้อเดียว แล้วเรียกรวมๆ ว่า “สงกรานต์” สืบจนทุกวันนี้ มีหลักฐานในวรรณกรรมต่างๆ

ประเพณีหลวง สมัยอยุธยา

นิราศธารโศก ของเจ้าฟ้ากุ้ง เป็นกาพย์ห่อโคลง วรรณกรรมยุคปลายอยุธยาพรรณนาถึงประเพณีหลวงในเดือนห้า มี 2 งาน ได้แก่ ออกสนาม กับ สงกรานต์ ดังนี้

๏ เดือนห้าอ่าโฉมงาม การออกสนามตามพี่ไคล
สงกรานต์การบุญไป ไหว้พระเจ้าเข้าบิณฑ์ถวาย
๏ เดือนห้าอ่ารูปล้ำ โฉมฉาย
การออกสนามเหลือหลาย หลากเหล้น
สงกรานต์การบุญผาย ตามพี่
พระพุทธรูปฤๅเว้น แต่งเข้าบิณฑ์ถวาย

เดือนห้า หลังเก็บเกี่ยว

เดือนห้า หมายถึง เดือนลำดับที่ 5 (ในเดือน 1-12 เป็น 1 ปี) ตามปฏิทินทางจันทรคติ (ยกพระจันทร์เป็นแกน)
อยู่ในช่วงเวลาหลังฤดูเก็บเกี่ยว นับเป็นหน้าแล้ง (หน้าร้อน) น้ำลดหดหายทั่วทุกหัวระแหงนานราว 3 เดือน คือเดือน 4, 5, 6
มีงานเลี้ยงผีเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ธัญญาหารให้ชุมชน ซึ่งเป็นพิธีกรรมทำสืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้ว
เดือนห้าทางจันทรคติ ตรงกับเดือนเมษายนทางสุริยคติ (ยกพระอาทิตย์เป็นแกน)
เมษายน เป็นชื่อเดือนลำดับที่ 4 ตามปฏิทินทางสุริยคติ (ของสากล) ซึ่งไทยรับจากอินเดียพร้อมกับรับพิธีกรรมตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ ขึ้นราศีใหม่จากราศีมีน เป็นราศีเมษ เรียก “มหาสงกรานต์”

ออกสนาม สืบเนื่องจากเลี้ยงผีพื้นเมือง

ออกสนาม หมายถึงงานพระราชพิธีมีการละเล่นกลางแจ้ง (เป็นรัฐนาฏกรรม) ในสนามหน้าจักรวรรดิ ซึ่งเป็นพื้นที่ว่างในกำแพงวังหลวงชั้นนอก ด้านทิศตะวันออก
พระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกประทับในพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์
เป็นการละเล่นตกทอดสืบเนื่องจากพิธีเลี้ยงผีของชุมชนชาวบ้านตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้ว มีบอกในกฎมณเฑียรบาล ยุคต้นอยุธยา เรือน พ.ศ.2000 เช่น ล่อช้าง, รันแทะ, วัวชน, กระบือชน, ชุมพาชน, ช้างชน, คนชน, ปรบไก่, คลีชงโคน, ปล้ำมวย, ตีดั้ง, ฟันแย้ง, เชิงแวง, เล่นกล, คลีม้า ฯลฯ

สงกรานต์ นำเข้าจากอินเดีย

สงกรานต์ เป็นพิธีกรรมนำเข้าจากอินเดีย แพร่หลายทั่วไปในราชสำนักอาเซียนโบราณ ไม่เข้าถึงราษฎร
ดังนั้น สมัยแรกๆ บรรดาราษฎรไม่รู้จักสงกรานต์ สมัยอยุธยาประชากรไม่มีประเพณีสงกรานต์
ราชสำนักอยุธยามีสงกรานต์ โดยบรรดาพราหมณ์นักบวชประจำราชสำนักทำพิธีในเทวสถานประจำเมือง เช่น ศาลพระกาฬ อยู่ย่านตะแลงแกง (แปลว่าสี่แยก) กลางเกาะเมือง และอาจมีพิธีบางอย่างในราชสำนัก แต่ยังไม่พบหลักฐาน
“สงกรานต์การบุญไป ไหว้พระเจ้าเข้าบิณฑ์ถวาย” (ในกาพย์เจ้าฟ้ากุ้ง) หมายถึง เมื่อเข้าสู่สงกรานต์ พากันไปทำบุญเลี้ยงพระในวัด เป็นหลักฐานสำคัญอย่างยิ่งว่าพิธีพราหมณ์ในเทวสถานถูกทำให้เป็นงานบุญในพุทธสถาน (คือวัด) ไปแล้วตั้งแต่ก่อนแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ แต่เป็นพิธีของหลวงเท่านั้น ยังไม่แพร่หลายลงสู่ชาวบ้าน (จะเป็นต้นแบบแพร่หลายลงสู่ชาวบ้านทำบุญเลี้ยงพระวันสงกรานต์ในยุครัตนโกสินทร์ หลัง ร.3)
“เข้าบิณฑ์” เป็นคำเก่า ตรงกับปัจจุบันว่าข้าวบิณฑ์ หมายถึงข้าวสุกในกรวยใบตองถวายพระพุทธเจ้า
บุญสงกรานต์ยุคอยุธยา เป็นประเพณีในศาสนาไทย (หมายถึงความเชื่อผสมปนเปกันระหว่างผี, พุทธ, พราหมณ์)