โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/วัตถุมงคลพระปิดตา หลวงปู่นาค โชติโก วัดห้วยจระเข้ นครปฐม

หลวงปู่นาค โชติโก

โฟกัสพระเครื่อง

โคมคำ
[email protected]

วัตถุมงคลพระปิดตา

หลวงปู่นาค โชติโก

วัดห้วยจระเข้ นครปฐม

“วัดห้วยจระเข้” ตั้งอยู่เลขที่ 447 ถนนพิพิธประสาท ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม
เดิมมีชื่อวัดว่า “วัดนาคโชติการาม” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “วัดใหม่ห้วยจระเข้”
ปัจจุบันได้ชื่อเป็นทางการว่า “วัดห้วยจระเข้” เจ้าอาวาสรูปแรกของวัด คือ “พระครูปัจฉิมทิศบริหาร” หรือ “หลวงปู่นาค โชติโก” ผู้สร้างวัดนี้ให้เป็นวัดบริวารขององค์พระปฐมเจดีย์ ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
อดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดังนครปฐม ที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธา มีชื่อเสียงโด่งดังในการสร้าง “พระปิดตาเนื้อเมฆพัด” ซึ่งเมฆพัด เป็นโลหะที่ได้จากการเล่นแร่แปรธาตุตามตำราของไทยโบราณ เชื่อว่าเป็นธาตุกายสิทธิ์มีฤทธานุภาพในตัวเอง
เมฆพัด เป็นส่วนผสมของตะกั่วและทองแดง มีกรรมวิธีการสร้างที่ซับซ้อน ในระหว่างหลอมต้องผสมตัวยาหลายชนิด อาทิ กำมะถัน ปรอท และว่านยา ได้แก่ ไพลดำ ต้นหิงหาย ไม้โมกผา ขิงดำ กระชายดำ สบู่แดง และ สบู่เลือด เป็นต้น ซัดเข้าไปในเบ้าหลอม พอสำเร็จจะได้โลหะสีดำเป็นมันเงาเลื่อมพราย
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 พระเกจิอาจารย์มักนิยมสร้างพระปิดตา อาจเกิดจากการเล่นแร่แปรธาตุที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ประการหนึ่ง
และเป็นการแสดงออกถึงการไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกประการหนึ่ง

พระปิดตาวัดห้วยจระเข้ พิมพ์ท้องป่อง

การสร้างพระปิดตาของหลวงปู่นาคนั้น ปรากฏหลักฐานว่าท่านเริ่มสร้างปี พ.ศ.2432-2435 ในขณะที่อยู่ที่วัดพระปฐมเจดีย์ ปรากฏมีทั้งเนื้อสำริดแก่ทอง เนื้อชินเงิน เนื้อชินเขียว ในระยะแรกพิมพ์ยังไม่มีมาตรฐาน จนภายหลังสามารถสรุปได้ว่านิยมเล่นกัน 3 พิมพ์ ได้แก่ พิมพ์ท้องแฟบ พิมพ์ท้องป่อง และ พิมพ์หูกระต่าย ยังไม่นับพิมพ์อื่นๆ ที่อาจสร้างไว้อีกต่างหาก
วิธีการลงเหล็กจารนั้นมีเรื่องเล่ากันว่า หลวงปู่นาคนำเอาพระปิดตาที่สร้างเสร็จแล้วไปลงเหล็กจารที่ท่าน้ำข้างวัด โดยจะนำลงไปจารอักขระใต้น้ำ เมื่อจารเสร็จแล้วจะปล่อยให้พระปิดตาลอยขึ้นมาเหนือน้ำเอง โดยมีลูกศิษย์ที่อยู่บนฝั่งคอยเก็บ
นอกจากการจารอักขระพระปิดตาใต้น้ำแล้ว มีวิธีการจารอักขระอีกวิธีหนึ่ง คือ จะไปจารที่กลางทุ่งนา หรือในป่าริมคลองที่มีปูอาศัยอยู่มากๆ เมื่อไปถึงและหารูปูเจอแล้ว ท่านก็จะยืนโดยเอาหัวแม่เท้าขวาอุดที่ปากรูปู จากนั้นจะกำหนดจิตบริกรรมคาถา และลงเหล็กจารไปพร้อมกัน ขณะนั้นทั่วทั้งทุ่งและป่าริมคลองนั้นจะเงียบสงัดทันที เสียงนก หรือแมลงร้องจะไม่มีได้ยิน สัตว์ทุกตัวที่อยู่บริเวณนั้นจะหยุดนิ่งชะงักเป็นจังงังกันหมด
เมื่อท่านผ่อนคลายกำหนดจิตจากการลงอักขระเสร็จแล้ว ทุกอย่างจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ก่อนที่จะกลับ หลวงปู่นาคจะทำน้ำมนต์รดที่รูปูนั้น เพื่อเป็นการคลายอาคม หากมิเช่นนั้นปูที่อยู่ในรูจะออกมาไม่ได้ หรือถ้าปูอยู่ข้างนอกก็จะกลับลงรูไม่ได้เหมือนกัน

จากพิธีกรรมการสร้างอันเข้มขลังนี้เอง จึงทำให้พระปิดตาห้วยจระเข้เป็นจักรพรรดิของพระปิดตาเนื้อเมฆพัดทั้งปวง
พระปิดตาหลวงปู่นาค ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มากด้วยพลังพุทธคุณและกระบวนการเล่นแร่แปรธาตุตามตำรับโบราณ
พระปิดตาที่ท่านสร้างขึ้น มีพุทธลักษณะงดงาม ด้านศีรษะจะใหญ่ มือใหญ่ โยงก้นแต่ไม่ทะลุไปด้านหลัง มักปรากฏรอยจารของท่าน
สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จประทับแรม ณ พระราชวังสนามจันทร์ พร้อมด้วยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จะเสด็จกราบนมัสการหลวงปู่นาคเป็นประจำ ซึ่งมีเรื่องเล่ากันว่า หลวงปู่นาคได้ถวายพระปิดตาไว้บูชาคู่พระวรกายพระองค์ท่านด้วยเช่นกัน

พระปิดตาวัดห้วยจระเข้ พิมพ์หูกระต่าย

หลวงปู่นาค เกิดเมื่อปี พ.ศ.2358 (ร.ศ.35) ตรงกับปีกุน จ.ศ.1177 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2
อายุ 21 ปี อุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดพระปฐมเจดีย์ ตรงกับปี พ.ศ.2379 พระอุปัชฌาย์ไม่ปรากฏนาม ทราบแต่พระกรรมวาจาจารย์ คือ พระปฐมเจติยานุรักษ์ (หลวงปู่กล่ำ) เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม ได้รับฉายา โชติโก
หลังบวชแล้วได้จำพรรษาอยู่วัดพระปฐมเจดีย์กับหลวงปู่กล่ำ เจ้าอาวาส ทั้งสองเป็นสหธรรมิก ช่วยกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยดีตลอดมา
ปี พ.ศ.2432 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระเถระ 4 รูป เพื่อทำหน้าที่รักษาองค์พระปฐมเจดีย์ทั้ง 4 ทิศ คือ
1. พระครูปริมานุรักษ์ (นวม พรหมโชติ) วัดสรรเพชญ รักษาด้านทิศตะวันออก
2. พระครูทักษิณานุกิจ (แจ้ง ธัมมสโร) วัดศิลามูล รักษาด้านทิศใต้
3. พระครูปัจฉิมทิศบริหาร (นาค โชติโก) วัดห้วยจระเข้ รักษาด้านทิศตะวันตก
4. พระครูอุตรการบดี (ทา) วัดพะเนียงแตก รักษาด้านทิศเหนือ
หลวงปู่นาคได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระครูปัจฉิมทิศบริหาร นอกจากทำหน้าที่รักษาองค์พระปฐมเจดีย์ด้านทิศตะวันตกแล้ว ยังดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะมณฑลนครชัยศรี เทียบกับสมัยนี้เท่ากับตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม
ครองวัดอยู่นาน 11 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2441 กระทั่งมรณภาพด้วยโรคชราภาพในปี พ.ศ.2452

บรรยายภาพ
1.หลวงปู่นาค โชติโก
2.พระปิดตาวัดห้วยจระเข้ พิมพ์ท้องป่อง
3.พระปิดตาวัดห้วยจระเข้ พิมพ์หูกระต่าย