กรองกระแส : บทบาท ความหมาย ร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ผ่านประชามติ ความหมาย ต่อ ‘คสช.’

8

แม้จะมีการ “โยนหินถามทาง” มาจาก พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

“นายกฯ ปรารภว่าได้ยินมาจากหลายที่พูดรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลต่างๆ 1 ใน เหตุผลคือ

“อยากให้ คสช. อยู่นานๆ ไม่รับดีกว่า”

กระนั้น ความห่วงใยอันมาจาก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ความห่วงใยอันมาจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
หากร่างรัฐธรรมนูญ “ไม่ผ่าน” ประชามติ ก็ไม่ควรมองข้าม

อย่างน้อย นายวิษณุ เครืองาม ก็เป็น “มือกฎหมาย” ผ่านการเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผ่านการเป็นรองนายกรัฐมนตรี อยู่มาแล้วหลายรัฐบาล และเป็นเจ้าของบทสรุป

“ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ”

อย่างน้อย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีประสบการณ์ทางการเมืองตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2535 เคยผ่านการเคลื่อนไหวในเดือนพฤษภาคม 2535 และเคยร่วมในการสลายการชุมนุมกับ คสช. และรัฐบาลมาแล้วภายใต้ฉายาแห่ง “ศอฉ.” เมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

ความห่วงใยหาก “ร่างรัฐธรรมนูญ” ไม่ผ่าน “ประชามติ” จึงมีความสำคัญและมีผลสะเทือนเป็นอย่างสูงในทางการเมือง

ร่างรัฐธรรมนูญ 2559
ใครเป็นเจ้าของ “เรื่อง”

เหมือนกับร่างรัฐธรรมนูญที่รอการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม จะเป็นผลงานในความรับผิดชอบของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน
ถามว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีที่มาอย่างไร

คำตอบก็คือ มาจากการแต่งตั้งโดยอำนาจของ คสช. ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557
ถือว่าเป็น 1 ในสิ่งที่เรียกว่า “แม่น้ำ 5 สาย”

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการร่างรัฐูรรมนูญ (กรธ.) ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้บทบัญญัติและธงนำในทางความคิดอย่างไร

1 ทำตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 35 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557

ขณะเดียวกัน 1 ทำตามข้อเสนอและคำชี้แนะอันมาจาก 1 คสช. 1 ครม. 1 สนช. และ 1 สปท. ซึ่งเป็นองค์กรที่แต่งตั้งโดยหัวหน้า คสช.
ดังที่ นายวิษณุ เครืองาม ได้ให้อนุศาสน์ไว้แก่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่า

“ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ” อันเป็นอนุศาสน์ซึ่งได้ให้บทเรียนอย่างลึกซึ้งกับนักร่างรัฐธรรมนูญระดับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ มาแล้ว

จึงเห็นได้ว่า “ร่างรัฐธรรมนูญ” แม้จะเรียกว่าฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ แต่มิใช่ของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์

บทบาท การเคลื่อนไหว
ให้ “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ

นับแต่ร่างรัฐธรรมนูญ “เปิดตัว” ออกมา ไม่ว่าจะเป็นฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ไม่ว่าจะเป็นฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ มี คสช. และรัฐบาลเป็นเจ้าของเรื่องโดยตลอด
ไม่ว่าจะ “รับ” ไม่ว่าจะ “ไม่รับ”

รูปธรรมก็คือ การไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เมื่อเดือนกันยายน 2558 ในที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
ก็เป็นไปตาม “ธง” จาก คสช. และรัฐบาล

ขณะเดียวกัน แนวโน้มอันเด่นชัดยิ่งสำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นับแต่เปิดตัวเบื้องต้นเมื่อเดือนมกราคมและปิดร่างอย่างสมบูรณ์เมื่อเดือนมีนาคม ก็คือ อยู่ในการปรับแต่งและรับผิดชอบโดย คสช. และรัฐบาล

ไม่ว่าจะเป็นการปรับแก้ก่อนประกาศ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันในเรื่อง “คำถามพ่วง” เข้ามา

ทิศทางโดยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ทิศทางโดย พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 คล้ายกับความรับผิดชอบในเรื่องประชามติจะเป็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

แต่ความเป็นจริงจะเห็นได้จากการออกมาของ กรธ. โดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกระทรวงมหาดไทยในเรื่อง ครู ก. ครู ข. และโดยเฉพาะ ครู ค.

แต่ความเป็นจริงจะเห็นได้จากการออกมาของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) โดยร่วมมือกับกองทัพบกผ่านกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และกองทัพภาคแต่ละภาคในการจัดส่ง “รด.จิตอาสา” ไปกับหน่วยปฏิบัติการจิตวิทยา

แต่ความเป็นจริงจะเห็นได้จากการขยายบทบาทของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ผ่านการจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยประชามติร่างรัฐธรรมนูญ (ศรส.) โดยประสานและร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย

ภาระหน้าที่คือ ดำเนินการทุกวิถีทางในกระบวนการออกเสียงประชามติเป็นไปด้วยความสงบ ด้วยความเรียบร้อย
ความเรียบร้อยในที่นี้โน้มเอียงไปในทาง “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ

ทิศทาง ความเชื่อมั่น
ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน

ทุกมาตรการอันมาจาก คสช. ทุกมาตรการอันดำเนินการโดยรัฐบาลผ่านกระบวนการอย่างที่เรียกว่า “แม่น้ำ 5 สาย” มีเป้าหมายแน่วแน่และมั่นคงยิ่ง
ทาง 1 สยบและสกัดขัดขวางการเคลื่อนไหวในฝ่าย “ไม่รับ”

ไม่ว่าจะโดยการนำเสนอวาทกรรมว่าด้วย “ร่างรัฐธรรมนูญปลอม” ไม่ว่าจะโดยการสรุปว่าฝ่ายไม่รับเป็นฝ่ายก่อกวน สร้างความปั่นป่วนและนำไปสู่การจับกุม คุมขัง ไม่ว่าจะเป็นที่สมุทรปราการ ไม่ว่าจะเป็นที่ราชบุรี เป็นต้น

ทาง 1 ผลักดันให้ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ผ่านประชามติให้จงได้ในวันที่ 7 สิงหาคม

คำถามก็คือ หาก คสช. และรัฐบาลภายใต้กระบวนการ “แม่น้ำ 5 สาย” เคลื่อนไหวโดยลงแรงถึงระดับนี้แล้ว ร่างรัฐธรรมนูญ “ไม่ผ่าน” ประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม จะหมายความว่าอย่างไร
ความหมายนี้ผลสะเทือนจะรุนแรง ล้ำลึกและกว้างขวางยิ่งในทางการเมือง

เพราะมิได้หมายความถึงการปฏิเสธ “ร่างรัฐธรรมนูญ” หากแต่ยังมีความหมายถึงการปฏิเสธ “คสช.” การปฏิเสธ “รัฐบาล”
และที่สุดแล้วก็คือ การปฏิเสธบทบาทและความหมายของ “รัฐประหาร”