วิกฤติศตวรรษที่21 : จีนกับการเป็นศูนย์การเงินโลก

โลกหลังอเมริกา : การเคลื่อนย้ายอำนาจโลก (14)

เดือนกรกฎาคม 2017 นางคริสติน ลาร์การ์ด ผู้อำนวยการองค์การการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) พูดทีเล่นทีจริงว่า ในอีกสิบปีข้างหน้า สำนักงานใหญ่ของไอเอ็มเอฟ อาจต้องย้ายไปตั้งที่นครปักกิ่ง ตามข้อบังคับของไอเอ็มเอฟว่าจะตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศสมาชิกที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด

ไอเอ็มเอฟมีสำนักงานใหญ่ที่กรุงวอชิงตัน นครหลวงสหรัฐตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 1947 จนถึงปัจจุบัน

ถ้าเศรษฐกิจจีนยังคงโตกว่าร้อยละ 5 ต่อปีตามที่คาดหมาย อีกสิบปีข้างหน้าก็จะมีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็นตัวเงินใหญ่กว่าของสหรัฐ

การเป็นศูนย์การเงินของโลก เบื้องต้นก็จำต้องมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้นของโลก

ยิ่งใหญ่แบบหนึ่งไม่มีสองอย่างเช่นสหรัฐที่สามารถรักษาฐานะนั้นได้เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษก็ยิ่งดี

อย่างไรก็ตาม ยังมีเหตุปัจจัยอื่นอีก เช่น อังกฤษเคยเป็นจักรวรรดิใหญ่และมั่งคั่งที่สุดของโลก ได้ใช้กรุงลอนดอนเป็นศูนย์กลางการเงินโลกมาเป็นเวลานาน เมื่อเสื่อมถอย โครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบที่เอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางนี้ยังดำรงอยู่ จึงยังคงสามารถรักษาความเป็นศูนย์กลางการเงินศูนย์หนึ่งของโลกไว้ได้ แม้ว่าจะมีขนาดเศรษฐกิจเล็กกว่าเยอรมนี

ดังนั้น แม้ไอเอ็มเอฟจะย้ายสำนักงานใหญ่มาที่ปักกิ่งหรือเซี่ยงไฮ้ จีนก็มีอะไรต้องทำอีกมากในระหว่างและหลังจากนั้น ที่จะทำให้ปักกิ่งหรือเซี่ยงไฮ้กลายเป็นศูนย์กลางการเงินโลกแทนที่กรุงนิวยอร์กได้อย่างเป็นจริง

ในทางปฏิบัติ จีนได้ทำอะไรหลายอย่างที่นครเซี่ยงไฮ้ที่เคยได้รับสมญาว่าเป็น “ปารีสแห่งตะวันออก” เช่น การสร้างอาคารศูนย์กลางการเงินโลก เป็นตึกระฟ้าสูงสุดของนคร สูง 101 ชั้น เป็นเหมือน “เมืองในเมือง” มีพื้นที่สำนักงาน 70 ชั้น ทั้งยังมีโรงแรม 5 ดาว แหล่งรวมความบันเทิงและศูนย์การค้า (เปิดปี 2008) ที่ใกล้กับอาคารนั้นมีการก่อสร้างตึกระฟ้าอีก 2 ตึก ได้แก่ อาคารจินเม่า สูง 88 ชั้น และอาคารเซี่ยงไฮ้ทาวเวอร์ สูง 121 ชั้น ซึ่งเป็นอาคารสูงที่สุดของจีน เมื่อก่อสร้างเสร็จ (ใช้งานเต็มที่ปี 2015)

แฟ้มภาพ
A group of visitors walk along the Bund in front of the financial district of Pudong on a hazy day in Shanghai on November 17, 2014. AFP PHOTO / JOHANNES EISELE / AFP PHOTO / JOHANNES EISELE

เซี่ยงไฮ้กลายเป็นนครแห่งตึกระฟ้าไม่แพ้นครนิวยอร์ก การเคลื่อนไหวที่สำคัญอีกอย่างได้แก่ การตั้ง “เขตการค้าเสรีนำร่องเซี่ยงไฮ้” (บริเวณเซี่ยงไฮ้-ผู่ตง) ในปี 2013 เป็นครั้งแรกในประเทศจีน และขยายพื้นที่ออกไปโดยลำดับจนปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ราว 120 ตารางกิโลเมตร จากนั้น ทางการจีนยังได้เปิดเมืองท่าหลายแห่งเป็นเขตการค้าเสรีในแบบเดียวกัน

การตั้งเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้นั้นถือว่าเป็นก้าวใหญ่อีกครั้งของการปฏิรูปทางเศรษฐกิจของจีน

ครั้งแรกในปี 1980 ที่ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายแห่งในมณฑลกวางตุ้ง และประสบความสำเร็จอย่างสูง มีส่วนสำคัญให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและเป็น “โรงงานของโลก”

การตั้งเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้มีความมุ่งหวังที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจจีนขึ้นสู่ระดับใหม่ ที่เป็นศูนย์กลางการเงิน-การลงทุน-การค้าโลก โดยการขยายการเปิดเสรี การยืดหยุ่นในกฎระเบียบ และเปิดจิตใจของเจ้าหน้าที่รัฐและนักธุรกิจจีนสู่การเป็นผู้นำบนเวทีโลก

ในเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้นั้น มีการดำเนินการที่เด่นได้แก่ นักลงทุนจากต่างประเทศจะได้รับการพิจารณาที่รวดเร็วขึ้น

ขอบเขตในการลงทุนเปิดกว้างและยืดหยุ่น สามารถมาลงทุนแบบร้อยละร้อยในหลายกิจการ

การไม่เก็บภาษีนำเข้าหรือการส่งออกกลับ

มีบริการด้านการศึกษาและโรงพยาบาลเพิ่มเติมจากเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เน้นบริการทางด้านการผลิตอุตสาหกรรม

การเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนเงินหยวนอย่างเสรี

โดยรวมก็คือทำคล้ายเขตการค้าหรือเมืองท่าเสรีแบบที่ฮ่องกงและสิงคโปร์

หลังจากดำเนินการมาช่วงหนึ่ง ปรากฏว่าไม่ได้ประสบความสำเร็จยอดเยี่ยมเหมือนครั้งเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษเมื่อหลายสิบปีก่อนนี้ เนื่องจากเหตุปัจจัยหลายประการคือ

(ก) การปฏิรูปเศรษฐกิจด้านการเงิน กฎระเบียบทางศุลกากรและอุตสาหกรรมสู่ระดับโลกทำได้ยากกว่า แม้ในเขตที่ทดลองทำก็ยังไม่ได้เปิดเต็มที่

(ข) ยังไม่สามารถเอาชนะเขตการค้าหรือเมืองท่าเสรีที่เปิดมาก่อน อย่างเช่น ฮ่องกงและสิงคโปร์ได้

และ (ค) สถานการณ์เศรษฐกิจ-การเงินโลก ตกอยู่ในภาวะเปราะบาง เศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้วขยายตัวในอัตราต่ำมาก หนี้สินพอกพูน อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนก็ลดลง ในท่ามกลางความยากลำบาก สหรัฐยังได้ก่อหวอดสงครามเศรษฐกิจ-การค้าซ้ำขึ้นอีก เพิ่มความยากลำบากให้แก่จีนเป็นอันมาก ในอันที่จะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์การเงินโลกเคียงคู่กับสหรัฐ

ในขณะนี้เซี่ยงไฮ้ยังห่างชั้นที่จะไปเทียบกับนครนิวยอร์ก แต่ก็ไม่ใช่ไกลไปจนเอื้อมไม่ถึงเหมือนก่อน สิ่งที่น่าจับตาอยู่ใกล้ตัวที่ว่าเซี่ยงไฮ้สามารถขึ้นมาแทนที่ฮ่องกงในฐานะที่เป็นประตูของประเทศจีนได้หรือไม่

การต่อสู้ช่วงชิงการเป็นศูนย์กลางการเงินโลกนี้ มีความสำคัญยิ่ง

เนื่องจากระบบทุนโลกได้ก้าวสู่การเป็นเชิงการเงินเต็มตัว ประเทศที่ได้เปรียบทางการเงินก็จะสามารถรักษาอิทธิพลระดับสูง

เช่นทุกวันนี้แม้สหรัฐจะดูเสื่อมถอย แต่สหรัฐและอังกฤษ รวมทั้งประเทศยุโรปตะวันตกก็ยังคงเป็นแหล่งลงทุนที่เศรษฐีทั้งหลายนิยมไปลงทุน รวมทั้งเศรษฐีของจีนและรัสเซีย เกิดสภาพเงินไหลออก จนกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินของประเทศได้

เซี่ยงไฮ้จะเป็นศูนย์กลางการเงินโลกได้เต็มที่ก็ต่อเมื่อสามารถดึงดูดสถาบันการเงิน และนักการเงินที่เชี่ยวชาญทั่วโลกเข้ามาประจำการในที่นี้ได้

อภิโครงการหนึ่งแถบหนึ่งทางภาคขยายนโยบายมุ่งตะวันตกของจีน

อภิโครงการหนึ่งแถบหนึ่งทางของจีน เป็นโครงการอเนกประสงค์ ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม ทั้งภายในและกิจการต่างประเทศ เป็นที่กล่าวขานกันมากว่า โครงการนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำให้จีนผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลก ตลอดจนเป็นมหาอำนาจในด้านภูมิรัฐศาสตร์ด้วย

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นการเคลื่อนย้ายอำนาจโลกครั้งสำคัญ “ลมตะวันออกจะพัดกลบลมตะวันตก” หรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าติดตาม แต่สหรัฐย่อมไม่มีวันงอมืองอเท้า ปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้นโดยไม่ต่อสู้ขัดขวาง

โครงการหนึ่งแถบหนึ่งทางนี้ กล่าวในด้านหนึ่งเป็นภาคขยายของนโยบาย “มุ่งตะวันตก” ของจีน ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2000 มุ่งเน้นไปที่การพัฒนา 6 มณฑล ที่อยู่ลึกเข้ามาจากชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก ได้แก่ กานซู่ กุ้ยโจว ชิงไห่ ส่านซี เสฉวน (ซื่อซวน) ยูนนาน และเขตปกครองตนเอง 5 เขตได้แก่ กวางสี มองโกเลียใน หนิงเซี่ย ทิเบต และซินเจียง มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและเมืองจำนวนมาก ทำให้จีนสามารถขยายการลงทุน และสร้างฐานอุตสาหกรรมหนัก การก่อสร้าง การจ้างงานได้อย่างต่อเนื่อง มีส่วนยกมาตรฐานการครองชีพของประชาชนจีนอย่างมากในท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจในโลกตะวันตก

ก่อนหน้านั้น ในสหรัฐก็ได้เคยมีการเคลื่อนไหวบุกเบิกพรมแดนด้านตะวันตก ในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 ภายใต้ชื่อ “โองการของพระเจ้า” หรือ “เทพลิขิต” มีลักษณะใช้ศรัทธาทางศาสนานำหน้า แต่เนื้อแท้เป็นโครงการอเนกประสงค์หวังผลทางเศรษฐกิจ-การเมือง-สังคม

ผู้ที่ประดิษฐ์คำนี้ ได้กล่าวบรรยายความหมายของ “โองการของพระเจ้า” ว่า “มันเป็นชะตากรรมของชาติที่พระเจ้ากำหนดไว้แล้ว ให้ขยายพรมแดนออกไปและเข้าครอบครองทวีปอเมริกาเหนือทั้งหมด ซึ่งพระกรุณาของพระผู้เป็นเจ้าที่กำหนดให้แก่เรานี้ ก็เพื่อพัฒนาประสบการณ์อันยิ่งใหญ่ของเสรีภาพและรัฐบาลสหพันธรัฐที่ทรงประทานให้แก่เรา” ความคิดลัทธิเทพลิขิตจึงประกอบด้วยองค์สามประการได้แก่ ลัทธิอเมริกันเป็นชาติพิเศษ ลัทธิชาตินิยม และลัทธิขยายอาณาเขต

สำหรับนโยบายมุ่งตะวันตกของจีน หลังจากปฏิบัติมาได้กว่าสิบปี ก็เต็มพื้นที่ สร้างเครือข่ายถนนและทางรถไฟด้วยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศได้อย่างน่าอัศจรรย์ สามารถเชื่อมต่อกับข่ายการขนส่งประเทศเพื่อนบ้านได้ และโครงการหนึ่งแถบหนึ่งทางของจีนหรือเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 จึงผุดขึ้นมาในปี 2013 สืบทอดและมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นขึ้นโดยลำดับ

ความสำเร็จในการพัฒนาของจีน เป็นสิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนจำนวนมาก ว่าโครงการหนึ่งแถบหนึ่งทางนี้ จะประสบความสำเร็จ แม้ว่าจะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลนับล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศต่างๆ หลายสิบประเทศ

ตัวอย่างความสำเร็จเมื่อเร็วๆ นี้ได้แก่ การเติมเต็มระเบียงเศรษฐกิจจีน-เอเชียกลาง-ตะวันตก คือ

การเปิดทางรถไฟเชื่อมสามประเทศในเดือนตุลาคม 2017 จากบากู เมืองหลวงของอาเซอร์ไบจาน ติดทะเลสาบแคสเปียน ไปยังทบิลิซิ นครหลวงของประเทศจอร์เจีย และผ่านไปยังเมืองการ์ส ชุมทางรถไฟในตุรกีด้านตะวันออกตั้งแต่สมัยก่อน ระยะทาง 826 กิโลเมตร ทำให้สะดวกต่อการขนส่งสินค้าจากจีนและเอเชียกลางไปยังยุโรป

(มีข้อมูลว่าปลายปี 2015 การขนส่งสินค้าทางรถไฟจากเกาหลีใต้ไปยังนครอิสตันบุลจะใช้เวลาเพียง 15 วัน โดยผ่านจีน คาซัคสถาน อาเซอร์ไบจาน และจอร์เจีย สั้นกว่าเวลาที่ใช้ขนส่งทางทะเลเป็นอันมาก)

ทางรถไฟสายนี้เริ่มต้นจะส่งสินค้าได้ปีละ 6.5 ล้านตัน และเพิ่มเป็นตามเป้าหมายปีละ 17 ล้านตัน อาเซอร์ไบจานเป็นผู้จ่ายรายใหญ่ของโครงการ

แต่ถึงแม้ว่าการขนส่งทางรางช่วยเพิ่มทางเลือกขึ้น แต่การขนส่งหลักยังคงเป็นทางน้ำที่บรรทุกได้มากกว่า และราคาถูกกว่า ดังนั้น หัวขบวนของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งทาง จึงได้แก่ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน จากเมืองคัชการ์เมืองใหญ่อันดับสองของเขตปกครองตนเองซินเจียงอันอุดมด้วยแร่ธาตุพลังงานไปลงมหาสมุทรอินเดียที่ท่าเรือน้ำลึกเมืองกวาดอร์ของปากีสถาน ระยะทาง 3,218 ก.ม. มีการสร้างถนน ทางรถไฟ ท่อส่งน้ำมัน โรงไฟฟ้า เขตเศรษฐกิจพิเศษ และท่าเรือน้ำลึก เป็นต้น ที่จีนได้ลงทุนมหาศาลมากกว่าโครงการใด บางข่าวว่าสูงเกือบ 7 หมื่นล้านดอลลาร์

โครงการใหญ่เช่นนี้ ย่อมมีปัญหาและอุปสรรคมาก ในนี้เกิดปัญหาพิเศษจากลัทธิก่อการร้ายที่รุนแรง เนื่องจากเส้นทางของระเบียงต้องผ่านบาลูจิสถาน อันเป็นแคว้นใหญ่ที่สุดของปากีสถาน มีพรมแดนติดพรมแดนอิหร่านและอัฟกานิสถาน เป็นที่อยู่ของชนส่วนน้อยชาวบาลูจิ มีกลุ่มก่อการร้ายหลายกลุ่มเคลื่อนไหว มีจีนเป็นเป้าหมายหนึ่ง ในเดือนธันวาคม 2017 สถานทูตจีนประจำปากีสถานประกาศเตือนองค์กรและบุคลากรชาวจีนให้ระวังการก่อการร้ายที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จีนทุ่มเทต่อไป มีความคิดขยายโครงการระเบียงเศรษฐกิจเข้าไปในอัฟกานิสถานอีก

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายสร้างระเบียงเศรษฐกิจ-พม่าลงสู่มหาสมุทรอินเดียอีกเช่นกัน

โครงการหนึ่งแถบ-หนึ่งทาง กล่าวในทางภูมิรัฐศาสตร์ เป็นการประกาศของจีนต่อชาวโลกว่า ในทางทะเล ภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก ทะเลจีนใต้ และมหาสมุทรอินเดียเป็นเขตผลประโยชน์ของจีน บนทางบก เอเชียกลาง เอเชียใต้ ตะวันออกกลางก็เป็นเขตผลประโยชน์สำคัญของจีน จีนจะต้องรักษาผลประโยชน์ของตนในพื้นที่เหล่านี้ ด้วยวิธีการและมาตรการต่างๆ ตามความจำเป็น

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการลงมือก่อนของสหรัฐ และการตอบโต้จากจีนและรัสเซีย