ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์/MIDNIGHT SUN ‘พระอาทิตย์เที่ยงคืน’

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์
นพมาส แววหงส์

MIDNIGHT SUN

‘พระอาทิตย์เที่ยงคืน’

กำกับการแสดง Scott Speer
นำแสดง Bella Thorne Patrick Schwarzenegger Rob Riggle Quinn Shepherd

เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแถบนอร์เวย์ ฟินแลนด์ สแกนดิเนเวีย อลาสกา หรือขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้นะคะ จึงจะมีพระอาทิตย์ลอยใกล้ขอบฟ้าให้เห็นได้ในตอนเที่ยงคืน ตามความหมายตรงตัวของชื่อหนัง
แต่เป็นแสงตะวันที่ให้ความอบอุ่นอีกแบบหนึ่งต่างหาก…
หนังเรื่องนี้เป็นเวอร์ชั่นฝรั่งของหนังวัยรุ่นญี่ปุ่นหวานแกมขมอมเศร้าในชื่อเดียวกันที่ออกฉายเมื่อ ค.ศ.2006 (พ.ศ.2549)
และใช้นักแสดงชื่อดังสองคนในวัยแรกแย้ม เป็นคู่ขวัญในเรื่องเศร้าเคล้าน้ำตาแบบเดียวกับ Love Story ที่ติดตรึงใจคนดูจากความรักของพระเอกไรอัน โอนีล กับนางเอกอาลี แม็กกรอว์ ที่ต้องพรากจากกันไปก่อนวัยอันสมควร
นางเอกของเรื่องเป็นสาวน้อยวัยสิบเจ็ดชื่อ เคที ไพรซ์ (เบลลา ธอร์น) ผู้มีความฝันถึงอ้อมกอดของแม่ผู้จากไปตั้งแต่เธอยังเด็ก
เธอฝันถึงแสงแดดอันอบอุ่นที่ลูบไล้ผิวกาย ดังที่เราจะได้รับคำบอกเล่าสั้นๆ แบบได้ใจความจากตัวเธอเองว่า เธอเป็นโรคที่หาได้ยากยิ่ง มีคนเพียงหนึ่งในล้านเท่านั้นที่เป็นโรคนี้
โรคนี้มีชื่ออันยืดยาวเรียกยากว่า xenoderma pigmentosum จึงมักเรียกด้วยอักษรย่อว่า เอ็กซ์พี (XP)
อาการของโรคคือการแพ้แสงแดดอย่างรุนแรง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้แบบเฉียบพลัน และในกรณีของนางเอกคนนี้คือ ความบกพร่องของเซลล์ประสาทที่จะส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวและอาการมือสั่น เป็นต้น
เด็กที่เป็นโรคนี้ต้องใช้ชีวิตอยู่แต่ในเวลากลางคืน ดังนั้นจึงได้ชื่อเรียกเล่นๆ ว่า “moon children” ด้วย

เคทีเติบใหญ่ขึ้นอย่างเด็กที่เหงาหงอยในบ้านที่มีแต่พ่อผู้ที่ให้ความรัก ความห่วงใยและปกป้องพิทักษ์อย่างสุดขีด
เธอมีชีวิตอยู่แต่ในบ้านที่กรุกระจกกันแสงอัลตราไวโอเลต ไปหาหมอยามจำเป็นในรถที่กรุกระจกมืดกันรังสีจากดวงอาทิตย์ โดยไม่ได้ไปโรงเรียนเหมือนเด็กทั่วไป แต่พ่อเป็นครูสอนให้ในบ้าน
เธอนอนในตอนกลางวัน ซึ่งจะออกไปโดนแดดนอกบ้านไม่ได้เลย และตื่นในยามกลางคืนเมื่อสิ้นแสงตะวันไปแล้ว
มีชีวิตเหมือนแวมไพร์หรือแดร๊กคิวล่า ที่กลัวแสงแดดซึ่งจะแผดเผาให้มอดไหม้เพียงในชั่ววิบเดียว
จวบจนบัดนี้ หมอที่ให้การรักษาก็บอกว่า การที่เคทีมีชีวิตอยู่จนจะพ้นวัยรุ่นนี้ก็เป็นปาฏิหาริย์อันไม่น่าเชื่อแล้ว แต่พ่อของเธอก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะปกป้องลูกสาวไว้ในโลกมืดไม่ให้โดนแสงตะวันต่อไปอีกนาน
เพื่อนสาวคนเดียวของเคทีคือ มอร์แกน (ควินน์ เชพเพิร์ด) ผู้ไม่รังเกียจที่จะเป็นเพื่อนกับเธอ ขณะที่เด็กอื่นๆ มองเธอว่าใช้ชีวิตเหมือนแวมไพร์และไม่ยอมเฉียดกรายเข้าใกล้

เคทีหลงรักหนุ่มน้อยที่สเก๊ตผ่านบ้านเธอไปทุกวัน จากการเฝ้ามองดูจากหน้าต่างทึมทึบชั้นบน
และแล้วในวันที่เธอจบการศึกษาชั้นมัธยมในโรงเรียนที่พ่อสอนอยู่คนเดียว พร้อมๆ กับงานรับประกาศนียบัตรของเด็กอื่นๆ เธอก็รวบรวมความกล้าขอพ่อออกไปเล่นดนตรีและร้องเพลงให้คนที่ผ่านไปผ่านมาฟังที่สถานีรถไฟเล็กๆ ใกล้บ้าน
ณ ที่นั้น ดวงอาทิตย์เที่ยงคืนของเธอก็เริ่มทอแสงสู่ชีวิตอันเหงาหงอยของเธอ
หนุ่มรูปหล่อล่ำกระชากใจสาว ซึ่งเป็นนักกีฬาว่ายน้ำของโรงเรียนเดินผ่านเข้ามาฟังเสียงเพลงที่เธอร้อง และตกอยู่ใต้มนต์สะกดของเสียงเพลงและของสาวน้อยในทันทีทันใด
หนุ่มคนนั้นเผอิญเป็นคนที่เคทีแอบรักอยู่แล้ว จากการเฝ้ามองดูเขาสเก๊ตผ่านหน้าบ้านไปทุกวันมาหลายปีแล้ว และนักแสดงที่สวมบทนี้คือแพทริก ชวาร์เซเนกเกอร์ ซึ่งเป็นลูกชายคนโตของ “คนเหล็ก” อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ กับภรรยาคนแรกคือมาเรีย ชไรเวอร์ ดังนั้น นอกจากมีพ่อที่โด่งดังแล้ว แพทริกยังเป็นลูกหลานของตระกูลเคนเนดี้ที่โด่งดังอีกด้วย
และการเลือกเบลลา ธอร์น มาเล่นบทนี้ก็เพราะเธอเป็นนักร้องชื่อดัง และบทนี้ต้องการเสียงของเธอมาเป็นจุดขายอีกอย่าง

ไม่ต้องบอกก็คงจะเดาได้ว่าหนังจะจบลงอย่างไร สุขแกมเศร้า หวานแกมขม แต่หนังก็ไม่ได้เน้นอยู่กับเรื่องเศร้ามากเท่ากับความสุขที่ให้ความหมายแก่ชีวิต แม้จะมีอยู่เพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ
พูดง่ายๆ คือ เคทีและชาร์ลีต่างเป็นกำลังใจและสร้างสิ่งดีๆ ในชีวิตให้แก่กัน ซึ่งก็ดีอยู่หรอก เสียแต่ที่หนังเน้นความสำเร็จของหนุ่มสาวสองคนนี้แบบเว่อร์ไปหน่อย
ดูอย่างฉากที่ชาร์ลีกระตุ้นให้เคทีเล่นดนตรีและร้องเพลงที่เธอแต่งเองต่อหน้าผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาริมทะเลก็ได้ แหม อะไรกันจะปานนั้น…เสียงเพลงของเคทีดึงดูดให้ผู้คนมานั่งชื่นชม ปรบมือ พยักหน้าอย่างซาบซึ้งกันทั่วถ้วนหน้า…แบบที่ต้องจัดฉากกันไว้ในหนังเท่านั้นแหละค่ะ ถึงจะเกิดขึ้นแบบนี้ได้
โชคดีที่หนังไม่ได้ให้เราเห็นอาการอันเลวร้ายของโรคร้ายนี้เท่าไรนัก นอกจากว่านางเอกเริ่มมีอาการเสื่อมทางเส้นประสาทโดยมือสั่นเพียงเล็กน้อย และหลังจากได้รับความสุขสมใจในช่วงสั้นๆ จากความอบอุ่นของแสงแดดที่ลูบไล้กาย หนังก็ตัดข้ามไปสู่ช่วงจบอย่างรวดเร็วในฉับพลันทันที
อ้อ…มีข้อมูลเพิ่มเติมอีกนิดค่ะ หลังจากไปค้นข้อมูลเพื่อให้ความกระจ่างแจ้งในเรื่องเกี่ยวกับโรคเอ็กซ์พีมากกว่าตามที่บอกในหนัง ก็เลยไปเจอเข้าว่าโรคนี้แม้จะเป็นโรคที่ไม่ค่อยได้พบมากนัก แต่ก็มีคนญี่ปุ่นเป็นกันมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ถึงหกเท่า
ทำให้ถึงบางอ้อว่าทำไมคนทำหนังชาวญี่ปุ่นถึงได้คิดพล็อตเรื่องแบบนี้ขึ้นมาสำหรับหนังรักแกมโศก เนื้อหาเศร้าเคล้าน้ำตาแบบนี้