วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์/สู่ร่มกาสาวพัสตร์ พุทธศาสนากับศาสนิกชน

วางบิล
เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

สู่ร่มกาสาวพัสตร์

พุทธศาสนากับศาสนิกชน

ภารกิจของสงฆ์ในพุทธศาสนาเกี่ยวข้องกับวิถีพุทธศาสนิกชนโดยเฉพาะคนไทย ตั้งแต่เริ่มมีครอบครัว นอกจากพิธีอันเป็นการนำไปสู่ชีวิตครอบครัว คือฝ่ายชายจะเป็นผู้สู่ขอฝ่ายหญิงจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง
ก่อนหน้านั้นคือการหาฤกษ์งามยามดีในการสู่ขอ การหมั้น วันมงคลสมรส ส่วนหนึ่งต้องพึ่งพาโหราจารย์ หรือหมอดู หากเป็นครอบครัวคนจีน มักจะให้หมอดูที่เป็น “ซินแส” ตรวจดวงชาตาว่า เข้ากันได้หรือไม่ ที่สำคัญของครอบครัวจีน คือทั้งสองฝ่ายต้องไม่ใช้ “แซ่” เดียวกัน แม้เปลี่ยนเป็นนามสกุลแล้วก้ตาม
ส่วนคนไทย คงไม่ผิดจากกันมากนัก เพียงแต่คนไทยต้องไม่เป็นลูกพ่อแม่เดียวกัน หากเป็นลูกพี่ลูกน้อง แม้ใช้นามสกุลเดียวกันอาจแต่งงานอยู่กินกันได้
วันแต่งงาน ส่วนใหญ่จะนิมนต์พระสงฆ์ไปสวดมนต์เป็นมงคลช่วงเช้าพร้อมตักบาตร บางคู่ไปทำบุญที่โรงพยาบาลสงฆ์ บางครอบครัวไปทำพิธีที่วัด
ที่ต้องมีสงฆ์เข้ามาเกี่ยวข้องคือการตาย ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตด้วยเหตุใด พ่อแม่ ผู้ปกครอง ญาติ สามี ภรรยา ลูก ต้องมีพิธีสงฆ์สวดพระอภิธรรม และเดินนำหน้าขบวนศพ
ดังนั้น ผู้ที่บวชตั้งแต่วันแรกถึงลาสิกขา ไม่ว่าจะบวชกี่วันก็ตาม ต้องปฏิบัติหน้าที่ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็นเพื่อสวดมนต์ บทที่เป็นมงคลทั้งหลาย กับบทที่เป็นพระอภิธรรม โดยเฉพาะบทกรวดน้ำ และบทให้พร เพื่อให้ท่องจำได้

บทสวดมนต์มีความแตกต่างกันบ้าง ผู้ที่บวชส่วนใหญ่มักบวชในฝ่ายมหานิกาย สวดมนต์ตามที่เคยได้ยินได้ฟัง ส่วนผู้ที่บวชใน/ฝ่ายธรรมยุติกยิกาย คำบางคำในบทสวดมนต์จะออกเสียงเป็นคำมคธ คือ คำที่สะกดด้วยอักษร “พ” ออกเสียงเป็น “บ” เช่น “พุทธ” ออกเสียงเป็น “บุท” เสียง “ท” ออกเป็นเสียง “ด” และการห่มจีวร กับการไม่หยิบจับเงินทอง หรือรับด้วยมือ เว้นแต่ญาติโยมจะเขียนในใบปวารณา
พระสมุห์เป็นพระเจ้าหน้าที่นิมนต์พระปฏิบัติกิจนอกเหนือจากกิจของสงฆ์ ตั้งแต่เช้า นิมนต์พระสวดมนต์เช้า พระสวดมนต์เก็บอัฐิทั้งบังสุกุลตาย บังสุกุลเป็น พระสวดมนต์ฉันเพล ทั้งในงานมงคลและในวันที่มีการฌาปนกิจ นิมนต์พระสวดแจง ร่วมบังสุกุล ช่วงบ่าย สงฆ์ที่ต้องสวดมนต์ช่วงฌาปนกิจ
จำนวนที่แน่นอน คือ เช้า 1 รูป เพลส่วนใหญ่นิยม 9 รูป หรือตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไป การสวดมาติกาแจงหรือร่วมนั่งบังสุกุลช่วงบ่าย จะกี่รูปก็ได้ แล้วแต่เจ้าภาพ สวดมนต์ช่วงฌาปนกิจ และสวดพระอภิธรรม ช่วงละ 4 รูป พระที่ต้องชักผ้าบังสุกุล จะกี่รูปแล้วแต่เจ้าภาพจะแจ้ง ซึ่งรวมไปถึงการนิมนต์พระรับสังฆทานที่เจ้าภาพมิได้ระบุสงฆ์ แม้แต่ท่านเจ้าคุณใหญ่ เจ้าอาวาส บางครั้งต้องรับนิมนต์ตามลำดับ กรณีที่ผู้นิมนต์มิได้เจาะจง
นั้นเป็นภารกิจในวัด แต่การนิมนต์พระไปสวดต่างหาก ไม่ว่าจะในวัดหรือนอกวัด เจ้าภาพจะเป็นผู้มานิมนต์ด้วยตัวเอง หรือให้พระที่คุ้นเคยช่วยนิมนต์ให้
พระซึ่งปฏิบัติหน้าที่จัดบัญชีรายชื่อคือ เจ้าคุณวิเชียร เรียกว่าพระภัตตุเทศก์ จะเป็นผู้จัดชุดพระให้คละกันตามลำดับก่อนหลัง เพื่อพระได้หมุนเวียนในลาภเสมอกัน เว้นแต่พระรูปไหนมีลาภในทางอื่น เช่น เป็นพระหมอดูมักไม่รับนิมนต์งานในวัด ยกเว้นกรณีจำเป็น
พระที่มีคำนำหน้าว่า “มหา” คือพระที่เรียนเปรียญธรรมได้ 3 ประโยค ซึ่งการเรียนเปรียญธรรมมีสูงสุดถึง 9 ประโยค แต่พระที่มีคำนำหน้าว่า “เจ้าคุณ” ต้องได้รับสมณศักดิ์ตั้งแต่ชั้น “พระ” ขึ้นไป เช่น พระแล้วต่อท้ายด้วยสมญา อาจเป็นตำแหน่งหรือชื่อก็ได้ จะได้รับตำแหน่งหรือชั้นยศต้องปฏิบัติภารกิจของสงฆ์ เช่น สอนหนังสือ เป็นครู หรือสร้างประโยชน์ให้กับวัด มีขั้นสูงขึ้นจาก “พระ” เป็นชั้น “ราช” ชั้น “เทพ” ชั้น “ธรรม” ชั้น “พรหม” ถึงชั้น “สมเด็จ” และ “สมเด็จพระสังฆราช” เป็นที่สุด
ตำแหน่งพระครู เป็นตำแหน่ง “ฐานา” ฯ ตั้งให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่กับพระผู้ใหญ่ ซึ่งพระปานไม่ค่อยมีความรู้นัก และไม่ได้ศึกษาเรียนรู้ให้ลึกซึ้งไปกว่านี้
แล้วพระปานถามขึ้นมาว่า “ใช้เวลาสวดนานไหมครับ”
“ประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ตั้งแต่หนึ่งทุ่มถึงสองทุ่มครึ่ง เดี๋ยวนี้เลิกเร็ว ไม่เหมือนเมื่อก่อน ที่ให้เลิกสองทุ่มครึ่งเพิ่งเริ่มเมื่อตอนเขามีปฏิรูปปฏิวัติกันนี่แหละ เจ้าคุณใหญ่เกรงว่าผู้มาฟังสวดจะติดเคอร์ฟิว จึงให้เลิกเร็ว ระยะนั้นเลิกสองทุ่มด้วยซ้ำไป” มหาอุดมเล่าความเป็นไปให้ฟัง
และว่า “วันหลังจะพาไปสวดมั่ง”

พระปานจำได้ว่า เมื่อครั้งที่มาฟังสวดพระอภิธรรมบิดาของตนหลายปีก่อน กว่าจะถึงจบสุดท้ายร่วมสามทุ่มครึ่ง ดีไปอย่างที่จบเร็วๆ พระปานคิด แขกที่มาฟังสวดจะได้มีเวลาไปทำอย่างอื่น ไม่ต้องเสียเวลามานั่งแกร่วฟังพระสวดซึ่งไม่ค่อยรู้เรื่องกันนัก
หลังฟังพระทั้งสองรูปคุยกันอีกสักครู่ มหาอุดมขอตัวกลับไปอาบน้ำ เตรียมตัวไปสวดพระอภิธรรม พระปานจึงขอตัวลุกตามไปด้วย
กลับเข้าห้องมองโน่นมองนี่ ตั้งใจจะจัดข้าวของวางให้เป็นที่เป็นทาง คิดหาโต๊ะตัวเตี้ยๆ มาไว้สำหรับวางหนังสืออ่าน ซึ่งคงมีมากเล่มแน่ ระหว่างสาละวนนั้น ได้ยินเสียงพระครูพรหมเรียกพอได้ยินจากหน้าห้อง
“คุณเอาหนังสือสวดมนต์ไปลองอ่าน ติดขัดตรงไหนถามท่านสุชัย” พระครูพรหมส่งหนังสือสวดมนต์ฉบับหลวงให้ แล้วออกไปหลังวัดเตรียมสวดพระอภิธรรม พระครูอยู่ในชุดห่มเฉียง มีสังฆาฏิพาดบนบ่าข้างซ้าย ถือตาลปัตรพร้อมสะพายย่ามไปด้วย
พระปานรับหนังสือกลับเข้าห้อง เปิดหนังสือสวดมนต์ฉบับหลวงดู พลิกอ่านเห็นทำครื่องหมายไว้หลายตอน เข้าใจว่าเป็นบทที่ให้ท่องสวดประจำ จึงลองอ่านออกเสียงอย่างสวดมนต์ไปเรื่อยๆ จนรู้สึกเบื่อ
จึงลุกออกจากห้อง ตั้งใจว่าจะเดินเล่นหน้าคณะ

ผ่านหน้ากุฏิมหาสวัสดิ์ เห็นนั่งเอกเขนกดูโทรทัศน์ เป็นจังหวะเดียวกับมหาสวัสดิ์หันมาเห็นพอดี
“นั่นจะไปไหนล่ะ” มหาสวัสดิ์ยิ้มทักทาย “นิมนต์ขึ้นมาดูทีวีก่อนซิ”
“ครับ” พระปานรับปาก นึกในใจว่าดีเหมือนกัน เดี๋ยวสองทุ่มจะได้ดูข่าว ขณะคิด เท้าก็ก้าวขึ้นบันไดสามขั้นข้างกุฏิเข้าไปนั่งเรียบร้อย
“น้ำชานี่” มหาสวัสดิ์บอกพลางเลื่อนปั้นน้ำชาให้พร้อมจานใส่งบน้ำอ้อย “ลองน้ำตาลนี่ งบน้ำอ้อยจากเมืองสิงห์ โยมมหาเดชคณะโน้น เขาเอามาถวาย แก้หิวดี”
พระปานกล่าวขอบคุณ ยังมิได้หยิบจับอะไรสักอย่าง มหาสวัสดิ์ต้องเตือน จึงรินน้ำชาลงถ้วยลายครามยกขึ้นจิบ หยิบน้ำตาลซึ่งแบ่งไว้เป็นก้อนเล็กๆ เข้าปากตาม รสหวานเกือบขมของน้ำตาลอ้อยเข้ากันได้ดีกับน้ำชาร้อนๆ ชงเข้มๆ หรือแก่ๆ
ระหว่างนั้น มหาสวัสดิ์ขยับปากถาม “จะบวชนานเท่าไหร่ล่ะ”