ในประเทศ : Back to the Future

ในบรรดาเกือบ 70 กลุ่มการเมือง

ที่เข้ายื่นแสดงเจตจำนงจดแจ้งชื่อพรรคต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามข้อบังคับของพระราชบัญญัตติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 มีนาคมเป็นต้นมา

มี 2 กลุ่มการเมืองได้รับการจับตามากที่สุด คือ กลุ่มยื่นจดแจ้งในนาม “พรรคพลังประชารัฐ” กับกลุ่มยื่นจดแจ้งในนาม “พรรคอนาคตใหม่”

กล่าวถึงพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีผู้ร่วมจดแจ้งคือ นายชวน ชูจันทร์ และ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล เหตุที่ถูกจับตามองเนื่องจากมีกระแสข่าวว่าคือพรรค

“ตัวจริง เสียงจริง”

ที่จะมาเป็นฐานทางการเมือง “สืบต่อ” ให้กับ คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านสนามเลือกตั้งที่ยังไม่แน่ว่าจะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หรือไม่

สำหรับพรรคอนาคตใหม่ มีชื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และเพื่อนกลุ่มหนุ่มสาว เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง

ถูกจับตามองในฐานะพรรคคนรุ่นใหม่ ที่กำลังมาแรงโดยเฉพาะในโลกโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์

เมื่อเป็นดังนี้ ระหว่างพรรคพลังประชารัฐ กับพรรคอนาคตใหม่ ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จึงเกิดภาพเปรียบเทียบ

โดยมี “โพล” เข้ามาสอดแทรกช่วยทำให้การเปรียบเทียบมีความชัดเจนและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ระหว่าง “เก่า” กับ “ใหม่” ในหลายแง่มุม

ผลสำรวจ “นิด้าโพล” หัวข้อ “อยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน (ครั้งที่ 1)” จากประชาชน 1,250 หน่วยตัวอย่าง

ยกให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นอันดับ 1 ด้วยคะแนนนิยมมาถึงร้อยละ 38.64

โดยมี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคเพื่อไทย ตามมาห่างๆ เป็นอันดับ 2 ร้อยละ 13.04 ส่วน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นอันดับ 3 ร้อยละ 12.24

ขณะที่อันดับ 4 เป็นชื่อของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ด้วยคะแนนนิยมร้อยละ 6.88

ตรงนี้ต่างหากที่น่าสนใจ

การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดครองอันดับ 1 นิด้าโพล ย่อมไม่ใช่เรื่องแปลก

รวมถึงการที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ยึดครองอันดับ 4 รองจาก พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเช่นกัน

แต่ก็น่าสนใจ

ที่ว่าไม่แปลกก็เพราะ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพิ่งร่วมกับ นายปิยบุตร แสงกนกกุล แถลงเปิดตัวตั้งพรรคอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา

ดังนั้น ในสนามการเมืองไม่ว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล หรือกลุ่มเพื่อนหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคทั้ง 27 คน

จึงล้วนเป็นผู้เล่น “หน้าใหม่” ทั้งสิ้น

ยิ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับบุคคลใน 3 อันดับแรก ก็ยิ่งเน้นให้เห็น “ความใหม่” ของบุคคลอันดับ 4 อย่างชัดเจน

เนื่องจากอันดับ 1 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ซึ่งมีบทบาทโดดเด่นในฐานะผู้นำรัฐบาลและ คสช. มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 3 ปี 10 เดือน

ขณะที่อันดับ 2 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เจ้าของฉายา “ดอกไม้เหล็ก” แจ้งเกิดสนาม กทม. กับพรรคพลังธรรมในการเลือกตั้งปี 2535 ผ่านร้อนผ่านหนาวทางการเมืองมากว่า 25 ปี

ปัจจุบันเป็น 1 ใน “แคนดิเดต” หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่

อันดับ 3 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยิ่งไม่ต้องกล่าวถึง ไม่ว่าในบทบาทหัวหน้าพรรคเก่าแก่ที่สุดในยุทธจักรการเมืองไทย หรือในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี ปี 2551-2554

แล้วอันดับ 4 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มาได้ไง

หากดูจากคะแนนร้อยละ 6.88 ก็ต้องถือว่ายัง “ห่างชั้น” อยู่มาก

หากเทียบกับอันดับ 1 ร้อยละ 38.64 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเห็นถึงความต่างกันถึง 6 เท่าตัว เหมือนเอาระดับ “อนุบาล” ไปเทียบกับ “มหาวิทยาลัย”

แต่ทำไมระดับมหาวิทยาลัย จึงมีความหวาดหวั่นต่อ “เด็กอนุบาล”

ตรงนี้ต่างหากที่น่าสนใจ

แม้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะยึดครองอันดับ 4 ในนิด้าโพล

แต่ก็เป็นอันดับ 4 ที่ “ไม่ธรรมดา”

เนื่องจากเป็นอันดับเหนือกว่าทั้ง นายชวน หลีกภัย อันดับ 5 พล.ต.อ.วิโรจน์ เปาอินทร์ อันดับ 6 นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ อันดับ 7

ทั้งยังเหนือกว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อันดับ 8 ขณะที่อันดับ 9 เป็นของ “คู่หู” ร่วมพรรค นายปิยบุตร แสงกนกกุล ได้ร้อยละ 1.52

และที่ไม่อยากเชื่อแต่ต้องเชื่อ

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผู้นำม็อบ กปปส. และอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กลายเป็นผู้รั้งท้ายอันดับ 10 ด้วยคะแนนร้อยละ 0.72

ถึงจะเป็นการสำรวจอันดับคะแนนโดย “นิด้าโพล” ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในพื้นที่ “เก่า” ในทางการเมือง

ด้านหนึ่ง ยกย่องเชิดชูให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในอันดับ 1 เหนือกว่าใครๆ แต่อีกด้านหนึ่ง ก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงความ “ไม่ธรรมดา” ของอันดับ 4

ยิ่งเมื่อผละจากนิด้าโพล มายัง “ทวิตเตอร์โพล” พื้นที่แสดงความเห็นของคนรุ่นใหม่ผ่านโลกโซเชียลออนไลน์

ก็ยิ่งเห็นถึง “ความแรง” ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรคอนาคตใหม่

เว็บไซต์คมชัดลึก รายงานว่าหลังจากพรรคอนาคตใหม่เปิดตัวออกมาอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางกระแสเป็นพรรคทางเลือกใหม่ให้กับการเมืองไทย

จากการทำโพลผ่าน “ทวิตเตอร์” ภายใต้หัวข้อคำถาม “ถ้าเลือกตั้งวันนี้จะเลือกพรรคการเมืองไหน” ซึ่งมีผู้สนใจเข้ามาร่วมโหวตจำนวน 4,078 คน พบว่า

ส่วนใหญ่ร้อยละ 56 เลือกพรรคอนาคตใหม่

ขณะที่ร้อยละ 14 เลือกพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 9 เลือกพรรคประชาธิปัตย์ อีกร้อยละ 21 ระบุเลือกพรรคอื่นๆ ทั้งนี้ ในรายงานไม่ได้ระบุถึงชื่อพรรคพลังประชารัฐ

พรรคอนาคตใหม่ นำโดย “ธนาธร-ปิยบุตร” กวาดคะแนนนิยมใน “ทวิตเตอร์โพล” ไปถึงร้อยละ 56 ทั้งๆ ที่เพิ่งเป็นข่าวแถลงเปิดตัวเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 มีนาคม

จากอันดับ 4 นิด้าโพล พลิกกลับมาเป็นอันดับ 1 ทวิตเตอร์โพล สะท้อนถึงอะไร

ตรงนี้ต่างหากที่น่าสนใจ

การเปิดตัวลงสนามการเมืองของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นกระแสร้อนแรงในโลกสังคมออนไลน์ ตั้งแต่ยังไม่ทันจดแจ้งชื่อพรรค

ทั้งจากการติดแฮชแท็ก #ช่วยธนาธรตั้งชื่อพรรค ที่กลายเป็นแฮชแท็กยอดนิยมอันดับหนึ่งในทวิตเตอร์

การให้สัมภาษณ์ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ The101.world ประเด็นคนรุ่นใหม่กับการเมืองแห่งอนาคต มีผู้เข้ามาดูมากกว่า 1.7 แสนคน คลิปได้รับการแชร์ออกไปเกือบ 4 พันครั้ง

การดวลเกม ROV ระหว่าง “ทีมธนาธร” กับ “ทีม บ.ก.ลายจุด” ของ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ มีผู้ติดตามผ่านเฟซบุ๊ก จนถึงปัจจุบันเกือบ 1 แสนคน

หากวัดจากการขึ้นสู่อันดับ 1 ทวิตเตอร์โพล ด้วยการโหวตเลือกของคนรุ่นใหม่ และคนชั้นกลางในหัวเมืองใหญ่ ซึ่งมี “สมาร์ตโฟน” อยู่ในมือ

ขณะที่การยึดครองอันดับ 4 นิด้าโพล

มองในแง่การ “รุกคืบ” ออกจากพื้นที่ “ใหม่” ซึ่งเป็นพื้นที่ในโลกโซเชียล ขยายไปสู่พื้นที่ “เก่า” ทางการเมือง ไม่ว่าสำนักโพลต่างๆ หรือกระทั่ง “สื่อเก่า” อย่างหนังสือพิมพ์ และวิทยุโทรทัศน์

ก็ถือเป็น “จุดเริ่ม” น่าพอใจ

สิ่งต่างๆ ในพื้นที่ “สื่อใหม่” เป็นเรื่องยากสำหรับกลุ่มผู้มีอำนาจในการเข้าใจและยอมรับ ถึงขั้นเคยมีความพยายามผลักดันนโยบาย “ซิงเกิล เกตเวย์” ออกมาใช้เสียด้วยซ้ำไป

คนกลุ่มนี้ยังติดอยู่ในพื้นที่การเมืองแบบ “เก่า” ซึ่งมีแนวคิดต้องการสืบต่อ “ความเก่า” นี้ไปอีก 20 ปี ผ่านสิ่งที่เรียกกันเองว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติ

การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

หากมองผ่าน “นิด้าโพล” และ “ทวิตเตอร์โพล” ก็จะเห็นภาพการเคลื่อนไหวสัประยุทธ์ ระหว่างการเมืองของกลุ่มคนแนวคิดเก่า กับการเมืองกลุ่มคนแนวคิดใหม่

เป็นการปะทะกันระหว่าง “เก่า” กับ “ใหม่” “อดีต” กับ “อนาคต”

ใครจะอยู่ ใครจะไป น่าลุ้นระทึกอย่างยิ่ง