ทวีศักดิ์ บุตรตัน : โลกร้อนเพราะมือเรา (121) ยุทธศาสตร์ “3R” ญี่ปุ่น

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ถุงพลาสติกถูกคิดค้นเมื่อปี 2508 หลังจากนั้นอีก 7 ปีบริษัทแห่งหนึ่งบนเกาะชิโกกุของญี่ปุ่น ยื่นจดลิขสิทธิ์ถุงช้อปปิ้งพลาสติกมีรูปทรงเหมือนกับถุงที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

ตั้งแต่นั้นมาชาวญี่ปุ่นและผู้คนทั่วโลกใช้ถุงพลาสติกอย่างแพร่หลาย เป็นเพราะทนทาน เบา ใช้สะดวก กันน้ำและราคาถูก

ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อและร้านค้าอื่นๆ ในญี่ปุ่นแจกถุงช้อปปิ้งพลาสติกให้ฟรีๆ

ประเมินกันว่า คนญี่ปุ่นใช้ถุงช้อปปิ้งพลาสติกปีละ 30,500 ล้านใบ เฉลี่ย 300 ถุงต่อคนต่อปี

เม็ดพลาสติกที่ญี่ปุ่นผลิตเองและนำเข้าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบทำถุงปีละ 380,000 ตัน

ถุงพลาสติก 1 ใบน้ำหนักราว 7-9 กรัม

หากคิดอัตราเฉลี่ยถุงช้อปปิ้งพลาสติกน้ำหนัก 7.5 กรัม นั่นหมายความว่า ชาวญี่ปุ่นใช้ถุงพลาสติกทั้งหมดราวปีละ 50,000 ล้านใบ หรือคนละ 420 ใบต่อปี

คิดง่ายๆ ชาวญี่ปุ่นถือถุงพลาสติกวันละใบ

 

นํ้ามันดิบที่นำมาใช้เป็นพลังงานในกระบวนการผลิตถุงช้อปปิ้งพลาสติก 1 ใบ มีปริมาณ 14 มิลลิลิตร หรือเทียบเท่าน้ำหนึ่งแก้วช็อต

ถุงพลาสติกและสินค้าพลาสติกชนิดอื่นๆ กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเพราะย่อยสลายได้ยาก ยิ่งถ้าหลุดเข้าไปสู่ทะเล แม่น้ำลำคลอง จะทำลายระบบนิเวศน์ สัตว์น้ำแทะกิน ถ้าเอาไปเผาทำลาย จะกลายเป็นก๊าซพิษก่อมะเร็ง

ปี 2528 รัฐบาลญี่ปุ่นเห็นปัญหาคุกคามใกล้ตัวจึงผลักดันแผนยุทธศาสตร์ “3R” Reduce (ลดปริมาณการใช้วัสดุ) Reuse (ใช้วัสดุซ้ำ) และ Recycle (แปรรูปวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่อีกครั้ง) ให้มีประสิทธิผลสูงสุด ด้วยการออกกฎหมายรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์และวัสดุห่อหุ้มสินค้า

การใช้ยุทธศาสตร์ 3R ของญี่ปุ่นย่างเข้าสู่ปีที่ 33 แล้ว มีการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวให้ทันสมัยและมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อบังคับผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อและใช้สินค้า ลดปริมาณขยะและเกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

ปี 2540 ญี่ปุ่นปรับปรุงกฎหมายรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์และหีบห่อ ให้ผู้บริโภค โรงงานอุตสาหกรรมและหน่วยงานรัฐบาล ร่วมมือในกระบวนการรีไซเคิล นำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ เน้นเป้าที่ถุงช้อปปิ้งพลาสติก ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระดาษ

สภาท้องถิ่นเขตปกครองพิเศษ “สุหงินามิ” ของกรุงโตเกียว เสนอให้เก็บค่าภาษีถุงช้อปปิ้งพลาสติกกับลูกค้าที่ต้องการถุง ร้อยละ 5 แนวคิดดังกล่าวมีผลทำให้ปริมาณถุงช้อปปิ้งพลาสติกลดลงอย่างฮวบฮาบ

จำนวนลูกค้านำถุงช้อปปิ้งมาจากบ้านเพิ่มขึ้น ร้อยละ 45 เป็นร้อยละ 85 จำนวนการใช้ถุงช้อปปิ้งลดลงร้อยละ 80

ร้านค้าบางแห่งแจกคูปองให้ลูกค้าที่ปฏิเสธรับถุงช้อปปิ้งพลาสติก คูปองนำไปแลกซื้อสินค้าในร้านได้

หลายแห่งแจกถุงช้อปปิ้งประเภท reuse นำมากลับใช้ใหม่อีกครั้ง

 

บริษัทโตโยต้าตั้งอยู่ในจังหวัดไอจิ บุกเบิกทำกิจกรรมลดการใช้ถุงพลาสติกร่วมกับผู้บริหารท้องถิ่นและบรรดาตัวแทนรถยนต์ มีการแจกคูปองมูลค่า 100 เยนสำหรับลูกค้าที่ปฏิเสธรับถุงช้อปปิ้งพลาสติก คูปองนี้เอาไปใช้เป็นตั๋วโดยสารรถเมล์

ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิล ตั้งสมาคมและจับมือผนึกกำลังสร้างกระแสรณรงค์รีไซเคิล เช่น สมาคมกระป๋องโลหะเพื่อรีไซเคิล สภารีไซคลิ่งขวด PET (Polyethylene terephthalate) สภารีไซคลิ่งขวดแก้ว สภารีไซคลิ่งกล่องกระดาษลูกฟูก ฯลฯ

แต่ละสมาคม ร่วมกำหนดเป้าหมายนำขยะรีไซเคิลกลับไปใช้ใหม่ อย่างสภารีไซคลิ่งขวด PET ทำแผนลดสัดส่วนน้ำหนักขวดให้ได้มากกว่าร้อยละ 3 ในระหว่างปี 2549-2553 เก็บขยะขวดพลาสติกชนิดนี้ให้ได้มากกว่าร้อยละ 75

เป้าหมายที่สอง ระหว่างปี 2554-2558 ลดน้ำหนักขวดพลาสติกให้ได้มากกว่าร้อยละ 10 เก็บขวดพลาสติกมารีไซเคิลให้ได้มากกว่าร้อยละ 85

ส่วนผู้ผลิตขวดพลาสติก ร่วมกันคิดออกแบบขวดให้มีน้ำหนักเบาแต่ทนทานและนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลสะดวกรวดเร็ว ใช้วัตถุดิบคือเม็ดพลาสติกน้อยลง เป็นพลาสติกชนิดใส ไม่ใส่สี ป้ายฉลากที่ติดมากับขวดใช้มือแกะออกได้ง่าย

บริษัทคิริน ผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ของญี่ปุ่น คิดค้นขวดพลาสติกที่มีน้ำหนักเบาลง 21 กรัมในปี 2548 และลดอีก 4 กรัมในปี 2553 นำไปสู่การคว้ารางวัลชนะเลิศขององค์การบรรจุภัณฑ์โลก (World Packaging Organization)

นอกจากนี้แล้ว กลุ่มรีไซเคิลขวด PET ยังนำขยะพลาสติกมาวิจัยผลิตเป็นสินค้าใหม่ เช่น ดึงไฟเบอร์มาเป็นวัตถุดิบทำเป็นใยไฟเบอร์ผลิตเสื้อผ้า แผ่นพลาสติก ถุงมือ ปากกาลูกลื่น ฯลฯ

 

กระบวนการรีไซเคิลของญี่ปุ่นก้าวไกลมาก ถังขยะในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่นมีจำแนกขยะแต่ละชนิด บางแห่งมีถึง 12 ชนิด อาทิ ถังขยะใส่กระดาษ ลังนม หนังสือพิมพ์ กระป๋องอะลูมิเนียม ขวดพลาสติก PET และพลาสติกชนิดอื่นๆ

ที่เมืองโยโกฮามา แบ่งถังขยะออกมา 10 ชนิด ให้ชาวเมืองแยกขยะใส่ดังนี้

1.ขยะที่นำไปเผาได้ 2.ก้อนแบตเตอรี่ 3.กระป๋องชนิดพ่น 4.ขยะห้ามเผา 5.กล่องลังพลาสติก 6.กระป๋องอะลูมิเนียม ขวดพลาสติก PET 7.ชิ้นส่วนโลหะขนาดเล็ก 8.กระดาษรีไซเคิล (หนังสือพิมพ์ ลังนม ฯลฯ) 9.เสื้อผ้าใช้แล้ว 10.ขยะชิ้นใหญ่

เมื่อปี 2553 ญี่ปุ่นเก็บขยะกระดาษจากชุมชนได้ร้อยละ 78.3 และนำไปรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ได้อีกร้อยละ 62.5 เป็นสถิติสูงสุดของโลก

ส่วนการเก็บขยะที่เป็นผลิตภัณฑ์ใช้ในครัวเรือน ทั้งแก้ว กระดาษนำไปใช้ใหม่ (reuse) มีสัดส่วนร้อยละ 50

“ทิม ฮอร์นยาค” เขียนลงคอลัมน์ประจำในหนังสือพิมพ์เดอะ เจแปนไทมส์ เรื่อง “พลาสติกแฟนตาสติก”ว่า ทุกๆ สัปดาห์รถขยะเข้ามาเก็บในชุมชน ชาวญี่ปุ่นรู้สึกเสียหน้ามาก ถ้าเห็นคนเก็บขยะต้องมาคัดแยกขยะอีกทีเนื่องจากใส่ขยะผิดถัง

กฎหมายญี่ปุ่นที่บังคับใช้อย่างเข้มข้น คนทิ้งขยะ คนเก็บขยะมีความรู้ในการเก็บคัดแยกขยะแต่ละชนิด ระบบการจัดการรีไซเคิลที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเช่นนี้อีกกี่ปีจะเกิดขึ้นในประเทศไทย?