มนัส สัตยารักษ์ : ปราบโกง เรื่องที่รัฐบาลหมดความชอบธรรมจะพูดถึง

เรื่องคอร์รัปชั่นในประเทศไทยกลายเป็นเรื่องพูดยากไปเสียแล้ว เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร่โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะ คสช. หมดเครดิตในเรื่องนี้ สื่อต่างประเทศวิพากษ์รุนแรงถึงขนาดว่า

“รัฐบาลหมดความชอบธรรมที่จะพูดถึงเรื่องปราบคอร์รัปชั่น” อีกต่อไป

รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีมีทางเลือกเพียง 3 ทางที่จะเอ่ยถึงสถานการณ์ของคอร์รัปชั่นในประเทศไทย

ทางเลือกแรกก็คือไม่พูด ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้

ทางเลือกที่สองก็คือตอบโต้และปฏิเสธว่าไม่จริง

อีกทางเลือกหนึ่งก็คือ รับสารภาพว่าเป็นความจริง

จะเป็นทางเลือกใดก็แล้วแต่ ล้วนแต่ทำให้ภาพรัฐบาลติดลบทั้งสิ้น บางทางเลือกสร้างความอึดอัดแก่ทุกคนรอบข้าง บางทางเลือกตามมาด้วยเสียงฮาสนั่น ดูเหมือนใส่ร้ายประเทศตัวเอง และบางทางเลือกทำให้เกิดความโกรธและเกลียดชังขึ้นในสังคมส่วนรวม

เมื่อเริ่มยึดอำนาจได้ใหม่ๆ คสช.มีผลงานที่เป็นรูปธรรมชัดเจนคือ “ปราบโกงจำนำข้าว” ที่เกิดขึ้นในยุคของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้เวลาประมาณ 3 ปี สามารถให้ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกและยึดทรัพย์ผู้กระทำความผิดได้จำนวนหนึ่ง

แต่ก็เหมือนกับคดีอื่นๆ ก่อนหน้านี้ที่ลงโทษในห้วงเวลาของเผด็จการ หรือในบางกรณีใช้กฎหมายพิเศษซึ่งหลายประเทศไม่ยอมรับ ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษจึงได้สถานะเป็นผู้ลี้ภัยการเมืองมาจนถึงวันนี้

อีกคดีหนึ่งที่เป็นรูปธรรมคือ คดีนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม จากคดีถูกปล้นทรัพย์พฤศจิกายน 2554 บานปลายเป็นร่ำรวยผิดปกติ แจ้งทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ซึ่งล่าสุดศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษาเมื่อกันยายน 2560 ลงโทษจำคุก 10 เดือนโดยไม่รอลงอาญา และยึดทรัพย์ 64 ล้านบาท

คดีอันสืบเนื่องมาจากการทุจริตคอร์รัปชั่นของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม แม้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯจะอ่านคำพิพากษาในยุคของ คสช. แต่ในความเป็นจริง เหตุเกิดแต่ปี 2554 ความก้าวหน้าและความสำเร็จ ล้วนเป็นผลมาจากความสามารถและเอาจริงของตำรวจ อัยการ ป.ป.ช. และศาลต่างๆ ในยุคก่อน คสช. ทั้งสิ้น

ในยุคเริ่มต้นของ คสช. ที่ทำท่าจะเอาจริงกับข้าราชการหลายสิบราย แต่ในที่สุดพบว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอเอาผิดใครได้ แถมต้องเยียวยาแก่ผู้รับเคราะห์ไปตามระเบียบ

มองอย่างวิเคราะห์กันให้ลึกซึ้งก็อาจจะถือว่า คสช. มองข้าราชการในแง่ร้ายเกินไป หรืออีกนัยหนึ่งอาจจะเป็นเหตุผลของ “ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่” ไม่อยากกำหนดมาตรฐานความผิดที่พวกตัวเองก็ทำอยู่เป็นประจำหรือทำอย่างร้ายแรงกว่า บ้านเมืองเสียหายมากกว่า

เราจะสังเกตเห็นได้ว่า คนของฝ่าย คสช. มีพฤติกรรมแปลกประหลาดขึ้นทุกวัน แต่ไม่ถูกตรวจสอบ ไม่ถูกกล่าวหา แถมยังจะย้อนมาเล่นงานสื่อที่ประโคมข่าวอีกด้วย

ยกตัวอย่าง เช่น… การเอาเงินหลวงเข้าบัญชีส่วนตัว การเปิดบริษัทประมูลงานในบ้านพักของทางราชการ การซุกหุ้นไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินตามความเป็นจริง มีทรัพย์สินบอกความร่ำรวยอย่างผิดปกติ

ข่าวที่สร้างความชอกช้ำใจแก่ราษฎรผู้เสียภาษีอย่างมากก็คือ คสช. ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ลำบากยากจน เช่น…ข่าวเช่าเหมาเครื่องบิน 20 ล้านบาทไปประชุมหรือดูงาน ค่าอาหารมื้อละ 6 แสนบาทสำหรับคน 30 กว่าคน ค่าเงินเดือน สนช. เดือนละเกือบ 30 ล้านบาท คนที่ทำงานให้ คสช. รับเงินเดือน 2 ทาง มีสิทธิลาไม่อั้นถ้าอ้างว่าต้องไปทำงานอีกแห่งหนึ่ง ค่าเช่ารถประจำตำแหน่งปีละกว่า 100 ล้าน

ข่าวตัวอย่างการทุจริตโดยชอบด้วยกฎหมายในพารากราฟข้างต้น เป็นสาเหตุที่ทำให้คนระดับ “บิ๊ก” ไม่กล้าปราบโกงอย่างจริงจัง ไม่กล้าแม้แต่จะพูดถึง เพราะต่างตระหนักดีว่าตัวเองนั่นแหละที่ควรจะโดนปราบเป็นคนแรก

ความล้มเหลวในการปราบโกงก็เท่ากับความสำเร็จในการโกง ความสำเร็จในการโกงทำให้คนโกงย่ามใจ เราจึงเห็นความแปลกประหลาดชนิดเหลือเชื่อเกิดขึ้นมากมายในประเทศของเรา และเรื่องที่ดังอื้อฉาวที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือเรื่อง “นาฬิการยืมพื่อน” ถึงกับมีรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลเอาไปพูดถึงในต่างประเทศ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ ม.หอการค้าไทย แถลงเรื่อง “การจ่ายเงินใต้โต๊ะ” กล่าวว่า “อัตราการจ่ายเงินใต้โต๊ะปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 5 ถึง 15 สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจปีละ 100,000-200,000 ล้านบาท

งบประมาณรายจ่ายของรัฐ ปี 2560 จำนวน 2,932 ล้านล้านบาท มีโอกาสถูกโกงไปถึง 291,000 ล้านบาท และอาจจะสูงถึง 874,800 ล้านบาท

อัตราจ่ายเงินใต้โต๊ะที่นายธนวรรธน์พยากรณ์ปีนี้น่าจะสูงกว่าปีที่แล้ว เพราะรัฐมีซูเปอร์โปรเจ็กต์มากมาย แต่ส่วนที่น่าวิตกก็คือการทุจริตในแวดวงศาสนาหรือเรื่อง “เงินทอน” กับการทุจริตเงินสงเคราะห์คนยากไร้ทั่วประเทศ (ขณะนี้ตรวจพบแล้ว 12 จังหวัด)

ทั้ง 2 กรณีบอกความเสื่อมทรามอย่างสุดขั้วของสังคม… โกงกระทั่งพระหรือเป็นพระยังโกง กับกรณีปล้นคนยากไร้

อีกโครงการหนึ่งที่ชวนวิตกเป็นอย่างยิ่งก็คือ “โครงการไทยนิยมยั่งยืน” ซึ่ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นผู้ดูแล

แบ่งการลงพื้นที่เป็น 3 กลุ่ม ใช้งบประมาณกลุ่มละ 100,000 ล้านบาท โครงการไทยนิยมเป็น “นามธรรม” ชนิดจับต้องไม่ได้ หรือไม่มีอะไรให้จับต้อง

พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เน้น 2 เรื่องตามแนวทางของนายกรัฐมนตรี คือ

สะท้อนความต้องการของประชาชน กับการดำเนินโครงการ ต้องมีความโปร่งใส

มหาดไทยจะวางกรอบการใช้งบประมาณ เงิน 300,000 ล้าน ประกอบด้วย

1. บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

2. การพัฒนาให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน และ

3. การเกษตรกรรม ปรับเปลี่ยนให้ประชาชนปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด

วางกรอบไว้อย่างนี้ก็พอจะมองเห็นเป็นรูปธรรมรางเลือน

แต่อดไม่ได้ที่จะนึกถึงภาพนายกรัฐมนตรี กับบรรดาหัวหน้าหน่วยงานและองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นทั้งของรัฐและเอกชน ที่แห่กันขึ้นไปยืนยกแขนเป็นเชิงสัญลักษณ์ “ต่อต้านคอร์รัปชั่น” เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2560 ซึ่งสหประชาชาติกำหนดเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล

เราก็คงจะได้ภาพเชิงสัญลักษณ์ชวนฮาของ “ไทยนิยมยั่งยืน” ทำนองนี้แหละ

ส่วนเงิน 3 แสนล้านบาทนั้นก็คงจะละลายกลายเป็น “ค่าลงพื้นที่” ตามแบบฉบับของ คสช. นั่นคือ ค่าเงินเดือน (2 ทาง) ค่าที่ปรึกษาและผู้ช่วยเหลือ ค่าเบี้ยเลี้ยง เบี้ยประชุม ค่าเช่ายานพาหนะประจำตำแหน่ง ฯลฯ