คำ ผกา : คอร์รัปชั่น

คำ ผกา

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2544

นั่งดูและอ่านข่าวเรื่องการเดินแสดงพลังเพื่อต่อต้านคอร์รัปชั่นแล้วรู้สึกแปลกๆ ไม่ได้แปลกๆ ที่เห็นนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ยิ้มหวานให้กัน แต่ไม่เข้าใจว่าการเดินแสดงพลังต่อต้านคอร์รัปชั่นจะช่วยลดปัญหาคอร์รัปชั่นได้อย่างไร?

บ้างอาจจะบอกว่าการแสดงพลังเชิงสัญลักษณ์เป็นเรื่องจำเป็น แต่ฉันคิดว่าการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์จะมีพลังก็ต่อเมื่อเป็นการแสดงออกซึ่งสัญลักษณ์ของเสียงที่ถูกกดทับ เสียงที่ไม่มีพื้นที่จะให้พูด เสียงของคนที่ถูกบังคับให้ต้องเงียบและจำนน เช่น การออกไปประท้วงของเกย์ โสเภณี คนจน ของผู้หญิงที่อยากทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมาย ฯลฯ หรือ การออกมาเต้นแอโรบิกที่นี่มีคนตายในช่วงที่ยังมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามชุมนุมทางการเมือง เป็นต้น

ทว่า เรื่องของการคอร์รัปชั่น ไม่ใช่เรื่องที่ถูกกดทับหรือเป็นหัวข้อที่แหลมคม สั่นสะเทือนสังคม น่าตื่นตะลึง

13169405991316940634l-1
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานพร้อมกล่าวนำปฏิญาณต่อต้านคอร์รัปชั่น ในกิจกรรมเดินรณรงค์ : รวมพลังต่อต้านคอร์รัปชั่น ร่วมกับ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน เมื่อวันที่ 25 ก.ย.54

ตรงกันข้าม มันเป็นเรื่องที่สังคมออกจะเห็นพ้องต้องกัน ปราศจากการถกเถียงว่า การคอร์รัปชั่นเป็นการกระทำที่รับไม่ได้ ผิดทั้งกฎหมาย และศีลธรรม เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศชาติ และแทบจะเป็นเหตุผลเดียวที่สังคมไทยใช้เป็นยาครอบจักรวาล เมื่อต้องเผชิญหน้ากับคำถามที่ว่าทำไมเมืองไทยไม่เจริญก้าวหน้า ตั้งแต่ ป. 1 ไปจนถึงคนแก่ ก็มักจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า

“อ๋อ เพราะมีคอร์รัปชั่นในทุกวงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการเมือง”

นี่ยังไม่พูดถึงว่า การคอร์รัปชั่นยังเป็นเหตุผลคลาสสิคตลอดกาลที่ทหารใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร

พูดง่ายๆ ว่าปัญหาการคอร์รัปชั่นไม่ได้ลึกลับเสียจนต้องมาเดินปลุกพลังให้คนตื่นตัวออกมาต้านคอร์รัปชั่น

แต่คำถามคือ เราจะต้านคอร์รัปชั่นอย่างไร?

ถ้าเราจับนักการเมือง ข้าราชการทั่วประเทศไปดื่มน้ำสาบาน ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา สาบานตนว่าหากข้าพเจ้าคอร์รัปชั่น ขอให้มีอันเป็นไปเจ็ดชั่วโคตร จากนั้นพานักการเมืองไปเดินธรรมยาตรา บริกรรมคาถาสะกดจิตตนเอง ว่า “ข้าพเจ้าจะไม่คอร์รัปชั่นๆ ๆ ๆ ๆ” ต่อด้วยเข้าคอร์ส กินเจ ภาวนา วิปัสสนา นั่งสมาธิ อมรมศีลธรรม สัก 3 เดือน – ทำดังนี้แล้วปัญหาคอร์รัปชั่นจะหมดไปหรือไม่?

ถามมาอย่างนี้ทุกคนก็คงตอบได้ตรงกันหมดอีกเช่นกันว่า การคอร์รัปชั่นไม่ใช่ปัญหาของศีลธรรมระดับบุคคล แต่เป็นปัญหาในโครงสร้าง

ทุกวันนี้เราคนไทยเผชิญกับปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างไรบ้าง?

– การเรียกเงินใต้โต๊ะของเจ้าหน้าที่ในหน่วยราชการเพื่อเร่งกระบวนการการทำงานให้เร็วขึ้น คนไทยทุกคนคงคุ้นเคยกับการไปนั่งรอเข้าคิวเพื่อรับบริการจากหน่วยงานราชการตั้งแต่เช้าจรดเย็น และฝ่าฟันกับการทำขั้นตอนต่างๆ ให้ยากขึ้นกว่าปกติ เช่น เอกสารไม่ครบ เขียนผิดที่ เอกสารหน้านั้นไม่ตรงกับหน้านี้ กลับบ้านไปเอาหลักฐานเพิ่มแล้วกลับมาเข้าคิวใหม่ หรือปล่อยให้รอโงกเงก ไร้ความหวัง นั่งดูข้าราชการถักโครเชต์ กินมะม่วงดอง และดูโทรทัศน์ที่ติดไว้ในสำนักงานอ้าปากหวอ แต่คุณจะไม่มีวันเผชิญหน้ากับเหตุการณ์แบบนี้เลย ถ้าคุณมีเส้น รู้จักผู้ใหญ่ หรือคุณเป็นใครสักคนของสังคมที่เข้าไปติดต่อหน่วยงานเหล่านี้พร้อม “ผู้อำนวยความสะดวกที่นายสั่งให้มาดูแล”

– การซื้อตำแหน่ง ข้าราชการทุกคนคงรู้ดีกว่า หากอยากไต่เต้า เป็นใหญ่เป็นโต นอกจากจะต้องคอย “เอาใจ” และ “รับใช้” นายและครอบครัวอย่างสุดหัวใจแล้ว ยังต้องเตรียมเงินไว้จำนวนหนึ่งเพื่อตอบแทนสำหรับตำแหน่งที่จะบำเหน็จมา ผลที่ประชาชนอย่างเราได้รับคือ ต้องรอแทงหวยว่าคนที่รับใช้นายเก่งๆ และมีเงินแลกตำแหน่งมาทำงานนั้น เป็นคนมีความรู้สามารถในการทำงานจริงหรือไม่

– การคอร์รัปชั่นทางอ้อม เช่นการล่วงรู้ข้อมูลเกี่ยวกับหุ้น ราคาที่ดิน รู้ว่าจะตัดถนนไปไหน ควรไปซื่อที่ดินตรงไหนเก็บไว้ การได้ใช้ อำนาจ เครือข่าย เพื่อลงทุนหรือผูกขาดธุรกิจ การรับงานสัมปทานจากรัฐ และอื่นๆ

– การกินหัวคิว เช่น สร้างสะพานด้วยงบสองล้านบาท ราคาสะพานจริงอาจจะห้าแสนบาท งบสร้างถนนพันล้าน ราคาถนนที่สร้างจริงอาจจะห้าร้อยล้าน เป็นต้น ที่เหลือก็เป็นการ “กิน” กับตามรายทาง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคนไทยรู้และเห็นเป็นเรื่อง “ธรรมดา” อย่างยิ่ง การกินหัวคิวเช่นนี้มีอยู่ในทุกระดับ และตัวเลขก็สูงขึ้นเรื่อยตามแต่หน่วยงานที่ตนเองรับผิดชอบ

หากจะบอกว่าปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างก็อาจจะเป็นการมักง่ายเกินไป แต่จากประเภทของการคอร์รัปชั่นที่เขียนมาข้างต้น จะเห็นว่าการคอร์รัปชั่นในสังคมไทยน่าจะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

การคอร์รัปชั่นจาก “อำนาจ” อันสะท้อนให้เห็นในภาษาที่คนไทยคุ้นเคยและใช้กันอยู่เป็นประจำเช่น “ดูแล”, “ฝากฝัง” หรือ “อำนวยความสะดวก” ส่วนประเภทที่สอง เป็นการคอร์รัปชั่นแบบกินค่าคอมมิสชั่น

สําหรับฉัน ปัญหาการคอร์รัปชั่นแบบกินค่าคอมมิสชั่นนั้นแก้ไม่ยาก เพราะเราสามารถออกแบบระบบที่โปร่งใส และตรวจสอบได้มาตรวจสอบการกินค่าคอมมิสชั่น เพราะเป็นการคอร์รัปชั่นที่ไม่ซับซ้อน แม้จะมีวงเงินการคอร์รัปชั่นสูง เช่นว่ากันว่าบางรัฐบาลกินในเรต 30% บางรัฐบาลตะกละมูมมามล่อไป 50-60% อย่างนี้เป็นต้น

นอกจากออกแบบระบบให้ตรวจสอบได้แล้ว ยังอาจทำให้การให้คอมมิสชั่นมาอยู่บนดิน นั่นคือทำให้งานล็อบบี้และนักล็อบบี้ยิสต์ทั้งหลายเป็นงานที่เปิดเผย ยิ่งเปิดเผยเท่าไหร่ก็ยิ่งตรวจสอบง่ายเท่านั้น แน่นอนว่า ไม่อาจทำให้เกิดระบบที่ “ผุดผ่อง” ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะคดีฟ้องร้องการล็อบบี้เหล่านี้ยังปรากฏให้เราได้ศึกษาอยู่เนืองๆ ในหลายๆ ประเทศ แต่ที่เกิดการฟ้องร้องแบบนั้นได้ก็เพราะมันเป็นระบบที่ประชาชน หรือ สื่อมวลชน นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทั้งหลายสามารถเข้าไปตรวจสอบได้มิใช่หรือ

แต่การคอร์รัปชั่นที่แก้ยากที่สุดน่าจะเป็นการคอร์รัปชั่นที่โครงสร้างของ “อำนาจ” ในสังคมไทย ดังที่บอกไว้ว่ามันอยู่ในถ้อยคำประเภท “รับใช้-ดูแล-อำนวยความสะดวก” “(เจ้า)นาย”

และที่ซับซ้อนกว่านั้นยังปรากฏในบันทึกของอดีตนักข่าวบางกอกโพสต์ ที่เขียนเล่าประสบการณ์ของเธอในกรณีที่โดนฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทหลังจากตีพิมพ์บทความที่ไปกระทบกระเทือนข้าราชการ “ผู้ใหญ่” คนหนึ่ง

และในบันทึกของเธอได้สะท้อนให้เห็นถึงการคอร์รัปชั่นในระบบโครงสร้างอำนาจของสังคมไทยที่บัดซบเหลือจะบรรยาย

ความตอนหนึ่งบอกว่า

“คดีส่วนใหญ่ในเมืองไทยนั้นจบลงด้วยการตกลงนอกศาล เพราะว่ามันอาจใช้เวลานานมาก และมันยังเหมาะกับวิถีของคนไทยที่หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า หากแต่ก็รักษาชั้นอำนาจไว้อยู่ การตกลงดังกล่าว ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยอ้อมอย่างจงใจ กล่าวคือ เพื่อนที่เป็นคนสำคัญมากของเพื่อน จะติดต่อเพื่อนที่เป็นคนใหญ่คนโตของเขาที่รู้จักกับคนของเพื่อนที่สำคัญอีกที ซึ่งใกล้ชิดกับปู่ของเจ้าหน้าที่ หรือหัวหน้า หรืออีกคน ที่ใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่คนสำคัญ ผู้ซึ่งคอร์รัปชั่นอย่างเปิดเผย หากแต่เราจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือเพื่อให้ ทำข้อตกลงได้ในที่สุด วิถีดังกล่าว ดูเหมือนจะเป็นวิธีการที่น่าขยะแขยงและไร้หลักการในการจัดการสิ่งต่างๆ แต่นี่ก็คือประเทศไทย…” http://www.prachatai3.info/journal/2011/09/37082

การยัดเงินใต้โต๊ะเพื่ออำนวยความสะดวก การซื้อ-ขาย ตำแหน่ง การ “ดูแล” การใช้เส้นสายในการติดต่อหน่วยงานราชการในทุกลำดับชั้น การไม่สามารถทำอะไรได้เลยในประเทศนี้ หากว่าคุณ “ไม่รู้จักใคร” และในประเทศนี้ คุณภาพชีวิตของคุณนั้นขึ้นอยู่กับว่าคุณนามสกุลอะไร เป็นลูกใคร หลานใคร เพื่อนใคร เพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนเดียวกันกับใคร เพื่อน วปอ. รุ่นไหน? เพื่อนอนุบาลหมีน้อยจังหวัดใด เป็นเตรียมอุดมฯ เป็นวชิราวุธ และเป็นอื่นๆ อีกมากเหลือจะกล่าว ล้วนแต่จะเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพชีวิต ทรัพย์สิน และความปลอดภัยในชีวิต

การคอร์รัปชั่นในระบบเส็งเคร็งนี้แม้จะไม่มีเงินมาเกี่ยวข้องมากมายเหมือนการกินค่าคอมิสชั่น แต่เลวร้ายและเป็นเหมือนมะเร็งของสังคมที่จะค่อยๆ กัดกร่อนประเทศชาติให้เดินไปสู่หลุมฝังศพอย่างน่าสะอิดสะเอียน แต่กลับถูกตั้งคำถามน้อยกว่าการโกงค่ากล้อง หรือการกินค่าถนน

มะเร็งในโครงสร้างทางอำนาจแบบนี้เกิดจากการที่สังคมไทยไม่ยอมรับที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ให้ค่ากับความเสมอภาคของมนุษย์ที่เรียกร้องให้เรามีความสัมพันธ์กันในแนวดิ่งมากกว่าแนวราบ แถมยังจำนนสยบยอมต่อพิธีกรรมทุกประการในอันที่จะผดุงประเพณีแบบเจ้าขุนมูลนายเอาไว้ในสังคม

ระบบริหารราชการทีมีลำดับชั้นต่ำสูงในแนวดิ่งประหนึ่งยังอยู่ในระบบมูลนายไพร่สม อาการแห่แหนขบวนของ “นาย” ที่จะไปไหนต่อไหนต้องมีลูกน้องตามสักหนึ่งหรือสองพรวน การให้ลำดับชั้นต่ำสูงกันที่รถประจำแหน่ง จำนวนผู้ติดตาม

(เคยเห็น ส.ส.เยอรมันใส่สูทอย่างเท่ เดินมาจากรถไฟใต้ดินเพื่อเข้าไปในรัฐสภาแล้วอยากจะร้องกรี๊ด มันเท่อะไรอย่างนั้น ไม่ดูล้าหลังไดโนเสาร์เหมือน เอิ่ม…)

ระบบเจ้าขุนมูลนายที่แฝงฝังอยู่ในทุกอนุภาคของสังคมไทย โดยเฉพาะในหน่วยงานราชการที่ไม่เคยสะกดคำว่า “เท่าเทียม” ได้อย่างถูกต้อง ไม่เว้นแม้แต่ในโครงสร้างการบริหารในมหาวิทยาลัย ที่สังคมคาดหวังความเป็นผู้นำทางปัญญาสมควรจะหัวก้าวหน้ากว่าหน่วยราชการอื่น ทว่าระเบียบ พิธีกรรมการนั่ง ยืน เดิน กิน ยังคงเคร่งครัดอยู่ในการจัดลำดับชั้นแบบแนวดิ่ง มีงานอะไรขึ้นมาสักงาน เราจะเห็นเก้าอี้วีไอพี มีแก้วน้ำ มีพรม เก้าอี้หนาๆ นุ่มๆ อันนั้นของผู้ใหญ่ ระดับความนุ่มของเก้าอี้จะค่อยๆ ลดหลั่นกันไปจนกลายเป็นเก้าอี้เหล็กแข็งๆ เป็นที่นั่งของบรรดา “ผู้น้อย” ทั้งหลายอยู่แถวหลัง

การคอร์รัปชั่นในโครงสร้างอำนาจเช่นนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องศีลธรรมส่วนบุคคล แต่เป็นปัญหาของสังคมที่ยังเสพติดระบอบศักดินาล้าหลัง รังเกียจความเสมอภาคของมนุษย์ จึงปฏิเสธแนวทางการปฏิรูปประเทศไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เป็นของแท้ ไม่ต้องมีสร้อยห้อยท้าย

รังเกียจการปฏิรูประบบบริหารราชการให้มีขนาดเล็กลงด้วยกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจัง รังเกียจโครงการที่ต้องการให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง รังเกียจที่จะปรับเปลี่ยนพิธีกรรม สัญลักษณ์ เครื่องแบบ ที่พยุงเอาความไม่เท่าเทียมกันนี้เอาไว้ในสังคม

ปัญหาการคอร์รัปชั่นไม่อาจแก้ได้ด้วยการนำนักการเมืองมาสาบานตน แต่ต้องทำได้ด้วยการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจในสังคมให้เป็นสังคมที่คนต้องมีความสัมพันธ์กันในแนวราบและเชื่อมั่นในความเสมอภาคของมนุษย์เป็นเบื้องต้น เพื่อเป็นการแก้ไขมิให้มีช่องทางการคอร์รัปชั่นของ “อำนาจ”

จากนั้นเราจึงสามารถออกแบบระบบมาป้องกันการคอร์รัปชั่นในแบบกินค่าคอมมิสชั่นได้