ย้อนดู บิ๊กตู่พบนักการเมือง หลังดูด “ตระกูลคุณปลื้ม” ร่วมงาน สัญญาณระดมเสียงหนุนนั่งเก้าอี้ต่อ “ชัด”

ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเซอร์ไพรส์คอการเมืองพอสมควร

หลัง ครม. เห็นชอบแต่งตั้งนักการเมืองจากตระกูลคุณปลื้ม ตระกูลการเมืองใหญ่แห่งจังหวัดชลบุรี ถึง 2 คน เข้าร่วมงานกับรัฐบาล

โดยนายกฯ ตั้ง “สนธยา คุณปลื้ม” หัวหน้าพรรคพลังชล เป็นที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง

ขณะที่ ครม. ตั้ง “อิทธิพล คุณปลื้ม” เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีท่องเที่ยว

อย่าลืมว่า ก่อนหน้านี้ไม่นาน ก็เพิ่งมีข้อสงสัยว่ารัฐบาลอาจมีดีลกับตระกูลคุณปลื้มหรือไม่

หลัง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ และ รมว.ยุติธรรม เพิ่งเซ็นอนุมัติพักโทษกรณีพิเศษให้ “กำนันเป๊าะ-สมชาย คุณปลื้ม”

และเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์เพิ่งจะเดินทางลงพื้นที่ภาคตะวันออก พบปะกับนักการเมืองท้องถิ่น

โดยเฉพาะเป็นการพบปะพูดคุยกับนักการเมืองตระกูลคุณปลื้มเช่นกัน

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ หลัง พล.อ.ประยุทธ์เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลจากการเลือกตั้ง อยู่บริหารประเทศมาแล้วเกือบ 4 ปี ได้กล่าวชี้แจงเหตุผลที่มาของการแต่งตั้งคนตระกูลคุณปลื้มว่า ตัวเองไม่ค่อยรู้การเมือง ตั้งเพื่อจะให้รู้การเมืองบ้าง

“ก็ที่ปรึกษานายกฯ การเมืองก็มีเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน ผมก็จะฟังเขาว่าเขาว่าอย่างไร เพราะสิ่งที่ผมทำมาแล้วจำเป็นต้องมีคนเหล่านี้มาบ้าง เพื่อมาทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ผมไม่ได้หมายความว่าผมเอาความนี้มาเพื่อประโยชน์ของผม ไม่ใช่วันนี้กำลังเดินหน้าไปสู่ตรงนั้น ผมต้องมีคนที่รู้เรื่องเหล่านี้ ให้คำปรึกษาว่าเป็นอย่างไร เพราะผมไม่รู้ว่าการเมืองมันทำกันอย่างไร ผมต้องรู้บ้าง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ทั้งนี้ การพูดถึง หรือวิพากษ์วิจารณ์ การแต่งตั้งนักการเมืองกลุ่มจังหวัดชลบุรีเข้ามาทำงานกับรัฐบาล เกิดขึ้นอย่างมากไม่ใช่เพราะอะไร แต่เพราะจากสถานการณ์ก่อนหน้านี้ มีเงื่อนไขทางการเมืองที่สะสมเป็นคำถามเรื่อยมาในประเด็นการสืบทอดอำนาจ

เพราะหากย้อนไปดูก็จะพบปัจจัยหลักอยู่ 3 เรื่องที่เชื่อมโยงกับเรื่องนี้

เริ่มตั้งแต่

1. เรื่องพรรคทหาร หรือกระแสการตั้งพรรคการเมืองของคนในรัฐบาลเพื่อสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อ

2. คือปัจจัยเรื่องนโยบายของรัฐบาลและการลงพื้นที่คณะรัฐมนตรีสัญจร เรื่องนี้ชัดเจนโดยเฉพาะนโยบายไทยนิยม ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นนโยบายหาเสียงก่อนเลือกตั้ง โดยใช้กลไกรัฐ งบประมาณจำนวนมาก ในการลงไปปฏิสัมพันธ์กับประชาชนในพื้นที่

และ 3. คือปฏิสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์กับนักการเมือง

ซึ่งหากย้อนไปดูการลงพื้นที่ที่ผ่านมาจะพบว่า พล.อ.ประยุทธ์มีการปิดห้องพูดคุยกับนักการเมืองตระกูลดังหลายครั้ง

เริ่มจากเรื่องพรรคการเมือง ที่เกิดการทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ในแวดวงธุรกิจและการเมือง

เมื่อ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ ตอบคำถามนักข่าวว่า จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางกระแสข่าวการจัดตั้งพรรคการเมือง ส่วนจะสนับสนุนแบบไหน ดร.สมคิด ให้ไปถาม อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม และสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์

“ก็รู้สึกว่านายกฯ เป็นผู้ที่เหมาะสมที่จะนำพาประเทศในช่วงเปลี่ยนถ่ายเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมาได้คุยกับนักการเมืองมาโดยตลอดตั้งแต่มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เพราะต้องลงพื้นที่”

“กระแสนายกฯ ก็เป็นกระแสส่วนหนึ่ง ผมก็สนับสนุนนายกฯ ถ้าประชาชนสนับสนุน เพราะมีความเหมาะสม” คือคำตอบเรื่องนี้ จากปากนายสนธิรัตน์ รมว.พาณิชย์

โดยกระแสพรรคการเมืองหนุนบิ๊กตู่นั่งนายกฯ ต่อ หรือพรรคทหารนั้น ที่จริงก็ถูกเปิดเผยอย่างหนักแน่นคนแรกๆ คือ วัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อประชาธิปัตย์ ที่ออกมาพูดเรื่องนี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยมีการวางตัวนายสมคิดเป็นแกนนำหลัก นอกจากนั้นยังมีเสียงสนับสนุนของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. รวมถึงพรรคการเมืองของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ประกาศหนุน พล.อ.ประยุทธ์เต็มที่

ซึ่งกระแสพรรคการเมืองหนุนบิ๊กตู่นั่งนายกฯ ตอนนั้น ได้มีการพูดวิพากษ์วิจารณ์กันยาวนานจนมาถึงวันนี้ และตัวของนายกฯ เองก็ไม่ได้ออกมาปฏิเสธชัดเจน แต่ในทางตรงกันข้าม นอกจากไม่ปฏิเสธ แต่ใช้คำว่าขอคิดดูก่อน ต้องดูนโยบายว่าเหมาะสมไหม

“ถ้าพรรคนี้ดี ผมก็จะเลือกพรรคนี้ จะสนับสนุน พรรคไหนที่ดี แล้วเขามาขอให้ผมไปช่วยผมก็จะพิจารณา ส่วนจะดีหรือจะเสียผมก็ยังไม่รู้เลย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นอกจากประเด็นเรื่องพรรคการเมืองหนุนบิ๊กตู่แล้ว ช่วงหลังมานี้จะพบว่า พล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่ ครม.สัญจรบ่อยมาก จนถูกวิจารณ์ว่าสอดคล้องกับโรดแม็ปที่ใกล้เลือกตั้ง เสมือนเป็นการหาเสียงในตัว แม้เจ้าตัวจะยืนกรานปฏิเสธ ที่มาตรงกับช่วงนี้เพราะเป็นเรื่องบังเอิญ

“ต้องลงพื้นที่อยู่แล้ว สื่ออย่าไปให้ความสำคัญกับคนที่มองว่าเป็นการหาเสียง รัฐบาลต้องการลงไปในทุกจังหวัด ตั้งใจไว้ว่าก่อนจะหมดหน้าที่ จะลงไปในทุกจังหวัดและทุกกลุ่มจังหวัดให้ได้มากที่สุด แค่นั้นเอง เพียงแต่มาตรงกับช่วงเวลาของโรดแม็ปพอดี” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวชี้แจง

ทั้งนี้ การลงพื้นที่ในแต่ละจังหวัด บางครั้งมีการปิดห้องพูดคุยกับนักการเมือง โดยหากย้อนดูการลงพื้นที่ครั้งสำคัญ ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนของปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน จะพบว่า พล.อ.ประยุทธ์เข้าไปพูดคุยกับนักการเมืองหลายกลุ่ม เริ่มจากกลุ่มนักการเมืองพื้นที่ภาคกลาง จังหวัดอ่างทองและสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคชาติไทยพัฒนา ในครั้งนั้น นายประภัตร โพธสุธน ถึงกับออกปากว่าถ้าประเทศไม่มีปรองดองก็ยังไม่ต้องเลือกตั้ง นายกฯ จะอยู่อีก 8 ปี 10 ปี ตนก็ไม่ว่า

ตามมาด้วยช่วงเดือนธันวาคม ในการลงพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ที่มีการปิดห้องคุยกับนักการเมือง โดยไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวรับฟัง นำโดยนักการเมืองกลุ่มมัชฌิมาของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรองนายกฯ

ครั้งนั้นผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีพรรคทหาร กลุ่มมัชฌิมาจะเข้าไปร่วมด้วยหรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวแบบไม่ปิดทางตัวเองว่า “คงยัง ต้องดูปัจจัยต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร”

ต่อมาในเดือนเดียวกัน ยังมีภาพข่าวที่หลุดออกมาจากแกนนำพรรคเพื่อไทย เป็นภาพ พล.อ.ประยุทธ์ในอิริยาบถผ่อนคลาย ถ่ายรูปพร้อมกับนักการเมืองกลุ่มสะสมทรัพย์ แห่งจังหวัดนครปฐม ซึ่งเคยสังกัดพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย เผดิมชัย สะสมทรัพย์ ไชยยศ สะสมทรัพย์ ไชยา สะสมทรัพย์ และ อนุชา สะสมทรัพย์ โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และบิ๊กทหารไปด้วย บรรยากาศชื่นมื่น โดย พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับว่าพบจริง แต่ก็ปฏิเสธว่าไม่ได้พูดเรื่องการเมืองกัน

แฟ้มภาพ

“ใครจะพบผม ผมก็พร้อมพบ แต่ไม่ใช่มองว่า ผมไปพบเรื่องการเมือง พบกันเรื่องดีล ผมจะไปดีลกับใคร”

ถัดมาในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ก็ได้มีการพบปะกับนักการเมืองภาคตะวันออก และดูจะทำสำเร็จ เพราะสามารถดูดตระกูลคุณปลื้มเข้ามาร่วมงานกับรัฐบาลได้

ก่อนที่ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ได้ลงพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม และ จ.เพชรบุรี โดยมีนักการเมืองตระกูลดังของทั้งสองจังหวัดและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เข้าพูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ บรรยากาศชื่นมื่น

ล่าสุดคือการเปิดทำเนียบของนายสมคิด ต้อนรับอดีตแกนนำ กปปส.-อดีต ส.ส. เข้าพบ สัปดาห์ต่อมา นายสกลธี ภัททิยกุล ลาออกจากประชาธิปัตย์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ซะงั้น

รวมถึงยังมีประเด็นข่าวการขยับตัวของ “สุชาติ ตันเจริญ” ส่งสัญญาณการเมือง โดย ไพศาล พืชมงคล ได้โพสต์กระจายข่าวทางเฟซบุ๊ก ว่า นายสุชาติพร้อมหวนคืนสู่สมรภูมิการเมืองอีกครั้ง ประกาศสนับสนุนความปรารถนาของประชาชนในการปฏิรูปประเทศ จะสนับสนุนคนที่เป็นความหวังของประชาชนที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดเป็นนายกรัฐมนตรี

หรือจะเป็นกลุ่มของพรรคภูมิใจไทย ที่แกนนำอย่างนายอนุทิน ชาญวีรกูล ก็ดูจะไม่ปิดเส้นทางการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จากเหตุผลการขอดูสถานการณ์ข้างหน้า

เช่นเดียวกับกลุ่มสะสมทรัพย์ ที่ยังไม่ตอบรับที่จะอยู่เพื่อไทย แม้ทีมแกนนำจะขนกันไปพูดคุย อ้างว่าขอถามประชาชนก่อน

เหล่านี้คือปัจจัยที่ไม่สามารถห้ามไม่ให้ใครคิดเชื่อมโยงถึงการหาเสียงสนับสนุนของผู้มีอำนาจขณะนี้ได้

ทั้งนี้ ยังไม่นับโครงสร้างการเมืองขณะนี้ที่ออกแบบมารองรับสถานการณ์ของผู้มีอำนาจตอนนี้ได้อย่างพอดี

เราไม่รู้ที่มาที่ไปของคำพูดวลีที่ว่า “การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร”

แต่ก็นั่นแหละ ที่มาว่าใครเป็นคนคิดคงไม่สำคัญ

เท่ากับว่าความหมายของวลีนั้นใช้งานได้จริง

และวันนี้มันใช้ได้จริงๆ