เทศมองไทย : ข้อเท็จจริงอีกบางด้าน ว่าด้วย “ปลาจากฟุคุชิมะ”

กรณี “ปลาล็อตแรก” ในรอบ 7 ปี จากท้องทะเลนอกชายฝั่งจังหวัดฟุคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ที่สามารถ “ส่งออก” ไปยังต่างประเทศได้ สร้างความแตกตื่นขึ้นไม่น้อย เมื่อถูกระบุชัดว่า จุดหมายปลายทางของเนื้อปลาล็อตดังกล่าว อยู่ที่ 12 ภัตตาคาร “ญี่ปุ่น” ในกรุงเทพมหานคร ของไทย

ถึงกับมีบางกลุ่มออกมาประท้วง เรียกร้องให้มีการสุ่มตรวจสอบซ้ำ เพราะไม่เชื่อว่าปลาล็อตดังกล่าวปลอดภัย

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ กว่าเรื่องราวจะปรากฏออกสู่สาธารณะ จนเป็นที่มาของการแถลงของหน่วยงานที่รับผิดชอบของไทยและมีการเรียกร้องให้สุ่มตรวจใหม่ เนื้อปลาทั้งหมด คือ ปลาลิ้นหมา หรือปลาตาเดียว 100 กิโลกรัม กับเนื้อปลาตาเดียวลายเหลือง อีก 10 กิโลกรัม นั้นส่งถึงไทยในวันที่ 2 มีนาคมแล้วเสิร์ฟให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการของภัตตาคารไปเรียบร้อยแล้ว

คำถามตามมาก็คือเราควรตกอกตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้หรือไม่ ควรทำอย่างไรต่อไป? ควรยอมรับและปล่อยให้เกิดการนำเข้าล็อตต่อๆ ไปอีกหรือเปล่า?

ทั้งหมดนั่น ขมวดรวมกันเข้าเป็นเครื่องหมายคำถามใหญ่โตเรื่องเดียว นั่นคือ ปลาจากฟุคุชิมะ ปลอดภัยเพียงพอต่อการบริโภคหรือไม่?

 

หลังจากเกิดเหตุโศกนาฏกรรมซ้ำซ้อนทั้งแผ่นดินไหว สึนามิ และวิกฤตนิวเคลียร์ขึ้นเมื่อ 7 ปีก่อน คำถามดังกล่าวกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้การประมงนอกชายฝั่งฟุคุชิมะยุติลงโดยสิ้นเชิง

ข้อมูลของ อาซาฮี ชิมบุน บอกเอาไว้ว่า ชาวประมงที่นั่นกลับมาทำงานอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2012 หลังจากยุติการประมงทุกชนิดกว่า 1 ปี ออกไปจับปลาอีกครั้ง

ไม่ใช่เพื่อนำสัตว์น้ำที่จับได้มาขาย แต่นำมา “ทดสอบ” ตรวจหาระดับปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี

ข้อมูลจาก จิจิเพรส ระบุว่า ชาวประมงฟุคุชิมะ ทดลอง ตรวจสอบ จนกระทั่งถึงเดือนเมษายน 2015 เมื่อตัวอย่างสัตว์น้ำที่จับได้จากพื้นที่นอกชายฝั่งไม่ปรากฏการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี ซีเซียม เกินมาตรฐานความปลอดภัยของญี่ปุ่น

นั่นเท่ากับว่าเป็นเวลาเกือบ 3 ปี นับตั้งแต่บัดนั้นเรื่อยมาจนถึงขณะนี้ที่สัตว์น้ำที่จับได้จากพื้นที่ประมงนอกชายฝั่งฟุคุชิมะไม่ปรากฏการปนเปื้อนในระดับที่เป็นอันตราย หรือในระดับสูงเกินกว่ามาตรฐานความปลอดภัยที่ญี่ปุ่นกำหนดไว้

ในช่วงเวลาดังกล่าว สหกรณ์ชาวประมงแห่งโซมะ ฟุตาบะ ที่มี คันจิ ทาจิยะ เป็นประธาน คัดสรรแต่เฉพาะที่ปลอดภัยส่งขายให้กับตลาดทั่วประเทศ

เรื่อยมาจนถึงขณะนี้จึงสามารถ “ขาย” ให้กับต่างประเทศได้เป็นครั้งแรก เขาบอกกับผู้สื่อข่าวให้จิจิเพรสว่า ดีใจมากที่สามารถขายปลาจากจังหวัดนี้ไปทั่วโลกได้อีกครั้ง

นั่นคือความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งของเหตุการณ์ เป็นสภาพของเจ้าของสินค้า ซึ่งอาซาฮี ชิมบุน บอกไว้ว่าตลอดทั้งปี 2017 ที่ผ่านมา จับสัตว์น้ำขึ้นมารวมแล้วหลงเหลือปริมาณเพียง 13 เปอร์เซ็นต์ของที่เคยจับขายในแต่ละปีก่อนหน้าโศกนาฏกรรมเท่านั้น หายไปมากมายถึง 87 เปอร์เซ็นต์

ทั้งๆ ที่โดยข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ จากปากของนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ประจำสำนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลและบรรยากาศของมหาวิทยาลัยสโตนี บรู๊ก ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา อย่าง นิโคลัส ฟิสเชอร์ ที่บอกเอาไว้ว่า สรรพสิ่งปรักหักพังทั้งหลายที่ถูกกวาดลงทะเลไปกับสึนามิ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำชั้นเลิศในทะเลนอกชายฝั่งฟุคุชิมะ

ส่งผลให้ปริมาณสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นพรวดพราดจากเดิมถึง 10 เท่าตัว!

 

จริงอยู่ มีข้อเท็จจริงที่ว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของกัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลออกมาจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ฟุคุชิมะ ไหลลงมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นปรากฏการณ์การรั่วไหลลงทะเลมากที่สุดในบรรดาวิกฤตนิวเคลียร์ระดับเดียวกันที่เคยเกิดขึ้นในโลกนี้ ทั้ง เชอร์โนบิล และ ทรีไมล์ ไอส์แลนด์ แต่ ฟิสเชอร์ ระบุชัดเจนว่าปริมาณกัมมันตภาพรังสีดังกล่าวไม่ได้สร้างปัญหาให้กับระบบนิเวศในบริเวณนั้นแต่อย่างใด

ทางหนึ่งนั้นกัมมันตภาพรังสีส่วนหนึ่งมี ฮาล์ฟไลฟ์ หรือช่วงครึ่งชีวิตสั้นมาก ทำให้สลายตัวกลายเป็นสิ่งไร้พิษภัย อีกส่วนหนึ่งถูกกระแสน้ำในแปซิฟิกที่เรียกว่า “กระแสคุโรชิโอะ” (เหมือนกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตีมในแอตแลนติก แต่เกิดในแปซิฟิก) พัดพาออกไปทั่วมหาสมุทรแล้ว “เจือจางลง”

สถาบันสมุทรศาสตร์ วู้ดโฮล ของสหรัฐอเมริกา ชี้ว่า กัมมันภาพรังสีที่เป็นปัญหามากที่สุด คือที่มี ฮาล์ฟไลฟ์ นานที่สุด อย่างสตรอนเตียม-90 กับ ซีเซียม-137 ที่มีฮาล์ฟไลฟ์ นาน 30 ปี เมื่อปี 2016 ทีมวิจัยของวู้ดโฮลพบว่าระดับของสารทั้ง 2 ในแปซิฟิกสูงขึ้นกว่าเดิม แต่ระดับที่สูงขึ้นนั้น ยังต่ำกว่าระดับปลอดภัยตามมาตรฐานของสหรัฐอเมริกาอยู่มาก

เคน บูสเซลเลอร์ นักเคมีรังสีของวู้ดโฮล ชี้ว่า ระดับกัมมันตภาพรังสีนอกชายฝั่งฟุคุชิมะลดลงจากระดับเมื่อปี 2011 มาก แต่ยังไม่ลดลงต่อเนื่องและแน่นอน เนื่องจากยังคงเกิดการรั่วไหลอยู่

ดังนั้น หากมีคนบอกว่าถึงทุกวันนี้กัมมันตภาพรังสียังรั่วไหลอยู่ ก็เป็นความจริง เหมือนกับที่บอกว่ามีผู้พบกัมมันตภาพรังสีจากฟุคุชิมะ ในปลาแซลมอนที่จับได้ในที่ห่างไกลถึงชายฝั่งรัฐวอชิงตัน ก็จริงอีกเหมือนกัน

 

แต่ต้องบอกความจริงต่อด้วยว่า ระดับกัมมันตภาพรังสีที่พบในแซลมอนที่ว่านั้น อยู่ในระดับเดียวกับ หรือต่ำกว่าระดับรังสีที่พบในธรรมชาติทั่วไปด้วย

คันจิ ทาจิยะ ประธานสหกรณ์ชาวประมงโซมะ ฟุตาบะ ในฟุคุชิมะ บอกกับจิจิเพรสไว้ว่า “เราจะส่งปลาที่ปลอดภัยไปให้” ภัตตาคารในเมืองไทย

ไม่ต้องบอกก็ได้ว่า เขาไม่ต้องการเสียลูกค้าที่เรียกความมั่นใจให้กับ “ปลา” ที่ขึ้นชื่อของพวกเขาอีกแล้ว

จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ต้องตัดสินใจใคร่ครวญกันเอาเองครับ