วรศักดิ์ มหัทธโนบล : เรื่องจริงของเปาบุ้นจิ้น (2)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

นั่นคือเรื่องราวของราชวงศ์ซ่งแต่โดยสังเขป เมื่อเข้าใจภาพรวมเช่นนี้แล้วย้อนกลับมาดูเรื่องราวของเปาบุ้นจิ้นอีกครั้งหนึ่ง ก็พอทำให้เห็นภาพเปาบุ้นจิ้นได้ว่าน่าจะมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร

แน่นอนว่า ภาพที่ว่าย่อมมีทั้งภาพที่เป็นสุขและภาพที่เป็นทุกข์ดำรงอยู่

แต่ใครเลยจะรู้ว่า แม้เวลาจะล่วงเลยในอีกหลายร้อยปีต่อมา ทั้งสุขและทุกข์ที่ว่านี้ก็ยังมิวายที่จะติดตามมาแม้ในปัจจุบัน

เปาบุ้นจิ้นมีชื่อจริงว่า เปาเจิ่ง เกิดเมื่อ ค.ศ.999 ที่เมืองเหอเฝย (ปัจจุบันคือเมืองเอกของมณฑลอานฮุย) และถึงแก่กรรมใน ค.ศ.1062 ที่เมืองไคเฟิง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ซ่งเหนือ (ปัจจุบันคือจังหวัดหนึ่งของมณฑลเหอหนาน)

เปาที่เป็นชื่อสกุล (แซ่) ของเปาเจิ่งมีที่มาจากบรรพชนที่ชื่อ เซินเปาซีว์ ขุนนางรัฐฉู่ในปลายยุควสันตสารทหรือชุนชิว (770 ถึง 476 ปีก่อน ค.ศ. หรือ 771 ถึง 481 ปีก่อน ค.ศ.)

หลังจากนั้นลูกหลานของเซินเปาซีว์ที่เกิดในชั้นหลังได้นำชื่อในพยางค์แรกคือคำว่า เปา มาตั้งเป็นชื่อสกุล ต้นตระกูลเปาก็ถือกำเนิดขึ้น

ลูกหลานของสกุลเปาได้สืบทอดสายเลือดของวงศ์ตระกูลเรื่อยมา

เปาเจิ่งถือเป็นรุ่นที่ 34 ของตระกูล

ชีวิตในวัยเด็กของเปาเจิ่งขึ้นชื่อในเรื่องความกตัญญู และการให้ความเคารพต่อผู้สูงอายุมาก่อนอยู่แล้ว

ครั้นมีอายุ 28 ปีใน ค.ศ.1027 เปาเจิ่งก็สอบเป็นบัณฑิตชั้นจิ้นซื่อได้สำเร็จในระดับเกียรตินิยม

อนึ่ง ระบบการศึกษาของจีนในอดีตมีการแบ่งระดับอุดมศึกษาที่อาจเทียบเท่ากับในปัจจุบันได้เป็น 3 ระดับคือ บัณฑิตชั้นซิ่วไฉจะเทียบเท่ากับระดับบัณฑิต (ปริญญาตรี)

บัณฑิตชั้นจี่ว์เหญินเทียบเท่ากับระดับมหาบัณฑิต (ปริญญาโท)

และบัณฑิตชั้นจิ้นซื่อเทียบเท่ากับระดับดุษฎีบัณฑิต (ปริญญาเอก) โดยผู้ที่สอบได้ในชั้นจิ้นซื่อจะมีเพียงไม่กี่คน และจำนวนผู้ที่สอบได้ในแต่ละสมัยก็ไม่แน่นอน

ที่สำคัญ ผู้ที่สอบได้ในชั้นจิ้นซื่อทุกคนจะต้องเข้าสอบต่อเบื้องหน้าพระพักตร์จักรพรรดิอีกครั้งหนึ่ง

วิธีการสอบในแต่ละสมัยจะไม่เหมือนกัน เช่น บางสมัยจักรพรรดิจะเป็นผู้สอบสัมภาษณ์จิ้นซื่อด้วยตนเองโดยตรงก็มี เป็นต้น

ผู้ที่สอบผ่านในขั้นตอนสุดท้ายโดยจักรพรรดิส่วนมากจะมีเพียง 1 คน หากจะมีมากกว่านั้นก็ไม่เกิน 2 คน

และเมื่อสอบได้แล้วก็จะได้เป็นบัณฑิตชั้นจ้วงหยวน หรือที่ไทยเราคุ้นเคยในเสียงจีนแต้จิ๋วว่า จอหงวน

ควรกล่าวด้วยว่า การศึกษาของจีนในอดีตนั้นอย่าว่าแต่การสอบเป็นบัณฑิตชั้นจิ้นซื่อที่ยากแสนยากเลย แค่ชั้นซิ่วไฉก็ใช่ว่าจะสอบได้ง่ายๆ

แต่เมื่อสอบได้แล้วชีวิตของผู้ที่สอบได้จะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือทันที เพราะนั่นจะเท่ากับได้เป็นขุนนาง

เมื่อได้เป็นแล้วโภคทรัพย์ต่างๆ ก็จะตามมาตามฐานะและตำแหน่งที่ได้รับ

ดังนั้น บัณฑิตที่มีภูมิหลังชีวิตที่เป็นคนยากจนมาก่อนก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นยิ่งกว่าถูกหวยรางวัลที่หนึ่งเสียอีก คือจะมีบ้านหรือคฤหาสน์หลังใหญ่พร้อมคนรับใช้ และทำให้สามารถรับบุพการีและพี่น้องของตนเข้ามาอาศัยอยู่ด้วยกัน ทั้งนี้ ยังมินับอำนาจและสิทธิตามยศศักดิ์ที่พึงมีพึงได้ที่จะยังมีมาอีกมากมาย

นอกจากโภคทรัพย์ต่างๆ บรรดามีแล้ว ขุนนางจีนจะเป็นเพียงอาชีพเดียวที่ได้รับเงินเดือน

คำว่าเงินเดือนในภาษาจีนนั้นมีรากศัพท์มาจากคำในเสียงจีนกลางว่า ลู่

ต่อมาคำนี้ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อแทนผู้ที่เป็นขุนนาง ดังจะเห็นได้จากรูปเคารพที่ชาวจีนถือเป็นสิริมงคลและตั้งเคารพบูชาไว้ในบ้าน คือรูปเคารพที่เรียกขานตามเสียงจีนแต้จิ๋วว่า ฮก ลก ซิ่ว หรือเสียงจีนกลางว่า ฝู ลู่ โซ่ว นั้น

รูปที่เรียกว่า ลก ที่แต่งตัวเป็นขุนนางชั้นสูงก็คือคำว่า ลู่ นี้เอง

การที่ชั้นซิ่วไฉยังสอบได้ยากและมีความสำคัญขนาดนั้น ชั้นจิ้นซื่อที่เปาเจิ่งสอบได้จึงยิ่งมิพักต้องกล่าวถึงความสำคัญว่าจะมีมากเพียงใด ด้วยเหตุนี้ สังคมจีนในอดีตจึงยกย่องผู้มีการศึกษาไว้ในฐานะที่สูงส่ง เพียงได้เรียนมาจนถึงชั้นมัธยมศึกษาก็นับเป็นปัญญาชนได้แล้ว การยกย่องเช่นนี้จึงมิใช่ทำไปอย่างส่งเดชสักแต่ว่าอวยกันไป หากแต่เป็นเพราะการจะก้าวมาถึงเพียงแค่ชั้นที่ว่านั้นก็ยังมิใช่เรื่องง่ายเช่นกัน

เห็นการศึกษาของจีนในอดีตแล้ว หลายท่านอาจเหนื่อยจิตเหนื่อยใจกับการศึกษาเชิงพาณิชย์ที่เป็นไปเกือบจะทั้งโลก (รวมทั้งไทยเราด้วย) ในปัจจุบันก็ได้

หลังจากที่สอบได้เป็นบัณฑิตชั้นจิ้นซื่อแล้ว เปาเจิ่งก็ได้เป็นขุนนางในตำแหน่งผู้พิพากษาและผู้ว่าราชการโดยลำดับ

ในตำแหน่งหลังนี้เปาเจิ่งจะได้รับผ้าแพรนับหมื่นหรือสองหมื่นกว่าพับกับข้าวสารอีก 300 ถึง 500 ลิตรต่อเดือน

เห็นเช่นนี้แล้วอาจมีผู้สงสัยว่า เปาเจิ่งจะจัดการกับโภคทรัพย์ที่ได้รับมามากมายนี้อย่างไร

เพราะดูไปแล้วไม่น่าที่จะนำมากินมาใช้เองได้หมดเป็นแน่

ความจริงก็เป็นเช่นนั้น ลำพังข้าวสารอาจเข้าใจได้ ด้วยเปาเจิ่งต้องเลี้ยงดูครอบครัวและคนรับใช้ภายในบ้านซึ่งไม่ใช่มีเพียงคนสองคน และขุนนางที่ดีในอดีตก็ใช่ว่าจะเลี้ยงดูแต่คนรับใช้โดยไม่ไยไพญาติพี่น้องของคนรับใช้ก็หาไม่ บ่อยครั้งจึงมักจะแบ่งข้าวสาร (ที่มีมาก) หรือข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่มีเหลือให้คนรับใช้นำกลับไปให้คนในครอบครัวด้วย

ส่วนผ้าแพรนั้นถือเป็นของมีราคาแพง ขุนนางจีนที่ใช้ผ้าแพรมาตัดเย็บเสื้อผ้าก็ใช้ตามสมควรแก่ฐานะและกาลเทศะเช่นกัน

ส่วนที่เหลือนั้นมักเก็บไว้ใช้ในโอกาสที่สำคัญ เช่น เป็นส่วนหนึ่งของสินสอดเมื่อจะไปสู่ขอเจ้าสาวให้บุตรชายของตน เป็นของขวัญในงานแต่งงานของผู้อื่น เป็นรางวัลหรือสินน้ำใจให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือคนรับใช้ในโอกาสต่างๆ ฯลฯ

เวลาจะให้ก็ให้อย่างสมฐานะและตำแหน่งที่ตนดำรงอยู่ หากให้ด้วยความตระหนี่ถี่เหนียวไม่สมฐานะก็จะเป็นที่ดูหมิ่นถิ่นแคลนจากผู้คนเอาได้

อย่างไรก็ตาม เปาเจิ่งรับราชการเป็นขุนนางได้ระยะหนึ่งแล้วก็จำต้องลาออกเพื่อกลับไปดูแลบุพการีที่บ้านเกิด เนื่องจากบุพการีอายุมากแล้ว ขุนนางที่จะมีปัญหานี้มีเป็นส่วนน้อย คือเป็นปัญหาก็เพราะบุพการีไม่ยอมมาอยู่ด้วยกับบุตรที่เป็นขุนนางของตน เพื่อที่บุตรจะได้ดูแลตนได้สะดวกและใกล้ชิด ที่ทำเช่นนั้นก็เพราะยังอาลัยอาวรณ์หรือคุ้นชินกับบ้านเดิมจนไม่อยากย้ายตนไปที่อื่น

กรณีเช่นนี้แม้ในปัจจุบันก็ยังคงพบผู้สูงวัยที่มีความรู้สึกเช่นนี้ และไม่ยอมย้ายตามไปอยู่กับลูกหลานของตนที่ได้ดิบได้ดีและมีที่ทางที่กว้างขวางขึ้น

กรณีจีนนั้นโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะตามมาอยู่ด้วยกับบุตรที่เป็นขุนนางด้วยความยินดี และมักถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งเช่นกัน

กรณีของเปาเจิ่งจึงถือเป็นส่วนน้อย

จะต่างกันก็แต่ว่า ในอดีต (ของจีน) นั้นบุตรสามารถลาออกจากงานมาดูแลบุพการีได้ เพราะราชสำนักจีนให้ความสำคัญกับเรื่องความกตัญญูเป็นที่ยิ่ง ซ้ำขุนนางผู้ใดที่ถูกจับได้ว่าอกตัญญูต่อบุพการีของตนก็ยังถือว่ามีความผิดอีกด้วย

และใครที่ติดตามละครชุด เปาบุ้นจิ้น โดยตลอดแล้วก็จะสังเกตเห็นได้ว่า มีบ่อยครั้งที่คนที่ตกเป็นจำเลยหากมีความกตัญญูแล้ว มักจะได้รับความเห็นใจจากเปาบุ้นจิ้นและได้รับการวินิจฉัยคดีไปในทางที่ผ่อนปรนอยู่เสมอ

ดังนั้น การที่เปาเจิ่งแสดงออกเช่นนี้จึงนับเป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นในด้านความกตัญญู

แต่คุณสมบัติข้อนี้ก็ทำให้เปาเจิ่งห่างหายไปจากแวดวงราชการร่วมสิบปี เพราะภายหลังจากสิ้นบุพการีไปแล้ว เปาเจิ่งซึ่งหวนกลับมารับราชการอีกครั้งหนึ่งก็ปรากฏว่า เพื่อนขุนนางในรุ่นเดียวกันต่างก็ก้าวหน้าในหน้าที่การงานไปมากแล้ว

แต่กระนั้น เปาเจิ่งก็รับราชการเรื่อยมาไม่เคยลาออกหรือสะดุดหยุดลงด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งอีกเลย

และตราบจนวันที่จากโลกนี้ไปก็นับได้นาน 27 ปีที่เปาเจิ่งรับราชการในฐานะขุนนาง

ตลอดห้วงแห่งชีวิตขุนนาง เปาเจิ่งดำรงตำแหน่งต่างๆ มากมาย แต่ละตำแหน่งที่ได้รับหมายถึงการถูกย้ายเพื่อรับตำแหน่งนั้นๆ ไปด้วย (ไม่ต่างกับข้าราชการไทยในปัจจุบัน)

ตำแหน่งที่ได้รับในแต่ละครั้งมักเป็นตำแหน่งที่สูง ซึ่งมีตั้งแต่ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด นคร หรือเมืองหลวง ราชทูตที่ชี่ตาน (มีบางตอนในละครชุด เปาบุ้นจิ้น บอกให้รู้ว่าเปาเจิ่งเคยเป็นราชทูตที่รัฐดังกล่าว รัฐนี้เป็นของชนชาติชี่ตานที่ทรงอิทธิพลในขณะนั้น และเป็นรัฐหนึ่งที่เป็นภัยคุกคามของราชวงศ์ซ่ง) ตำแหน่งในฝ่ายโยธา กลาโหม พิธีกรรม การคลัง และเกียกกาย ฯลฯ

แต่ตำแหน่งที่โดดเด่นยิ่งก็คือ ผู้ตรวจการและรองข้าหลวงฝ่ายความมั่นคง ตำแหน่งหลังนี้เป็นตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตเปาเจิ่ง ถึงแม้จะมีตำแหน่งที่สำคัญก็ตาม แต่หากว่ากันถึงระดับชั้นขุนนางจีนในอดีตที่มีอยู่ 9 ชั้นและชั้นที่ 1 ถือเป็นชั้นที่สูงสุดแล้ว ตำแหน่งที่เปาเจิ่งได้รับสูงสุดคือระดับที่ 2 หาได้ก้าวขึ้นไปถึงชั้นที่ 1 ไม่

ทั้งนี้ นอกจากเหตุผลในเรื่องที่เปาเจิ่งกลับมารับราชการช้าไปสิบปีจากที่ได้กล่าวไปแล้ว

บทบาทที่ตรงไปตรงมาก็น่าที่จะมีส่วนอยู่ไม่น้อยที่ทำให้เปาเจิ่งต้องติดอยู่ชั้นที่ 2 ซึ่งผิดกับชื่อเสียงและเกียรติคุณที่ขจรไกลและยาวนานมาถึงปัจจุบันของเขาเอง

อันที่จริงแล้วบทบาทที่ตรงไปตรงมาของเปาเจิ่งมีอยู่หลายเรื่อง แต่ละเรื่องล้วนเป็นที่กล่าวขานและสร้างชื่อเสียงให้เขาทั้งสิ้น

บทบาทเหล่านี้ไม่มีอยู่ในละครชุดที่เราดูทางโทรทัศน์ หรือถ้าจะมีก็มีโดยอ้อม หรือหากจะเข้าใกล้ตรงๆ ก็กลับแต่งเติมจนหมดเค้าเรื่องเดิม

แต่มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่มักปรากฏในละครชุดอยู่หลายครั้งหลายตอนคือ การที่บทบาทของเปาเจิ่งมักจะถูกขัดขวางโดยราชครู ขุนนางที่อยู่สูงกว่าเปาเจิ่ง

บทความนี้จะขอกล่าวเฉพาะบทบาทของเปาเจิ่งที่สัมพันธ์กับราชครูคนนี้ แต่เป็นการกล่าวถึงในในด้านที่เป็นจริง มิใช่เรื่องแต่ง ด้วยเห็นว่าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญและสะท้อนบทบาทของเปาเจิ่งในแง่มุมที่ท้าทายอย่างยิ่ง

และจะทำให้เรารู้ด้วยว่าราชครูที่ปรากฏในละครชุดนั้นมีตัวตน ความเป็นมาและเป็นไป หรือมีบทบาทอย่างไร

ทั้งจะทำให้ดูละครชุดนี้ด้วยความเข้าใจและ (น่าจะ) สนุกมากขึ้นอีกด้วย