วรศักดิ์ มหัทธโนบล / จักรวรรดิในกำแพง : กำเนิดจักรวรรดิ (14)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ฮั่นสมัยแรกกับรากฐานเอกภาพใหม่ (ต่อ)

ภายหลังฮั่นเกาตี้สิ้นพระชนม์ไปแล้วก็เป็นยุคเหวินจิ่ง ในยุคนี้ฮั่นเหวินตี้กับฮั่นจิ่งตี้กลับใช้หลักคิดที่มีพื้นฐานจากสำนักเต้ามาปกครอง หลักคิดนี้เรียกว่า ฮว๋างเหล่า

โดยคำว่า ฮว๋าง มาจากคำว่า ฮว๋างตี้ หรือจักรพรรดิเหลือง ที่ชาวจีนเชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้ให้กำเนิดของชนชาติฮั่นในยุคตำนาน ส่วนคำว่า เหล่า มาจากคำว่า เหลาจื่อ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเจ้าของปกรณ์ เต้าเต๋อจิง ที่เป็นต้นกำเนิดของหลักคิดสำนักเต้า (1)

คำว่า ฮว๋างเหล่า จึงนับเป็นหลักคิดสายหนึ่งของสำนักเต้าที่มีอยู่มากมายหลายสาย

ภายใต้หลักคิดฮว๋างเหล่านี้ทำให้ยุคเหวินจิ่งปกครองโดยปล่อยให้บ้านเมืองฟื้นฟูสภาพอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนเกิดความสมดุล ราชสำนักมีบทบาทเพียงกำกับดูแลและสนับสนุนการพัฒนาโดยยึดหลักความพอเพียง

ไม่เข้าไปกระทำการแทรกแซงอันใดที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของบุคคลกลุ่มใดเฉพาะ

เหตุดังนั้น ยุคเหวินจิ่งจึงมีการลดภาษีที่นา งดความเข้มงวดการเกณฑ์แรงงาน ลดเวลาการรับราชการทหารของชายที่บรรลุนิติภาวะ ยกเลิกกฎหมายที่มีบทลงโทษรุนแรง อย่างเช่น การทรมานร่างกาย หรือที่ไร้เหตุผลอย่างบุคคลหนึ่งคนทำผิดแต่ลงโทษสมาชิกในครอบครัวด้วย เป็นต้น

ยิ่งกล่าวเฉพาะฮั่นเหวินตี้ด้วยแล้ว พระองค์ยังทรงใช้ชีวิตอย่างสมถะ และให้ประหยัดค่าใช้จ่ายสิ่งปลูกสร้างที่หรูหรากับค่าใช้จ่ายในราชสำนักอีกด้วย

ยุคเหวินจิ่งจึงได้รับการยกย่องให้เป็นยุคที่รุ่งเรืองด้วยเหตุนี้

 

ฮว๋างเหล่าเป็นหลักคิดกระแสหลักอยู่ในราชสำนักฮั่นมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในหมู่บรมวงศานุวงศ์ของราชวงศ์บางพระองค์ที่ยึดมั่นหลักคิดนี้อย่างมั่นคง จนบางครั้งก็นำมาซึ่งการขจัดขุนนางบางคนที่สมาทานหลักคิดสำนักอื่น

และหลักคิดสำคัญที่ก่อความขัดแย้งดังกล่าวขึ้นมาก็คือหลักคิดของสำนักหญูหรือสำนักขงจื่อ

ตราบจนสมัยฮั่นอู่ตี้ การเปลี่ยนแปลงจึงได้มีขึ้นเมื่อมีขุนนางผู้หนึ่งนามว่า ต่งจ้งซู (ก.ค.ศ.179-104) ได้ถวายความคิดเห็นต่อฮั่นอู้ตี้ถึงสามครั้งให้ยกย่องหลักคิดสำนักหญูเพียงสำนักเดียว

แรกที่ทรงได้รับความคิดเห็นดังกล่าว ฮั่นอู่ตี้แม้ไม่ทรงขัดข้องต่อข้อเสนอของต่งจ้งซูก็ตาม แต่ก็มิอาจกระทำได้โดยเร็ว เนื่องเพราะเวลานั้นอิทธิพลของบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงที่สมาทานหลักคิดฮว๋างเหล่ายังคงอยู่ โดยเฉพาะราชมารดาของพระองค์เอง

ต่อเมื่อราชมารดาสิ้นพระชนม์แล้ว ฮั่นอู่ตี้จึงทรงสบโอกาสด้วยการแต่งตั้งบัณฑิตสำนักหญูเข้ามาเป็นขุนนางกันมากมาย ขุนนางเหล่านี้เองที่มีบทบาทในการวางรากฐานการศึกษาหลักคิดสำนักหญูให้เป็นระบบ เพื่อที่นับแต่นี้ไปบุคคลที่จะเข้ามาเป็นขุนนางนั้นจะต้องมีความแตกฉานในหลักคิดของสำนักนี้

จากเหตุนี้ สถานศึกษาและการสอบคัดเลือกขุนนางล้วนเกิดขึ้นในยุคสมัยนี้ ส่วนบัณฑิตที่สมาทานหลักคิดฮว๋างเหล่าหรือสำนักอื่นก็ให้ปลดออกจากสถานศึกษาทั้งหมด

นับแต่นั้นมาหลักคิดสำนักหญูก็มีอิทธิพลอยู่ในการปกครองของจีนเรื่อยมาไม่ต่ำกว่าสองพันปี

 

พ้นไปจากประเด็นหลักคิดในการปกครองแล้วที่เหลือก็คือ การบริหารจัดการภายในของราชวงศ์ฮั่นเอง

เกี่ยวกับประเด็นนี้พึงเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า การที่ฮั่นในสมัยแรกสืบเนื่องกับราชวงศ์ฉินซึ่งมีอายุราชวงศ์เพียงสิบปีเศษนั้น นับว่ามีส่วนไม่น้อยที่ทำให้ฮั่นในสมัยนี้รับเอามรดกการปกครองของฉินมาสานต่อในบางด้าน และมีบางด้านที่นำมาปรับใช้

ในขณะเดียวกันก็มีหลายด้านที่ฮั่นได้รังสรรค์ขึ้นมาใหม่

การปกครองที่ฮั่นสืบต่อจากฉินในเรื่องแรกก็คือ ระดับการใช้อำนาจของจักรพรรดิ ที่มีระดับต่างกัน เช่น มหาบรมราชโองการ (จื้อ) บรมราชโองการ (จ้าว) ราชโองการ (ชื่อ) และราชดำรัสสั่ง (ลิ่ง) เป็นต้น โดยแต่ละระดับจะผ่านการปรึกษาหารือกับเสนามาตย์ก่อน (2) เมื่อได้เป็นมติแล้วจึงส่งต่อให้นายกรัฐมนตรี (เฉิงเซี่ยง) เป็นผู้ลงนามเพื่อประกาศใช้ต่อไป

นอกจากนี้ สิ่งที่ฮั่นรับมาจากฉินก็ยังมีในเรื่องของการใช้คำเรียกขานอีกบางคำ เช่น จักรพรรดิเรียกตนเองด้วยคำว่า เจิ้น (3) เสนามาตย์เรียกตนเองว่า เม่ยสื่อ หมายถึง เสี่ยงตาย เพื่อแสดงความยำเกรง อีกทั้งเวลาถวายพระพรก็จะใช้คำว่า ว่านซุ่ย หมายถึง หมื่นปี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การออกเยี่ยมเยียนราษฎรด้วยตนเองก็เป็นสิ่งที่จักรพรรดิในฮั่นสมัยแรกสืบทอดจากฉินเช่นกัน โดยเฉพาะฮั่นอู่ตี้นั้นไม่เพียงจะเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรหลายครั้งเท่านั้น หากยังเคยเสด็จไปกำกับดูแลและสั่งการงานซ่อมบำรุงทำนบกั้นแม่น้ำเหลืองอีกด้วย

 

การสืบทอดนี้จะมีที่ต่างกันในรายละเอียดอยู่บ้างก็ตรงระบบสามมหาอำมาตย์ (ซานกง) ที่ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี ราชเลขาธิการ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่ในสมัยฮั่นสมัยแรกจะมีนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว โดยจักรพรรดิจะคัดเลือกจากขุนนางที่มีความดีความชอบสูง

และเมื่อได้มาแล้วนายกรัฐมนตรีก็จะรับผิดชอบงานที่หลากหลาย เช่น เลือกข้าราชการ ประกาศคำสั่งต่างๆ ไปยังขุนนางระดับล่าง ตัดสินประหารชีวิต คัดค้านเรื่องที่ตนไม่เห็นด้วย เป็นประธานในที่ประชุมขุนนาง เป็นต้น

นายกรัฐมนตรีจึงเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจสูงมาก จากอำนาจที่สูงเช่นนี้นายกรัฐมนตรีจึงเป็นตำแหน่งสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

ส่วนระบบสามมหาอำมาตย์เก้าขุนนางหรือซานกงจิ่วชิง ที่หนุนเสริมการปฏิบัติงานให้แก่ส่วนกลางดังได้กล่าวไปแล้วในสมัยฉินนั้น มาถึงสมัยนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่ไม่มีนัยสำคัญมากนัก เช่น การเปลี่ยนชื่อหน่วยงาน เป็นต้น

ที่สำคัญ การมีบทบาทหนุนเสริมการปฏิบัติงานของส่วนกลางให้มีการรวมศูนย์ขึ้นนี้ นับว่ามีปฏิสัมพันธ์กับการปกครองท้องถิ่นอย่างมาก โดยที่หากกล่าวในเชิงโครงสร้างแล้วฮั่นสมัยแรกมิได้เปลี่ยนแปลงไปจากที่ฉินได้สร้างเอาไว้

แต่หากในการบริหารจัดการแล้วสิ่งที่ฮั่นสมัยแรกได้กระทำไปอย่างมีนัยสำคัญก็คือ การให้วงศานุวงศ์สกุลหลิวไปปกครองรัฐท้องถิ่นแทนเสนามาตย์สกุลอื่น ด้วยไม่ไว้วางใจเจ้าศักดินาที่เป็นกษัตริย์ปกครองรัฐเหล่านี้ และเพื่อให้แน่ใจว่าอำนาจของราชวงศ์ฮั่นจะมั่นคงเฉพาะก็แต่สกุลหลิวเท่านั้น

แต่ความเป็นจริงแล้วกลับปรากฏว่า เจ้าศักดินาสกุลหลิวที่เป็นกษัตริย์ปกครองรัฐท้องถิ่นกลับเป็นภัยคุกคามราชวงศ์เสียเอง

 

จากเหตุนี้ ในสมัยของฮั่นอู่ตี้จึงใช้มาตรการต่างๆ เพื่อรักษาเจตนารมณ์เดิมเอาไว้ (คือเจ้าศักดินายังคงเป็นบุคคลหลิว แต่ก็มิอาจเป็นภัยคุกคามส่วนกลางได้)

เช่น ออกกฎให้เจ้าศักดินาแบ่งที่ดินให้ลูกหลาน ซึ่งจะทำให้เกิดเจ้าศักดินาเพิ่มมากขึ้น วิธีนี้จะเท่ากับทอนอำนาจของเจ้าศักดินาเดิมให้น้อยลง หรือการห้ามมิให้เจ้าศักดินาสะสมเกลือและหล่อเหรียญกษาปณ์

มีการกำหนดระยะเวลาถวายบรรณาการที่แน่นอน (ถ้าไม่มาถวายตามกำหนดก็แสดงว่ากระด้างกระเดื่องต่อส่วนกลาง) ห้ามมิให้เจ้าศักดินาต่างรัฐจัดประชุมกันเอง ห้ามเจ้าศักดินาให้ของกำนัลให้แก่เสนามาตย์ในส่วนกลาง และห้ามเจ้าศักดินาเดินทางออกนอกเขตรัฐที่ตนปกครอง เป็นต้น

แน่นอนว่า การจำกัดเพื่อลดทอนอำนาจของเจ้าศักดินาตามที่กล่าวมานี้ย่อมมีผลกระทบต่อหน่วยปกครองไปด้วย

————————————————————————————————————————
(1) เต้าเต๋อจิง อันเป็นคัมภีร์ต้นธารของสำนักเต้านี้ ไทยเราคุ้นชินกับคำเรียกในภาษาถิ่นจีนแต้จิ๋วว่า เต๋าเต็กเกง เป็นคัมภีร์ที่มีการแปลเป็นภาษาไทยทั้งที่แปลแบบสมบูรณ์และไม่สมบูรณ์หลายสำนวนด้วยกัน สำนวนที่ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้งคือ วิถีแห่งเต๋า ของพจนา จันทรสันติ ส่วนสำนวนล่าสุดน่าจะเป็นคัมภีร์เต๋าของเหลาจื่อ ของปกรณ์ ลิมปนุสรณ์ อันเป็นสำนวนที่แปลจากภาษาจีนอย่างสมบูรณ์พร้อมเชิงอรรถอธิบายขยายความ

(2) คำว่า เสนามาตย์ ที่ใช้ในงานศึกษานี้หมายรวมถึงขุนนาง (ฝ่ายพลเรือน) กับขุนศึก (ฝ่ายกลาโหม) ภาษาจีนเรียกขุนนางสองฝ่ายนี้ว่า ฝ่ายเหวินกับฝ่ายอู่ หรือที่ไทยเราคุ้นเคยผ่านภาษาจีนแต้จิ๋วว่า ฝ่ายบุ๋นกับฝ่ายบู๊

(3) ในอดีตจีนมีคำเรียกขานแทนตัวเองอยู่หลายคำ คำว่า เจิ้น เป็นหนึ่งในคำเหล่านั้น ความหมายในภาษาไทยก็คือ ข้าพเจ้า ผม ฉัน หรือกูเป็นต้น เจิ้น เป็นคำที่ปรากฏอยู่ในอักษรกระดองเต่าและกระดูกวัว (เจี๋ยกู่เหวิน) ของราชวงศ์ซาง คำนี้จึงเป็นคำที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี