สำรวจบทบาท “ผู้หญิง” บนละครเวทีของ “บอย ถกลเกียรติ”

หากจะกล่าวถึงงานละครเวทีมิวสิคัลของไทย เอกลักษณ์อันเป็นที่จดจำได้ของค่ายซีเนริโอที่ผู้บริหารสูงสุดอย่าง “บอย – ถกลเกียรติ วีรวรรณ” ลงทุนมากำกับฯ เอง ปฏิเสธไม่ได้ว่าคือ “นักแสดงนำ”

แม้นักแสดงนำบนเวทีรัชดาลัยจะมีอยู่แค่ไม่กี่คน ที่ถูกเรียกใช้บริการซ้ำแล้วซ้ำเล่า ต้องเล่นหลายบทในหลายเรื่อง แต่นั่นไม่ได้แปลว่าไม่ดี และไม่ได้เป็นจุดด้อยแต่อย่างใด

นั่นกลับเป็นกุญแจสำคัญเสมือนแม่เหล็กดึงดูดแฟนๆ ด้วยซ้ำ

หากจะกล่าวถึงรายชื่อนักแสดงแม่เหล็กของค่ายซีเนริโอที่มีงานละครเพลงมิวสิคัลอย่างต่อเนื่อง ชื่อแรกคงหนีไม่พ้น “สินจัย เปล่งพานิช” สตรีผู้โลดแล่นบนเวทีเดอะมิวสิคัลของบอย ถกลเกียรติ มายาวนานที่สุด (ตั้งแต่งานแรกของบอย เมื่อครั้งยังไม่มีโรงละครของตัวเองด้วยซ้ำ)

สินจัยร่วมงานกับคุณบอยมาตั้งแต่วิมานเมือง เดอะมิวสิคัล (2540), บัลลังก์เมฆ เดอะมิวสิคัล (2544, 2545, 2550), สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล (2554, 2557, 2560), ลอดลายมังกร (2559) และล่าสุด เลดี้ส์ ออฟ เดอะ สเตจ (2561) (ที่มีบัลลังก์เมฆเป็น 1 ใน 3 เรื่องของโชว์)

ยังไม่นับรวมคอนเสิร์ต 10 ปี เอ็กแซ็กท์ (2545), คอนเสิร์ต Boy Story (2553) ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระการทำงานครบรอบ 20 ปีของถกลเกียรติ, คอนเสิร์ตเพลงรักเพลงละคร (2559) และ คอนเสิร์ต 10 ปี รัชดาลัย (2560)

แค่การเล่นบัลลังก์เมฆและสี่แผ่นดินรวมกันของสินจัยก็ไม่ต่ำกว่า 200 รอบการแสดงแล้ว แม้เธอจะไม่ได้เป็นผู้ที่เติบโตมาทางสายดีว่า ซึ่งมีเสียงร้องทรงพลัง หรือที่แฟนๆ เรียกขานกันว่า “ร้องแบบพ่นไฟ”

ทว่า ฝีมือการแสดงของสินจัย ก็ทำให้เธอสามารถโลดแล่นบนเวทีได้อย่างยืนยง เปรียบดัง “แม่เหล็ก” ดึงดูดคนดู

ด้วยเหตุนี้ แม้ละครเวทีของบอย ถกลเกียรติ จะหยิบเรื่องเดิมๆ มาทำซ้ำกี่รอบก็ตาม แต่ชื่อของสินจัยจะไม่เคยหลุดไปจากบทนำ

อาทิ บัลลังก์เมฆและสี่แผ่นดิน ที่มีการสร้างแล้วสร้างอีก จนเหล่านักแสดงที่มารับบทลูกๆ ต้องเปลี่ยนหน้าตาไปเรื่อยตามเวลาที่ผันผ่าน (รวมถึงบทแม่พลอยวัยเด็กและวัยสาวในสี่แผ่นดิน)

แต่สินจัยยังคงยืนหยัดบนเวทีในฐานะปานรุ้งและแม่พลอยอย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะในบทแม่พลอยนั้น ต้องยอมรับว่าไม่มีใครเป็นภาพแทนของตัวละครเอกแห่งสี่แผ่นดินได้ “อิน” และดีเท่าเธอ

หากสังเกตการเลือกทำละครเวทีของบอย ถกลเกียรติ จะเห็นได้ว่าบทประพันธ์ส่วนใหญ่ที่ผู้กำกับ-ผู้บริหารรายนี้คัดสรรมานำเสนอ มักมี “ผู้หญิง” เป็นตัวละครนำ เช่น บัลลังก์เมฆ (ปานรุ้ง) สี่แผ่นดิน (แม่พลอย) หงส์เหนือมังกร (หลิว) ทวิภพ (มณีจันทร์) มากกว่าการให้ชายเป็นใหญ่ เช่น ลอดลายมังกร (เหลียง)

นักแสดงหญิงอีกคนที่โลดแล่นและเป็นแม่เหล็กบนเวทีให้กับถกลเกียรติมาอย่างต่อเนื่อง คือ “แพท – สุธาสินี พุทธินันทน์” ที่แจ้งเกิดจากบัลลังก์เมฆ ในบทปานวาด ลูกสาวปานรุ้ง ซึ่งเป็นบทที่แรง ทั้งติดผู้ชาย ติดยา มีความก๋ากั่น ไม่เชื่อฟังมารดา

ก่อนที่ระหว่าง 2548-2549 แพทจะรับบทนำในทวิภพ เดอะมิวสิคัล (ยุคนั้นทั้งบัลลังก์เมฆและทวิภพ ต้องเปิดแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพราะยังไม่มีเมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์)

จากนั้นแพทก็ได้รับบทบาทสำคัญๆ อีก คือ บทคุณหญิงกีรติในข้างหลังภาพ เดอะมิวสิคัล ที่ได้รับคำชมจากหลายสำนัก ก่อนที่ในปี 2553 เธอจะรับบทเป็นหลิวจากหงส์เหนือมังกร

ต่อมาเมื่อแพทมีครอบครัวและบุตร แถมไม่ค่อยได้ใช้ชีวิตในเมืองไทยมากนัก เธอก็ห่างหายไปจากแวดวงละครเวที ยกเว้นตอนจัดคอนเสิร์ต 10 ปี รัชดาลัย ที่แพทเดินทางกลับมาเมืองไทยพอดี (แต่เธอก็ไม่ได้ร้อง-เล่นทุกรอบ เพราะต้องเดินทางกลับสหรัฐก่อน)

เช่นเดียวกับสถานะตัวละครนำ ภาพลักษณ์ต่างๆ ในบทละครและบทเพลงที่ถูกประพันธ์ขึ้นมาใหม่สำหรับละครเวทีรัชดาลัย ก็ให้น้ำหนักเรื่องแก่ผู้หญิงเป็นจำนวนมาก

เช่น การถามเรื่องอายุของคุณหญิงกีรติที่ถูกแทรกลงไปในเพลง “เธอสวย” ในข้างหลังภาพ หรือเมื่อจะต้องชื่นชมเปรียบเปรยความงามของคุณหญิงกีรติกับดอกซากุระ และพรรณนาความงดงามของชุดกิโมโน บทเพลงก็จะทำหน้าที่สื่อความเข้าใจและให้อารมณ์ความรู้สึกร่วมแก่คนดู

เพลงชื่อหงส์เหนือมังกรก็แทนความรู้สึกของผู้หญิงที่ถูกพ่อสั่งสอนให้ขึ้นมามีอำนาจเหนือผู้ชาย หรือความก๋ากั่นของมณีจันทร์หลังได้ทะลุจากกระจกมายังอดีต พร้อมมุขตลกเกี่ยวกับสิ่งของที่ยุคนั้นไม่มี ก็ถูกนำเสนอผ่านบทเพลง “ข่าวลือ”

ส่วนสี่แผ่นดินก็จะมีเพลงสั่งสอนผู้หญิง (ในรั้วในวัง) ถึงกิริยามารยาท การแต่งกาย และความเป็นแม่บ้านแม่เรือน

พูดถึงเรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัว จะเห็นชัดว่าคอสตูมของตัวละครหญิงจากละครเวทีค่ายนี้มักมีความโดดเด่นและถูกจดจำได้มากกว่าของฝ่ายชาย เช่น “ชุดน้ำเงินลายจุด” ของคุณหญิงกีรติในข้างหลังภาพ

นักแสดงหญิงอีกคนบนเวทีรัชดาลัยที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ “นัท มีเรีย เบนเนเดดตี้” ที่เดบิวต์ตัวเองกับละครเพลงของบอย ถกลเกียรติ ตั้งแต่ผลงานเปิดประเดิมโรงละครรัชดาลัยเลย นั่นคือ การรับบทมิเชล จากฟ้าจรดทราย (2550)

ก่อนจะมีผลงานตามมาอีกชุดใหญ่ ได้แก่ แม่นาคพระโขนง (2552) ทวิภพ เดอะมิวสิคัล (2554) และเลดี้ส์ ออฟ เดอะ สเตจ (2561) (รับบทมณีจันทร์ในทวิภพ) และ แม่นาคพระโขนง (2561) ซึ่งเปลี่ยนนักแสดงใหม่แทบยกชุด ยกเว้นตัวละครแม่นาคที่นัทยังคงรักษาบทนี้เอาไว้ได้

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาอายุงาน นัทหาได้เป็นนางเอกน้องเล็กแห่งวงการละครเวทีไม่ เพราะจริงๆ แล้ว เธอเคยร่วมเล่นละครเพลง “อยากเห็นท้องฟ้าเป็นอย่างในฝัน” ในคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์มาตั้งแต่ปี 2537 รวมทั้ง “อโรคา จอมยากับยาใจ” ในปี 2543

กลิ่นอายอย่างหนึ่งที่แฝงอยู่ในบทประพันธ์หลายเรื่อง ซึ่งถกลเกียรติและซีเนริโอนำมาสร้างเป็นละครเพลง นั่นก็คือประเด็น “การเมือง”

ที่เห็นได้ชัดเจนสุด น่าจะเป็นเรื่องราวของสี่แผ่นดินหรือข้างหลังภาพ ซึ่งมีภูมิหลังเป็นบรรยากาศช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

ส่วนในทวิภพ มณีจันทร์ก็ต้องเดินทางกลับไปยังช่วงวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 กระทั่งหงส์เหนือมังกรที่แม้ไม่ได้มีการอิงเหตุการณ์จริง แต่ก็สอดแทรกคำถามทางการเมือง ถึงศักยภาพของสตรีที่จะขึ้นมาเป็นใหญ่ท่ามกลางเกมอำนาจและธุรกิจภายในครอบครัว

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ คือ “ความเป็นหญิง” ที่นอกจากเรื่องความสวยงามแล้ว ผู้หญิงยังต้องเข้าไปเกี่ยวพันกับการเมืองในหลายๆ ครั้ง เห็นชัดสุดคือ แม่พลอย ผู้มีแนวคิดอนุรักษนิยม ซึ่งต้องมาเป็นประจักษ์พยานของการปะทะขัดแย้งกันระหว่างลูกสองคนที่ทั้งต่อต้านและต้องการความเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ นามของ “รัดเกล้า อามระดิษ” ก็เป็นอีกหนึ่งชื่อซึ่งปรากฏในละครเวทีมิวสิคัลของคุณบอยอยู่บ่อยๆ ตั้งแต่ข้างหลังภาพ สี่แผ่นดิน เลือดขัตติยา ลมหายใจ เดอะมิวสิคัล หรือล่าสุดใน เลดี้ส์ ออฟ เดอะสเตจ

โดยเธอสามารถเหมาบทบาทเป็นตัวละครสมทบที่คอยแย่งซีน ทั้งจากบทนวลในข้างหลังภาพ กติยาในบัลลังก์เมฆ และ แม่คุณหลวงในทวิภพ

รัดเกล้าสามารถปล่อยพลังและดึงความสนใจจากผู้ชมได้อย่างดีเยี่ยม เรียกว่า “เล่นใหญ่รัชดาลัย” ของจริง หากพิเคราะห์ให้ดี บทสมทบของเธอในสี่แผ่นดินและข้างหลังภาพ ล้วนเป็นภาพแทนของผู้หญิงยุคเก่า ที่วิจารณ์การประพฤติปฏิบัติตัวของสตรีสมัยใหม่

ยังไม่นับรวมนักแสดงหญิงอีกหลายรายที่ถกลเกียรตินิยมเรียกใช้บริการ อาทิ หนูนา หนึ่งธิดา และ แก้ม วิชญาณี ฯลฯ ซึ่งแต่ละคนสามารถถ่ายทอดบทบาทและร้องเพลงได้อย่างน่าประทับใจ ทั้งยังเป็นตัวแทนของหญิงไทยและไม่ไทยในหลายยุค ได้อย่างมีภาพจำและสะท้อนสังคมไม่น้อย

แม้ละครเวทีแนวมิวสิคัลอาจไม่ใช่สื่อบันเทิงที่คนไทยจะดูกันทุกคนทุกบ้าน แต่บทสรุปและการดำเนินเรื่องอันสั้นกระชับรวดเร็ว ก็สามารถนำไปสู่การสร้าง “ภาพจำ” ของ “ผู้หญิง” โดยคน (ดู) บางกลุ่ม

ก่อนจะเผยแพร่ผลิตซ้ำ “ภาพแทน” ดังกล่าวออกสู่สังคมวงกว้างต่อไป