วิกฤติศตวรรษที่21 : สหรัฐที่ไม่เหมือนเดิม – การสูญเสียความเป็นผู้นำ

โลกหลังอเมริกา : การเคลื่อนย้ายอำนาจโลก (13)

มาถึงขณะนี้ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ เป็นที่เห็นชัดว่าสหรัฐได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่เหมือนสหรัฐเดิมที่เป็นอภิมหาอำนาจผู้จัดระเบียบโลกที่ใครๆ ต้องเกรงใจ

เป็นต้นว่า สหรัฐเคยเป็นลูกค้ารายใหญ่สุดของโลก เป็นแอ่งรับสินค้าอุปโภคของประเทศผู้ส่งออกทั่วโลก มีจีน ญี่ปุ่น เยอรมนี เม็กซิโก เป็นต้น

แต่อีกต่อไปสหรัฐไม่สามารถทนต่อการขาดดุลการค้ามหาศาลต่อเนื่อง และฐานอุตสาหกรรมที่อ่อนแอลงเรื่อยๆ ได้ หันมาไล่เบี้ยกับประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐ (ไทยที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐแต่ละปีอยู่ไม่น้อย ก็ควรสนใจเตรียมพร้อมไว้ด้วย)

การไล่เบี้ยนี้ทำมานานแล้วตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีบุชผู้ลูก และมาทำอย่างครึกโครมในสมัยทรัมป์

โดยเฉพาะการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม ที่กระเทือนถึงประเทศทั่วโลกทั้งที่เป็นพันธมิตรและอริกับสหรัฐ

วิจารณ์กันว่าเป็นการลงมือทำสงครามเศรษฐกิจ-การค้าครั้งใหญ่ คล้ายกับเกิดขึ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สอง

แต่เรื่องยังไม่ถลำไปเร็วเช่นนั้น เนื่องจากกลุ่มทุนโลกมีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันในกระบวนโลกาภิวัตน์ยิ่งกว่าในครั้งก่อนมาก คงจะได้หาทางประคับประคองไม่ให้สถานการณ์บานปลายจนควบคุมไม่ได้

กระนั้นมันก็ได้เผยให้เห็นรอยร้าวใหญ่ของโลกาภิวัตน์

ที่เกี่ยวเนื่องกัน สหรัฐได้ทำสนธิสัญญาสร้างเขตการค้าระหว่างประเทศที่ใหญ่มาก คือนาฟต้า (ระหว่างสหรัฐ แคนาดา และเม็กซิโก) แต่ไม่อีกต่อไป ประธานาธิบดีทรัมป์สั่งให้ทบทวนใหม่ โดยเห็นว่าความตกลงนี้ทำให้สหรัฐเสียเปรียบมากเกินไป และยังดำเนินการสร้างกำแพงถาวรควบคุมพรมแดนสหรัฐ-เม็กซิโก

นอกจากนี้ สหรัฐที่ได้ลงแรงเคลื่อนไหวอยู่หลายปีจนกระทั่งมีการลงนามในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกซึ่งเป็นการสร้างเขตการค้าเสรีขนาดมหึมาของโลกในสมัย ปธน.โอบามา

แต่แล้ว ปธน.ทรัมป์ ก็บอกเลิก โดยเห็นว่าเป็นการเปิดช่องให้ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกส่งสินค้าไปขายในสหรัฐมากขึ้น

และการทำสัญญากับแต่ละประเทศน่าจะดีสำหรับสหรัฐมากกว่า

เพราะสร้างข้อตกลงเป็นการเฉพาะที่ทำให้สหรัฐอยู่ในฐานะได้เปรียบ

ไม่ว่าจะมีเหตุผลอย่างไร ชาวโลกเห็นว่าสหรัฐได้ละทิ้งลัทธิเสรีนิยมใหม่ สนับสนุนการค้าเสรีให้ขยายไปทั่วโลก หันมาปฏิบัตินโยบายกีดกันทางการค้าและชาตินิยมทางเศรษฐกิจแทน

11 ประเทศที่ร่วมลงนามในความตกลงนี้ เห็นกันว่าควรจะเดินหน้าความตกลงดังกล่าวต่อไปโดยไม่มีสหรัฐ ได้สร้างกรอบความร่วมมือใหม่ที่ยืดหยุ่นกว่าเดิม ในชื่อว่า “ข้อตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อความเป็นหุ้นส่วนข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก” (มีพิธีลงนามในต้นเดือนมีนาคม 2018)

สิ่งไม่เหมือนเดิมที่สังเกตเห็นได้ง่ายอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ เงินดอลลาร์ที่เป็นเสาค้ำหลักสำหรับการครองความเป็นเจ้าของสหรัฐ ได้ค่อยๆ อ่อนตัวลงอย่างเป็นธรรมชาติ จากสัดส่วนจีดีพีสหรัฐต่อจีดีพีโลกที่ลดลง และการแข่งขันจากเงินสกุลยูโรและเงินเยนของญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังเกิดจากความพยายามของประเทศตลาดเกิดใหม่ต่างๆ โดยเฉพาะจากประเทศที่ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

มีประเทศในตะวันออกกลางและรัสเซียเป็นต้น ที่จะใช้เงินสกุลอื่นในการค้าน้ำมันบ้าง มีผู้นำเด่นได้แก่ประธานาธิบดีปูตินแห่งรัสเซีย ผู้ประกาศโจมตีการใช้เงินดอลลาร์ของสหรัฐในการเข้าแทรกแซงประเทศอื่น และครองความเป็นใหญ่

ที่สำคัญกว่านั้นคือจีนก็มีความเห็นไปในทำนองนั้น และดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนเพื่อให้เงินหยวนของตนมีบทบาทในการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น และกลายเป็นการแข่งขันที่ดุเดือด เพราะว่าเศรษฐกิจของจีนยังคงขยายตัวในอัตราสูงกว่าของสหรัฐและตะวันตกหลายเท่าตัว

และขณะที่สหรัฐแสดงตัวชัดเจนขึ้นว่าจะใช้ลัทธิปกป้องการค้า จีนก็เตรียมทำสงครามเศรษฐกิจ-การค้ากับสหรัฐอย่างเต็มที่

A man holds a sign as he takes part in a protest against Republican presidential front-runner Donald Trump in New York on March 19,2016. / AFP / KENA BETANCUR

วิกฤติภาพลักษณ์และความขัดแย้งในสหรัฐเข้าสู่ขั้นสุกงอม

ความไม่เหมือนเดิมของสหรัฐที่ซับซ้อนกว่านั้นได้แก่ วิกฤติทางภาพลักษณ์ สหรัฐได้ทำให้ตนเองและประเทศอื่นเชื่อว่าสหรัฐเป็นประเทศพิเศษไม่เหมือนใคร เป็นประทีปแห่งความมีเสรีของโลก ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และโอกาสในการสร้างตัว

แต่มันไม่ใช่อย่างที่กล่าวอีกต่อไป

มีการศึกษาพบว่าในหลายสิบปีมานี้ กฎหมายที่ออกโดยสภาคองเกรสเอื้อประโยชน์ต่อบรรดาเศรษฐีมากกว่าสาธารณชน และนับวันช่องว่างระหว่างมหาเศรษฐีกับชาวอเมริกันทั่วไปก็ยิ่งขยายห่าง

การผูกขาดคืบเข้าไปครอบงำในทุกกิจกรรมเศรษฐกิจ การเปลี่ยนฐานะทางสังคมตีบตัน ที่สร้างตัวได้จนสามารถไต่ขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางพากันล้มละลาย โดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008

สหรัฐไม่ได้เป็นประเทศพิเศษและขาดไม่ได้อีกต่อไป

ไม่ได้เป็นประทีปแห่งความมีเสรีของโลก แต่ผู้คนกำลังจับตาและหวั่นเกรงกันว่า ลัทธิฟาสซิสต์ใหม่กำลังเติบใหญ่ในสหรัฐ

เพราะเห็นได้ชัดว่าหลังจากทรัมป์ขึ้นปกครองแล้ว มีการฟื้นกระแสชาตินิยม ต่อต้านคนต่างด้าวและผู้อพยพมีชาวมุสลิม เป็นต้น รุนแรงขึ้นเป็นอันมาก

เป็นความพยายามในการฟื้นอำนาจสหรัฐขึ้นมาครอบงำโลกอีกครั้ง

นอกจากนี้ ยังมีการไม่สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม มีเรื่องโลกร้อน เป็นต้น (ดูบทความของ John Bellamy Foster ชื่อ Neo-fascism in the White House ใน monthlyreview.org เมษายน 2017)

วิกฤติภาพลักษณ์นี้กล่าวในอีกด้านหนึ่งก็คือวิกฤติรอบด้านของสหรัฐนั่นเอง

วิกฤติรอบด้านทั้งเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร สังคมและวัฒนธรรมนี้ มีนักสังคมวิทยาและนักคณิตศาสตร์ชาวนอร์เวย์ โยฮัน กัลตุง (เกิด 1930 ยังเคลื่อนไหวให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอยู่) ชี้ว่าเป็นเหตุแห่งความเสื่อมและความล่มสลายของจักรวรรดิสหรัฐในเวลาอันไม่นานนักคือปี 2020

โดยสหรัฐจะเคลื่อนสู่ระบบปกครองแบบเผด็จการก่อนการล่มสลาย

ที่งานของกัลตุงน่าสนใจ เนื่องจากเขาได้ชื่อว่าทำนายการล่มสลายของสหภาพโซเวียตได้ถูกต้อง

กัลตุงชี้ว่า สหรัฐได้ก้าวสู่การเป็นจักรวรรดินิยมหนักขึ้นเรื่อยๆ

ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ในห้วงเวลา 111 ปี ระหว่าง 1890-2001 สหรัฐมีปฏิบัติการทางทหารถึง 133 ครั้ง เฉลี่ยจนถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ปีละ 1.5 ครั้ง และเพิ่มเป็นเฉลี่ยปีละ 1.29 ครั้งในช่วงสงครามเย็น และเพิ่มขึ้นอีกเป็นเฉลี่ยปีละ 2.0 ครั้ง หลังสงครามเย็น (นับแต่ปลายปี 1989)

เป็นไปตามข้อสมมุติฐานที่ว่า สงครามทำให้จักรวรรดิขยายตัว ช่วยรักษาเอกสิทธิ์ ปราบการก่อกบฏและการปฏิวัติที่มากขึ้น ในการก่อศึกไม่หยุดหย่อน สหรัฐก็ได้สร้างความขัดแย้งอย่างทั่วด้านขึ้น

ความขัดแย้งทั่วด้านของสหรัฐมีอยู่ 14 ประการด้วยกัน (สหภาพโซเวียตมีปัญหาความขัดแย้งใหญ่ 5 ประการ ที่นำมาสู่การล่มสลาย)

ประกอบด้วยความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ 3 ประการได้แก่

ก) ความขัดแย้งระหว่างการเติบโต กับการกระจายรายได้ จนเกิดการผลิตล้นเกินความต้องการ เนื่องจากมีคน 1.4 พันล้านคนดำเนินชีวิตด้วยรายได้ต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ต่อวัน

ข) ความขัดแย้งระหว่างภาคการผลิตที่เป็นจริงกับภาคการเงินเกิดฟองสบู่ในหุ้นและพันธบัตร นำมาสู่การทรุดตัวทางเศรษฐกิจ การไม่มีงานทำ

ค) ความขัดแย้งระหว่างการผลิต การกระจายผลผลิตและธรรมชาติ เกิดวิกฤติระบบนิเวศ การเสื่อมโทรมสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน

ความขัดแย้งทางทหารมีสี่ประการได้แก่

ก) ระหว่างลัทธิก่อการร้ายโดยรัฐบาลสหรัฐกับลัทธิก่อการร้ายอื่น

ข) ระหว่างสหรัฐกับพันธมิตร โดยสหรัฐประกาศหมดความอดทนแล้ว (ยกเว้นบางประเทศเช่นอังกฤษและญี่ปุ่น)

ค) ความขัดแย้งในการครองความเป็นใหญ่ในยูเรเซียระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย อินเดีย จีน

ง) ความขัดแย้งระหว่างนาโต้ ที่นำโดยสหรัฐกับกองกำลังที่สหภาพยุโรปสร้างขึ้น

ความขัดแย้งทางการเมืองมี 2 ประการคือ

ก) ระหว่างสหรัฐที่ถือว่าตนเป็นประเทศพิเศษกับสหประชาชาติ โดยสหประชาชาติเริ่มโต้กลับ

ข) ระหว่างสหรัฐกับสหภาพยุโรป

ความขัดแย้งทางวัฒนธรรมสามประการได้แก่

ก) ความขัดแย้งระหว่างศาสนายูดาห์-คริสต์ ของสหรัฐกับศาสนาอิสลาม (มีประชากรราวร้อยละ 25 ของโลก)

ข) ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับอารยธรรมเก่าแก่ เช่นของจีน และอินเดีย เมโสโปเตเมีย แอชเทค/อินคา/มายา

ค) ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับบางประเทศใหญ่ในยุโรป ได้แก่ ฝรั่งเศสและเยอรมนี

ความขัดแย้งทางสังคมสองประการได้แก่

ก) ความขัดแย้งระหว่างบรรษัทชนชั้นนำกับคนงานที่ว่างงาน หรือทำงานตามสัญญา

ข) ความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่

ความขัดแย้งดังกล่าวบ่มตัวเองถึงขั้นสุกงอม (ประมาณปี 2000) นั่นคือ มีความเข้มข้นรุนแรง และผสานพลังเข้าด้วยกัน จนยากที่จะแก้ไขได้ทันท่วงที ซึ่งจะนำมาสู่การล่มสลายของจักรวรรดิสหรัฐในเวลาอันใกล้

(ดูบทความของ Johan Galthung ชื่อ On the Coming Decline and Fall of the US Empire ใน oldsite.transnational.org 28.01.2014 ผู้นี้ เชื่อในเรื่องสันติภาพ เห็นว่าหากสหรัฐเปลี่ยนนโยบายเป็นด้านสันติภาพ เรื่องก็จะไม่ได้เลวร้ายอะไรมาก)

การสูญเสียความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีของสหรัฐ

สิ่งไม่เหมือนเดิมของสหรัฐที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งได้แก่ การสูญเสียความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีของโลก

นักวิชาการด้านเทคโนโลยีและความมั่นคงของสหรัฐบางคนชี้ว่า “ระบบนวัตกรรมแห่งชาติ” ของสหรัฐ มีปัญหาหลายประการ

ที่สำคัญคือสาธารณชนเกิดความไม่ไว้วางใจต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

มีเรื่องจีเอ็มโอ “ข้อมูลใหญ่” และหุ่นยนต์อัตโนมัติ เป็นต้น ตลอดจนสถาบันทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ที่เป็นหลักในการสร้างนวัตกรรม โดยเห็นว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไปช่วยเพียงเศรษฐีร้อยละ 1 เกิด “ทุนนิยมพวกพ้อง” (Crony Capitalism) ที่ภาครัฐช่วยเหลืออุตสาหกรรมภาคเอกชน เหล่านี้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อความพยายามในการรักษาความเข้มแข็งในการสร้างนวัตกรรมและความสามารถในการแข่งขันในการค้าระหว่างประเทศ

ทางแก้มีสามประการได้แก่

ก) การสร้างสิ่งแวดล้อมความร่วมมือทางธุรกิจ

ข) การสนับสนุนสิ่งแวดล้อมทาง การค้า ภาษีและกฎระเบียบ

ค) สร้างสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนการวิจัย การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และไหลเวียนของ ความคิด (บทความของ Robert D. Atkinson ชื่อ The Decline of America”s National Innovation System ใน republic3-0.com กรกฎาคม 2014)

แต่ดูเหมือนว่าประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการทำสงครามการค้ามากกว่า เขากล่าวว่า “สงครามการค้าเป็นของดี และง่ายที่จะเอาชนะ”

อนึ่ง จากการจัดดัชนีนวัตกรรมชาติต่างๆ ปี 2018 รวม 50 ชาติของบลูมเบิร์กพบว่า สหรัฐที่เคยติดอันดับนวัตกรรมสูงอยู่ใน 10 อันดับแรกต่อเนื่องกันหลายปี ในปี 2018 หล่นไปอยู่ที่อันดับ 11 (จากอันดับ 9)

ประเทศที่มีดัชนีนวัตกรรมสูงสุด 10 อันดับแรกของโลกได้แก่ เกาหลีใต้ สวีเดน สิงคโปร์ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ฟินแลนด์ เดนมาร์ก ฝรั่งเศส และอิสราเอล (จีนไล่ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 19 จากอันดับ 21 ไทยอยู่ที่อันดับ 45 หล่นจากอันดับที่ 44) (ดูบทความของ Michelle Jamrisko และเพื่อน ชื่อ The U.S. Drops Out of the Top 10 in Innovation Ranking ใน Bloomberg L.P. 22.01.2018)

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการย้ายศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกของจีนกับอภิโครงการหนึ่งแถบหนึ่งทาง