อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ศิลปิน ผู้ให้ความสำคัญกับความคิด มากกว่าตัวงานศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

กล่าวถึงนิทรรศการศิลปะมาหลายตอนแล้ว คราวนี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศมาเล่าเรื่องศิลปินคนสำคัญที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อวงการศิลปะร่วมสมัยอีกคนกันบ้าง

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

โซล เลวิตต์ (Sol LeWitt) (1928-2007)

ศิลปินชาวอเมริกันผู้มีความเกี่ยวข้องกับกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะอันหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มินิมอลลิสม์ และคอนเซ็ปช่วลอาร์ต

เขาเริ่มมีชื่อเสียงโดดเด่นในช่วงปลายยุค 60 จากผลงานจิตรกรรม, วาดเส้นบนฝาผนัง และงานประติมากรรมที่เขาเรียกขานว่า “โครงสร้าง” (structures)

นอกจากนั้น เขายังทำงานในหลากสื่อหลายแขนงอย่าง ภาพพิมพ์, ภาพถ่าย, ศิลปะจัดวาง ฯลฯ

นอกจากจะเป็นศิลปินคนสำคัญของกระแสคอนเซ็ปช่วลอาร์ต โซล เลวิตต์ ยังเป็นศิลปินคนสำคัญของกระแสศิลปะมินิมอลลิสม์

เขาขัดเกลารายละเอียดและรูปแบบทางศิลปะให้เหลือแต่เพียงน้อยแค่ เส้น สีสันพื้นฐานและรูปทรงอันเรียบง่าย

เขาพัฒนาสูตรทางศิลปะที่เขาคิดค้นขึ้นเอง ซึ่งแฝงรูปแบบของสมการคณิตศาสตร์ และรายละเอียดจำเพาะทางสถาปัตยกรรม

ที่ถึงแม้จะดูเรียบง่าย แต่ก็แฝงเอาไว้ด้วยความซับซ้อนและยากจะตีความ

หนึ่งในผลงานโดดเด่นของเขาคือ Two Open Modular Cubes/Half-Off (1972) ที่เป็นโครงสร้างเส้นรูปลูกบาศก์แบบเปิดโล่งสองอันที่เชื่อมต่อกัน

เขากล่าวถึงผลงานชุดนี้ว่า

“สิ่งที่น่าสนใจที่สุดของลูกบาศก์นี้คือมันไม่น่าสนใจเอาเสียเลย”

ถึงแม้เขาจะอ้างว่าลูกบาศก์เหล่านี้ไม่มีความน่าสนใจในตัวเอง

แต่เขาก็ใช้มันเป็นเหมือนจุดก้าวกระโดดในพัฒนาการทางศิลปะของเขา ด้วยการใช้โครงสร้างรูปทรงเรขาคณิตที่เน้นย้ำความสนใจเกี่ยวกับระบบและสัดส่วนจำเพาะ ที่สามารถทำซ้ำ เปลี่ยนแปลง และขยายตัวเองไปได้เรื่อยๆ จนบางครั้งถึงจุดที่วุ่นวายและไร้เหตุผล

ซึ่งลักษณะของความเรียบง่าย ไร้สีสัน และความเป็นรูปทรงเรขาคณิตของผลงานเหล่านี้นี่เอง ที่เป็นตัวอย่างอันสมบูรณ์แบบของสุนทรียะแบบมินิมอลลิสม์ด้วยเช่นกัน

นอกจากทำงานศิลปะทั้งแบบคอนเซ็ปช่วลอาร์ตและมินิมอลลิสม์แล้ว เขายังเขียนทฤษฏีทางศิลปะที่มีส่วนร่วมในการพัฒนากระแสศิลปะทั้งคอนเซ็ปช่วลอาร์ตและมินิมอลลิสม์อย่างมาก

เขายังเป็นผู้ที่บุกเบิกการทำงานศิลปะในรูปแบบของสื่อสิ่งพิมพ์และหนังสือ ที่เรียกว่า Artist”s books (หนังสือของศิลปิน) ซึ่งไม่ใช่การรวบรวมผลงานของศิลปินมาตีพิมพ์ลงในหนังสือแบบสูจิบัตร หากแต่เป็นการทำงานศิลปะในรูปแบบของหนังสือเสียมากกว่า

โดยในปี 1967 โซล เลวิตต์ ได้ตีพิมพ์ข้อเขียน Paragraphs on Conceptual Art (ที่หลายคนยกให้เป็นแถลงการณ์ของคอนเซ็ปช่วลอาร์ต) ที่กล่าวว่า

“ศิลปะจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะถ้ามันมีรูปมีร่างขึ้นมา มันก็ต้องมีลักษณะคล้ายกับบางสิ่งบางอย่างอยู่ดี และท้ายที่สุด ไม่ว่ามันจะมีลักษณะยังไงก็ตาม ศิลปะก็ต้องเริ่มต้นด้วยความคิดเสมอ”

สำหรับคอนเซ็ปช่วลอาร์ต ความคิด เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการทำงานศิลปะ เมื่อศิลปินทำงานศิลปะในแบบคอนเซ็ปช่วล นั่นหมายความว่าการวางแผนและการตัดสินใจทั้งหมดได้ถูกทำขึ้นล่วงหน้าไปแล้ว (ในความคิด) การสร้างตัวงานออกมา เป็นเพียงกิจที่ทำพอเป็นพิธีเท่านั้น เพราะความคิดได้กลายเป็นเครื่องจักรในการผลิตงานศิลปะไปแล้ว”

ดังตัวอย่างเช่น ในผลงาน Buried Cube Containing an Object of Importance but Little Value (1968) ของ โซล เลวิตต์ ที่ประกอบกิจกรรมทางศิลปะด้วยการฝังกล่องสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ในสวนในชนบทแห่งหนึ่ง กิจกรรมนี้ถูกทำขึ้นโดยที่ไม่มีใครร่วมรู้เห็น ไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่ามีอะไรอยู่ในกล่อง มีเพียงภาพถ่ายเป็นหลักฐานว่าเขาประกอบกิจกรรมครั้งนี้ขึ้นจริงๆ เท่านั้น

กิจกรรมทางศิลปะครั้งนี้ของเขาทำขึ้นภายใต้แนวคิดที่ปฏิเสธค่านิยมที่ศิลปินเป็นผู้มีอำนาจสั่งการและเป็นผู้ควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดต่องานศิลปะ ด้วยกิจกรรมทางศิลปะครั้งนี้ เขาปลดเปลื้องตัวเองเป็นอิสระจากผลงานศิลปะของตัวเอง ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฏี ความตายของประพันธกร (Death of the Author) ของนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส โรลองด์ บาร์ธส (Roland Barthes) ดังที่ปรากฏในคำกล่าวของเลวิตต์ที่ว่า

“เมื่อศิลปินทำผลงานเสร็จและนำออกสู่สาธารณะแล้ว พวกเขาก็ไม่มีอำนาจที่จะควบคุมหรือบงการการรับรู้ของผู้ชมได้อีกต่อไป เพราะคนแต่ละคนก็จะมีความรับรู้และความเข้าใจต่อผลงานชิ้นนั้นๆ ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป”

ตัวอย่างอันชัดเจนของการการปฏิเสธอำนาจและความเป็นผู้สร้างสรรค์แต่เพียงผู้เดียวของศิลปินในผลงานของ โซล เลวิตต์ ปรากฏชัดเจนในผลงานหลายชิ้นของเขา ที่เขาไม่ได้ลงมือทำด้วยตัวเอง หากแต่ให้ผู้ช่วยทั้งเดี่ยว (และกลุ่ม) เป็นผู้ทำขึ้นมาตามคำสั่งหรือคู่มือแนะนำของเขา ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดลายเส้นบนกำแพง หรือประติมากรรมกลางแจ้ง และตัวเขาเองก็ไม่ได้ควบคุมให้งานออกมาอย่างที่เขาต้องการโดยสมบูรณ์แบบ

เพราะอันที่จริง ผลงานหลายชิ้นของเขา ก็ถูกทำขึ้นหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้วด้วยซ้ำไป โดยหลังจากที่เขาเสียชีวิตลงในปี 2007 ผลงานภาพร่างความคิดสำหรับงานประติมากรรมและจิตรกรรมหลายต่อหลายชิ้นของเขา ที่ยังไม่เคยมีใครเห็นและไม่เคยถูกทำขึ้นมาก่อน ก็ถูกทำขึ้นมาโดยทีมงาน, ผู้ช่วย หรือแม้แต่ศิลปินรุ่นหลังๆ

ทำให้ผลงานของเขาถูกสร้างสรรค์ออกมาใหม่ได้เรื่อยๆ ถึงแม้ว่าเจ้าตัวจะไม่อยู่ในโลกนี้แล้วก็ตาม

ด้วยวิธีการเช่นนี้ โซล เลวิตต์ ท้าทายความเชื่อพื้นฐานที่สุดเกี่ยวกับศิลปะ ที่ศิลปินต้องเป็นผู้ลงมือทำงานด้วยตัวเอง และมีอำนาจสิทธิขาดเหนือผลงานของตัวเอง

ความเชื่อของ โซล เลวิตต์ ที่ว่า ศิลปินคือผู้ให้กำเนิดความคิด เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่เปลี่ยนผ่านวงการศิลปะจากยุคโมเดิร์น (Modern) ไปสู่ยุคโพสต์โมเดิร์น (Post-Modern)

คำอธิบายเกี่ยวกับศิลปะแบบคอนเซ็ปช่วลของเลวิตต์ สร้างมิติใหม่ๆ ให้กับบทบาทของศิลปินที่แยกตัวเองโดยสิ้นเชิงออกจากการใช้อารมณ์ความรู้สึก

อันเป็นลักษณะเด่นของศิลปะแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ที่มีบทบาทอย่างสูงในวงการศิลปะโลกในยุคก่อนหน้า

เพราะพวกเขาเกิดความเบื่อหน่ายและรู้สึกว่าอารมณ์ความรู้สึกไม่ใช่ทางออกสำหรับการแสวงหาทางศิลปะ และไม่สามารถสื่อสารความคิดออกมาได้

เลวิตต์เชื่อมั่นและยืนยันความคิดที่ว่า ลำพังตัวความคิดก็สามารถเป็นงานศิลปะได้ เช่นเดียวกับสถาปนิก ที่เป็นผู้เขียนพิมพ์เขียวสำหรับสร้างอาคาร และส่งต่อให้ทีมผู้รับเหมาก่อสร้างมันขึ้นมา ศิลปินเองก็สามารถเป็นผู้คิดงานและมอบหมายให้คนอื่นทำต่อ โดยไม่จำเป็นต้องลงมือทำด้วยตัวเอง

สำหรับเขา การวางแผนในการผลิตผลงานศิลปะกลายเป็นผลงานศิลปะด้วยตัวเอง ตัวงานศิลปะไม่จำเป็นต้องถูกทำด้วยวัสดุจริงๆ หรืออันที่จริง ไม่จำเป็นต้องมีตัวงานขึ้นมาเลยด้วยซ้ำไป

แนวทางการทำงานศิลปะที่เน้นความเรียบง่ายและชัดเจนของ โซล เลวิตต์ ส่งแรงบันดาลใจให้ศิลปินรุ่นหลังหลายต่อหลายคน อาทิ เอวา เฮสส์ (Eva Hesse) และ แฟรงก์ สเตลลา (Frank Stella)

โซล เลวิตต์ เป็นศิลปินที่มีความใส่ใจต่อวงการศิลปะอย่างมาก เขามักจะกระตือรือร้นในการแลกเปลี่ยนทางความคิดและงานศิลปะกับศิลปินแทบทุกคน ไม่ว่าจะเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงหรือแม้แต่มือสมัครเล่น เขามักจะกระตุ้นให้ศิลปินรุ่นหลังแสวงหาหนทางใหม่ๆ ในการทำงานศิลปะโดยไม่ยึดติดกับแบบแผนหรือค่านิยมเก่า เขากล่าวว่า

“ไม่ว่าช่วงเวลาก่อนหน้าจะเคยมีมาตรฐานอะไรมาก่อน คนรุ่นใหม่จะสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาในแบบฉบับของตัวเอง และจะมีปฏิกิริยาต่อต้านมาตรฐานเก่าๆ เหล่านั้นเสมอ”

เขาสนับสนุนเครือข่ายในการช่วยเหลือคนในวงการศิลปะ โดยรวบรวมและสะสมงานศิลปะทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับสากล และยังก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีชื่อว่า Printed Matter ที่สนับสนุนการผลิตสิ่งพิมพ์ทางศิลปะ รวมถึงเป็นพื้นที่แสดงนิทรรศการศิลปะจวบจนถึงปัจจุบัน

เขายังก่อตั้งมูลนิธิมอบทุนช่วยเหลือสำหรับการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ที่เกิดขึ้นมาจากการรับการบริจาคจากเหล่าบรรดาศิลปินผู้มีชื่อเสียง ซึ่งยังคงดำเนินงานอยู่ในนิวยอร์ก

ผลงานประติมากรรมของโซล เลวิตต์ ยังคงถูกจัดแสดงในพื้นที่สาธารณะทั่วสหรัฐอเมริกา และพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Museum of Contemporary Art) ก็กำลังจะมีกำหนดการแสดงนิทรรศการแสดงผลงานย้อนหลังของเขาไปจนถึงปี 2033 เลยทีเดียว