มุกดา สุวรรณชาติ : ‘ก๊กที่ 3’…รุกเกือบทุกด้าน มิอาจต้าน…ก็ต้องเล่นเกมเดียวกัน

มุกดา สุวรรณชาติ

เปรียบเทียบการเมือง 3 ปี
หลังรัฐประหาร 6 ตุลา 2519…และ…22 พฤษภา 2557

เวลาผ่านไปเกือบ 40 ปี การต่อสู้ทางการเมืองของไทยยังวนเวียนอยู่ในวงจรเดิม

แต่ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น ยังมีครบทุกกระบวนท่า ทั้งการใส่ร้ายป้ายสี กล่าวหา ฟ้องร้อง ชุมนุมประท้วง ใช้อาวุธฆ่ากัน ใช้กฎหมาย ยึดอำนาจด้วยกำลัง มีร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่พิสดารมากขึ้น

ตอนนี้กำลังจะวนกลับมาเลือกตั้ง เริ่มวงจรรอบใหม่อีกครั้ง

แต่จะไปได้เหมือนปี 2523 หรือไม่

ภาพใหญ่ทางการเมืองดูคล้ายกันมาก คือ…

แก้ปัญหาด้วยการรัฐประหารซ้ำ…
หลังจากนั้นสามปี ได้ประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ

หลัง 6 ตุลาคม 2519 เมื่อประชาชนและนานาชาติไม่ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร เพียง 1 ปี ก็มีการรัฐประหารซ้ำ ในเดือนตุลาคม 2520 และ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็ขึ้นเป็นนายกฯ เอง

จากนั้นก็ใช้การนิรโทษกรรม ตามด้วยระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบในยุคนั้น พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้เข้ามาเป็นนายกฯ คนนอกในระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบเป็นคนแรก

อยู่ในอำนาจรัฐประหารได้ปีกว่า ใต้ประชาธิปไตยครึ่งใบได้ 9 เดือน อำนาจก็ไปตกอยู่กับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แม้มีการเลือกตั้งอีกหลายครั้ง แต่พรรคการเมืองทั้งหลายก็ต้องใช้บริการนายกฯ คนนอกอย่าง พล.อ.เปรม ซึ่งสามารถอยู่ได้นานถึงแปดปี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งเคยเลือกตั้งได้ ส.ส. มากที่สุดก็เป็นได้แค่รองนายกฯ

การรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 เหมือนการรัฐประหารซ้ำ ไม่ได้เกิดด้วยตัวมันเอง แต่เป็นผลพวงจากวิธีการแก้ปัญหาที่ต่อเนื่องจากปี 2549, 2551 และ 2553 แบบยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง

รัฐประหาร 2549 ใช้รัฐธรรมนูญใหม่ 2550 ใช้การเลือกตั้ง ใช้ตุลาการภิวัฒน์ แล้วไม่บรรลุจุดหมาย ต้องสลายการชุมนุม ปี 2553 จนมีคนตายและบาดเจ็บจำนวนมาก เลือกตั้ง 2554 ก็แพ้อีก ความขัดแย้งจึงลามลึก

สุดท้ายก็ต้องพึ่งรัฐประหาร 2557 อีกครั้ง

ขณะนี้นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่มา 2 ปีกว่า มีร่าง รธน. เป็นแบบครึ่งใบที่ผ่านประชามติ

แต่ความซับซ้อนมากกว่าเพราะมีอำนาจตุลาการและองค์กรอิสระที่สามารถเข้ามาชี้เป็นชี้ตายต่อนักการเมือง

มี ส.ว. ที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง แต่เลือกนายกฯ ได้ 250 คน แต่หลังเลือกตั้ง เกมจะไม่ง่ายเหมือนสั่ง

ความแตกต่างของสถานการณ์และปัญหา

แต่ถ้ามองลงลึกถึงปัจจัยอื่นๆ ก็พบว่ามีความแตกต่างกันพอสมควร เช่น ระบบการสื่อสารการเผยแพร่ข่าวสารในยุคหลัง 6 ตุลาฯ และยุคปัจจุบันห่างกันอย่างลิบลับเพราะยุคปัจจุบันไม่สามารถปิดกั้นข่าวสารได้ ในขณะเดียวกันการใส่ร้ายป้ายสี การเพิ่มสีสันการแต่งแต้มข้อมูลเท็จก็สามารถทำได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งขบวนการเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในการต่อสู้ทางการเมืองทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ปัญหาความขัดแย้งในวงการทหารปัจจุบันมีไม่มาก การต่อสู้นอกระบอบประชาธิปไตยปี 2559-2560 จึงยังดูเป็นเรื่องรอง

ปัญหาการต่อสู้เหนือระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่คาดหมายไม่ได้และไม่อาจบอกว่าจะอยู่นอกเหนือระเบียบวิธีการหรือกระบวนการทางกฎหมายหรือไม่

ปัญหาเศรษฐกิจ ในช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ พบกับปัญหาราคาน้ำมันแพงมากจนกลายเป็นสาเหตุการประท้วงและการล้มรัฐบาล แต่ปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นคือน้ำมันราคาถูกแต่ปัญหาเศรษฐกิจอื่นๆ รุมเร้าเข้ามาทุกด้าน ทั้งอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การทำมาหากินของพ่อค้า

ประชาชนถือว่าอยู่ในสภาพยากลำบากมากในรอบ 20 ปี

2558-2559 ก๊กที่สามของตาอยู่
รุกเกือบทุกด้าน ทุกระดับ

หลังรัฐประหาร เกิดสามก๊กจริง หลังประชามติร่าง รธน. ดุลกำลังสามก๊กเปลี่ยน กลายเป็น 1 ก๊กใหญ่ กับ 2 ก๊กเล็ก

แม้โครงสร้างการปกครองตามกฎหมาย มีอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ แต่สถานะของอำนาจจริง อยู่นอกและเหนือระบบ การบริหารวันนี้จึงรวมศูนย์ สั่งมาจากข้างบนและกระจายออกไป ประเทศเราไม่มีกรมการเมือง แต่เวลานี้ คสช. คล้ายกรมการเมือง

ตลอด 2 ปีกว่า ได้ทำหน้าที่วางแผนบริหาร จัดขบวนทัพ ปรับกำลัง สร้างกฎเกณฑ์

เพราะอีกไม่นานจะมีการเลือกตั้ง แล้วก็จะมีรัฐบาล มีนายกฯ มีสภาผู้แทนฯ มีวุฒิสภา (ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง) ดังนั้น จะต้องมีหลักประกันในการถ่ายอำนาจว่าจะไม่เสียของ หลังเลือกตั้ง

ขณะนี้แม้ทุกอย่างในโครงสร้างทางการเมืองจะถูกสร้างหรือตั้งขึ้นมาใช้ชั่วคราว แต่เป็นชั่วคราวที่รวมศูนย์ และจะชั่วคราวอีกปีกว่า หมายความว่าจะทำอะไรๆ ได้อีกเยอะ

จะทำให้สั่งง่าย ใช้คล่อง…ต้องจัดขบวนทัพตั้งแต่หัวถึงระดับกลางทุกฝ่าย

ฝ่ายบริหาร ฝ่ายการเมือง ข้าราชการ ทหาร นักธุรกิจ กฎหมายและรัฐธรรมนูญ

แนวทางของก๊กตาอยู่ คือ รับปัญหาทั่วไปของประเทศไว้ตามหน้าที่ พยายามทำเต็มที่ เท่าที่มีกำลัง แต่ปัญหาที่จะกระทบความมั่นคง ต้องมาอันดับแรก

สิ่งที่ คสช. ทำมาแล้วคือการปรับฐานกำลังของส่วนต่างๆ

1.ส่วนที่เป็นหัวสุดคือกลุ่ม คสช. เอง ที่สำคัญคือการแบ่งอำนาจให้ลงตัว และความสามัคคี อำนาจของ คสช. เป็นอำนาจที่อยู่บนสุดตามโครงสร้าง สามารถคิดและตัดสินใจ มีรูปแบบการบริหารโดยคณะกรรมการ คล้ายกรมการเมือง โดยจะนำข้อมูลมาประเมินให้สอดคล้องกับสถานการณ์กำหนดเป้าหมายนโยบาย โครงการ และวิธีแก้ไขปัญหา

อำนาจการตัดสินใจหรือความคิดเห็น เป็นเรื่องของความฉลาด ความรู้ ประสบการณ์ และศักยภาพของบุคคลใน คสช. แม้อยู่ในรูปคณะกรรมการ แต่อำนาจไม่เท่ากัน ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธาน, เลขาธิการ, นายกรัฐมนตรีหรือผู้คุมกำลัง มักจะมีข้อมูลและเหตุผลมากกว่า

วันนี้อำนาจแบบทันใจ ไร้กังวล อยู่ที่หัวหน้า คสช. คือมาตรา 44 นี่เป็นหัวหอกแนวรุก ที่บุกไปได้ทั้งสนาม

2.อำนาจนายกรัฐมนตรี และ ครม. ซึ่งตามสถานการณ์ตามปกติจะมีอำนาจสูงสุดในการบริหาร

แต่วันนี้มีอำนาจตัดสินใจของ คสช. มาประกบอยู่เคียงข้างการตัดสินใจ แต่นายกรัฐมนตรีกับประธาน คสช. เป็นคนคนเดียวกัน

ในขณะเดียวกันบุคคลสำคัญในคณะ คสช. ก็คงไปดำรงตำแหน่งคณะรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญ

การกำหนดนโยบายและการตัดสินใจจึงไม่น่ามีการขัดแย้งมากนัก ถึงแม้มีก็สามารถปรับปรุงและแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว

ฝ่ายบริหารคือคณะรัฐบาลแม้ปรับเปลี่ยน แต่ก็ยังไม่ลงตัวอาจเป็นเพราะยังถือความไว้วางใจมองเรื่องกลุ่มกำลังและพรรคพวกซึ่งจะต้องตอบแทนและสร้างดุลอำนาจซึ่งกันและกัน ดังนั้น คนซึ่งเน้นคุณภาพในการทำงานอาจจะต้องเป็นรองลงไปจึงยังไม่ได้คนที่เหมาะสมในการบริหารในตำแหน่งต่างๆ

ครม. ชุดนี้มีอำนาจสูงสุด ยังไม่เห็นมีองค์กรใดมาขวาง ถ้ารุกไม่ได้ โครงการไม่เดินต้องเปลี่ยนคน หรือต้องย้อนมาดูว่ามัวแต่เสียเวลาไปกับเรื่องในอดีตหรือเปล่า

3.การปรับกำลังระดับกลาง คือการย้ายข้าราชการในระดับบน ซึ่งทำมาแล้วหลายร้อยตำแหน่งแต่จนถึงปัจจุบันยังไม่เห็นผลเด่นชัดเมื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมหน้าในวงราชการหรือการปฏิบัติที่มีผลต่อประชาชนจนเป็นที่กล่าวขวัญแต่อย่างใด อาจเป็นเพราะสภาพของข้าราชการต่างๆ และคุณสมบัติความสามารถใกล้เคียงกันหรือคล้ายกัน

การเปลี่ยนแปลงโยกย้ายจึงไม่เกิดผลที่เห็นได้ชัดเจน

บางครั้งอาจจะมีผลร้ายเพราะหลายคนคิดว่าตัวเองถูกกลั่นแกล้งหรือไม่ยุติธรรมก็อาจเพราะความไม่พอใจ

4.ปรับสมดุลทางทหาร สถานการณ์ปัจจุบันยังใช้การรัฐประหารด้วยกำลัง เป็นปัจจัยชี้ขาด ในการ “ยึดอำนาจ” และสนับสนุนอำนาจอื่นๆ

การจัดความเหมาะสมในตำแหน่งที่มีอำนาจทางทหารจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

ขณะนี้ถือว่านิ่ง

5.ด้านกฎหมาย รธน. ผ่านแล้ว การรุกบรรลุเป้าหมาย

เรื่องสภา…รอให้มีเลือกตั้ง

6.ฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระ ไม่สามารถขยายอำนาจไปครอบคลุมรัฐบาล คสช. ได้ จากบทบาทที่เข้าไปยุ่งกับการเมือง

เคยมีอำนาจชี้เป็นชี้ตาย ปลดคนโน้น ลงโทษคนนี้ บทนี้คงน้อยลงมาก สำหรับรัฐบาล คสช. สามารถคิดและทำโครงการใหญ่ โดยไม่มีใครขวาง

7.หยุดการเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายอื่น แนวรบนี้ไม่ต้องรุก เพราะทั้งนักการเมืองที่อยู่ในระดับชาติและการเมืองท้องถิ่นตอนนี้เหมือนกับถูกแช่แข็งไว้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ และขณะนี้รัฐบาลไม่มีพรรคการเมือง แต่สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 ได้ นี่เป็นสิ่งที่มีความแตกต่างกับยุค พล.อ.เกรียงศักดิ์ เพราะในยุคนั้นไม่มีการใช้อำนาจพิเศษ ซึ่งถูกใช้ในหลายด้านจนมีคนเปรียบเป็นยาสารพัดนึกสามารถใช้กิน ใช้ทา ใช้ดม

รัฐบาลจะทำคะแนน หรือเสียคะแนน อยู่ที่รัฐบาลเอง เพราะไม่มีคู่แข่ง

แต่แนวรุกที่จะผ่านพรรคการเมือง จะเห็นได้ชัดเจนเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว ถึงเวลานั้น พรรคตาอิน กับพรรคตานา คงได้รับผลกระทบ ตั้งแต่การแย่งชิง ส.ส. ไปจนถึงการแข่งขันในสนาม

สรุปว่ากลุ่มของตาอยู่ ไม่ได้มาเดี๋ยวเดียว คว้าพุงเพียวเพียวไปกิน แต่ต้องเปิดแนวรุกมาตลอด 2 ปีเต็ม ก๊กอื่นขวางไม่ได้เลย มีเรื่องเดียวที่พยายามขวาง คือรัฐธรรมนูญ 2559 แต่ก็ขวางไม่ได้ ดังนั้น…

ที่จะเกิดขึ้นคือการที่ทุกฝ่ายยอมเล่นเกมฟุตบอลตามกติกาใหม่ด้วยกัน แม้เสียเปรียบบ้าง แต่เจ็บตัวน้อยกว่าการเล่นรักบี้ ถึงอย่างไร คนดูยังเชียร์เต็มสนาม และการแข่งก็มีหลายครั้ง

ดังนั้น ต้องพร้อมใจเล่น และเชียร์ฟุตบอลไทย ให้ไปบอลโลก