‘พระทอง’ เพลงสังวาส มโหรีกรุงเก่า | สุจิตต์ วงษ์เทศ

เพลงพระทองยุคอยุธยา ไม่เกี่ยวกับรูปสำริดจากนครธมที่นิทานเขมรเรียกพระโค พระแก้ว ไม่พระทอง [ประติมากรรมสำริดจากเมืองพระนครหลวง (นครธม) กรุงศรีอยุธยาในสมัยเจ้าสามพระยาทรงชนะศึก ได้ทรงขนย้ายมาไว้ที่อยุธยา ต่อมาพระเจ้าบุเรงนองตีได้กรุงศรีอยุธยาก็ขนย้ายไปอยู่เมืองหงสาวดี จากนั้นพระเจ้ายะไข่เข้าตีหงสาวดีและทรงย้ายประติมากรรมนี้ไปไว้ที่เมืองยะไข่ จนถึงพระเจ้าปดุงทรงรบชนะยะไข่ จึงโปรดให้นำไปไว้ที่เมืองมัณฑะเลย์และน้อมถวายเป็นพุทธบูชาพระมหามัยมุนีสืบมาจนบัดนี้ ภาพชุดนี้บันทึกเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 (ภาพและอธิบายโดย ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ)]

มโหรียุคอยุธยา รับวัฒนธรรมเขมร (แต่ไทยมักเรียกขอม) เป็นมรดกตกทอดจากอาณาจักรกัมพูชา
เพลงนางนาค กับ เพลงพระทอง เป็นเพลงมงคลบรรเลงมโหรีใช้ในพิธีแต่งงาน มีต้นแบบจากเขมร ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา พบตำนานย่อๆ ดังนี้

นางนาค เป็นธิดาพญานาค ซึ่งเป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของคนพื้นเมืองอุษาคเนย์ นับถือศาสนาผี ยกย่องหญิงเป็นใหญ่ในพิธีกรรม และเป็นหมอมดหัวหน้าเผ่าพันธุ์

พระทอง (มอญ-เขมร เรียกพระโถง แต่ไทยเพี้ยนเสียงเป็น ปะตง ก็มี) เป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของพระราชาผู้มีเทคโนโลยีก้าวหน้าจากต่างชาติมาทางทะเล

ตำนานกำเนิดรัฐกัมพูชา เล่าว่านางนาคกับพระทองเสพสมัครสังวาส (แต่งงาน)กัน ถือเป็นยุคเริ่มแรกของการรับวัฒนธรรมอินเดีย แล้วมีบ้านเมืองเติบโตเป็นรัฐ

นิทานเขมรเล่าว่าทุกคืน พระเจ้าแผ่นดินต้องสังวาสนางนาคที่แปลงร่างเป็นหญิงสาว ถ้าไม่ทำเป็นกิจวัตรบ้านเมืองล่มจม

รัฐอยุธยามีกฎมณเฑียรบาล ระบุว่าพระเจ้าแผ่นดินมีพระราชพิธีเสด็จไปเสพสังวาส (ค้างคืน) กับ “แม่หยัว” หมายถึง หญิงเป็นใหญ่ในแผ่นดินขณะนั้น (ซึ่งคนละองค์กับอัครมเหสี)

การร่วมเพศระหว่างหญิงกับชาย เป็นพิธีกรรมเจริญพืชพันธุ์ธัญญาหารเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของชุมชนจนถึงบ้านเมืองและราชอาณาจักร จึงไม่ใช่เรื่องบัดสี

 

เพลงสังวาส

บทมโหรี ยุคอยุธยา มีเพลงพระทองกับเพลงคู่พระทอง คำร้องพรรณนาการร่ำลาอาลัยอาวรณ์ของนางนาคหลังร่วมสังวาสกับพระทอง นิยมใช้ร้องกล่อมหอในพิธีทำขวัญแต่งงานของขุนนางข้าราชการยุคนั้น

[คัดจากหนังสือ ประชุมบทมโหรี รวบรวมพิมพ์ครั้งแรก จำหน่ายในงานฤดูหนาว สวนจิตรลดา พ.ศ.2463 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สภานายกหอสมุดสำหรับพระนคร โปรดให้รวบรวมบทมโหรีนี้เมื่อ พ.ศ.2460 ในหนังสือมีข้อความบอกเพลงชุดนี้ว่า “บทเกร็ด สำหรับร้องมโหรีแต่โบราณ” มี 72 บท]

เพลงพระทอง เนื้อร้องพรรณนารูปร่างหน้าตาของพระทองงามเหมือนรูปปั้นหล่อด้วยทองสำริด เป็นขนบการชมรูปร่างหน้าตา มีคำเก่าว่า “งามตะละปั้น” (คือ เหมือนรูปปั้นหล่อ) หรือ “งามดังแกล้ง” (คือ แกล้งเกลา แปลว่า ประณีตประดิดประดอย)

เป็นเรื่องในตำนานบรรพชนเขมร ไม่ใช่อย่างครูดนตรีไทยมักอธิบายว่าเรื่องรูปปั้นสำริดที่เจ้าสามพระยา (ยุคต้นอยุธยา) ขนกลับอยุธยาหลังตีได้เมืองนครธม (ปัจจุบันพม่าขนไปหลังตีอยุธยา) ซึ่งมีรูปโคนนทิ กับรูปพระอีศวร (พระศิวะ) ที่นิทานเขมรเรียก พระโค พระแก้ว ไม่ใช่พระทอง

บทร้องเพลงคู่พระทอง พรรณนาการร่ำลาอาลัยอาวรณ์หลังเสพสังวาส ฝ่ายหญิง (คือ นางนาค) เปิดเผยความต้องการทางเพศออดอ้อนพระทอง

 

ร้องพระทอง
๏ พระทองเทพรังสรรค์ หล่อด้วยสุวรรณกำภู
เจ้างามบริบูรณ์ไม่มีคู่ โฉมตรูข้าร้อยชั่งเอย
๏ พระทองข้ารูปหล่อเหลา หนักเล่าก็ได้ร้อยชั่ง
รัศมีนั้นงามอยู่เปล่งปลั่ง ทั้งเมืองไม่มีเหมือนเอย

ร้องคู่พระทอง
๏ พระทองเจ้าจะไป น้องจะได้ใครมานอนเพื่อน
อันใจเจ้าดีไม่มีเหมือน เจ้าเพื่อนที่นอนของน้องเอย
๏ เจ้าเอยเจ้าพี่ ค่อยอยู่จงดีกว่าจะมา
จะไปก็ไม่ช้า จะพลันมาเปนเพื่อนนอนเอย
๏ พระทองเจ้าจะไป จะให้อะไรไว้น้องชม
ขอแต่ผ้าลายที่ชายห่ม จะชมต่างหน้าพระทองเอย

สัญลักษณ์อวัยวะเพศชาย

บทร้องเพลงสรรเสริญพระจันทร์เป็นเรื่องทำขวัญแต่งงานของเจ้าสาวเจ้าบ่าว กล่าวถึงเทียนทองในยุคนั้น เป็นสัญลักษณ์อวัยวะเพศชาย จัดไว้ในที่สำคัญ อันเป็นสถานร่วมเพศของบ่าวสาว ดังนี้

ร้องสรรเสริญพระจันทร์
๏ เจ้าเอยเทียนทอง ปิดเข้าที่หน้าแท่นทอง
ทำขวัญเจ้าทั้งสอง ให้เจ้าอยู่ดีกินดี
ให้อยู่จนเฒ่าชรา ให้เจ้าเป็นมหาเศรษฐี
อายุยืนได้ร้อยปี เลี้ยงพระบิดามารดา