สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ล่องสาละวิน เยือน ร.ร. I see U แกร่งก่อน ถึงจะเก่ง (13)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

การประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นอกสถานที่ ณ ห้องประชุมโรงเรียนสังวาลย์วิทยา อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ปิดท้ายลงด้วยคำยืนยันจากบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ จะพยายามนำข้อคิดของทุกฝ่ายไปผลักดันให้เป็นจริงให้ได้มากที่สุด

โดยเฉพาะการส่งเสริมสวัสดิภาพ สวัสดิการครู และบุคลากร เพื่อสร้างแรงจูงใจ ขวัญกำลังใจ รวมถึงการแก้ปัญหาโรงเรียนห่างไกลด้วยโรงพักนอน เพื่อเป็นแหล่งฝึกทักษะชีวิตให้เด็กต่อไปในอนาคต

“ต้องแกร่งก่อนถึงจะเก่ง” เขาย้ำ

และว่า การที่เด็กได้อยู่ร่วมกัน ทำให้รู้จักการช่วยเหลือตัวเอง ขณะที่โรงเรียนพยายามให้ทักษะอาชีพ ทักษะวิชาการ ซึ่งจะพัฒนาตามมาเอง”

“ระบบไอซีที อินเตอร์เน็ตเป็นเส้นทางนำสู่โลกกว้าง เหมือนกับเอาโลกภายนอกมาสู่โรงเรียน ทำให้คุณภาพเท่าเทียม ทั่วถึง เด็กได้เรียนรู้ ส่วนงบฯ อุดหนุนรายหัว งบฯ พื้นฐาน งบฯ สาธารณูปโภค งบฯ พัฒนาการเรียนการสอน ก็ต้องผลักดันกันต่อไป”

ก่อนเวทีจะปิดลงอย่างเป็นทางการ ประสิทธิ์ จันทร์ดา อดีตผู้อำนวยการการประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน ผู้อยู่เบื้องหลังคาราวานการศึกษา สพฐ. ขอไมค์บ้าง เสนอความเห็นจากประสบการณ์กว่า 30 ปี

“รายการ กพฐ. เยือนแม่ฮ่องสอนครั้งนี้เป็นความพยายามของที่นี่ เพื่อบอกกล่าวต่อสังคมว่า 30 ปีที่แล้วเราขาดผู้บริหารโรงเรียน ผ่านไปทศวรรษหนึ่งแล้วยังแก้ไม่ได้เพราะติดกับกฎ ก.ค.ศ. โรงเรียน 162 โรง มีผู้อำนวยการ 120 โรง ไม่มี 42 โรง มีตำแหน่งว่างรอการสรรหา 19 ตำแหน่ง และไม่มีตำแหน่งว่าง 23 ตำแหน่ง ร้อยละ 25.93 โรงเรียนในสังกัดไม่มี ผอ. ทำให้เกิดปัญหาการบริหารจัดการศึกษา

“โรงเรียนขนาดเล็กมีจำนวนนักเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ ส่งผลให้ไม่ได้รับการจัดสรรตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน 23 โรงเรียน”

สาเหตุที่ขาดผู้อำนวยการ

หนึ่ง เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่หลักเกณฑ์ไม่เอื้อให้มีตำแหน่งผู้อำนวยการ

สอง ผู้ที่ผ่านการสอบคัดเลือกมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับตำแหน่งว่างที่มีอยู่ ตำแหน่งว่างส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่ลำบาก อัตราความต้องการย้ายเข้าของ ผอ. มีน้อย

ขาดแคลนข้าราชการครู 36 ตำแหน่ง หลักเกณฑ์ ก.ค.ศ. เอื้อให้มีการย้ายโดยผลการสอบแข่งขัน เมื่อไปสอบแข่งขันในสังกัดอื่นได้ ไม่อยากอยู่ในพื้นที่ยากลำบากจะขอย้าย

ฉะนั้น ควรส่งเสริมให้บุคลากรในพื้นที่ไปศึกษาต่อและกลับมาดำรงตำแหน่งครูที่โรงเรียนเดิมเพื่อแก้ปัญหาการย้าย สละสิทธิ์เมื่อสอบบรรจุได้

 

“บ้านเมืองพัฒนาไปไกล แต่กลับมาย่ำอยู่กับปัญหาเดิม สภาพเดิมๆ ในอดีต ครูอาจารย์ที่อยู่กันทำงานด้วยความทุ่มเท มีอุดมการณ์ เป็นคนตั้งใจอยู่ คนไม่ตั้งใจอยู่ไปหมดแล้ว เราขาดทั้งครู ขาดผู้บริหารที่ไม่ใช่คนพื้นที่ ใน 1 ทศวรรษ มี ผอ.เขตตัวจริง 7 คน เฉลี่ยคนละ 1 ปี นอกนั้นรักษาการโดยรองผู้อำนวยการ ให้เขารักษาการทำไม คนใหม่มาไม่นานก็ไป ความผูกพันของคนที่ทุ่มเท ถูกมองข้ามไป”

“กฎเกณฑ์อื่นๆ ที่ใช้ในประเทศไทย กับแม่ฮ่องสอนใช้ไม่ได้เลย เพราะจะทำให้ติดขัดไปหมด ระเบียบ ประเมินผล วัดผล ต้องประเมินบูรณาการ ประเมินแบบวิชาการไม่ได้”

“โรงเรียนไม่มีครู เอาภารโรงที่มีความรู้ ประสบการณ์ เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมมาสอนไม่ได้ ถูกหาว่าดูถูกครู เราถูกพันธนาการจากกฎระเบียบเลยแก้ไม่ได้”

“การสอบ สอบ ผอ.เขต ผอ.โรงเรียน ใช้กฎเกณฑ์เดียวกัน พอสอบแล้วก็ไปวิ่งนักการเมือง ทำให้มี ผอ.รายชั่วโมง ออกคำสั่งเช้า บ่ายมีคำสั่งให้ย้ายไปอีกที่ที่ดีกว่า”

“วิทยาฐานะครู มุ่งครูรายวิชา รายสาระ ในขณะที่ความเป็นจริงบางแห่งครูพละสอนทุกสาระ การผลิตครูไม่ตรงกับความต้องการของคนที่นี่ คนขาดวิชาชีพ ครูไม่ครบชั้น ควรคัดคนที่นี่ไปเรียนครูให้กลับมาทำงานที่นี่ ปัญหาเรื่องย้ายก็จะไม่มี ลดลง”

เขาทิ้งท้ายเฉียบไม่แพ้คมปากกา งานพิเศษหลังเกษียณมาหลายปี

 

ขณะที่รายงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ยังบ่งบอกถึงปัญหาอื่นๆ ที่ยังดำรงอยู่

อาทิ การจัดการศึกษาทางไกล มีข้อจำกัดด้านวัสดุ อุปกรณ์ ระบบสัญญาณ มีปัญหาบ่อย ครูและนักเรียนไม่สามารถใช้งานได้ ครูยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับการดูแล ซ่อมแซมอุปกรณ์และระบบสัญญาณ ต้องพึ่งพาช่างจากศูนย์เครือข่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษาศูนย์ละ 2 คนมาช่วย

ปัญหาขาดแคลนอาคารเพราะระเบียบกำหนดว่าต้องมีนักเรียน 61 คนขึ้นไป ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณเพียงพอ

การก่อสร้างต่างๆ ราคาก่อสร้างให้ยึดตามราคากลาง แต่ในพื้นที่สูงไม่สามารถทำได้เนื่องจากความยากลำบากในการขนส่งวัสดุ ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจนไม่สามารถก่อสร้างได้ตามงบฯ ที่ได้รับจัดสรร

สภาพปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ทั้งที่ปรากฏจากคำบอกเล่าและในรายงานของทางการเองเหล่านี้ การเสนอแนวทางแก้ปัญหาล่าสุด คณะอนุกรรมการวิชาการและยกระดับคุณภาพการการจัดศึกษา กพฐ. ที่มี ดร.เบญรักษ์ น้ำฟ้า อดีตรองเลขาธิการ กพฐ. เป็นประธาน นำขึ้นมาเป็นประเด็นหนึ่งของการแก้ปัญหาการศึกษาไทย

คณะนักวิชาการทีมงานชุดนี้ มีใครเป็นใครบ้าง ค่อยว่ากัน

แต่ที่สำคัญน่าสนใจกว่านั้น ข้อค้นพบและข้อคิดเห็นที่เกิดขึ้นภายหลังเดินทางไปดูสภาพปัญหาจริงในพื้นที่ โรงเรียนห่างไกลตามชายขอบ และตามเกาะแก่ง

ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน วันที่ 31 มกราคม 2561 และรายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนล่าสุด ทราบแล้ว เสนอทางออก จำแนกแยกย่อยเป็นรายประเด็น ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ต้องทำอะไร อย่างไร

เย้ายวน เชิญชวนให้นักการศึกษา และผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่ายได้ช่วยกันติดตามผลในทางปฏิบัติต่อไปอย่างใกล้ชิด ตามลำดับ