OK ออเจ้า

หากพิจารณารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

อย่างที่ทราบกัน การจะเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถูกออกแบบไว้ 2 ทาง

ทางที่ 1 “นายกรัฐมนตรีคนใน”

โดยมาตรา 88 ของรัฐธรรมนูญระบุว่า

ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแจ้งรายชื่อบุคคล ซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

ไม่เกิน “สามรายชื่อ” ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง

และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ

พรรคการเมืองจะไม่เสนอรายชื่อบุคคลก็ได้

หากเสนอชื่อบุคคล มาตรา 89 ระบุว่า

(1) ต้องมีหนังสือ “ยินยอม” ของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อ โดยมีรายละเอียดตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

(2) ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 160

และไม่เคยทำหนังสือยินยอมตาม (1) ให้พรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้งคราวนั้น

แสดงว่า รายชื่อ 3 ชื่อของแต่ละพรรคต้องไม่ซ้ำกัน

 

ถ้าซ้ำกันจะถูกตัดสิทธิทันที

จากนั้น หลังเลือกตั้ง ต้องดำเนินการตามมาตรา 159

คือ ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้

โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า “ร้อยละห้า” ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรเสนอชื่อ

การเสนอชื่อต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย

และมีคะแนนเสียง “มากกว่ากึ่งหนึ่ง” ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

ทางที่ 2 “นายกรัฐมนตรีคนนอก”

ในมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ (หมวดเฉพาะกาล) ระบุว่า

ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้

การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159

หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด

ให้สมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา

ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ

ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน

และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการเลือกนายกฯ ต่อไป

โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมือง หรือไม่ก็ได้

ซึ่งนายกฯ คนนอกก็จะเข้ามาในขั้นตอนนี้

สรุปง่ายๆ จะมี “นายกฯ คนนอก” ได้นั้น จะต้องมีสามขั้นตอนประกอบกัน คือ

1) ส.ส.-ส.ว. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 250 คน เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ

2) รัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว. ทั้งหมด ต้องประชุมลงมติด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 หรือ 500 คนจาก 750 คน ให้มีนายกรัฐมนตรีนอกเหนือจากรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ได้

3) เมื่อยกเว้นแล้ว ให้ ส.ส. เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 หรือ 50 คนเสนอชื่อบุคคลใดก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 251 คน

เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว การเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่าง “ใน” กับ “นอก”

การมาตามเส้นทาง “ใน” ง่ายกว่าเยอะ และใช้เสียงสนับสนุนไม่มากนัก

ซึ่งก็สอดคล้องกับสถานกาณ์ทางการเมืองตอนนี้

นั่นคือ มีการคาดหมายว่า การเลือกตั้ง ส.ส. เสียงส่วนใหญ่ยังจะกระจุกตัวอยู่กับ 2 พรรค คือ เพื่อไทยและประชาธิปัตย์

โดยทั้ง 2 พรรคยืนยันในขั้นต้นว่าจะสนับสนุน “คนใน” พรรคเป็นนายกฯ

ซึ่งนั่นทำให้โอกาสของ “คนนอก” ค่อนข้างยากในการรวบรวมเสียง

เลือกทาง “คนใน” น่าจะง่ายและเป็นไปได้มากกว่า

นี่เองทำให้เกิดกระแสข่าวในสื่อมวลชนอย่างอึกทึกครึกโครมว่า

“เมื่อวันที่ 10 มีนาคม มีรายงานข่าวจากแกนนำในรัฐบาลว่า ภายหลังจากนายชวน ชูจันทร์ ประธานประชาคมตลาดน้ำคลองลัดมะยม ได้เข้ายื่นขอแจ้งเตรียมจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐต่อ กกต. ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมานั้น ในเร็วๆ นี้ พรรคพลังประชารัฐได้เตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยมีระดับรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้เป็นหัวหน้าพรรค เพื่อผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ต่อ โดยจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ซึ่งระหว่างนี้กำลังหารือกันว่าจะขอให้ พล.อ.ประยุทธ์มารับตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรค เพื่อตัดประเด็นปัญหาที่ถูกวิจารณ์ว่าจะเข้ามาเป็นนายกฯ คนนอก อีกทั้งเพื่อแสดงตัวชัดเจนว่าเป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมืองและได้เข้าสู่ระบบการเลือกตั้ง ทั้งนี้ นโยบายจะสานต่อการทำงานของรัฐบาลชุดนี้เกี่ยวกับการเดินหน้าโครงการประชารัฐ”

ข่าวนี้สร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองทันที

เพราะดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่ดีและเป็นไปได้มากที่สุดของ พล.อ.ประยุทธ์

และเมื่อไปดูคนจดแจ้งตั้งพรรค นอกจากนายชวน ชูจันทร์ ซึ่งถูกระบุว่าเคยเป็นเพื่อนนักเรียนของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แล้ว

ยังมีชื่ออดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล เพื่อนเตรียทหารรุ่น 12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ด้วย

ทำให้พรรคพลังประชารัฐมีเค้าลาง “การเมือง” บางอย่าง ที่ทำให้เชื่อว่านี่อาจเป็นพรรคการเมืองที่ถูกวางไว้เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

พร้อมกับมีกระแสข่าวว่าหลังจากได้รับการอนุมัติตั้งพรรคแล้ว จะดันให้นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คนหนึ่งคนใดเป็นหัวหน้าพรรค

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น นายสมคิด นายสนธิรัตน์ และนายอุตตม ได้ปฏิเสธการเข้าไปเกี่ยวข้องกับพรรคดังกล่าว

เช่นเดียวกับตัวหลักอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ที่บอกว่า

“ผมไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรสักอย่างกับพรรคพลังประชารัฐ ก็ดูจากหนังสือพิมพ์”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำ ถ้าจำเป็นต้องตัดสินใจ จะเลือกพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ และจะรับนั่งเก้าอี้ประธานที่ปรึกษาด้วยหรือไม่

คำตอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ คือ

“ยังไม่รู้เหมือนกัน และวันนี้ก็ยังไม่เห็นมีใครเชิญผมไปนั่งเก้าอี้ประธานที่ปรึกษาพรรคเลย มีแต่พูดกันไป และผมจะตัดสินใจอย่างไรก็ไม่ทราบเช่นกัน ขอเวลาทำงานในส่วนของผมไปก่อน การเมืองยังมีเวลาว่ากันต่อไป”

จะพบว่า แม้ท่าทีจะเป็นไปในภาคเสธ

แต่กระนั้น ก็ยังมีการแบ่งรับแบ่งสู้ ไม่ได้ปฏิเสธแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ซึ่งในทางการเมืองถือว่ายังมีความเป็นไปได้

เพราะถึงตอนนี้ ทางเลือกของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้มีมากนัก

นั่นคือ

1) จะต้องเดินหน้าเลือกตั้ง จะบิดพลิ้วหรือเลื่อนออกไปอีกคงไม่ได้ เพราะจะนำไปสู่ “วิกฤตศรัทธา” รวมถึงปฏิกิริยาจากนานาชาติมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

2) เมื่อต้องเข้าสู่สนามเลือกตั้ง การจะพึ่งตัวละครเดิมๆ ไม่ว่า กปปส. หรือประชาธิปัตย์ ไม่น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีนัก เพราะจะต้องถูก “ต่อรอง” ทางการเมืองอย่างหนัก

3) จำเป็นจะต้องมีฐานการเมืองของตนเอง ซึ่งก็คือพรรคที่แม้จะไม่สามารถเปิดตัวได้อย่างชัดเจน แต่ต้องสามารถกุมบังเหียนได้เต็มมือ

ซึ่งอาจจะไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐเพียงพรรคเดียว แต่อาจจะมีอีกหลายพรรค และไปตัดสินใจช่วงท้ายๆ

4) แต่ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหน ทางเลือกเข้าสู่นายกรัฐมนตรี น่าจะเป็นทางคนในมากกว่าคนนอก

เพราะง่ายกว่ามาก

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งในพรรคอย่างประธานที่ปรึกษาพรรคอย่างที่เป็นข่าว แม้นายวิษณุ เครืองาม มือกฎหมาย ยืนยันว่าไม่มีกฎหมายใดห้ามไว้

แต่เพื่อที่จะให้สถานะความเป็นผู้นำรัฐบาลและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ไม่ต้องเผชิญแรงเสียดทานมากนัก

โดยเฉพาะข้อกล่าวหาใช้อำนาจหน้าที่ไปหาเสียง หรือแทรกแซงการเลือกตั้ง

เพียงแค่ไปปรากฏเป็น 1 ใน 3 บัญชีรายชื่อผู้ถูกเสนอเป็นนายกฯ ของพรรคการเมือง ก็น่าจะลดแรงครหาลงได้

จากนั้นก็ปล่อยให้เป็นสมาชิกพรรคลงลุยสนามเลือกตั้ง

ซึ่งก็เป็นที่คาดหมายว่าจะไม่ใช่คนหน้าใหม่ หรือคนโนเนม แต่คาดหมายว่าจะมีการดึงเอานักการเมืองมืออาชีพเข้ามาเต็มที่

โดยมีการมองไปยังคอนเน็กชั่นเดิมที่นายสมคิดมีอยู่ ไม่ว่ากลุ่มนายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุชาติ ตันเจริญ หรือกลุ่มการเมืองที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ คสช. ไม่ว่ากลุ่มนายสนธยา คุณปลื้ม กลุ่มนายไชยา สะสมทรัพย์ อาจเข้ามาเป็นแรงเสริม

ทั้งนี้ หากประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง กลายเป็นพรรคขนาดกลาง ค่อยกลับไปฟื้นสัมพันธ์เก่ากับพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย เพื่อรวมขั้วจัดตั้งรัฐบาล

โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มาตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งย่อมมีความชอบธรรมมากกว่าการรัฐประหารอย่างยิ่ง

พิจารณาตามทางเลือกข้างต้นคือมาแบบ “คนใน”

ดูน่าจะ “โอเคกับออเจ้าตู่” มากที่สุด