เพ็ญสุภา สุขคตะ : “ล้านนาศึกษา” ใน “ไทศึกษา” ครั้งที่ 13 (25) เชียงใหม่ : ความเคลื่อนไหวสู่การขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลก”

เพ็ญสุภา สุขคตะ

รองศาสตราจารย์สมโชติ อ๋องสกุล แห่งสาขา “ล้านนาศึกษา” คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เปิดประเด็นหัวข้อ “เชียงใหม่ : วาระครบรอบ 60 ปีนักษัตร อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” ในเวทีล้านนาศึกษา ได้กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่สู่มรดกโลก

โดยเท้าความว่า โครงการดังกล่าวนี้เริ่มเคลื่อนไหวในปี 2556 โดยผู้จุดประกายคนแรกคือ “คุณอนันต์ ลี้ตระกูล” นักธุรกิจใหญ่เชื้อสายเจ้าหลวงลำพูน ผู้เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ประสานกับทีมของอาจารย์สาวิตรี สุวรรณสถิตย์ ให้เป็นผู้เขียนรายงานนำเสนอให้เชียงใหม่เป็นมรดกโลก

เนื่องจากเชียงใหม่มีพื้นที่ที่โดดเด่นกระจัดกระจาย ไม่ได้กระจุกรวมเฉพาะในคูเมืองสี่เหลี่ยมเท่านั้น เป็นโจทย์ให้ต้องขบคิดว่าควรเลือกพื้นที่ใดในการนำเสนอ มีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นของบุคคลฝ่ายต่างๆ หลายรอบ กระทั่งได้ข้อสรุปที่ลงตัวว่า เชียงใหม่ควรจำแนกความโดดเด่นของมรดกทางวัฒนธรรมออกเป็น 6 กลุ่ม

 

มรดกวัฒนธรรม 6 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 ภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเมืองเก่า ประกอบด้วย ดอยสุเทพ-ปุย น้ำแม่ปิง น้ำแม่ข่า ฯลฯ

กลุ่มที่ 2 อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณคดี ภูมิทัศน์วัฒนธรรม ในส่วนของระบบป้องกันเมืองเก่าชั้นใน มีกำแพงเมือง คูเมือง ประตูเมือง แจ่งเมือง

กลุ่มที่ 3 อนุสรณ์สถานฯ ในส่วนของระบบป้องกันเมืองเก่าชั้นนอก มีกำแพงชั้นนอก ประตูชั้นนอก คูเมืองชั้นนอก

กลุ่มที่ 4 อนุสรณ์สถานฯ ที่ตั้งอยู่ในกำแพงเมือง ประกอบด้วย 5 กลุ่มย่อย แยกตามทิศต่างๆ ได้แก่ 1.ด้านทิศเหนือ 8 แห่ง เช่น วัดเชียงหมั้น วัดหัวข่วง 2.บริเวณกลางเวียง 7 แห่ง เช่น วัดเจดีย์หลวง วัดอินทขีล 3.ด้านทิศตะวันตก 7 แห่ง เช่น วัดพระสิงห์ วัดปราสาท 4.ด้านทิศใต้ 10 แห่ง เช่น วัดพันแหวน วัดฟ่อนสร้อย 5.ด้านทิศตะวันออก เช่น วัดบุพพาราม วัดแสนฝาง

กลุ่มที่ 5 อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณคดี 2 กลุ่มย่อย

5.1 กลุ่มที่อยู่ใกล้เคียงนอกเมืองเชียงใหม่ทั้งสี่ทิศ ทิศเหนือมี 6 วัด เช่น วัดเกต ทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ 5 วัด เช่น วัดเจ็ดยอด ทิศใต้ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ 8 วัดนันตารามเช่น ทิศตะวันออก 6 วัด เช่นกู่เต้า

5.2 อนุสรณ์สถานฯ ที่อยู่รอบนอกทางทิศใต้ของเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ เวียงกุมกาม และถนนสายต้นยาง-ต้นขี้เหล็ก เชียงใหม่-ลำพูน

กลุ่มที่ 6 อนุสรณ์สถานฯ ที่มีปฏิสัมพันธ์ มีเทคโนโลยีทางวัฒนธรรมที่สำคัญ หลากหลายในยุคปัจจุบัน ได้แก่ โบสถ์คริสตจักรที่ 1 โรงเรียนปรินส์รอยแยลวิทยาลัย โรงเรียนดาราวิทยาลัย อาคารโรงพยาบาลแมคคอร์มิค ศาลเจ้าจีนศาลเจ้ากวนอู วัดซิกข์ มัสยิดอิสลาม ฯลฯ

 

เข้าหลักเกณฑ์ 4 ข้อของยูเนสโก

ความโดดเด่นของเชียงใหม่ ตั้งอยู่บนฐานหลักเกณฑ์ที่ยูเนสโกกำหนดไว้ 4 ข้อ ดังนี้

ข้อที่หนึ่ง ต้องเป็นผลงานชิ้นเอกแห่งการสร้างสรรค์อันเป็นอัจฉริยะของมนุษย์ ในกรณีของเชียงใหม่จะนำเสนอในแง่การเลือกที่ตั้งเมือง และการวางผังเมือง

ข้อที่สอง ต้องเป็นประจักษ์พยานแห่งการแลกเปลี่ยนปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ยุคต่างๆ ในประวัติศาสตร์ ณ ภูมิภาควัฒนธรรมล้านนา

ข้อที่สาม ต้องเป็นตัวแทนของอารยธรรมโบราณที่ได้พัฒนาสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน ในกรณีของเชียงใหม่มีพัฒนาการมากกว่า 720 ปี

ข้อที่สี่ ต้องเป็นมรดกที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ประเพณีที่สืบทอด ปฏิบัติ อยู่ในระบบความคิดความเชื่อของคนปัจจุบัน มีความโดดเด่นเป็นสากล

กล่าวกันว่า ถ้าเพียงผ่านหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่ง ก็จะได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว ข้อสำคัญคือ สิ่งที่จะนำเสนอนั้นต้องเป็น Autencity มิใช่ของเลียนแบบขึ้นมาใหม่

 

Authenticity สำคัญอย่างไร

คําแถลงเกี่ยวกับความเป็นของจริงแท้ดั้งเดิม หรือ Authenticity เมืองเชียงใหม่มีคำตอบในด้านนี้มากมาย อาทิ

การวางผังเมืองเชียงใหม่ ถือเป็นการสร้างสรรค์ของมนุษย์อย่างแท้จริง มีความจริงแท้ เป็นผังเมืองที่สามารถยืนยันได้ว่าเชียงใหม่คือนครหลวงแห่งล้านนา

เชียงใหม่มีความจริงแท้ของลายลักษณ์ มีการใช้อักษรธัมม์ล้านนาและอักษรฝักขามบันทึกประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นอักษรที่สร้างสรรค์ขึ้นบนแผ่นดินล้านนา

ความจริงแท้ในด้านเทคนิคการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม รวมถึงอนุสรณ์สถาน ที่ไม่ใช่ศาสนสถาน เช่น กำแพงเมือง ประตูเมือง

ความจริงแท้ที่จับต้องไม่ได้ เช่น วัฒนธรรม ประเพณีที่แตกต่างไปจากภูมิภาคอื่นๆ

 

หลวงพระบางโมเดล

งานศึกษาของอาจารย์สาวิตรี เรื่องศักยภาพความเป็นไปได้มากน้อยเพียงไร หากเชียงใหม่จะเป็นมรดกโลก จำเป็นต้องนำเชียงใหม่ไปเปรียบเทียบกับแหล่งมรดกโลกอื่นๆ ประกอบกันด้วย มีแหล่งใกล้ตัวในภูมิภาคอุษาคเนย์ 3 แห่งคือ หลวงพระบาง มะละกา-ปีนัง และวัดภู มาเป็นต้นแบบในการศึกษา

เมืองหลวงพระบาง อดีตราชธานีแห่งอาณาจักรล้านช้าง ปัจจุบันเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับ 1 ของลาว มีความโดดเด่นที่เป็นสากลตามหลักเกณฑ์ข้อที่สาม ในแง่สถาปัตยกรรม

กล่าวคือ หลวงพระบางเป็นเมืองที่ปรากฏชัดถึงอารยธรรม 2 ช่วง ช่วงแรก เมื่อ 500 ปีก่อนมีความประสมประสานระหว่างสถาปัตยกรรมแบบล้านช้างและล้านนา ช่วงที่ 2 ประสมประสานระหว่างสถาปัตยกรรมแบบประเพณีของลาวกับของยุโรป ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19-20

หลวงพระบางเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของกลุ่มอาคารที่รวมความโอ่อ่าสง่างามของอาคารทางศาสนา อาคารพื้นบ้าน อาคารโคโลเนียลแบบยุโรป เขตและพื้นที่ของหลวงพระบางได้รับการดูแลสงวนรักษาอย่างดี ในระยะเวลาที่อารยธรรมระหว่างสองสกุลเข้ามาผสมผสานกัน ทั้งสองช่วง

การเปรียบเทียบเชียงใหม่กับหลวงพระบางถือว่ามีความสำคัญ เพราะสองเมืองถือเป็นเมืองพี่เมืองน้องกัน เห็นความเกี่ยวพันกันอย่างแนบแน่นทางด้านสายตระกูล และศาสนานิกายเดียวกัน

รศ.สมโชติ ยังกล่าวอีกด้วยว่า ตอนที่หลวงพระบางจะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 2537 นั้นก็มีนักวิชาการไทย โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านล้านนาศึกษา เข้าไปมีส่วนร่วมช่วยผลักดันไม่น้อย

 

มะละกา-ปีนังโมเดล

แหล่งมรดกโลกแหล่งที่สองที่อาจารย์สาวิตรีนำมาเปรียบเทียบ คือมะละกาและปีนัง ของมาเลเซีย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้วยความโดดเด่น 3 ตามหลักเกณฑ์ 3 ข้อคือ

1 เป็นตัวอย่างของเมืองที่มีการค้า ในกลุ่มชนหลายวัฒนธรรม กอปรด้วย ชาวมาเลย์ (รวมจาม ชวา อาหรับ) ชาวจีน ชาวอินเดีย (รวมทมิฬ สิงหล) ชาวยุโรป (ทั้งฮอลันดา โปรตุเกส อังกฤษ) ที่ผลัดกันเข้ามายึดครองในช่วง 500 ปี ต่างทิ้งมรดกทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ (Tangible & Intangible) ไว้ในรูปแบบศิลปกรรม สถาปัตยกรรม การตั้งถิ่นฐานในเมือง และเทคโนโลยี

2 ทั้งสองเมืองเป็นประจักษ์พยานที่สะท้อนถึงความเป็นคนหลายชาติในเอเชีย ทั้งประชากรของคนที่เข้ามายึดครองในฐานะเจ้าอาณานิคม

3 สองเมืองนี้สะท้อนให้เห็นถึงการประสมประสานทางวัฒนธรรม ขอบเขตความเป็นเมืองที่โดดเด่น ไม่มีเมืองใดในเอเชียเสมอเหมือน มีทั้งตึกแถว บ้านร้านค้าแบบจีน ทาวน์เฮ้าส์แบบโปรตุเกส และบ้านทรงหน้าจั่วแหลมแบบดัตช์อันเป็นความแตกต่างที่กลมกลืน

การเปรียบเทียบมะละกา-ปีนัง กับเชียงใหม่นี้ มีทั้งประเด็นเหมือนและต่างกัน เชียงใหม่เองก็มีชุมชน “นานาชาติ” ตั้งถิ่นฐานอยู่รายรอบแม่น้ำปิงโดยเฉพาะย่านชุมชนวัดเกต มีทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม ซิกข์ ฮินดู และชาวจีนที่นับถือเจ้าพ่อกวนอู เจ้าแม่ทับทิม

ในแง่ของอาคารตะวันตก เชียงใหม่มีตึกแถวย่านช้างม่อย ท่าแพ ที่มีลักษณะคล้าย “ชิโน-โปรตุกีส” จำนวนไม่น้อย กลางเวียงเชียงใหม่มีสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลยุคโคโลเนียลชิ้นงามจำนวนหลายหลัง อาทิ คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ อาคารอำนวยการโรงเรียนยุพราช อาคารหอศิลป์วัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ และศาลแขวงเก่า บริเวณอนุสาวรีย์ 3 กษัตริย์

 

วัดภู จำปาสักโมเดล

เมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งมรดกโลกวัดภูที่จำปาสักของลาว พบว่าวัดภูมีภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับเมืองจำปาสัก ได้รับการขึ้นทะเบียนว่ามีคุณค่าโดดเด่นเป็นสากล 3 ด้านคือ

1 วัดภูและบริเวณโดยรอบเป็นประจักษ์พยานพิเศษ แสดงถึงวัฒนธรรมของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในยุคอาณาจักรอีศานปุระของขอมที่เรืองอำนาจ ครอบครองภูมิภาคนี้ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 10-14

2 พื้นที่ทั้งหมดของวัดภู เป็นตัวอย่างของการบูรณภาพ ด้านภูมิทัศน์วัฒนธรรม ที่มีสัญลักษณ์ความสำคัญทางจิตวิญญาณ กับเขตพื้นที่โดยรอบ

3 วัดภูและกลุ่มศาสนสถานต่างๆ ตั้งอยู่บนภูเขา สะท้อนให้เห็นถึงคติฮินดู ที่มีสัมพันธภาพและบูรณภาพกับธรรมชาติ และมวลมนุษยชาติ คติดังกล่าวมีองค์ประกอบคือ ภูเขาเป็นตัวแทนของเขาพระสุเมรุ ตั้งตระหง่านเหนือที่ราบเชิงเขาที่มีแม่น้ำไหลผ่าน

การเปรียบเทียบเชียงใหม่กับวัดภู มีความน่าสนใจในเรื่องภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ตามคติของชาวลัวะ ชนพื้นเมืองดั้งเดิมในเชียงใหม่ ก็มีการนับถือภูเขาว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาเริ่มมีคติของฮินดู เรื่องฤๅษีวาสุเทพผู้สร้างเมืองหริภุญไชยเข้ามาสอดแทรก

บริเวณดอยสุเทพของเชียงใหม่จึงมีลักษณะคล้ายวัดภูโมเดล ซึ่งทุกวันนี้เชียงใหม่ยังรักษาประเพณีการเดินขึ้นดอย

 

สรุป เชียงใหม่เดินหน้าถึงไหนแล้ว

ประเทศไทยได้นำเสนอขอเชียงใหม่เป็นมรดกโลก สู่ศูนย์มรดกโลกกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2015 ผลคือคณะกรรมการของยูเนสโกตอบรับเชียงใหม่ให้ขึ้นทะเบียน Ttentative List เป็น 1 ใน 5 พื้นที่ของประเทศไทยที่กำลังขออยู่ตอนนี้ ได้แก่ 1.ป่าแก่งกระจาน เพชรบุรี 2.เชียงใหม่เมืองวัฒนธรรม 3.ปราสาทหินพิมายและเส้นทางอีสานใต้สายชัยวรมันที่ 7 4.อุทยานภูพระบาท บ้านผือ อุดรธานี 5.พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช

ถือเป็นความสำเร็จในระดับหนึ่ง ที่อาจารย์สาวิตรี เป็นแกนในการเขียนข้อมูลตามแบบฟอร์ม งานต่อไปก็คงเป็นหน้าที่ของชาวเชียงใหม่ ที่ต้องช่วยกันระดมสมอง เขียนแผนบริหารจัดการ แผนการอนุรักษ์ เมืองเชียงใหม่ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

จะสำเร็จหรือไม่นั้น คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ตอนนี้สิ่งที่ทุกคนต้องการคือ ทำอย่างไรก็ได้ขอให้เกิดกระแสการอนุรักษ์เมืองเชียงใหม่อย่างมีระบบ ขออย่าให้เชียงใหม่ถูกทำลายมากไปกว่านี้อีกก็พอใจแล้ว