ในประเทศ : ขอน้อมกาย ก้มหัว เป็น “งัว” งาน

ขอบคุณภาพจาก TJ's True South

ขอน้อมกาย ก้มหัว เป็น “งัว” งาน

ข้างต้น

เป็นบทกวีของ “ศิลป พิทักษ์ชน” อันเป็นหนึ่งในนามปากกาของ “จิตร ภูมิศักดิ์”

โดยแปลมาจากบทกวีของ “หลู่ซิ่น” นักเขียน-กวีชาวจีนผู้เลื่องชื่อ

ซึ่ง จิตร ภูมิศักดิ์ แปลและเขียนเป็นลายมือ พิมพ์เผยแพร่ในนิตยสารปิตุภูมิรายสัปดาห์

โดยระบุเป็นของ “หลู่ สวิ่น”

มีเนื้อความเต็มๆ ว่า

“แม้คนพันบัญชาชี้หน้าเย้ย

จงขวางคิ้วเย็นชาเฉยเถิดสหาย

ต่อผองเหล่านวชนเกิดกล่นราย

จงน้อมกายก้มหัวเป็นงัวงาน”

กวีบทนี้ถูกกล่าวขานอีกครั้งจากปากของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ขณะให้สัมภาษณ์ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ The101.world เรื่อง “คนรุ่นใหม่กับการเมืองแห่งอนาคต”

ซึ่งมีคนเข้ามาดูคลิปมากกว่าแสนคน

สะท้อนถึงความสนใจของสังคมที่มีต่อคนรุ่นใหม่ซึ่งประกาศจะตั้งพรรคการเมือง สู้ศึกการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

โดยเมื่อถูกพิธีกรรายการถามว่า รู้สึกอย่างไรที่มีคนกล่าวว่า พรรคการเมืองใหม่ไม่ต่างจาก “ทักษิณ ชินวัตร”

นายธนาธรกล่าวว่า “ผมคิดว่าคงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ มีคนพูดจริงๆ ว่า มันจะต่างอะไรจากทักษิณ และสบประมาทว่าจะไม่สำเร็จ ผมคิดว่า มันไม่มีอะไรที่จะพิสูจน์ได้ว่าจะเป็นอย่างไร นอกจากให้โอกาสเราทำ”

“เวลาเจอคำถามนี้ ผมคิดถึงอะไรรู้ไหม ผมคิดถึงกลอนบทหนึ่งของจิตร แม้คนพันบัญชาชี้หน้าเย้ย แล้วจบลงที่ว่า จงน้อมกายก้มหัวเป็นงัวงาน ผมคิดแบบนี้จริงๆ คือ ขอก้มหัวเป็นงัวงาน ผมคิดอย่างนั้นจริงๆ”

ซึ่งคำพูดนี้ ไปพ้องกับภาพที่มีการเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กอย่างกว้างขวาง นั่นคือ การที่นายธนาธรก้มหน้าก้มตาฝึกลากล้อรถยนต์ เพื่อให้ร่างกายแข็งแกร่ง

เพื่อที่ผ่านการผจญภัยด้วยการเดินทางด้วยเท้ามากกว่า 1,000 กิโลเมตร โดยปราศจากการช่วยเหลือใดๆ จากภายนอก ในภาวะหนาวเหน็บ อุณหภูมิต่ำกว่าลบ 30 องศาเซลเซียส บนพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยหิมะน้ำแข็งกว้างไกลสุดขอบฟ้า

เป้าหมายของการเดินทางคือการพิชิตขั้วโลกใต้ ซึ่งหากทำสำเร็จ จะถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ของคนไทยในฐานะคนไทยกลุ่มแรกที่พิชิตขั้วโลกใต้ด้วยการเดินเท้า

ซึ่งนายธนาธรมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ

และคงเหน็ดเหนื่อยไม่ต่างจากความพยายามที่จะตั้งพรรคการเมือง เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับสังคมในครั้งนี้

บีบีซีไทยเคยตั้งคำถามกับนายธนาธรว่า ระหว่างปีนเขาที่ขั้วโลกใต้ กับพูดเรื่องประชาธิปไตยในไทย อะไรมีความเสี่ยงมากกว่ากัน นายธนาธรกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ “โอ้โห! อย่างหลังแน่นอน”

แต่ก็ได้กล่าวอย่างจริงจังระหว่างการสัมภาษณ์ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ The101.world ว่าสิ่งที่สร้างความกังวลใจที่สุดเมื่อมาเล่นการเมือง คือความกังวลเรื่องผลกระทบต่อครอบครัว รวมถึงคนที่รัก ซึ่งที่ผ่านมาก็เจอมาแล้ว

“ผมเป็นคนตรงไปตรงมา และวิจารณ์การทำงานของ คสช. ทำให้กลายเป็นแรงกดดัน บางทีไม่ลงที่ผม แต่ไปลงที่ครอบครัว ซึ่งไม่ยุติธรรม ผมขอฝากว่าหากจะทำอะไร ให้มากระทำตรงกับผม อย่ากระทำกับคนที่อยู่รอบข้างผม ถ้าผมจะทำอะไรบางอย่าง ผมก็จะทำมันอย่างจริงจัง และผมก็ไม่สามารถเอาใจทุกคนได้ ถ้าผมทำอะไรก็อาจมีคนสูญเสียประโยชน์ ทั้งทางอำนาจและทางเศรษฐกิจ ดังนั้น อย่าทำอะไรกับคนที่ผมรัก”

อย่างไรก็ตาม นายธนาธรบอกว่า แต่ความเสี่ยงในงานการเมืองนั้น หากเป็นไปเพื่อสำหรับอนาคตที่ดีกว่า มันก็คุ้มค่าที่จะเสี่ยง

“ถ้าเราจะเดินไปข้างหน้า เราปฏิเสธไม่ได้หรอกที่จะต้องทิ้งสัมภาระบางอย่างที่หนัก ล้าหลัง และไม่สอดรับกับโลกที่มันหมุนไป บางทีจำเป็นต้องตัดอะไรพวกนี้ออก มันหลีกไม่พ้นในระดับหนึ่งที่คุณจะต้องชนกับผู้สูญเสียประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและทางอำนาจการเมือง กับการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีขึ้นที่เราอยากเห็น มันหนีไม่พ้นหรอกที่คุณต้องชน ปัญหาคือคนกลุ่มนี้ที่มีอำนาจเหนือกว่าประชาชนธรรมดา ตรงนี้คือความเสี่ยง เมื่อคุณไปแตะต้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เมื่อคุณไปแตะต้องที่มาของอำนาจคนเหล่านี้ นี่คือความเสี่ยงสูงที่สุด”

“พรรคการเมืองใหม่กว่า 40 พรรคที่ไปจดแจ้งชื่อต่อ กกต. เมื่อ 2 มีนาคม 2561 ผมถามว่า มีพรรคไหนบ้างที่เป็นความหวังของคุณ ผมเองยังไม่แน่ใจ … แต่ถ้านักข่าวเห็นว่ามันยังมีพรรคที่เป็นความหวังได้อยู่ ผมกับอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล นักกฎหมายกลุ่มนิติราษฎร์ อาจจะต้องนอนอยู่บ้านต่อก็ได้”

ส่วนความชัดเจนในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง นายธนาธรบอกว่า ขอให้รอติดตามช่วงครึ่งหลังของเดือนมีนาคม เนื่องจากขณะนี้ยังติดล็อกเงื่อนไขของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ประกาศเจตนารมณ์ทางการเมือง มีกลุ่มคนจำนวนมากอาสาว่าจะมาช่วยเหลือ

“ยังไม่สามารถตอบอะไรในรายละเอียด ทั้งชื่อพรรค และสมาชิกพรรค เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงเร็วตลอดเวลา เช่นเดียวกับนโยบายขอยังไม่พูดถึง เพราะ คสช. คงจะห้ามไม่ให้พูดในช่วงนี้ แต่พูดได้ว่า เป็นนโยบายที่ก้าวหน้าแน่นอน เพราะถ้าไม่ก้าวหน้าก็ไม่รู้จะทำพรรคการเมืองทำไม” นายธนาธรยืนยัน

และย้ำว่า พรรคที่ตั้งขึ้นจะไม่เป็นพรรคเฉพาะกิจแน่นอน

แต่เป็นพรรคทางเลือกใหม่ ที่เป็นพลังของคนรุ่นใหม่จริงๆ

“เราในฐานะปัจเจกบุคคลนั้น มีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม ให้เป็นสังคมที่น่าอยู่กว่าทุกวันนี้ได้ เพราะผมเชื่อในพลังของมนุษย์ และในทางปฏิบัติถ้าเราไม่นำเสนอสิ่งที่ก้าวหน้า เราก็ไม่รู้จะทำไปทำไม”

ดูทิศทางแล้ว พรรคการเมืองใหม่ที่นายธนาธรจะตั้งขึ้น จะเลือกเดินเป็น “คู่ขนาน” กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล

ซึ่งน่าสนใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จะมองพรรคนี้อย่างไร

ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอย่างกว้างๆ ว่า อยู่ที่ประชาชนจะเลือกหรือไม่

“ขอให้ประชาชนพิจารณาในท่าทีและนโยบายว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเก่าหรือพรรคใหม่”

จะเห็นว่ายังไม่ได้มองพรรคใหม่ของนายธนาธร ในเชิงลบมากนัก

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ในโซเชียลมีเดียเริ่มมีสัญญาณการต่อต้านกลุ่มการเมืองใหม่นี้อย่างรุนแรงบ้างแล้ว

อย่างในเฟซบุ๊ก Chulcherm Yugala ของ ม.จ.จุลเจิม ยุคล ได้โพสต์ข้อความว่า

“แผ่นดินนี้ พระราชอาณาจักรนี้ จะต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระมหากษัตริย์จะต้องคงอยู่ตลอดไป ใครจะคิดลบล้างมิได้ ถ้าคิดเราจะได้เห็นดีกันครับ

คุณตั้งพรรคได้ ผมก็ตั้งพรรคได้เช่นกัน พรรคค้ำชูชาติและสถาบัน เพื่อต่อต้านพวกทำลายชาติ ที่จะเปลี่ยนพระราชอาณาจักรนี้ให้เป็นสาธารณรัฐ และลบสถาบันออกจากแผ่นดินนี้”

หรืออย่างเฟซบุ๊ก “ศูนย์ต้านนิรโทษกรรม” ก็ได้โจมตีนายธนาธรในหลายประเด็น

เช่น เชื่อมโยงไปถึง “ฟ้าเดียวกัน” เว็บไซต์และนิตยสารที่อ้างว่ามีเนื้อหาโจมตี “สถาบัน” ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่าเป็นนายทุนผู้ให้การสนับสนุนเรื่องเงินทุน

ขณะเดียวกันก็พาดพิงว่าเป็นหลานชายแท้ๆ ของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย และ รมว.อุตสาหกรรม ที่มีกรณีอื้อฉาวจากคดี CTX

เป็น “แอ๊กติวิสต์ซ้ายจัด” แต่ขณะเดียวกันก็ชื่นชมระบบทุนนิยมอย่างออกหน้าออกตา

รวมทั้งให้การสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มเสื้อแดงที่สนับสนุนแนวคิดโค่น “อำมาตย์”

เฟซบุ๊กดังกล่าวยังโจมตีว่านายธนาธรยินดีร่วมมือกับทุนสามานย์แห่งระบบทักษิณเพื่อ “ผลประโยชน์” ของตนเองและพวกพ้อง

ท่าทีหนุนและค้านที่เกิดขึ้นข้างต้น

ด้านหนึ่ง สะท้อนถึงการที่สังคมให้ความสนใจพรรคการเมืองใหม่ภายใต้การนำของนายธนาธรและนายปิยบุตร แสงกนกกุล ค่อนข้างสูง

ส่วนจะส่งผลสะเทือนต่อการเมืองขนาดไหนต้องติดตามกันต่อไป

โดยเฉพาะในเขต กทม. และเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช

ซึ่งดูจะเป็นกลุ่ม “เป้าหมาย” ของพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่ เพราะเขตเมืองเป็นเขตของคนรุ่นใหม่ ปัญญาชน และคนชั้นกลาง

จะขานรับเช่นเหมือนพรรคพลังธรรมในการเลือกตั้งเมื่อปี 2531 หรือพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งเมื่อปี 2544 หรือไม่

หากมีผลหรือแรง “สะเทือน” เช่นนั้น ก็น่าสนใจ

เพราะจะทำให้การแข่งขันทางการเมืองเข้มข้นขึ้น

ระหว่างฝ่ายที่เอากับ คสช. และไม่เอา คสช.

ทั้งนี้ ตอนแรกทุกฝ่ายมองถึงแนวร่วมของ คสช. ว่าจะมากเพียงใด และจะทำให้การสืบต่ออำนาจจะราบรื่นเพียงใด

แต่เมื่อเกิดพรรคการเมืองใหม่ และมีทิศทางในทาง “ตรงกันข้าม” ซึ่งหาก “แรง” อย่างที่คาดหมายกัน

ก็จะทำให้ฝ่ายไม่เอา คสช. คึกคักขึ้น

และจะส่งผลให้ภูมิทัศน์ทางการเมืองเปลี่ยนไป นั่นคือ จะมีการถ่วงดุลกันมากขึ้นของทั้ง 2 ฟาก

พร้อมๆ กับจะมีพรรคจำนวนหนึ่งดึงตัวออกเป็นกลางๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ตนเองมากขึ้น

ภาวะดังกล่าว ย่อมจะทำให้การเลือกตั้งมีการแข่งขันที่สูงขึ้น

ที่คาดหวังว่าจะรวบหัวรวบหาง เอาชนะง่ายๆ อาจจะไม่ใช่เช่นนั้น

คนรุ่นใหม่กำลังออกมาท้าทาย

และพร้อมจะเป็น “งัวงาน” ให้บ้านเมือง