ต่างประเทศ : เลือกตั้งอิตาลี ช่วงเวลาของประชานิยมปีกขวา

ประชาชนชาวอิตาลีเดินไปเข้าคูหาเพื่อเลือกตัวแทนเข้าสู่สภาเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา การเลือกตั้งที่แสดงให้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่าแนวคิดประชานิยมขวาจัดนั้นยังคงได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาคยุโรป ปรากฏการณ์ที่ถูกมองว่าจะส่งผลกระทบกับสถานะของสหภาพยุโรป (อียู) ไม่มากก็น้อย

ผลการนับคะแนนเบื้องต้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ปรากฏว่าไม่มีพรรคใดที่ได้รับชัยชนะเด็ดขาด

โดยพรรคที่มีแนวคิดต่อต้านผู้อพยพอย่าง “พรรคลีก” แกนนำ “พันธมิตรกลาง-ขวา” และพรรคที่มีแนวคิดต่อต้านกลุ่มอำนาจเก่าอย่าง “ไฟฟ์สตาร์มูฟเมนต์” หรือ “เอ็ม5เอส” เป็นสองพรรคที่ต่างออกมาประกาศชัยชนะเพื่อสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลผสมบริหารประเทศที่มีประชากร 60 ล้านคนแห่งนี้

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะเป็นการเจรจาระหว่างกลุ่มการเมืองหลายกลุ่มเพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่อาจกินเวลาหลายสัปดาห์หรืออาจยาวนานหลายเดือนก็เป็นได้

 

“มัตเตโอ ซัลวินี” หัวหน้า “พรรคลีก” วัย 44 ปี หนึ่งใน “กลุ่มพันธมิตรพรรคกลาง-ขวา” ระบุว่าตนมี “สิทธิและหน้าที่” ที่จะจัดตั้งรัฐบาล หลังชัยชนะเหนือความคาดหมายด้วยสัดส่วนคะแนนสูงที่สุดในบรรดาพรรคพันธมิตร 3 พรรคด้วยคะแนนเสียงราว 18 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งเมื่อรวมกับคะแนนเสียงจากพรรคพันธมิตรอย่างพรรค “ฟอร์ซาอิตาเลีย” นำโดย “ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี” อดีตนายกรัฐมนตรีที่ทำคะแนนได้อย่างน่าผิดหวังที่ 14 เปอร์เซ็นต์ บวกกับคะแนนเสียงจากพรรค “ฟราเทลลิดิทาเลีย” อีกราว 4 เปอร์เซ็นต์ และคะแนนเสียงจากพรรคเล็กอย่าง “อัสวิธอิตาลี” 1 เปอร์เซ็นต์

ส่งผลให้รวมสัดส่วนคะแนนแล้ว “กลุ่มพันธมิตรกลาง-ขวา” เป็นกลุ่มการเมืองที่ครองเก้าอี้มากที่สุดในสภาอิตาลีด้วยสัดส่วน 37 เปอร์เซ็นต์

ทว่าก็ยังไม่สามารถตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้

 

ด้าน “ลุยจิ ดิไมโอ” หัวหน้าพรรค “เอ็ม5เอส” พรรคซึ่งได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในบรรดาทุกพรรคที่ลงชิงชัย ประกาศชัยชนะเช่นเดียวกัน โดยหัวหน้าพรรค วัย 31 ปี ระบุว่าตนมี “หน้าที่รับผิดชอบ” ในการจัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ตาม สัดส่วนคะแนนที่ได้เพียง 32 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ “เอ็ม5เอส” ที่ประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะไม่จับมือกับพรรคใดๆ มีเก้าอี้ในสภาไม่เพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากเพียงพรรคเดียวได้

ด้าน “มัตเตโอ เรนซี” อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลี หัวหน้าพรรคเดโมเครติกปาร์ตี้ แกนนำกลุ่ม “พันธมิตรกลาง-ซ้าย” ซึ่งมีคะแนนรวมอยู่ในอันดับที่ 3 ด้วยสัดส่วนราว 19 เปอร์เซ็นต์ ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้นำพรรค หลังประกาศยอมรับความพ่ายแพ้อย่างราบคาบ

ความสำเร็จของพรรคลีก ซึ่งเดิมมีชื่อว่า “นอร์ทเธิร์นลีก” มาจากการปฏิรูปแนวทางพรรคของ “ซัลวินี” ผู้ที่ได้ชื่อว่ามีโอกาสครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอิตาลีมากที่สุด จากพรรคที่สนับสนุนการแยกตัวของแคว้นฐานเสียงตอนเหนืออย่างลอมบาร์ดี ออกจากรัฐบาลกลางอิตาลี มาเน้นที่แนวนโยบายชาตินิยมในแบบเดียวกันกับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ด้วยนโยบาย “อิตาลีต้องมาก่อน” บวกกับแนวคิดต้านอียู แสดงออกถึงการต่อต้านผู้อพยพที่หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศแล้วกว่า 6 แสนคนนับตั้งแต่ปี 2013 ให้คำมั่นที่จะปิดค่ายพักพิงผู้อพยพ พร้อมทั้งประกาศขจัดสิ่งที่ “ซัลวินี” ระบุว่าเป็นอันตรายจากศาสนา “อิสลาม” ให้หมดไป

พรรค “เอ็ม5เอส” ของนายดิไมโอ ใช้แนวทางการหาเสียงมุ่งเน้นไปที่คนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นฐานเสียงตอนกลางและตอนใต้ของประเทศ เน้นไปที่ “การเปลี่ยนแปลง” ดึงดูดความต้องการกลุ่มคนที่เบื่อการเมืองและนักการเมืองแบบเดิมๆ รวมถึงกลุ่มคนที่ต้องการโอกาสทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น

แม้ “เอ็ม5เอส” เคยประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะไม่ร่วมมือกับพรรคการเมืองอื่น ซึ่งดิไมโอเคยให้คำจำกัดความเอาไว้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ฉ้อฉล

แต่ดิไมโอก็ระบุในท้ายที่สุดว่า ตนนั้น “พร้อมที่จะหารือกับตัวละครทางการเมืองทุกคน”

 

การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลจะมีแนวโน้มไปทางพรรคลีก หรือเอ็ม5เอส นั้นเดาได้ยากอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อ “ซัลวินี” ออกมาปฏิเสธอย่างแข็งขันถึงการคาดการณ์ว่า “พรรคลีก” อาจสามารถจับมือกับ “พรรคเอ็ม5เอส” เพื่อตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้

การผงาดขึ้นมาของพรรคแนวคิดเอียงขวาและแนวคิดประชานิยมในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ในบรรดาประเทศผู้ใช้เงินสกุลยูโรแห่งนี้ ถูกนำไปเปรียบเทียบกับการลงประชามติเพื่อแยกตัวออกจากอียูของอังกฤษ รวมไปถึงการก้าวขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐอเมริกา

สตีฟ แบนนอน อดีตที่ปรึกษาทำเนียบขาว ผู้ช่วยให้ทรัมป์ประสบความสำเร็จจากแนวคิดประชานิยมระบุว่า ผลการเลือกตั้งอิตาลีนั้นเป็นเหมือนกับ “แผ่นดินไหว” จะส่งคลื่นการปฏิวัติประชานิยมระดับชาติเป็นแรงสั่นสะเทือนไปถึงสถานะของอียู ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง