เน็ตหมู่บ้าน-เกตเวย์ส่อแท้ง ดิจิทัลอีโคโนมีไปไม่ถึงฝัน รอ…วัดฝีมือ รมว.ใหม่ดีอี

นายอุตตม สาวนายน

โดย ฐาปนา รวิภานนท์

แม้ในขณะนี้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จะได้ฤกษ์เปลี่ยนแปลงไปเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา

พร้อมทั้งชูนโยบายหลักในการทำงานคือ 6 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย

1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

2. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยการเพิ่มศักยภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ

3. สร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านการเสริมให้ประชาชนรู้จักสร้างการมีส่วนร่วมและใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

4. การปรับภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล

5. พัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล

และ 6. การสร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

แต่ในส่วนของบิ๊กโปรเจ็กต์ ที่ได้ค้างมาตั้งแต่ยังเป็นกระทรวงไอซีที ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 ได้แก่ โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ วงเงิน 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็น

1. การขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ วงเงิน 15,000 ล้านบาท

และ 2. การเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศ (เกตเวย์) สู่การเป็นดิจิทัลฮับของอาเซียน วงเงิน 5,000 ล้านบาท ซึ่งนำเงินจากการประมูล 4จี บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์มาใช้ ซึ่งงบประมาณดังกล่าวยังถือเป็นงบประมาณที่ใหญ่ที่สุดที่กระทรวงไอซีทีได้รับมาตั้งแต่ก่อตั้งกระทรวงมากว่า 14 ปี ก่อนเปลี่ยนมาเป็นกระทรวงดีอีในภายหลัง

อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 โครงการ จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่แล้วเสร็จ จากเดิมที่หมายมั่นว่าจะเริ่มเดินเครื่องโครงการได้ในช่วงต้นปี 2559 ในสมัย นายอุตตม สาวนายน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที และให้แล้วเสร็จภายในปี 2560

แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างหรือเริ่มเดินเครื่องโครงการแต่อย่างใด

ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลยังชูทั้ง 2 โปรเจ็กต์ดังกล่าวด้วยว่า จะกลายไปเป็นเส้นเลือดใหญ่ในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (ดิจิทัลอีโคโนมี)

รวมถึงขยายไปกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0

ในกรณีนี้หากรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในการขับเคลื่อนนโยบายต่อไปแน่นอน

เพราะต้องไม่ลืมว่า จุดประสงค์ที่แท้จริงของเศรษฐกิจดิจิทัล คือการให้ชาวบ้านในที่ห่างไกล โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ได้มีโอกาสใช้งานอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ในการหาข้อมูล เพิ่มช่องทางการขาย หรือสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจด้วยแนวทางต่างๆ ผ่านการใช้งานอินเตอร์เน็ต

ประกอบกับตัวเลขการเข้าถึงโครงข่ายอินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน จากการให้ข้อมูลของนายอุตตม ในสมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ระบุว่า ขณะนี้มีโครงข่ายเข้าถึงเพียง 35,000 หมู่บ้าน จากจำนวนราว 70,000 หมู่บ้านที่มีอยู่ในประเทศไทย ส่วนช่องสัญญาณเกตเวย์ในการใช้งานอินเตอร์เน็ต จากการประเมินแล้ว พบว่าจะมีความจำเป็นต้องขยายเพิ่มอีก 6 เท่า ใน 3 ปี จากปัจจุบัน

ในขณะที่ปริมาณเกตเวย์ที่รองรับการใช้งานอินเตอร์เน็ตของคนไทยได้ยังคงเหลืออีก 30%

สําหรับปัญหาที่ทำให้ทั้ง 2 โครงการยังไม่คืบหน้า เริ่มที่โครงการการขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ วงเงิน 15,000 ล้านบาท หรือ โครงการเน็ตหมู่บ้าน ที่มี บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าภาพในการดำเนินงาน ในการติดตั้งโครงข่ายบรอดแบรด์ 35,000 หมู่บ้านเพื่อให้เข้าถึงทุกหมู่บ้านในประเทศไทย

ซึ่งปัจจุบันกระบวนการยังคงค้างอยู่ในขั้นตอนการร่างหลักเกณฑ์การประกวดราคา (ทีโออาร์) เนื่องจากยังติดปัญหาอยู่หลายประการ

เริ่มตั้งแต่การกำหนดคุณสมบัติของอุปกรณ์ที่ใช้ได้เปลี่ยนไปมาทั้งอุปกรณ์ต่อพ่วงกับโหนดการใช้งานการลากสายไฟเบอร์เข้าไปถึงตามบ้าน การทำรูปแบบการจัดเป็นแบบประมูลแบบปิด แต่อุปกรณ์กลับมีสเป๊กสูงขนาดใหญ่ สวนทางกลับราคากลางต่ำมาก โดยมีการประกาศราคากลางไว้ที่ราคา 10,830.87 ล้านบาท ทำให้ในทางเทคนิค ทีโอที ไม่สามารถดำเนินการได้

ประกอบกับทางทีโอที ยังแจ้งด้วยว่าเงื่อนไขในทีโออาร์ที่ระบุว่า ต้องติดตั้งโครงข่ายให้ได้ 10,000 หมู่บ้าน ในสิ้นปี 2559 ทีโอทีก็ระบุว่าในทางเทคนิคแล้วด้วยระยะเวลาที่เหลืออยู่ไม่สามารถทำได้อย่างแน่นอน เพราะหากจะทำได้ครบ 10,000 หมู่บ้าน กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจะต้องสิ้นสุดและเริ่มเดินเครื่องโครงการไปแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

นอกจากนี้ จากปัญหาของโครงการเน็ตหมู่บ้าน แหล่งข่าวจากกระทรวงดีอี ยังระบุด้วยว่าเป็นต้นตอให้ นางมาลี วงศาโรจน์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงดีอี และอดีตรองปลัดกระทรวงไอซีที ที่ก่อนหน้านี้ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานร่างทีโออาร์ โครงการเน็ตหมู่บ้าน ต้องลาออกจากตำแหน่งรักษาการรองปลัดกระทรวงดีอี ซึ่งเป็นการขอเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดโดยจะมีผลในสิ้นเดือนกันยายน 2559 นี้ ทั้งที่เหลืออายุราชจริงอีก 1-2 ปี

เมื่อเป็นเช่นนี้ สุดท้ายจึงต้องเปลี่ยนให้ น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ปฏิบัติหน้าที่แทนในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงดีอี และอดีตรองปลัดกระทรวงไอซีที ขึ้นมารับหน้าที่แทน

ขณะที่โครงการขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศ (เกตเวย์) สู่การเป็นดิจิทัลฮับของอาเซียน วงเงิน 5,000 ล้านบาท ที่มี บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าภาพในการดำเนินงาน นั้นกลับมีอาการที่ค่อนข้าสาหัสกว่า เนื่องจากจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการร่างทีโออาร์แต่อย่างใด

ซ้ำร้ายมีแนวโน้มสูงว่าอาจจะล่มไปเลยด้วยซ้ำ เพราะตามปกติและการวางโครงข่ายเกตเวย์ระหว่างประเทศ ซึ่งทั่วโลกจะทำในลักษณะการร่วมลงทุนกับประเทศต่างๆ ที่มีการพาดสายเคเบิลใยแก้วนำแสงใต้น้ำ (เคเบิลซับมารีน) ผ่าน เนื่องจากการพาดเคเบิลซับมารีนเพื่อขยายเกตเวย์เชื่อมต่อไปยังทั่วโลกมีมูลค่าการก่อสร้างสูงมาก ฉะนั้น การลงทุนจึงเป็นในลักษณะร่วมกันลงทุนในประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการพาดผ่านของเคเบิลซับมารีน

แต่การก่อสร้างเพื่อการดำเนินโครงการดังกล่าว ทางสำนักงบประมาณ ได้มีการทักท้วงมาว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจขัดต่อกฎหมาย เพราะตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของรัฐ ทางรัฐบาลจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สิน 100% แต่การลงทุนเคเบิลซับมารีน จะต้องลงทุนร่วมกับต่างประเทศ การดำเนินการโครงการดังกล่าวจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แม้ก่อนหน้านี้ทาง กสท ได้มีการเสนอให้แก้กฎหมายเป็นกรณีพิเศษเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว หรือขอให้รัฐบาลมอบเงินให้ กสท เป็นผู้ลงทุนเอง แต่ทั้ง 2 แนวทาง ก็ไม่ได้รับการเห็นชอบจากนายอุตตม และสำนักงบประมาณแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ท้ายสุด ทั้ง 2 บิ๊กโปรเจ็กต์ที่หวังสร้างชื่อให้แก่กระทรวงไอซีที จนถึงกระทรวงดีอี เพื่อให้เป็นเส้นเลือดใหญ่ของนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ภายใต้การนำของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะรุ่งหรือร่วง อาจต้องวัดกึ๋นวัดฝีมือของ “บิ๊กจิน” พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี หรือเจ้ากระทรวงดีอีคนใหม่ที่จะเข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้ ว่าจะสามารถสะสางทั้ง 2 ตอ

ที่ขนาดนายอุตตมเอง ยังไม่สามารถก้าวข้ามไปได้อย่างไร…