เศรษฐกิจ/งัด ม.44 ต่อลม ‘ทีวีดิจิตอล’ อีกเฮือก คำถามถึง รบ.บิ๊กตู่…’มาตรการผสมโรง’ ช่วยค่ายมือถือปูทางฐานเสียงเลือกตั้ง?

เศรษฐกิจ

งัด ม.44 ต่อลม ‘ทีวีดิจิตอล’ อีกเฮือก

คำถามถึง รบ.บิ๊กตู่…’มาตรการผสมโรง’

ช่วยค่ายมือถือปูทางฐานเสียงเลือกตั้ง?

นับเป็นคดีประวัติศาสตร์อีกคดีหนึ่งที่อาจเป็นบรรทัดฐานให้หน่วยงานรัฐใช้ในการแก้ปัญหาที่ยังหาทางออกไม่ได้ หลังจากศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาให้ “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” หรือนางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย ผู้รับใบอนุญาต 2 ช่องทีวีดิจิตอล ไทยทีวี และช่อง MVTV Family (Loca เดิม) ที่ยื่นฟ้อง “กสทช.” หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มีสิทธิบอกเลิกสัญญาคืนช่องทีวีดิจิตอล
โดยคำตัดสินดังกล่าว ให้ กสทช. ต้องคืนเงินแบงก์การันตีที่วางค้ำประกันการชำระเงิน ตั้งแต่งวดที่ 3 เป็นต้นไป รวมๆ แล้วราว 1,500 ล้านบาท เพราะพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กสทช. ไม่สามารถทำตามประกาศเชิญชวนเข้าร่วมประมูลช่องทีวีดิจิตอลในหลายประเด็น ทั้งการแจกคูปองส่วนลด เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกสู่ระบบทีวีดิจิตอลให้ประชาชนล่าช้ากว่ากำหนดถึง 6 เดือน และยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อสัดส่วนจำนวนผู้ชม ค่าเช่าช่วงเวลา และอัตราค่าโฆษณา
แต่คดีนี้ยังไม่จบ เพราะบอร์ด กสทช. มีมติให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ด้วยยังคาใจใน 3 ประเด็น คือ
1. การอนุญาตดำเนินการช่องทีวีดิจิตอลของ กสทช. เป็นการออกใบอนุญาต ไม่ใช่เป็นลักษณะสัมปทาน เมื่อผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาต ต้องชำระค่าใบอนุญาตตามกฎหมาย
ประเด็นที่ 2 กสทช. ทำตามแผนแม่บทในการขยายโครงข่ายการเข้าถึงทีวีดิจิตอล ที่ระบุว่าเดือนมิถุนายน 2560 จะครอบคลุมโครงข่าย 95% ของพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ครอบคลุมแล้ว 95.5-95.6% ซึ่งผู้ฟ้องคดีรับทราบก่อนการเข้าสู่กระบวนการประมูลแล้ว
และประเด็นสุดท้าย ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 กำหนดว่า เมื่อผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาต ต้องชำระใบอนุญาต
หากวิเคราะห์สาเหตุที่ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอลไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
กสทช. ให้เหตุผลหนึ่งว่าเกิดจากความสามารถในการแข่งขันภายใต้ตลาดเสรีที่เป็นธรรม
และอีกเหตุผลหนึ่งที่อาจวิเคราะห์ได้คือ “จังหวะ” ที่ไม่ค่อยดีนัก!!

ย้อนอดีตการเริ่มต้นเปิดประมูลทีวีดิจิตอลเพื่อเปลี่ยนผ่านระบบอนาล็อกที่จะเลิกใช้ในอนาคต โดยในห้วงหลายปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าธุรกิจทีวีบูมมาก เป็นพื้นที่รับเงินโฆษณาแบบเป็นกอบเป็นกำ เมื่อเปิดทีวีดิจิตอลที่จะมีช่องทีวีมากกว่า ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 ช่อง 11 และช่องไทยพีบีเอส จึงเป็นการเปิดทางให้หลายธุรกิจอยากร่วมชิงเค้กโฆษณาก้อนใหญ่นี้ด้วย จนลืมประเมินว่าเค้กยังเป็นก้อนเดิม แต่ที่เพิ่มเติมคือคนกินเค้กเยอะขึ้น เท่ากับเค้กที่ได้ก้อนจะเล็กลง
แต่ทุกคนยอมทุ่มทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งช่องทีวี เพราะเชื่อว่าจะได้คืนมาเป็นกำไรในอนาคต อย่างกรณี “เจ๊ติ๋ม” ตัดสินใจทุบกระปุกกว่า 2 พันล้านบาท มุ่งหวังว่าจะช่วยต่อยอดธุรกิจเดิมคือสื่อสิ่งพิมพ์บันเทิงที่มีอิทธิพลต่อวงการบันเทิงไทยรายหนึ่ง แต่ผลไม่เป็นดังคาด แม้พยายามดิ้นรนหาพันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาเสริม จนสุดท้าย เจ๊ติ๋มตัดสินใจจอดำ ขอคืนใบอนุญาต และไม่ส่งเงินงวดค่าใบอนุญาต เพราะแค่เพียงทดลองธุรกิจในช่วงสั้นๆ ก็เข้าเนื้อไปแล้วกว่า 300 ล้านบาท
กรณีเจ๊ติ๋มที่ลุกขึ้นมาขัดขืนเป็นเจ้าแรก ได้รับแรงสนับสนุนจากผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอลเจ้าอื่นๆ ที่ร่วมประมูลได้ใบอนุญาตด้วยราคาแสนแพงอยากจะเอาอย่างบ้าง อย่างที่บอก “จังหวะ” ไม่ได้ เพราะนอกจากลงทุนแพงมหาโหด เงินโฆษณาไม่เพิ่มขึ้น ยังเจอพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เมื่อกลุ่มคนยุคมิลเลนเนียมเลิกดูทีวี หันไปเสพหน้าจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน ผ่านทางออนไลน์แทน
สุดท้ายต้องรวมตัวร้องให้รัฐช่วย แต่จนแล้วจนรอด กสทช. และรัฐบาลโยนกันไปมา เรื่องใครมีอำนาจช่วยผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอล เพราะดูเหมือนจะเกรงคำครหาว่าเอื้อประโยชน์ให้เอกชน กระทั่งศาลปกครองกลางมีคำวินิจฉัยออกมาในคดีเจ๊ติ๋ม
ถึงขนาดที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาฯ กสทช. แสดงอาการโล่งอก บอกว่าเป็นบรรทัดฐานให้ผู้ประกอบการอื่นสามารถคืนใบอนุญาตได้

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านกฎหมาย และถูกมอบหมายให้แก้ปัญหาทางตันของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ก่อนหน้านี้ให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่าเป็นเรื่องของ กสทช. ที่จะดำเนินการได้ กระทั่งคำตัดสินของศาลออกมาดังกล่าว นายวิษณุได้เชิญผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลทุกช่อง และ กสทช. เข้าหารืออย่างเร่งด่วนเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา จนได้ข้อยุติ โดยรัฐยอมครึ่งทาง จะใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาตรา 44 หรือ ม.44 ให้ผู้ประกอบการพักชำระหนี้ 3 ปี จ่ายเพียงดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี และ กสทช. จะสนับสนุนค่าเช่าโครงข่าย (มักซ์) สัญญาณทีวีดิจิตอลไม่เกิน 50% ของค่าเช่าที่ต้องชำระ เป็นเวลา 2 ปี จากข้อเสนอเอกชนให้รับทั้ง 100% คิดเป็น 16,000 ล้านบาท
วิธีนี้ผู้ประกอบการมั่นใจว่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ต่อจากนี้รอเพียงเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบออกเป็นคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป
ทันทีที่ข้อยุติดังกล่าวถูกเผยแพร่ “รสนา โตสิตระกูล” อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร ได้เผยแพร่บทความ “จับตา คสช. ใช้มาตรา 44 อ้างช่วยทีวีดิจิตอล แต่พ่วงผลประโยชน์ค่ายมือถือหวังเงินทอนสู้ศึกเลือกตั้ง ใช่หรือไม่?” ผ่านหน้าเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา
เนื้อหาโดยสรุป ได้ยก ม.44 ที่เคยใช้ช่วยทีวีดิจิตอลไปแล้วครั้งหนึ่ง ด้วยคำสั่ง คสช. ที่ 76/2559 โดยเพิ่มงวดการจ่ายชำระสำหรับช่องทีวีดิจิตอลที่ไม่พร้อมจ่าย แถมรัฐบาลยังออกค่าใช้โครงข่ายดาวเทียมแทนช่องต่างๆ ให้ 3 ปี แต่ก็พ่วงผลประโยชน์ของกองทัพ โดยให้รัฐออกค่าโครงข่ายดาวเทียมให้กับช่องโทรทัศน์ดาวเทียมทีจีเอ็นของกองทัพบกด้วย และยังขยายอายุคลื่นวิทยุกระจายเสียงให้สถานีวิทยุต่างๆ ใช้ต่อไปอีก 5 ปี แม้จะถึงกำหนดที่ กสทช. เรียกคืนคลื่น ซึ่งส่วนหนึ่งที่ได้ประโยชน์คือ สถานีวิทยุของกองทัพ ที่ไปทำสัญญาให้เอกชนมาเช่าเวลาใช่หรือไม่
มาคราวนี้ การจะใช้ ม.44 อีกครั้ง มีการพ่วงผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจมือถือ ทั้งที่เป็นคนละเรื่องกัน การข้ามห้วยช่วยอุ้มธุรกิจมือถือของ 2 ค่ายยักษ์ใหญ่ (เอไอเอส และทรู ที่ชนะประมูลคลื่น 4จี) มีอะไรในกอไผ่หรือไม่

เช่นเดียวกับ “สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ออกบทความ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลและผู้ประกอบการ 4จี” สรุปเนื้อหาได้ว่า การเสนอให้หัวหน้า คสช. (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี) ใช้คำสั่ง ม.44 กับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล มีประเด็นที่น่าสนใจคือ “มาตรการผสมโรง” เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคม 2 รายที่ประมูลคลื่น 4จี “เอไอเอส” และ “ทรู” โดยให้ผ่อนผันการจ่ายค่าประมูลคลื่นงวดที่ 4 ที่ต้องจ่ายเสร็จในปี 2563 ทยอยจ่ายไปอีก 5 งวดจนถึงปี 2567
ขณะที่ปัญหาการขาดทุนของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล อาจารย์สมเกียรติมองว่ารัฐบาลและ กสทช. ไม่ควรต้องรับผิดชอบจากสาเหตุการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการและจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การรับชมโทรทัศน์ลดลงอย่างฮวบฮาบเพราะถือเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจโดยปกติที่ผู้ประกอบการต้องมีการประเมินไว้ แต่กรณีผลการขาดทุนจากความบกพร่องของ กสทช. นั้น เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการควรได้รับความช่วยเหลือเยียวยาตามสมควร
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ก่อนที่ คสช. จะดำเนินการอย่างไร ควรรอคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดให้คดีสิ้นสุดก่อน ซึ่งน่าจะใช้เวลาอีกไม่นานหลังจากที่ กสทช. อุทธรณ์คดีต่อศาล
เกิดเสียงทัดทานเช่นนี้ คงต้องจับตาว่า จะใช้ ม.44 เพื่อต่อลมหายใจ “ทีวีดิจิตอล” ได้อีกเฮือกหนึ่งหรือไม่ หลังเลื่อนเข้า ครม. วันที่ 20 มีนาคม เป็น 27 มีนาคม