วิรัตน์ แสงทองคำ : เกษตรกรรมรายใหญ่

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เกษตรกรรมไทยกำลังปรับตัวครั้งใหญ่ มาจากแรงขับเคลื่อนหลายทิศทาง มักเชื่อกันว่าพลังสำคัญมาจากธุรกิจใหญ่

แม้ภาพกว้างๆ ธุรกิจใหญ่มักอยู่ใน “ห่วงโซ่” (Value chain) ปลายทางเสมอ เพราะช่วงนั้นให้ผลต่อทางธุรกิจมากกว่าช่วงอื่นๆ

ทว่า หากมองลึกลงไป จะพบว่าธุรกิจใหญ่จำนวนหนึ่งบุกเบิกสู่ต้นธาร โดยเฉพาะเข้าเกี่ยวข้องการจัดการพื้นที่เกษตรกรรมโดยตรงมานานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ด้วยบุคลิกเฉพาะ ความเคลื่อนไหวยังอยู่ในวงจำกัด

ภาพอันคึกคักสู่โฉมหน้าใหม่ เพิ่งจะเกิดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี่เอง

 

ผู้บุกเบิก

จุดเริ่มต้นมาจากธุรกิจผลิตสับปะรดกระป๋องส่งออก เมื่อประมาณครึ่งศตวรรษที่แล้ว ด้วยความเชื่อมโยงกับเครือข่ายธุรกิจโลก

พิพัฒน์ ตันติพิพัฒพงศ์ นักธุรกิจเชื้อสายจีนไต้หวัน มองเห็นโอกาสมากับยุคสงครามเวียดนาม ได้ตั้ง บริษัทอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องไทย หรือ TPC (ในปี 2505) บุกเบิกธุรกิจใหม่ในเมืองไทย เวลาเดียวกันกับเครือข่ายระดับโลก โดลฟู้ด (Dole Food Company) มีฐานเฉพาะในสหรัฐ เริ่มเข้าสู่โลกตะวันออกครั้งแรก เริ่มต้นลงทุนในประเทศฟิลิปปินส์ (ปี 2506)

โดลฟู้ด (Dole Food Company) ก่อตั้งมากว่า 160 ปี ปัจจุบันเป็นธุรกิจอาหารรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะผลไม้สด ผักสด น้ำผลไม้ รวมไปถึงผลไม้และผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ มีเครือข่ายครอบคลุมกว่า 90 ประเทศทั่วโลก

ที่สำคัญได้เข้าจัดการพื้นที่เกษตรกรรมจำนวนมากในหลายประเทศ ในอเมริกาใต้ประมาณ 20,000 เอเคอร์ ในฮอนดูรัส เอกวาดอร์ คอสตาริกา และในเอเชียครอบครองพื้นที่กว่า 30,000 เอเคอร์ในฟิลิปปินส์ และให้ข้อมูลว่ามีอีก 3,800 เอเคอร์เป็นที่ดินของตนเองในประเทศไทย

Dole เข้ามาเมืองไทยร่วมทุนกับตระกูลล่ำซำ ก่อตั้งขึ้นปี 2509 สร้างโรงงานเพื่อผลิตสับปะรดกระป๋องส่งออก บนพื้นที่ 300 ไร่ในราชบุรี (ปี 2515) และได้ขยายพื้นที่ในการเพาะปลูกอีก 8,000 ไร่ในประจวบคีรีขันธ์ พร้อมทั้งได้ย้ายโรงงานมาด้วย (ปี 2517) ต่อมา ขยายฐานการผลิตไปยังท่าแซะ ชุมพร (ปี 2535)

อาจถือเป็นจุดเริ่มต้นโมเดลพื้นฐานการดำเนินเกษตรกรรมแปลงใหญ่ (Plantation) ผนวกกับแผนการให้เกษตรกรรายย่อยเข้าร่วมโครงการตามข้อตกลง (Contract farming)

 

เครือข่ายภูมิภาค

ต่อจากนั้น ยุคธุรกิจผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม เติบโตขึ้นในสังคมไทย ก่อนจะเข้าช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟู

บริษัทยูนิวานิช (โดยตระกูลวานิช แห่งภาคใต้) เป็นผู้บุกเบิกวงจรขั้นต้น ด้วยร่วมทุนกับเครือข่ายธุรกิจสินค้าคอนซูเมอร์รายใหญ่ของโลก-Unilever ในช่วงหนึ่ง (ปี 2526-2541)

ช่วงนั้น Unilever มีเครือข่ายธุรกิจปาล์มน้ำมันครบวงจร ฐานใหญ่อยู่ในมาเลเซีย ทั้งผลิตน้ำมันปาล์มสำเร็จรูป ไปจนถึงเป็นวัตถุดิบสินค้าอื่นๆ

ต่อมาเมื่อ Unilever ปรับยุทธศาสตร์ถอนตัวออกจากธุรกิจนี้ในขอบเขตทั่วโลก ยูนิวานิชจึงกลายเป็นของตระกูลวานิชอย่างเต็มตัว

ปัจจุบันจัดการการปลูกสวนปาล์มน้ำมันในจังหวัดกระบี่และสุราษฎร์ธานี มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 40,000 ไร่

รายสำคัญอื่นๆ ล้วนอยู่เครือข่ายธุรกิจภูมิภาค เริ่มจากน้ำมันแบรนด์ “มรกต” มาจากการร่วมทุนระหว่างนักธุรกิจไทยกับมาเลเซีย–ปาล์มโก้ (PALMCO HOLDINGS BERHAD) กลุ่มธุรกิจผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในมาเลเซีย โดยมีเครือข่ายของธุรกิจในไทยทั้งสวนปาล์ม (สุราษฎร์ธานี) และโรงงานสกัด (สตูล) ในพื้นที่ภาคใต้เช่นเดียวกัน

ต่อมากลุ่มปาล์มโก้ถอนตัว ในที่สุดกลุ่ม Sime Darby แห่งมาเลเซีย เข้ามาถือหุ้นใหญ่จนถึงปัจจุบัน

Sime Darby กลุ่มธุรกิจระดับโลก มีฐานในมาเลเซียเช่นกัน ก่อตั้งโดยชาวอังกฤษในยุคอาณานิคม เครือข่ายธุรกิจหลากหลาย ประกอบด้วย อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ เครื่องจักรกล และกลุ่มธุรกิจที่เรียกว่า Sime Darby Plantation กิจการดั้งเดิม มีเครือข่ายทั่วโลกมากกว่า 20 ประเทศ ธุรกิจต้นน้ำ (upstream) ปักหลักในภูมิภาค ปลูกปาล์มในพื้นที่มาเลเซียและอินโดนีเชียมากกว่า 500,000 เฮกเตอร์ ส่วนปลายน้ำ (downstream) มีกิจการทั่วโลกมากกว่า 15 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เครือข่ายความเชื่อมโยงระหว่างต้นน้ำกับปลายน้ำในระดับภูมิภาค เป็นโมเดลหนึ่งของธุรกิจเกษตรกรรม

อีกรายหนึ่ง Lamsoon Group ธุรกิจสินค้าคอนซูเมอร์รายใหญ่ ฐานอยู่ที่สิงคโปร์ ขยายวงจรสู่ต้นน้ำ เกษตรกรรมสวนปาล์ม ครอบคลุมภูมิภาค สู่มาเลเซีย ฮ่องกง เวียดนาม และไทย (มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 44,440 ไร่)

จุดเปลี่ยน

อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมเก่ากว่า 3 ทศวรรษ เดินหน้าไปสู่จุดเปลี่ยน ปรับตัวครั้งใหญ่กับแผนการสร้างมูลค่า ทั้งความเคลื่อนไหวนำกิจการเข้าตลาดหุ้นไทย ในช่วงหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 ไม่นาน เพื่อระดมทุนให้มากขึ้นอย่างน่าสนใจ

ได้แก่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น หรือกลุ่มเคเอสแอล (2548) และ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (2554) มีอีกรายคือ มิตรผล แม้เป็นกิจการนอกตลาดหุ้นก็มีความเคลื่อนไหวทำนองเดียวกัน

นอกจากขยายวงจรอุตสาหกรรมน้ำตาลจากอ้อยไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่น โดยเฉพาะเชื้อเพลิงชีวภาพแล้ว ได้ขยายบทบาทเข้าสู่เกษตรกรรมพื้นฐาน การควบคุมและบริหารการปลูกอ้อยในพื้นที่ขนาดใหญ่ โครงสร้างธุรกิจน้ำตาลดั้งเดิมในประเทศไทย ว่าด้วยความสัมพันธ์กับเครือข่ายเกษตรกรรายย่อย ดูจะให้ความสำคัญมากขึ้น

“นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทในปี 2499 โดยกลุ่มมิตรผลจะส่งเจ้าหน้าที่ส่งเสริม เพื่อแนะนำความรู้ในการทำไร่อ้อยบริการ สนับสนุนปัจจัยการผลิต เทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิต และเงินทุนให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย ตลอดจนฝึกปฏิบัติในการทำไร่อ้อย และการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเกิดความชำนาญในการประกอบอาชีพการทำไร่อ้อย ปัจจุบันกลุ่มมิตรผลมีเกษตรกรคู่สัญญารวมทั้งสิ้น 30,573 ครอบครัว และแรงงานรับจ้างในภาคการเกษตรมากกว่า 1 แสนคน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชนมากกว่า 22,000 ล้านบาท/ปี” กลุ่มมิตรผลตั้งใจแถลงไว้ (www.mitrphol.com)

ขณะเดียวกัน เครือข่ายธุรกิจน้ำตาลไทย มีแผนการใหม่ๆ ขยายธุรกิจออกไปในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะลาวและกัมพูชา ทั้งนี้เชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับโฉมหน้าเกษตรกรรมไทยมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งปรากฏทางเลือกมากขึ้น

กลุ่มน้ำตาลมิตรผลเริ่มต้นธุรกิจในประเทศลาว (ปี 2548) ด้วยแผนการปลูกอ้อยประมาณหนึ่งแสนไร่และตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลมากถึงล้านตัน/ปี ในแขวงสะหวันนะเขต

ส่วนบริษัทน้ำตาลขอนแก่น หรือกลุ่มเคเอสแอล สร้างเครือข่ายประเทศลาวและกัมพูชาอย่างจริงจัง ต่อจากนั้นไม่นาน (ปี 2553)

“Savannakhet Sugar Corporation เป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานพื้นที่สำหรับเพาะปลูกอ้อยประมาณ 10,000 เฮกเตอร์ (62,500 ไร่) จากรัฐบาลลาวโดยบริษัทจะเพาะปลูกอ้อยเอง และมีโรงงานน้ำตาลที่สะหวันนะเขต สามารถหีบอ้อยได้สูงสุดที่ 3,000 ตันอ้อยต่อวัน ผลผลิตจะเป็นน้ำตาลทรายดิบ และผลพลอยได้อื่นๆ” และ “Koh Kong Plantation และ Koh Kong Sugar Industry จำกัด เป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานพื้นที่สำหรับเพาะปลูกอ้อยรวมประมาณ 19,100 เฮกเตอร์ (119,375 ไร่) จากรัฐบาลกัมพูชา โดยบริษัทจะเพาะปลูกอ้อยเองและมีโรงงานน้ำตาลที่เกาะกง สามารถหีบอ้อยได้สูงสุดที่ 6,000 ตันอ้อยต่อวัน ผลผลิตจะเป็นน้ำตาลทรายดิบ และผลพลอยได้อื่นๆ”

ถ้อยแถลงจากรายงานประจำปีบริษัทน้ำตาลขอนแก่น

โฉมหน้าใหม่

เป็นโมเดลแตกต่าง เข้ากับสถานการณ์ และมีพลังขับดันเชิงสังคมไม่น้อย

เครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่ กลุ่มทีซีซี ซึ่งมีธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตร เปิดตัวเมื่อปี 2549 เวลานั้นผู้คนให้ความสนใจแผนการครึกโครม ขยายธุรกิจสู่ประเทศเพื่อนบ้าน

เริ่มจาก ประเทศกัมพูชา ตามแผนการธุรกิจน้ำมันปาล์มครบวงจร จัดการพื้นที่ปลูกปาล์มอันกว้างใหญ่และโรงงงานสกัดน้ำมันปาล์มแห่งแรกในกัมพูชา ในบริเวณใกล้เคียงเมืองสีหนุวิลล์ กับโครงการท่าเรือที่เกาะกง

ทั้งสองโครงการอยู่ในพื้นที่ประมาณ 150,000 ไร่

ส่วนในประเทศลาว ถือเป็นแผนการใหม่อย่างแท้จริง จัดการกับพื้นที่ประมาณ 15,000 ไร่ ปลูกกาแฟแปลงใหญ่ในอาเชียน ณ ที่ราบสูงบอละเวน เมืองปากซ่อง แขวงจำปาสัก

แท้จริงแล้วทีซีซีมีแผนการในประเทศไทยเป็นจริงจังยิ่งกว่า ด้วยห่วงโซ่และครบวงจรอย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะธุรกิจพื้นฐาน จัดการพื้นที่เกษตรกรรมแปลงใหญ่ หรือที่เรียกว่า Agro Plantation Business ดำเนินเกษตรกรรมสมัยในที่ดินของตนเอง (owns land for modern agriculture) มีเนื้อที่กว่า 1 แสนไร่ ซึ่งมีเป้าหมายอย่างเจาะจงเกี่ยวพืชเศรษฐกิจของไทย

เช่น “ปลูกมันสำปะหลัง 50,000 ไร่ด้วยระบบน้ำหยด เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง” อ้อย 20,000ไร่ ข้าว (ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพชรบูรณ์ และหนองคาย) 15,000 ไร่ รวมทั้งปาล์มน้ำมัน ยูคาลิปตัสและสักอีกกว่า 10,000 ไร่

นอกจากนี้ มีพื้นที่ปลูกไม้ผลสำคัญ อย่าง ส้มสายน้ำผึ้ง (อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย) อีก 3,500 ไร่ (ข้อมูลข้างต้นเรียบเรียงมาจาก www.plantheon.co.th)

แผนของทีซีซี และ เจริญ สิริวัฒนภักดี ดูไปแล้วเป็นแผนการซึ่งสอดคล้องกับสาระซึ่ง ธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้นำซีพี กล่าวไว้ล่าสุด (“ธนินท์ เจียรวนนท์” มองภาคธุรกิจการเกษตรของไทย ในรอบ 20 ปีข้างหน้า — http://www.cpthailand.com)

“…แรงผลักดันให้เกิดการปรับตัวในภาคเกษตรครั้งยิ่งใหญ่ มีการรวมพื้นที่ขนาดเล็กเป็นพื้นที่เพาะปลูกแปลงใหญ่ๆ ซึ่งต้องใช้เครื่องจักรกลเข้าไปช่วย จะเกิดกลุ่มอาชีพที่มีความชำนาญเฉพาะด้านเข้าไปรับจ้างเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น ในประเทศไต้หวัน มีมืออาชีพรับจ้างเพาะกล้า ดำนา และเก็บเกี่ยว ฯลฯ ภาคการเกษตรของไทยในอนาคตจะยังดีอยู่ ประเทศไทยจะยังคงเป็นแชมเปี้ยนโลกในการส่งออกผลิตผลทางการเกษตรหลายชนิด เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และกุ้ง เป็นต้น”