อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ลัทธิทรัมป์กับสิ่งที่กำลังเปลี่ยนไป (2)

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

เราควรย้อนกลับมาดูว่า ลัทธิทรัมป์ (Trump Doctrine) ทางด้านเศรษฐกิจบ้าง ประธานาธิบดีกล่าวเสมอว่าจะนำความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกากลับมาอีกครั้งหนึ่ง

หนึ่งปีผ่านไป อะไรคือความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา

 

เหล็กและอะลูมิเนียม

ในทางการเมืองระหว่างประเทศนั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการจำกัดความผูกพันต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาต่อภายนอกให้มากที่สุดที่จะทำได้ ในเวลาเดียวกัน สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ได้แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงการสกัดกั้นแนวโน้มของภัยคุกคามทางยุทธศาสตร์ ได้แก่ ภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือและอิหร่าน

ประธานาธิบดีทรัมป์มุ่งประเด็นความกินดีอยู่ดีของคนอเมริกัน โดยการตั้งกำแพงภาษีขาเข้า 25% ของเหล็ก และกำแพงภาษีขาเข้า 10% ของอะลูมิเนียม

นโยบายนี้เป็นความตั้งใจมากกว่าการเข้าไปแทรกแซงในการควบรวมกิจการบริษัท Qualcomm แต่ในภายหลัง การเคลื่อนไหวด้านกำแพงภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมส่งผลมากกว่านั้น

แม้ว่าสหรัฐอเมริกามีโรงงานถลุงเหล็กของตัวเอง อีกทั้งกำแพงภาษีดังกล่าวจะก่อผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา โดยไม่มีผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของแคนาดา เม็กซิโก บราซิล เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกเหล็กรายใหญ่มาสู่สหรัฐอเมริกา

แต่มีผลต่อการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (semi conductor) ในสหรัฐอเมริกา ในช่วง 20 ปีการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ได้ย้ายโรงงานออกไปนอกสหรัฐอเมริกา คือ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และขยายเพิ่มขึ้นในสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งนับเป็นการท้าทายการออกแบบ (design) เซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐอเมริกา

ปัญหาจริงๆ คือ เป็นการยากที่จะหาบริษัทใดก็ตามไปท้าทายผู้ผลิตรายใหญ่เจ้าเดิม

ภาษีนำเข้าไม่มีผลในการปกป้องแรงงานของคนอเมริกัน ภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมนับเป็นมาตรการที่ผิด เป็นมาตรการที่สร้างความรำคาญให้พันธมิตรของสหรัฐอเมริกา อีกทั้งมีผลน้อยต่อการจ้างงานคนอเมริกัน

การปกป้องเทคโนโลยีอเมริกันเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ

สาธารณรัฐประชาชนจีนนำเข้าชิพ (chip) ประมาณหนึ่งหมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และพยายามอย่างเร่งด่วนที่จะผลิตชิพในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีการควบรวมกิจการบริษัท hi technology อย่างกว้างขวางในสาธารณรัฐประชาชนจีน เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีนมีบริษัทออกแบบชิพชั้นยอดของตัวเอง เช่น Canaan Creative

แต่บริษัทขนาดเล็กด้านเทคโนโลยีมีน้อยที่ประสบความสำเร็จในการแข่งขันกับบริษัทของสหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และเกาหลีใต้ในอุตสาหกรรมนี้

ความกล้าหาญทางเทคโนโลยีเป็นที่มาอย่างสำคัญของความอยู่ดีกินดีทางเศรษฐกิจ และประธานาธิบดีทรัมป์มีสิทธิที่จะปกป้องความสำคัญอันนี้

 

สิ่งที่อยู่นอกเหนือเศรษฐกิจ

บริษัทสาธารณรัฐประชาชนจีนและรัสเซียมีอิทธิพลในอุตสาหกรรมเหล่านี้ของประเทศตนเอง รัฐบาลทรัมป์ไม่ได้ตั้งใจพยายามกลับมายิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมนี้ ไม่เหมือนกับฉันทานุมัติทางนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลของพรรคเดโมแครตที่นำโดยประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน ก่อนหน้านั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ได้สร้างภาพลวงตา ทรัมป์พยายามสร้างใหม่อีกครั้ง (remaking) ต่อโลกตามภาพลักษณ์ (image) ของสหรัฐอเมริกา

มีการระบุประเด็นต่างๆ มากมายของผลประโยชน์ในนโยบายต่างๆ และการยึดมั่นในการใช้ทรัพยากรในการแก้ปัญหาของประเด็นเหล่านั้น พร้อมกับปรับทัศนะให้สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้น

จริงๆ แล้ว สไตล์การบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์คือ สีสันของเขาเองในฐานะหัวหน้าบริษัทครอบครัว ซึ่ง CEO ไม่จำเป็นต้องประนีประนอมหรือร่วมกันเป็นพันธมิตรทางการเมืองในรัฐสภา แต่ปัญหาคือ การหาบุคลากรที่เหมาะสม

ประธานาธิบดีทรัมป์เปลี่ยนหรือปลดรัฐมนตรี ที่ปรึกษาระดับสูงมากมาย ยกตัวอย่างเช่น เขาเปลี่ยนอดีต CEO ExxonMobill นาย Rex Tillerson (อายุ 65 ปี) (1) รัฐมนตรีต่างประเทศ แล้วเอาผู้อำนวยการซีไอเอ นาย Mike Pompeo มาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศแทน เขาเพิ่งตั้งผู้อำนวยการซีไอเอหญิงคนแรกของประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา คือ Gina Haspel (อายุ 61 ปี) ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับคุกลับในประเทศไทยและการทรมานนักโทษที่ถูกกล่าวหาเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้ายข้ามชาติ (2)

ประธานาธิบดีทรัมป์เพิ่งแต่งตั้งวุฒิสมาชิก John Bolton อดีตนักศึกษากฎหมายจากมหาวิทยาลัย Yale (เรียนจบปี 1974) นักการเมืองสายเหยี่ยวสุดๆ ที่เคยทำงานร่วมกับองค์กรอนุรักษนิยม Right wing American Enterprise Institute อีกทั้งเขามาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security) ทั้งเขายังได้ประกาศตั้งแต่ต้นว่า สหรัฐอเมริกาควรประกาศสงครามกับเกาหลีเหนือ อิหร่าน และ ISIS เขาอยู่ในกลุ่มต่อต้านมุสลิม (3)

ลัทธิทรัมป์น่าสนใจหลายอย่าง มีทั้งสีสัน ความประหลาดใจ ความไม่เป็นเหตุเป็นผล บทความนี้เห็นว่า การเลือกคนผิดประเภทในด้านกระทรวงต่างประเทศ ผู้อำนวยการซีไอเอและที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ ยังมีน้ำหนักไม่พอที่จะเชื่อได้ว่า ทรัมป์ได้ทำหน้าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอย่างมีเหตุมีผล เพราะคนใหม่ที่เขาเลือก เป็น conventional think tank ที่ไม่ต่างจากคนก่อนๆ

สามท่านใหม่จะสร้างประเด็นอะไรบ้างต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ น่าติดตาม

—————————————————————————————————
(1) Lauren Gensler and Jennifer Wang, “Why Rex Tillerson”s Year In Washington Wasn”t A Total Bust” Forbes March 13, 2018
(2) Ken Dilernian, “What role did Trump”s pick for CIA director play in brutal interrogations?” NBC March 14, 2018, “New CIA chief ran Thailand”s secret waterboarding site” Bangkok Post March 14, 2018
(3) Zack Beuchamp, “John Bolton ultra-hawkish new national security advisor” VOX March 22, 2018