เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์/เรื่องของการลาออก

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ
วัชระ แวววุฒินันท์

เรื่องของการลาออก

ใครที่สนใจติดตามความเคลื่อนไหวของแวดวงฟุตบอลบ้านเรา คงไม่พลาดข่าวดังของศึกฟุตบอลโตโยต้าไทยลีก ที่กุนซือระดับมือต้นๆ ที่เป็นคนไทยของสโมสรดังแห่งหนึ่ง ประกาศ “ลาออก”
ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึง โค้ชแบน-ธชตวัน ศรีปาน หัวหน้าผู้ฝึกสอนของสโมสรเอสซีจีเมืองทอง ยูไนเต็ด ที่ประกาศลาออกเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากพาทีมบุกไปแพ้แก่สโมสรน้องใหม่ที่เพิ่งเลื่อนชั้นขึ้นมาอย่าง พีที ประจวบ เอฟซี ด้วยสกอร์ 6 ประตูต่อ 1
แม้จะเป็นสกอร์ที่เหลือเชื่อมากไปสักหน่อย แต่หลายคนก็คิดไม่ถึงว่า โค้ชแบนจะถึงกับตัดสินใจลาออก เพราะเพิ่งเริ่มศึกไทยลีกไปได้แค่ 5 เกมเอง
โค้ชแบนบอกถึงสาเหตุของการลาออกว่า “ผมอายต่อความรู้สึกของแฟนบอลครับ” แม้ทางบอร์ดสโมสรจะยับยั้งการลาออก และยังไว้ใจให้โค้ชแบนทำงานต่อ แต่เขาก็ยืนยันที่จะออก
ไม่มีใครรู้เบื้องหลังลึกๆ ว่ามีอะไรที่เป็นสาเหตุที่เกิดให้มีการ “ลาออก” ครั้งนี้หรือไม่
แต่ด้วยบุคลิก “สุภาพบุรุษลูกหนัง” ของโค้ชแบน จึงทำให้ความรู้สึกของแฟนบอลและคนที่รับรู้ข่าวนี้มีความรู้สึกกับเขาเป็นบวกมากกว่าลบ
“ผมอายต่อความรู้สึกของแฟนบอล”
โอ…พระเจ้า เป็นเหตุผลของ “ความอาย” ที่ดูเหมือนจะเป็นยาขมของคนเป็นใหญ่เป็นโตในบ้านเมืองเราหลายๆ คน
การลาออกเพื่อรับผิดชอบต่อผลงานของตนเองนั้น เป็นความชอบธรรมของผู้ที่มีจิตสำนึก มีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น ซึ่งหาได้ยากยิ่งในประเทศไทย

เรื่องการลาออกของคนที่มีตำแหน่งหน้าที่สูง เพื่อรับผิดชอบจากกรณีความผิดพลาด หรือเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีปรากฏให้เห็นในประเทศที่เจริญแล้ว สังคมเข้มแข็ง และผู้คนมีจิตสำนึก
ซึ่งประเทศญี่ปุ่นนั้นดูจะเป็น “สายแข็ง” สำหรับสำนึกต่อความรับผิดชอบทำนองนี้
อย่างปีก่อนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ถูกข้อครหาเรื่องการปกปิดข้อมูลบางอย่างก็ประกาศลาออกเพื่อลดแรงกดดันจากสังคม โอ้โฮ เป็นบ้านเรา ต่อให้กดก็แล้ว ดันก็แล้ว ยังไม่ยอมออกเลย
แล้วนายกรัฐมนตรีอาเบะ ก็ยังหน้าบางต่อเนื่องด้วยการประกาศขอรับผิดชอบทั้งหมด อันเนื่องมาจากเป็นคนแต่งตั้งรัฐมนตรีคนนี้เข้ามารับตำแหน่งนั่นเอง
อื้อฮือ…พระเอกมาเต็ม
และที่ญี่ปุ่นอีกแล้ว เมื่อปีที่แล้ว รัฐมนตรีที่ดูแลฟื้นฟูพื้นที่ที่ประสบภัยแผ่นดินไหวได้เผอิญออกความเห็นที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับการเปรียบเทียบพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหว จนสร้างความไม่พอใจกับสาธารณชน
แค่พูดอะไรที่ไม่เหมาะสมก็ “หน้าบาง” ได้เหมือนกัน เอากับพี่ยุ่นเขาสิ
โธ่…น่าจะมาดูพี่ไทยบ้าง ก็ไอ้ที่พูดอะไรออกไปโต้งๆ พอถูกกระแสสังคมตั้งคำถามหรือสงสัย ก็ไม่เห็นจะมีปฏิกิริยาใดๆ แถมบางทีก็บ่ายเบี่ยงปัดสวะไอ้ที่ตัวเองพูดเสียเอง

มาดูฟากเกาหลีใต้กันบ้าง เมื่อหลายปีก่อนนายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ ที่ชื่อ “จุง ฮอง วอน” ได้ประกาศลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมเรือข้ามฟากลำใหญ่ล่ม ไม่รู้คุณผู้อ่านจำข่าวนี้ได้รึเปล่า ที่มีเด็กมัธยมบนเรือเกือบ 300 ราย ต้องจบชีวิตลงจากเหตุเรือล่มครั้งนี้ เป็นข่าวที่ดังไปทั่วโลกทีเดียว
หรือเมื่อไม่นานมานี้ ก็มีข่าวว่ารัฐมนตรีลอร์ดเบสต์ ที่คุมกระทรวงความก้าวหน้านานาชาติประกาศลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบที่ตนมาร่วมประชุมสาย จนเพื่อนรัฐมนตรีต้องตอบคำถามจากสมาชิกสภาแทนตน
เขากล่าวว่า “ผมรู้สึกละอายเป็นอย่างยิ่งต่อการที่ผมไม่ได้ทำหน้าที่ของตนเอง ดังนั้น ผมจึงขอยื่นลาออกจากตำแหน่งต่อนายกรัฐมนตรี โดยให้มีผลในทันที”
เห็นไหมครับว่า เขามีคำว่า “ละอาย” อีกแล้ว น่าสนใจจริงๆ ว่า คนบ้านเมืองเขากินอะไรกันถึงมีความเปราะบางบนใบหน้าได้เช่นนี้
และก็มีรัฐมนตรีของไทยได้กล่าวอ้างถึงเหตุการณ์นี้เพื่อเปรียบเทียบถึงรัฐมนตรีอีกท่านหนึ่งว่า “เป็นผม ผมลาออกไปแล้ว”
แน่นอนว่า มันอาจจะส่งผลให้เกิดกระแสความสนใจและกระแสกดดันจากสังคมได้ไม่น้อย แต่ในที่สุดคำตอบก็เหมือนเดิม คือ “รัฐมนตรีท่านที่ถูกพาดพิงไม่ลาออก”

อย่างไรก็ดี สำหรับในประเทศไทยแล้ว เมื่ออาทิตย์ก่อนได้มีข่าวคราวที่ทำให้เราได้พอชื่นใจอยู่บ้างว่า ประเทศนี้ยังมีคนหน้าบางอยู่ นั่นก็คือ บอร์ดของบริษัทอิตาเลียนไทยท่านหนึ่ง คือ ศาสตราจารย์ ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ขอลาออกจากกรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ โดยได้แจ้งเหตุผลชัดเจนว่าเป็นเพราะปัญหาทุ่งใหญ่นเรศวร หลังจากนายเปรมชัย กรรณสูต ผู้บริหารถูกจับกุมกรณียิงเสือดำนั่นเอง
ขอปรบมือดังๆ ให้กับท่าน ดร.มิ่งสรรพ์จริงๆ
แต่ถึงกระนั้น กรณีนี้เป็นเรื่องที่เกิดกับบุคคลในแวดวงธุรกิจ หาใช่ในแวดวงราชการ หรือรัฐบาลไม่ เพราะจากที่ดูประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย หากรณีของผู้มีตำแหน่งใหญ่โตประกาศลาออกด้วยสำนึกปกติไม่ค่อยจะมี ถ้าจะลาออกก็ด้วยอุบายทางการเมืองและผลประโยชน์ที่ซ่อนอยู่มากกว่า
สำหรับตำแหน่งสูงสุดทางฝ่ายบริหาร คือ นายกรัฐมนตรีนั้น ส่วนใหญ่จะเลือกใช้ “การยุบสภา” เพื่อหาทางออกทางการเมืองมากกว่าจะลาออก ส่วนผู้ที่เคยประกาศลาออกก็เห็นจะมีอยู่บ้าง เช่น พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2523 อันมีสาเหตุเนื่องมาจากการที่รัฐบาลตัดสินใจเพิ่มราคาค่าน้ำมันตามราคาตลาดโลก ซึ่งทำให้หลายฝ่ายได้รับความเดือดร้อน และได้โจมตีนายกฯ เกรียงศักดิ์อย่างมาก จนท่านประกาศลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ
อีกท่านหนึ่งคือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เจอพิษต้มยำกุ้งในปี 2540 เข้าไป อันเนื่องจากการจรดปากกาเซ็นอนุมัตินโยบายลดค่าเงินบาท จนเกิดการล้มครืนของเศรษฐกิจของประเทศอย่างฉับพลัน เศรษฐีหลายๆ คนกลายเป็นยาจกในพริบตา
นายกรัฐมนตรีอีกท่านหนึ่งที่ใช้ “การลาออก” เป็นเครื่องมือในการหยั่งเชิงทางการเมือง นั่นก็คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยแกล้งให้ข่าวว่าจะลาออกเพื่อประเมินทิศทางลมทางการเมืองจนมีการประกาศข่าวทางวิทยุไปแล้ว แต่สุดท้ายก็ได้แก้ว่านั่นเป็นข่าวปลอม ตนไม่ได้ลาออกแต่อย่างใด
ถึงกระนั้นในบั้นปลายของชีวิตการเมือง หลังจากที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยมา 14 ปีกว่าๆ จอมพล ป. ก็ได้ประกาศลาออกจนได้ในปี 2487
สำหรับในช่วง 10 ปีหลังของการเมืองไทย ได้มีความผันผวนทางการเมืองและเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดจากการชุมนุมหลายต่อหลายครั้ง กระแสสังคมในตอนนั้นได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออกเพื่อแก้ไขปัญหาตรงหน้า
แต่ก็ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนใดเลือกวิธีนี้เลย

สําหรับปัจจุบันนี้ ที่แม้จะยังไม่มีกระแสกดดันให้นายกฯ ตู่ลาออก แต่ก็ต้องแลกกับความชัดเจนในเรื่องเลือกตั้งที่ได้เคยประกาศกับสังคมโลกเอาไว้ ถึงกระนั้นก็มีกระแสพาดพิงไปถึงคนข้างกายในคณะรัฐมนตรีที่สังคมกดดันอยากให้ออก แต่ก็ยังไม่ “หน้าบาง” พอจะลาออกได้ลงคอ แม้จะเคยพูดว่าถ้าไม่อยากให้ผมอยู่…ผมก็จะออก
แม้ผลสำรวจของโพลจะชี้ว่าสมควรลาออก ก็เรื่องของโพล เพราะฉันยังอยู่
เห็นท่าทีนายกฯ ตู่คงจะกระอักกระอ่วนใจไม่น้อยในเรื่องนี้
จากกรณีโค้ชทีมฟุตบอลประกาศลาออกจากการทำทีม เพื่อรับผิดชอบต่อผลงานที่ย่ำแย่ เมื่อมาเปรียบกับทีมบริหารประเทศไทยแล้ว ยังไม่เห็นการประกาศลาออกเพื่อรับผิดชอบผลงานหรือพฤติกรรมที่ไม่เข้าตาสักเท่าไหร่เลย
คิดดูแล้วกันว่า ผิวหน้าใครจะหนาหรือบางต่างกัน