E-DUANG : ​เส้นทาง “คสช.” วัดรอย “ป๋าเปรม”

เหมือนกับความพยายามจะ”ย้อนยุค”หลังรัฐประหารให้หวนกลับไปสู่ยุค”ประชาธิปไตยครึ่งใบ”จะเป็นจุดแข็งของ”คสช.

โดยมีภาพ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็น “ปฏิมา”

เห็นได้จาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไม่ตั้งพรรคการเมือง และไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง

หากคอยหยิบ “ชิ้นปลามัน”สบายใจ

สบายใจตั้งแต่เดือนมีนาคม 2523 กระทั่งเดือนสิงหาคม 2531

รวมแล้วอยู่ในตำแหน่งกว่า 8 ปี

กระนั้น เมื่อนำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปวางเรียงเคียงกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็มีทั้งความเหมือนและความต่าง

เป็นจุดต่างที่”จุดแข็ง”กลายเป็น”จุดอ่อน”

 

ต้องยอมรับว่าสังคมไทยในยุคหลังรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2520 กับในห้วงแห่งรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มีความแตกต่าง

เมื่อปี 2520 พรรคการเมืองยังอ่อนแอ กระจัดกระจาย

พรรคประชาธิปัตย์ เก่าแก่ก็จริง พรรคกิจสังคม พรรคชาติไทย ก่อตั้งตั้งแต่ปี 2518 ก็จริง แต่ก็ยังไม่แข็งแกร่งและมั่นคง

จึงมีแต่ “พรรคราชการ”โดยมี”ทหาร”นำเท่านั้นที่มั่นคง แข็งแกร่ง

แต่มาถึงหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 แม้”พรรคราชการ”โดยมี”ทหารนำ”จะยังแข็งแกร่ง มั่นคง แต่ก็ต้องยอมรับว่าพรรคการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทยก็ใช่ว่าจะอ่อนแอ ปวกเปียก

เพราะความแข็งแกร่งของพรรคเพื่อไทยอยู่บนฐานอันประชาชนให้การสนับสนุนมาตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน

รัฐประหารกี่ครั้งก็ไม่มีพรรคการเมืองใดสยบอิทธิพล ไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย ลงได้

 

จุดแข็งของไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย ซึ่งได้มาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และการเลือกตั้งนับแต่เมื่อเดือนมกราคม 2544 นั้นเอง

ทำให้หนทางเดินในทางการเมืองของรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ไม่ฉลุย

ไม่ง่ายดายเหมือนยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์