ในประเทศ : ทุจริตรายกระทรวงยุค คสช. ไม่มีนักการเมือง(ก็)โกงได้ เชื้อโรคร้าย คือใครกันแน่?

แทบจะเป็นเรื่องปกติไปแล้วกับการนั่งอ่านข่าวการทุจริตในวงราชการ

เมื่อสัปดาห์ก่อนมีข่าวดัง หลังนักศึกษาคนหนึ่งทนไม่ไหวต้องออกมาแฉขบวนการโกงเงินคนไร้ที่พึ่งจนมีการโยกย้ายหรือเด้งข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หลายคน จนล่าสุดการขยายผลการสอบทุจริตเพิ่มเป็น 44 จังหวัดเป็นข่าวช็อกทั้งประเทศ ผลาญงบฯ เฉียดร้อยล้าน

สัปดาห์ต่อมาเป็นข่าวการทุจริตของข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการโดยเป็นเงินเกี่ยวกับเงินทุนการพัฒนาการศึกษา จากการตรวจสอบบัญชีพบมีการโอนเงินกองทุนเข้าบัญชีบุคคล 22 บัญชี ซึ่งเป็นญาติพี่น้องใช้นามสกุลเดียวกัน เป็นเงินกว่า 88 ล้านบาท แทนที่จะโอนให้แก่เด็กหญิงในภาวะยากลำบาก ทำให้ข้าราชการหลายคนถูกเด้งอีกเช่นกัน ไม่นับก่อนหน้านี้ที่กระทรวงนี้ยังมีข่าวอาคารอควาเรียมหอยสังข์ มูลค่า 1,200 ล้านบาท ถูกทิ้งไว้ก่อสร้างไม่เสร็จ

ขณะที่สัปดาห์นี้ก็ได้เห็นข่าวฉาวข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข หลังผู้รับเหมาสร้างโรงพยาบาลออกมาแฉว่ากรรมการไม่ยอมเซ็นรับงานโดยขอเงิน 2 ล้านพร้อมรถปาเจโร่ 1 คัน

เรียกได้ว่าข่าวคอร์รัปชั่นผุดขึ้นติดๆ กันจนน่าตกใจ ไม่ว่าฝ่ายหนุนรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ก็พูดถึงกันอย่างมาก

 

หันไปดูคำแถลงในวันต่อต้านคอร์รัปชั่นประเทศไทยที่ผ่านมา ก็จะพบข้อมูลที่สอดคล้องกันอย่างน่าตกใจ โดย พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบข้าราชการไทยทุจริตมากกว่า 200 คดี มูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท ไล่ผู้ทุจริตออกไปแล้ว 8 คน ให้พ้นจากตำแหน่งอีก 25 คน ที่เหลืออยู่ระหว่างสอบสวน

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์สั่งการให้ ปปท. ตรวจสอบการใช้งบประมาณของหน่วยงานภาครัฐหมดทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน พร้อมยืนยันไม่ได้ปล่อยปละละเลย

ยิ่งสอดคล้องกับตัวเลขในรายงานของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประจำปีนี้ ที่สำรวจพบอัตราจ่ายใต้โต๊ะที่พุ่งสูงสุดในรอบ 3 ปี

ประเมินค่าเสียหายหลักแสนล้าน

 

มาดูบทเรียนเรื่องนี้จากกรณ์ จาติกวณิช นักการเมืองคนดังจากพรรคประชาธิปัตย์ ให้ข้อคิดที่น่าสนใจโดยโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กแฟนเพจ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

กรณ์เริ่มต้นข้อเขียนโดยบอกว่า ช่วงนี้มีข่าวหนาหูเรื่องการทุจริตในระบบราชการทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับวัด โรงเรียน คนจน ผู้ป่วยเอดส์ ฯลฯ บางกรณีกินเปอร์เซ็นต์กันสูงถึง 80% ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า “ไม่มีนักการเมือง” ก็โกงได้ (และอาจจะน่ากลัวกว่า เพราะไม่มีฝ่ายค้านคอยจับผิด)

กรณ์กล่าวต่อว่า ผมเห็นว่าการช่วยเหลือประชาชนยังจำเป็น แต่จากนี้ไปเราต้องพยายามช่วยโดยตรง ไม่ให้ผ่านมือข้าราชการ ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่าข้าราชการไม่ดีหมด แต่ในทุกวงการ เมื่อมีเงินผ่านมือ “คนกลาง” เมื่อไร เป็นยุ่งทุกที

กรณ์เห็นว่าการให้อำนาจคนกลางในการจัดการงบฯ ซึ่งคนกลางในที่นี้ก็คือข้าราชการมีปัญหาอย่างมาก พร้อมสรุปปัญหาได้อย่างดีว่า โดยธรรมชาติคนส่วนใหญ่ไม่ขี้ขโมย แต่ทุกคนมีความอ่อนไหวและความต้องการ ดังนั้น อย่าไปเปิดช่องให้คนดีกลายเป็นโจร

ความคิดเห็นของกรณ์น่าสนใจ เพราะกำลังชี้ให้เราเห็นว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยคนดีอย่างไรก็ตาม เราก็ควรมีระบบหรือโครงสร้างของสังคมกฎหมายที่ต้องไม่เปิดช่องให้คนดีกลายเป็นโจร

บทสรุปของกรณ์ ทำให้เราเห็นภาพว่าการรณรงค์ต้านโกง การรณรงค์ให้เป็นคนดี ที่ใช้เพียงคำพูดสวยหรูไม่เพียงพอแล้ว เพราะการไม่เปิดช่องให้คนดีกลายเป็นโจรนั่นหมายถึงเราต้องเข้าไปจัดการกับระบบกฎหมาย การเมือง ส่งเสริมระบบตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ และการไม่เอาอำนาจเด็ดขาดในการทำหน้าที่ต่างๆ ไปให้ใครใช้โดยไม่สามารถตรวจสอบได้ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับงบประมาณ

 

ขณะที่จาตุรนต์ ฉายแสง นักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย ฟันธงไปเลยว่า

“การปราบคอร์รัปชั่นและการปฏิรูปประเทศเป็นข้ออ้างสำคัญของการยึดอำนาจและอยู่ในอำนาจของ คสช. มาตลอด แต่เกือบ 4 ปีมานี้เรากลับได้ระบบในการปราบปรามคอร์รัปชั่นที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรม และไม่อาจฝากความหวังอะไรไว้ได้เลย นี่ย่อมหมายความว่าทั้งการปราบคอร์รัปชั่นและการปฏิรูประบบในการปราบปรามคอร์รัปชั่นภายใต้การปกครองของ คสช. ล้มเหลว” จาตุรนต์ระบุ

ด้านความเห็นของนักวิชาการอย่าง ประจักษ์ ก้องกีรติ อ.รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ทำงานวิจัยเชิงเปรียบเทียบเกี่ยวกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น โดยเลือกศึกษาอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ หรือชิลี ชี้ให้เห็นว่าจากการที่ประเทศเหล่านี้เปลี่ยนผ่านจากสังคมเผด็จการไปเป็นสังคมประชาธิปไตย ก็เริ่มต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชั่นได้ดีขึ้น สังคมมีความโปร่งใสมากขึ้น

ประจักษ์ชี้ว่า ธรรมชาติของสังคมเผด็จการคือการเป็นสังคมปิด เมื่อเป็นสังคมปิดก็ง่ายที่จะเกิดคอร์รัปชั่น เพราะหนึ่ง-อำนาจถูกผูกขาดรวมศูนย์ และสอง-ปิดกั้นไม่ให้สื่อและประชาชนตรวจสอบได้

แต่กรณีประเทศไทย ทำไมจึงมีคนเชื่อว่าคนดีจะสามารถช่วยประเทศได้โดยไม่คอร์รัปชั่น หรือเพราะเราถูกฝังหัวและได้ข้อมูลมาตลอดว่า นักการเมืองมักจะเป็นฝ่ายคอร์รัปชั่น ทั้งที่จริงต้องไม่ลืมว่าตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ระยะเวลามากกว่าครึ่ง ไทยปกครองด้วยระบบราชการเป็นใหญ่

“ปัญหาของสังคมไทยคือใช้กรอบศีลธรรมไปทำความเข้าใจคอร์รัปชั่น ซึ่งไม่มีวันจะเข้าใจได้ และไม่มีวันจะแก้ได้ เพราะคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องของเศรษฐศาสตร์การเมือง ไม่ใช่เรื่องศีลธรรม โจทย์เรื่องคอร์รัปชั่นกับโจทย์เรื่องประชาธิปไตยเป็นโจทย์เดียวกัน คือต้องการทำให้สังคมโปร่งใสขึ้น”

 

เช่นเดียวกับ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อ.รัฐศาสตร์ จุฬาฯ เคยเขียนบทความเตือนเรื่องนี้ไว้ในมติชนรายวันว่า

“ใช่ว่าประชาธิปไตยนั้นไม่มีการคอร์รัปชั่น แต่การคอร์รัปชั่นในประชาธิปไตยนั้นถูกเปิดโปงและสืบค้นได้อย่างเป็นระบบ ทั้งจากสื่อ และจากการตรวจสอบขององค์กรต่างๆ เว้นแต่หากประชาธิปไตยนั้นไม่มีคุณภาพ เราจะรู้สึกว่าการตรวจสอบนั้นไม่น่าเชื่อถือ แต่ในกรณีของเผด็จการนั้น การคอร์รัปชั่นมีลักษณะที่เร้นลึก ส่วนหนึ่งเพราะตรวจสอบไม่ได้ และส่วนหนึ่งเพราะมันเป็นการคอร์รัปชั่นท่ามกลางความหวาดกลัว เพราะพื้นฐานของการกระจายอำนาจไม่เท่ากัน ผู้มีอำนาจสามารถจัดการผู้คนที่หาญกล้ามาตรวจสอบได้มากกว่า”

สุดท้าย โดยสถิติระดับโลกแล้ว ประเทศส่วนมากที่มีคะแนนคอร์รัปชั่นสูง ก็เป็นประเทศที่เป็นเผด็จการ รองลงมาคือ ประเทศที่มีประชาธิปไตยด้อยคุณภาพ มีระบบการเมืองที่ให้อำนาจแก่ผู้นำมาก และการตรวจสอบน้อย

จากปัญหาที่ผ่านมา อาจจะจัดประเทศไทยให้อยู่ในประเทศประชาธิปไตยที่ด้อยคุณภาพก็ได้

คำถามคือ หากมันด้อยคุณภาพ ฉะนั้น เราควรกลับไปเป็นประเทศเผด็จการ หรือเราจะช่วยกันเปลี่ยนประเทศให้เป็นชาติที่มีประชาธิปไตยที่มีคุณภาพกันดี