การศึกษา/ไล่ออก ‘ผอ.สามเสนฯ’ อวสาน ‘แป๊ะเจี๊ยะ’ โรงเรียนดัง??

การศึกษา

ไล่ออก ‘ผอ.สามเสนฯ’

อวสาน ‘แป๊ะเจี๊ยะ’ โรงเรียนดัง??

เรียบร้อยโรงเรียนสามเสนฯ ไปแล้ว กรณีมีผู้ปกครองเผยแพร่คลิปผู้บริหารโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กล่าวหา “นายวิโรฒ สำรวล” ผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนฯ ในขณะนั้น เรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะ 4 แสนบาท เพื่อแลกกับการรับเด็กเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2560 หลังจากเรื่องราวยืดเยื้อคาราคาซังมานานเกือบ 1 ปีเต็มๆ
ล่าสุด คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดกรุงเทพมหานคร (กศจ.กทม.) เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา มีมติเอกฉันท์ 6:0 “ไล่ออกจากราชการ” ผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนฯ
ภายหลังคณะอนุกรรมการ กศจ.ด้านบุคคล ได้เสนอให้ที่ประชุม กศจ.กทม. พิจารณาโทษวินัยร้ายแรงนายวิโรฒ หลังจากคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง มีข้อสรุปว่านายวิโรฒมีความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
โดยให้มีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ขั้นตอนจากนี้ กศจ.กทม. จะทำหนังสือแจ้งผลการตัดสินไปยังหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อแจ้งให้นายวิโรฒทราบต่อไป อย่างไรก็ตาม นายวิโรฒมีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน

“นายการุณ สกุลประดิษฐ์” ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และประธาน กศจ.กทม. กล่าวว่า คดีของนายวิโรฒถือว่าสิ้นสุดแล้ว โดยกรรมการทั้ง 6 คน มีมติเอกฉันท์ให้ลงโทษวินัยอย่างร้ายแรง ไล่ออกจากราชการ หลังจากเมื่อวันที่ 5 เมษายน ศธ. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใช้มาตรการป้องกันและปราบทุจริตในระบบราชการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ออกจากราชการไว้ก่อน
ซึ่งในหนังสือดังกล่าวระบุว่า นายวิโรฒมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ในเรื่องที่มีพฤติกรรมไม่โปร่งใสในการรับนักเรียน
โดยรับบริจาคเงินในช่วงเปิดรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนสามเสนฯ ประจำปีการศึกษา 2560 และเมื่อมีผู้บริจาคเงินแล้ว ไม่ดำเนินการตรวจนับ และออกใบเสร็จให้แก่ผู้รับเงินในทันที
แต่กลับนำเอาเงินมาเก็บรักษาไว้ในตู้เซฟของโรงเรียน โดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการอันเป็นการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
อาศัยอำนาจตามความในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิของ ศธ. ลงวันที่ 3 เมษายน 2560 ข้อ 13 และมติ ครม. วันที่ 27 มีนาคม 2561 ตามข้อ 2 ของมาตรการป้องกันและปราบการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการ จึงให้นายวิโรฒออกจากราชการไว้ก่อน
นับเป็นการปิดฉากคดี “แป๊ะเจี๊ยะ” ของโรงเรียนสามเสนฯ ให้บรรดา “ผู้บริหาร” โรงเรียนดังทั่วประเทศ ได้ชมเป็นบุญตา…
ในช่วงการรับนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 ประจำปีการศึกษา 2561 ได้อย่างเร้าใจเลยทีเดียว!!

“แป๊ะเจี๊ยะ” ถือเป็นปัญหาโลกแตกที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน เนื่องจากโรงเรียนดี เด่น ดัง ที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ล้วนใฝ่ฝันอยากจะนำบุตรหลานของตนเข้าเรียน มีน้อยกว่าความต้องการที่แท้จริงหลายร้อยหลายพันเท่า
เมื่อ “ดีมานด์” มากกว่า “ซัพพลาย” แน่นอนว่าการจะให้ลูกหลานของตนมีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ย่อมต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ ช่วยเสริม ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือสนับสนุนกิจกรรมด้านต่างๆ ของโรงเรียน
แต่หากจะให้เกิดความมั่นใจเต็มร้อย การจ่าย “แป๊ะเจี๊ยะ” หรือที่เรียกให้ดูดีหน่อยว่าการ “บริจาค” เงินให้โรงเรียน เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาโรงเรียนในด้านต่างๆ ก็ดูเหมือนจะทำให้มีความหวังมากขึ้น
เมื่อห้ามผู้ปกครองไม่ให้บริจาคเงินให้โรงเรียนไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ห้ามไม่ให้โรงเรียนรับบริจาคเงินไม่ได้
ในขณะที่ ศธ. เองปฏิเสธไม่ได้ว่า “งบประมาณ” ที่ได้รับในแต่ละปี มีไม่มากพอที่จะจัดสรรให้กับทุกโรงเรียนได้อย่างเพียงพอ ทำให้โรงเรียนต้องหาช่องทางในการระดมทรัพยากรกันเอง โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีชื่อเสียง
แม้ที่ผ่านมา ศธ. จะกำหนดกฎเกณฑ์ค่อนข้างชัดเจนเกี่ยวกับโควต้าการรับนักเรียนประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “จับสลาก”, “การรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ”, “การสอบคัดเลือก” หรือ “ผู้มีอุปการคุณ” เพื่อแก้ข้อครหาว่าโรงเรียนดังรับ “เด็กฝาก” จำนวนมากในแต่ละปี ทำให้ไปเบียดเบียนโควต้าในส่วนอื่นๆ
แต่ดูเหมือนยังหนีไม่พ้นข้อครหาว่า ยิ่งโรงเรียนมีชื่อเสียง หรือเป็นที่นิยมมากๆ ตัวเลขการจ่ายแป๊ะเจี๊ยะก็สูงยิ่งๆ ขึ้นไป
เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาไปมากกว่านี้ ศธ. จึงออกประกาศ “ห้าม” โรงเรียนรับบริจาคเด็ดขาดในช่วงการรับนักเรียน แต่หากผู้ปกครองตั้งใจจะบริจาคเงินให้โรงเรียน ก็ให้บริจาคภายหลังการรับนักเรียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว และโรงเรียนจะต้องออก “ใบเสร็จ” ให้ชัดเจน
แต่ดูเหมือนมาตรการดังกล่าวไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะการ “เรียกรับ” และการ “จ่าย” แป๊ะเจี๊ยะ ยังคงอยู่ เพียงแต่ “แอบ” ทำกันอย่างเงียบๆ
ซึ่งกรณีของอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนฯ ถูกมือดีนำคลิปที่แอบถ่ายไว้ ประจานผ่านโซเชียลอย่างเอิกเกริก!!

ล่าสุด การรับนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 ประจำปีการศึกษา 2561 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงจับมือกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงพื้นที่ตรวจสอบการรับนักเรียนของโรงเรียนต่างๆ โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีชื่อเสียง เพื่อป้องปรามการเรียกรับแป๊ะเจี๊ยะเพื่อแลกกับที่เรียน
หลังจาก ป.ป.ช. เคยตีความก่อนหน้านี้ว่า เงิน “บริจาค” ถือเป็น “สินบน”!!
ดังนั้น ก่อนการรับนักเรียนเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา “นายบุญรักษ์ ยอดเพชร” เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงได้ลงนามในหนังสือที่ ศธ 04009/ว 1819 เรื่องมาตรการป้องกันการเรียกรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ
โดยอ้างถึงมาตรการป้องกันการเรียกรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์ตอบแทน เพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา “แป๊ะเจี๊ยะ” ของ ป.ป.ช. โดยให้ผู้อำนวยการ สพท., ผู้อำนวยการสถานศึกษา และประธานกรรมการบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานประจำเขตตรวจราชการ ร่วมดำเนินการป้องกันการเรียกรับทรัพย์สินฯ ดำเนินการดังนี้
1. ให้เขตพื้นที่ฯ ลงพื้นที่สุ่มตรวจการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2561 โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง และเร่งประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้ปกครองนักเรียน ประชาชน รวมทั้งข้าราชการในสังกัด รับทราบถึงความผิด และบทลงโทษ กรณีการเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของเงินบริจาค ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่อาจถือได้ว่าเป็นเงินบริจาค แต่ถือเป็นเงิน “สินบน” ในฐานะผู้รับสินบนและให้สินบน ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมาย ป.ป.ช.
2. กรณีมีผู้บริจาคทรัพย์สินให้สถานศึกษาถือปฏิบัติตามระเบียบ ศธ. ว่าด้วยการรับเงิน หรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้สถานศึกษา พ.ศ.2552 อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันปัญหาการเรียกรับแป๊ะเจี๊ยะ
และ 3. ให้ประธานกรรมการบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานประจำเขตตรวจราชการ ควบคุม กำกับติดตาม ประเมินผลเขตพื้นที่ฯ และสถานศึกษาในสังกัด ให้ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
ก็ต้องติดตามกันว่า กรณีที่ กศจ.กทม. มีมติไล่ออกจากราชการอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนฯ ซึ่งนอกจากจะเป็นการ “เชือดไก่ให้ลิงดู” ของรัฐมนตรีว่าการ ศธ. “นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” แล้ว
การดึง ป.ป.ช. มาช่วยตรวจสอบการรับบริจาคเงินในช่วงรับนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4
จะช่วยแก้ปัญหา “แป๊ะเจี๊ยะ” ได้ “ถาวร” หรือไม่??
หรือแค่รอ…จังหวะที่ ศธ. และ ป.ป.ช. “เผลอ” แล้วค่อยว่ากันใหม่!!