จิตต์สุภา ฉิน : ป้องกันหุ่นยนต์ชั่วร้าย “ต้องกลายเป็นหุ่นยนต์เอง”

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
เครดิตภาพ Flick/John Bolin

ได้เวลากลับมาคุยเรื่อง AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ กันอีกครั้งแล้วค่ะ

เวลาพูดถึง AI ในยุคนี้ หน้าของบุคคลสำคัญในวงการเทคโนโลยีที่จะลอยขึ้นมาเป็นคนแรกๆ ก็เห็นจะเป็น อีลอน มัสก์ แห่ง Tesla และ SpaceX นี่แหละค่ะ

เพราะเขาคนนี้เป็นคนที่หมกมุ่นกับเรื่องปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และอวกาศ เอามากๆ และมักจะนำเสนอแนวคิดแปลกใหม่ที่คนทั่วไปคาดไม่ถึงออกมาอยู่บ่อยๆ

อีลอน มัสก์ เคยออกโรงเตือนภัยเกี่ยวกับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ว่าอาจจะนำไปสู่หายนภัยของมนุษยชาติมาแล้ว

และในสัมภาษณ์ล่าสุดดูเหมือนกับว่าเขาจะมีทางออกให้กับปัญหาข้อนี้แล้วค่ะ

เพราะเขาบอกว่าในเมื่อเรากลัวการมาถึงของปัญญาประดิษฐ์ชั่วร้ายกันนัก ทางเดียวที่พอจะป้องกันได้ก็น่าจะเป็นการเปลี่ยนให้ตัวเรากลายเป็นมนุษย์กึ่งปัญญาประดิษฐ์ไปเสียเลย!

ข้อเสนอแนะของมัสก์เป็นแบบนี้ค่ะ

 

เขาบอกว่าถ้าเราสามารถควบรวมตัวเราเองเข้ากับปัญญาประดิษฐ์ได้ด้วยการพัฒนาเส้นประสาทที่เชื่อมโยงระหว่างสมองส่วนนอกกับส่วนต่อขยายดิจิตอลของเรา เราก็จะถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นเสมือนกึ่งมนุษย์ กึ่งปัญญาประดิษฐ์

และเมื่อการทำแบบนี้แพร่ขยายไปเป็นวงกว้าง ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงการเป็นปัญญาประดิษฐ์ได้ ก็จะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องการควบคุมปัญญาประดิษฐ์

เราไม่ต้องมากังวลว่าปัญญาประดิษฐ์จะกลายเป็นภัยคุกคามมนุษย์ เพราะมนุษย์นี่แหละที่จะกลายเป็นปัญญาประดิษฐ์เสียเอง

มัสก์เคยพูดถึงแนวคิดนี้มาก่อนแล้ว โดยเขาเรียกมันว่าเป็น Neural Lace หรือสรุปใจความง่ายๆ มันก็คือชั้น หรือเลเยอร์ปัญญาประดิษฐ์ ที่อยู่ในมนุษย์นั่นเองค่ะ

ส่วนวิธีการที่จะทำแบบนั้นได้ เขาเสนอเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ (แต่ก็ปนน่าหวาดเสียวเล็กๆ) คือไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่สอดเลเยอร์ดิจิตอลที่ว่าเข้าไปทางเส้นเลือดแดงหรือหลอดเลือดดำซึ่งเป็นทางที่จะนำไปสู่เส้นประสาท ซึ่งก็อาจจะรวมถึงการเข้าทางหลอดเลือดดำคอด้วย (กรี๊ด)

เขาบอกว่าการทำเช่นนี้จะช่วย “เพิ่มแบนด์วิธ” ให้กับมนุษย์ได้ เพราะในตอนนี้มนุษย์มีข้อจำกัดพื้นฐานหลายอย่าง อย่างเช่น การใช้นิ้วหัวแม่มือในการพิมพ์คีย์บอร์ดบนโทรศัพท์เราก็ยังสามารถทำได้อย่างเชื่องช้า

แต่ถ้าเรามีอินเทอร์เฟซใหม่ที่แบนด์วิธสูง ข้อจำกัดเหล่านี้ก็จะถูกกำจัดทิ้งไปทันที

 

สารภาพตรงๆ ว่าทางด้านเทคนิคแล้วซู่ชิงก็ยังนึกภาพไม่ออกสักเท่าไหร่ว่าความเป็นปัญญาประดิษฐ์จะถูกเพิ่มซ้อนเลเยอร์เข้าไปในตัวเราได้ยังไง และจะส่งผลยังไงบ้าง

แต่ซู่ชิงพอจะเข้าใจความสำคัญของการที่เทคโนโลยีการเปลี่ยนมนุษย์เป็นกึ่งปัญญาประดิษฐ์นั้นจะต้องเป็นสิ่งที่ “ทุกคน” สามารถเข้าถึงได้ ในสภาพปัจจุบันเราไม่รู้เลยว่าคนที่มีมันสมองเก่งกาจเพียงพอที่จะพัฒนาเอไอนั้นเขากำลังคิดหรือวางแผนอะไรกันอยู่ และจะพัฒนาเอไอออกมาได้น่าหวาดกลัวแค่ไหน

แต่หากทุกคนก็สามารถเปลี่ยนตัวเองเป็นเอไอได้ สิทธิพิเศษของการครอบครองเอไอก็จะหายไป และวงการนี้ก็จะโปร่งใสขึ้น ทำให้ทุกด้านสามารถคานอำนาจกันได้และไม่นำไปสู่วันสิ้นโลกที่มนุษย์ต้องตกเป็นทาสเอไอที่ อีลอน มัสก์ หวาดกลัวนักหนา

เรื่องทั้งหมดนี้ก็ทำให้ซู่ชิงนึกถึง Three Laws of Robotics หรือกฎ 3 ข้อของหุ่นยนต์ โดย ไอแซ็ก อสิมอฟ นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง กฎ 3 ข้อที่ว่านี้ประกอบด้วย

1. หุ่นยนต์มิอาจกระทำการอันตรายต่อผู้ที่เป็นมนุษย์ หรือนิ่งเฉยปล่อยให้ผู้ที่เป็นมนุษย์ตกอยู่ในอันตรายได้

2. หุ่นยนต์ต้องเชื่อฟังคำสั่งที่ได้รับจากผู้ที่เป็นมนุษย์ เว้นแต่คำสั่งนั้นๆ ขัดแย้งกับกฎข้อแรก

3. หุ่นยนต์ต้องปกป้องสถานะความมีตัวตนของตนไว้ ตราบเท่าที่การกระทำนั้นมิได้ขัดแย้งต่อกฎข้อแรกหรือกฎข้อที่สอง

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกฎสำหรับหุ่นยนต์เอาไว้แล้ว แต่กฎทั้งสามข้อนี้ไม่ได้เป็นกฎที่เขาเขียนขึ้นมาเพื่อบังคับใช้หรือเป็นแนวทางให้กับหุ่นยนต์ในโลกแห่งความเป็นจริง

เพราะกฎทั้งสามเป็นกฎที่เขาใช้สำหรับการเขียนนิยายของตัวเองเท่านั้น ซึ่งก็ได้กลายเป็นผลงานและแนวคิดที่ยั่งยืนที่สุดชิ้นหนึ่งของอสิมอฟ

แต่แน่นอนว่าเมื่อเขียนขึ้นมาใช้กับนิยาย จึงไม่ได้มีเครดิตในชีวิตจริงมากสักเท่าไหร่
ล่าสุดจึงมีการออกงานเขียนอย่างเป็นทางการ ชื่อ BS8611 โดย British Standards Institute ว่า ด้วยไกด์ไลน์ของจริยธรรมในการออกแบบและการใช้หุ่นยนต์และระบบหุ่นยนต์ทั้งหลาย โดยเป็นผลงานที่เกิดจากการรวมกันของคณะกรรมการที่ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ นักจริยธรรม นักปรัชญา และผู้ใช้

จุดประสงค์ของงานเขียนชิ้นนี้คือการแนะแนวทางให้ตระหนักถึงภัยอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากจำนวนของหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่เพิ่มมากขึ้นในชีวิตประจำวัน รวมถึงมาตรการในการป้องกันด้วย โดยจะเน้นหลักๆ ไปที่ภัยทางด้านจริยธรรมมากกว่าทางด้านกายภาพ และเขียนขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางให้กับนักออกแบบอุปกรณ์หุ่นยนต์และผู้จัดการหุ่นยนต์ทั้งหลายโดยเฉพาะ

หนังสือเล่มนี้นับเป็นเล่มแรกเกี่ยวกับจริยธรรมด้านการออกแบบหุ่นยนต์ที่ได้รับการตีพิมพ์ หลักการที่พูดถึงมีความคล้ายคลึงกับกฎข้อแรกของอสิมอฟแต่เนื้อหานั้นดูจะซับซ้อนกว่ามาก เพราะถกกันไปถึงความรับผิดชอบในพฤติกรรมของหุ่นยนต์แต่ละตัวว่าควรจะตกอยู่ที่ใคร มนุษย์ควรจะมีความผูกพันทางอารมณ์กับหุ่นยนต์หรือไม่ ตลอดจนถึงแง่มุมเกี่ยวกับการที่หุ่นยนต์จะเหยียดเพศหรือเหยียดเชื้อชาติมนุษย์ด้วย

ที่น่าสนใจคืองานเขียนชิ้นนี้มีการหยิบยกประเด็นทางด้านสังคมที่น่าเป็นห่วง ที่เรียกว่าการพึ่งพาหุ่นยนต์มากเกินไป เมื่อมนุษย์ทำงานกับหุ่นยนต์มาสักระยะหนึ่งและมักจะให้คำตอบที่ถูกต้องมาโดยตลอด มนุษย์จะเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจจนกลายเป็นขี้เกียจที่จะค้นคว้าหรือตัดสินใจอะไรด้วยตัวเอง

และหายนะจะเกิดขึ้นสักวันหนึ่งเมื่อหุ่นยนต์ให้คำตอบที่ผิดพลาดหรือโง่เง่าออกมา

 

ถึงแม้ว่าในหนังสือจะไม่ได้ระบุถึงวิธีแก้ไขปัญหาทุกอย่าง การแค่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นก็อาจจะมากเพียงพอที่จะทำให้นักวิทยาศาสตร์ นักพัฒนา และนักออกแบบหุ่นยนต์ทั้งหลายได้มองภาพในมุมที่กว้างขึ้น และไม่มุ่งมั่นกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีมากเกินไปจนลืมแง่มุมด้านจริยธรรมไปเสียหมด

ซู่ชิงก็ยังแอบคิดว่าน่าหยิบใส่ตะกร้ามาอ่านว่ามีเนื้อหาอะไรที่น่าสนใจบ้าง

แต่เห็นราคาแล้วถึงกับถอยกรูดเลยทีเดียว เพราะตั้งไว้สูงถึงประมาณ 7,000 กว่าบาทเลยค่ะ

กลับมาที่มัสก์ค่ะ ไอเดียของการเปลี่ยนมนุษย์ให้เป็นกึ่งปัญญาประดิษฐ์นั้นเป็นเพียงความคิดที่เขาโยนหินถามทางเอาไว้เฉยๆ แถมยังกำชับด้วยว่าควรจะมีใครสักคนรับไปทำจริงจังนะ

และถ้าไม่มีใครทำ ที่สุดแล้วก็เขานี่แหละค่ะที่จะเป็นคนลงมือทำเอง