ปรัชญา มหายาน : เสถียร โพธินันทะ [ดังได้สดับมา]

อาจกล่าวได้ว่านอกเหนือจาก “ลัทธิของเพื่อน” อันเป็นงานของ “เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป” แล้วอาจถือได้ว่า “ปรัชญามหายาน” เป็นอีกเล่มหนึ่งที่กล่าวถึงมหายานค่อนข้างรอบด้าน

เสถียร โพธินันทะ กล่าวใน “กถามุข” เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2498 ว่า

“ข้าพเจ้ารู้สึกว่า การศึกษาพระพุทธศาสนาโดยกว้างขวางนั้น วงการพระปริยัติธรรมของเรายังขาดแคลนหนังสือประเภทนี้มาก ข้าพเจ้าจึงได้พยายามค้นคว้าเรียบเรียงปรัชญาฝ่ายลัทธิมหายานขึ้น และเพื่อจะได้เป็นประโยชน์แก่บรรดานักศึกษาในสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศ

“ซึ่งข้าพเจ้ารับหน้าที่บรรยายวิชาความรู้พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งลัทธิมหายานอีกโสดหนึ่งด้วย

“หนังสือทำนองนี้ในพากย์จีนและญี่ปุ่นมีผู้เขียนกันหลายสิบฉบับ ข้าพเจ้าก็อาศัยเทียบเคียงจากฉบับเหล่านั้นและนำโครงเรื่องมาเป็นมาตรฐานเท่านั้น ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ได้ใช้วิธีของตนเองจากความรู้ที่ได้ค้นคว้ามา จึงเป็นฉบับของข้าพเจ้าเอง มิได้ซ้ำกับฉบับของผู้ใด”

เมื่อเป็นการตีพิมพ์โดยสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย จึงเท่ากับได้รับการรับรองโดยพื้นฐานในทางวิชาการ

จนถึงปี พ.ศ.2548 ก็ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 5

เสถียร โพธินันทะ เริ่มบทที่ 1 อรรถคำว่า มหายาน ว่ามาจากธาตุศัพท์ มหา+ยาน แปลว่า พาหนะที่ใหญ่ เป็นคำเรียกที่อาศัยเปรียบเทียบจากคำว่าหีนยาน (หีน+ยาน) ซึ่งแปลว่า พาหนะที่เลวๆ เล็กๆ ภาษาจีนอ่านว่าไต้เส็ง และเซียงเส็ง

อรรถของมหายาน หมายถึงการขนสัตว์ให้ข้ามพ้นวัฏสงสารได้มากกว่าหีนยาน

ในมหาปรัชญาปารมิตาอรรถกถา อาจารย์นาคารชุนได้อธิบายไว้ว่า “พระพุทธธรรมมีเอกราชเดียว คือ รสแห่งวิมุติ ความรอดพ้นจากปวงทุกข์ แต่ชนิดของรสมี 2 ชนิดคือ ชนิดแรก เพื่อตัวเอง ชนิดที่สอง เพื่อตัวเองและสรรพสัตว์ด้วย”

อันหมายความว่า ฝ่ายหีนยานมุ่งความหลุดพ้นเฉพาะตน ไม่มีปณิธานในการโปรดสรรพสัตว์

แต่ฝ่ายมหายานตรงกันข้าม ย่อมมุ่งพุทธภูมิกันเพื่อขนสัตว์ให้พ้นทุกข์จนหมดสิ้น

อธิบายว่า พุทธศาสนิกชนฝ่ายหีนยานย่อมมุ่งแต่อรหันตภูมิเท่านั้น ฉะนั้น จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สาวกยาน ส่วนพุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานล้วนมุ่งพุทธภูมิทั้งนั้น จึงเรียกว่าโพธิสัตวยานบ้าง พุทธยานบ้าง

ในสัทธรรมปุณฑริกสูตรกล่าวว่า

“ถ้าสรรพสัตว์ได้สดับธรรมจากพระภควา บังเกิดศรัทธาความเชื่อ ปสาทะความเลื่อมใส ได้วิริยะบำเพ็ญบารมีเพื่อสรรพเพชุดาญาณอันเป็นธรรมชาติ ญาณอันปราศจากครูอาจารย์ ญาณแห่งพระตถาคต กำลังความกล้าหาญมีความกรุณาปรารถนาต่อความสุขของสรรพสัตว์ บำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์ต่อทวยเทพและมนุษย์ โปรดสรรพนิกรให้พ้นทุกข์ นั่นชื่อว่า “มหายาน””

อาจารย์นาคารชุนกล่าวไว้ในทวาทศกายศาสตร์อีกว่า

“มหายาน” คือยานอันประเสริฐกว่ายานทั้ง 2 (ทวิยาน ได้แก่ สาวกยาน ปัจเจกยาน) เหตุนั้นจึงชื่อว่ามหายาน

พระพุทธเจ้าทั้งหลายอันใหญ่ยิ่งทรงอาศัยซึ่งยานนี้

อนึ่ง ปวงพระพุทธเจ้าผู้มหาบุรุษได้อาศัยยานนี้ เหตุนั้นจึงชื่อว่า “มหา”

แลอีกทั้งสามารถดับทุกข์อันไพศาลของสรรพสัตว์ และประกอบประโยชน์อันใหญ่ยิ่งให้ถึงพร้อม เหตุนั้น จึงชื่อว่า “มหา” อนึ่ง พระโพธิสัตว์ทั้งปวงมีพระอวโลกิเตศวร พระมหาสถามปราบต์ พระเมตไตรย เป็นต้น ปวงมหาบุรุษได้ทรงอาศัย เหตุนั้นจึงชื่อว่า “มหา”

อนึ่ง เมื่ออาศัยยานนี้แล้ว ก็ย่อมเข้าถึงที่สุดแห่งธรรมทั้งปวง เหตุนั้น จึงชื่อว่า “มหา”

นอกจากนี้ ยังพบข้อความยกย่องมหายานอีกเป็นจำนวนมากในคัมภีร์ของมหายาน เช่น เรียกว่า อนุตตรยาน ยานอันสูงสุด โพธิสัตวยาน ยานของพระโพธิสัตว์ พุทธยาน ยานของพระพุทธเจ้า เอกยาน ยานอันเอก

สรุปแล้วยานในพระพุทธศาสนาแบ่งเป็น 3 คือ (1) สาวกยาน (เซียบุ้งเส็ง) คือยานของพระสาวกที่มุ่งเพียงอรหันตภูมิ

ซึ่งรู้แจ้งในอริยสัจ 4 ด้วยการสดับจากพระพุทธเจ้า

(2) ปัจเจกยาน (ต๊กกักเส็ง) ยานของพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้รู้แจ้งในปฏิจจสมุปบาทด้วยตนเอง แต่ไม่สามารถแสดงธรรมสั่งสอนสัตว์

(3) โพธิสัตวยาน (พู่สักเส็ง) คือยานของพระโพธิสัตว์