#ทีมดูสด อีกความหวังของช่อง 3

แต่ไหนแต่ไร รายได้ของสถานีโทรทัศน์หลักๆ นั้นจะมาจากละครหลังข่าว อันเป็นรายการยอดนิยม มีผู้ชมจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้ค่าโฆษณาในช่วงเวลาดังกล่าวสูงลิบ

ยิ่งช่วงก่อนจะมีทีวีดิจิตอล ที่มีโทรทัศน์อยู่เพียงไม่กี่ช่อง รายได้ในส่วนนี้ก็ทำรายได้ไหลเข้าช่องดังกล่าวไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่

ต่างจากในปัจจุบันที่มีช่องเยอะ คนทำละครก็แยะ แต่จำนวนคนดูเท่าเดิม แถมเพิ่มเติมคือคนเหล่านั้นมีช่องทางในการเลือกเสพมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีซึ่งทำให้ใครๆ ก็สามารถ “ดูย้อนหลัง” ตามเวลาที่ตัวเองสะดวกได้ทั้งทางเว็บไซต์ที่ถูกต้องของแต่ละสถานี เว็บไซต์ที่ใช้ความสามารถในการ “ดูด” มาอย่างไม่ถูกต้องในแง่ของกฎหมายลิขสิทธิ์

นอกจากนี้ก็ยังมีทางยูทูบ รวมถึงทางไลน์ทีวี ซึ่งอย่างหลังนี้ก็ในกรณีที่มีการตกลงกันทั้ง 2 ฝ่าย

ง่ายและสะดวกขึ้นเยอะ – นี่คือในฝั่งของผู้ชม

หากในฝั่งของผู้ผลิตนั้น ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของสถานีหรือผู้จัดละคร แม้จะแฮปปี้ที่ผลงานของพวกเขาเข้าถึงกลุ่มคนได้มากขึ้น เพราะหมดปัญหาแบบที่เคยเจอก่อนหน้า คือ ถ้าใครพลาดจากหน้าจอแล้ว ก็พลาดเลย แต่ในอีกทางก็กลับต้องเผชิญปัญหาเรื่องตัวเลขผู้ชมผ่านจอโทรทัศน์ที่วูบหาย

เพราะนอกจากส่วนหนึ่งอาจจะไปถูกตาต้องใจกับละครช่องใหม่ๆ ที่ล้วนแต่ทุ่มเทสร้างงาน แถมออกอากาศในช่วงเวลาชนกันแล้ว อีกส่วนหนึ่งของผู้ชมยังนิยมชมย้อนหลังดังว่า

เรตติ้งคนดูละครส่วนใหญ่ระยะหลังจึงมีกันตั้งแต่ระดับ 0.XX ขึ้นไป อย่างไรก็ดี การละครจะทำเรตติ้งเป็นเลข 2 หลักอย่างในอดีตนั้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ส่งผลกระทบต่อโฆษณาไปตามระเบียบ

“ความจริงคนดูของเราไม่ได้ลดลงเลยนะ” คนทำละครหลายรายยืนยัน

ทั้งยังบอกด้วยว่า ถ้านับ “คนดูทั้งหมดจริงๆ” คือนับจากทั้งทางจอโทรทัศน์ รวมกับคนดูผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เผลอๆ อาจจะเยอะกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ

น่าเสียดายก็แต่ เอเยนซี่โฆษณายังนับ “อายบอล” หรือจำนวนผู้ชมผ่านจอโทรทัศน์เท่านั้น การจะขายโฆษณาช่วงเวลาละครราคาเดิมจึงมีปัญหา

และแม้จะมีข่าวดีว่า ในไม่ช้าอาจจะมี “การนับรวม” แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ตอนนี้

ขณะที่ความเป็นจริงที่เจอคือ รายได้จากโฆษณาในละครลดลง ส่วนรายได้จากสื่อออนไลน์ที่นำละครไปลงอย่างถูกต้องตามลิขสิทธิ์นั้น ก็ไม่ได้มากมายอย่างที่หวัง

ของช่อง 7 นั้นอาจจะได้เปรียบกว่าช่องอื่นๆ อยู่หน่อย ตรงที่สามารถบริหารจัดการกับเว็บละเมิดลิขสิทธิ์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จนทำให้คนที่ต้องการดูละครย้อนหลังของช่องต้องติดตามทางเว็บ www.bugaboo.tv ของสถานีเท่านั้น การตั้งราคาโฆษณาในส่วนนี้จึงทำได้อย่างเต็มที่

ขณะในฝั่งช่อง 3 ซึ่งช่วงแรกๆ อาจจะยังไม่เอาจริงกับเรื่องนี้เท่าคอนเทนต์ละครของสถานีจึงมีในหลายเว็บ และแม้จะหันมาลุยทำ mello.me ของตัวเองเพื่อเอาใจคนดูย้อนหลังอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งสื่อออนไลน์อื่นๆ เพื่อให้การเข้าถึงผู้ชมเป็นไปโดยกว้าง

ดังนั้น นอกจากการนำละครไปลงในช่องทางของยูทูบแล้ว ล่าสุดยังจับมือกับ Line TV นำละครไปให้ดูย้อนหลังอีกช่องทางหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ช่อง 3 มีกำหนดเวลาในการแพร่ภาพตามสื่อออนไลน์ต่างๆ เหล่านั้น นั่นคือหลังละครออกอากาศจบทางสถานีราวสี่ทุ่มเศษ ผู้ชมจะต้องรอไปจนถึงเที่ยงคืน ถึงจะสามารถดูย้อนหลังทาง mello.me ได้ ส่วนถ้าจะดูทาง Line TV หรือยูทูบก็ต้องรอไปอีก 2 วัน

ยกเว้นแต่แฟนๆ ที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งยังไงก็วัดเรตติ้งในส่วนนี้เพื่อผลทางโฆษณาไม่ได้ ที่จะสามารถดูผ่าน www.youtube.com/Ch3thailand ได้ในเวลาเที่ยงคืนหลังการออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์

ระหว่างที่รอนั้น คนอยากดูก็ต้องทนอ่านความเห็นของผู้ที่ดูแล้วมาเมนต์ผ่านเว็บไซต์พันทิปไป

ไม่เพียงแค่นั้น เพราะระยะหลังๆ ในหมู่ผู้จัดละครก็ดูเหมือนจะพยายามจุดกระแส “ดูสด” ตั้งแฮชแท็กชวนแฟนานุแฟนผ่านอินสตาแกรมรัวๆ ทั้ง #ทีมดูสด #ดูสดงดเชื่อเบื่อย้อนหลัง #ดูสดฟินกว่า #ดูสดฟินสุด ฯลฯ ได้ผลมากน้อยแค่ไหนก็ไม่รู้ละ รู้แต่ว่าต้องพยายาม

อย่างไรก็ตาม คนทำรายการรายหนึ่ง ซึ่งติดตามข้อมูลเรื่องกลุ่มผู้ชม สถานีโทรทัศน์ รวมถึงสื่อออนไลน์มานาน มองว่าความพยายามที่จะดึงคนให้มาเฝ้าหน้าจอ รอเป็นทีมดูสดนั้นน่าจะยาก เพราะคนดูโทรทัศน์กับคนดูออนไลน์ ไม่ใช่คนเดียวกัน

“คนที่ดูทีวีก็ดูทีวี คนที่อยากดูย้อนหลังก็ต้องดูย้อนหลัง ประเภทเดี๋ยวต้องกลับบ้านแล้ว กลับบ้านไปดูละคร คนเหล่านั้นก็ไม่เหมือนกัน”

ในความเห็นของเขา สิ่งที่ควรทำจึงน่าจะเป็นการจุดกระแสให้รู้ว่ามีของดีที่น่าดู ส่วนใครจะไปดูสดหรือดูย้อนหลังก็ตามแต่ใจ

“การจะเปลี่ยนให้คนที่ดูมือถือแล้วกลับไปดูทีวี พูดตรงๆ ว่าไม่ใช่หน้าที่เรา และเราทำไม่ได้ เราเป็นแค่หนึ่งคอนเทนต์ในร้อยล้านคอนเทนต์น่ะ ถ้าตั้งเป้าหมายว่าเราจะโปรโมตเพื่อให้คนไม่ดูออนไลน์ แล้วไปดูทีวี นั่งเฝ้าจอตอนนี้ๆ ทำไปจนตาย ก็ไม่ได้หรอก”

สู้ใช้วิธีทำคลิปโปรโมตให้ดีๆ ตัดส่วนที่เป็นไฮไลต์ เพื่อหวังให้คนส่ง แล้วคนที่เห็นคลิปเหล่านั้น จะตามมาดูย้อนหลัง ตรงไหนก็ได้ ยังน่าจะดีกว่า

แต่ในฐานะผู้จัดละคร ตู่-ปิยวดี มาลีนนท์ แห่งค่ายเวฟ มีเดีย มองอีกด้าน

โดยเธอว่า “ต้องยอมรับว่าช่อง 3 เป็นธุรกิจทีวี ยังไงเราก็ต้องทำทีวี แต่จะทำยังไงให้คนดูทีวี นั่นคือสิ่งที่เราต้องคิด”

“ถามว่าเราหลีกเลี่ยงออนไลน์ไหม ไม่นะคะ เราก็ไปจับมือไลน์ทีวี หรือมีเมลโล่ เราก็ไม่ได้ปิดกั้น”

แต่กระนั้นก็มั่นใจว่า คนยังน่าจะชอบดูทีวี

“เพราะดูชัดกว่า ดูง่ายกว่า ถนัดกว่าในมือถือ หรืออย่างกลุ่มคนสูงอายุเขาก็ยังดูทีวี”

แต่ “คนจะดูสดหรือไม่ เราคงบังคับเขาไม่ได้” อันนี้ทุกคนที่ทำงานอยู่เข้าใจและยอมรับ

สิ่งที่พอจะทำได้ และผู้จัดละครช่อง 3 ทุกคนตั้งใจจะทำ คือการทำงานให้ออกมาดี และทำให้คนรู้สึกว่าต้องดูก่อน ดูพร้อมๆ กับคนอื่น จะได้ไม่ตกกระแส และรู้เรื่องตอนใครๆ เขาเม้าธ์

“สำคัญที่สุดคือคอนเทนต์ค่ะ” เธอว่า

“ทำยังไงให้คอนเทนต์เป็นแบบคนต้องมาดูเรา เพราะอย่างละครถ้าคนติดจริงๆ ก็ไม่อยากดูย้อนหลังนะ สิ่งที่เราทำได้คือต้องทำให้มันสนุก แล้วคนรอดู อยากดูสดเดี๋ยวนั้น”

ทั้งนี้ ที่ต้องพยายามทุกทาง เธอก็ว่าเป็นเพราะต้นทุนในการทำละครนั้นสูงมาก ขณะเดียวกันต้นทุนของการทำสถานีโทรทัศน์ก็สูงมากเช่นกัน

ดังนั้น หากลงทุน “แบบสถานี” แต่ได้ค่าโฆษณา “แบบออนไลน์” ที่ราคาต่างกันมากมาย ยังไงก็ไม่คุ้ม

นั่นเองจึงเป็นเหตุผลที่อยากสร้าง “ทีมดูสด” ดังว่า