ต่างประเทศ : สงครามการค้ายุคทรัมป์?!

ทําเอาสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งโลกอีกแล้วกับการขยับตัวทำบางสิ่งบางอย่างของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ที่ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วประกาศกร้าวจะตั้งกำแพงภาษีนำเข้าเหล็กในอัตราสูงถึง 25 เปอร์เซ็นต์ และอะลูมิเนียม 10 เปอร์เซ็นต์ ที่มีการนำเข้ามาในสหรัฐ

ทรัมป์ยังทวีตข้อความก่นอย่างกราดเกรี้ยวให้โลกได้รับรู้ว่าสหรัฐถูกชาติอื่นเอารัดเอาเปรียบมานานกับการค้าที่ไม่เป็นธรรม จนทำให้สหรัฐต้องเสียดุลการค้าอย่างมหาศาลถึงปีละ 800,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากข้อตกลงการค้าและนโยบายที่ทรัมป์เหน็บว่า “โง่เง่ามากๆ” ของสหรัฐเอง

การประกาศจะงัดมาตรการภาษีมาใช้ตอบโต้เอาคืนกับประเทศคู่ค้าสหรัฐของทรัมป์ครั้งนี้ เป็นหนึ่งในการก้าวเดินตามคำมั่นสัญญาที่ทรัมป์ให้ไว้กับอเมริกันชนในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2559 ที่ทรัมป์ชูนโยบาย “อเมริกามาก่อน” และเป็นผลให้ทรัมป์เดินเข้าสู่เส้นชัยทำเนียบขาวได้เป็นผลสำเร็จ

ท่าทีแข็งกร้าวของทรัมป์จุดปฏิกิริยาคัดค้านและเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงผลร้ายที่จะตามมาจากทั่วทุกมุมโลก ท่ามกลางความหวั่นเกรงกันว่าจะกลายเป็นชนวนจุด “สงครามการค้า” รอบใหม่ที่จะฉุดลากเศรษฐกิจโลกลงสู่ห้วงเหวแห่งความถดถอยขึ้นอีก

ซึ่งไม่เป็นผลดีกับใคร

แม้แต่กับภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐและชาวอเมริกันที่ทรัมป์ประกาศจะปกป้อง

 

การงัดอาวุธไม้นี้มาใช้ของทรัมป์ทำให้ย้อนนึกไปถึงเมื่อครั้งสมัยรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีจอร์จ บุช จากพรรครีพับลิกัน ที่เคยใช้มาตรการในลักษณะนี้ หลังจากเขาก้าวเข้ามาบริหารประเทศได้เพียงปีเศษ

โดยบุชอาศัยช่องทางที่มีอยู่ในกลไกจัดระเบียบทางการค้าขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ที่เปิดทางให้ชาติสมาชิกสามารถใช้มาตรการควบคุมชั่วคราวต่อสินค้านำเข้าที่สร้างความเสียหายให้กับภาคอุตสาหกรรมในประเทศของตนเองและคุกคามต่อความมั่นคงของชาติได้

นั่นทำให้วันที่ 5 มีนาคม ปี 2543 บุชประกาศจัดเก็บภาษีนำเข้าเกี่ยวกับสินค้าเหล็กใน 10 ประเภท ที่อัตราภาษีระหว่าง 8-30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในสหรัฐที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างดุเดือดในตลาดโลก

แต่การตั้งกำแพงภาษีเหล็กในครั้งนั้นของรัฐบาลบุช ชาติพันธมิตรอย่างแคนาดาและเม็กซิโก ที่เป็นผู้ส่งออกเหล็กมายังสหรัฐรายใหญ่รอดตัวไป เนื่องจากเป็นภาคีกันภายใต้กรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) ต่างจากครั้งนี้ที่มีข่าวว่าทรัมป์จะไม่มีข้อยกเว้นให้กับใครหน้าไหน แม้แต่พันธมิตรใกล้ชิด

ในครั้งนั้นรัฐบาลบุชเผชิญการต่อต้านอย่างหนักจากนานาประเทศ ที่เป็นผลให้สหภาพยุโรป (อียู) และอีกหลายประเทศยื่นฟ้องต่อดับเบิลยูทีโอ ที่เป็นเวทีแก้ปัญหาพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ

และอีกราว 2 เดือนถัดมา อียูได้มีมาตรการออกมาตอบโต้ด้วยการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าหลายรายการจากสหรัฐเพิ่มขึ้นเต็มสูบ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่รวมถึงน้ำผลไม้ เสื้อยืดและชุดชั้นใน ย้อนศรกลับมาเล่นงานผู้ผลิตในสหรัฐ

ก่อนที่ในอีกไม่ถึง 2 ปีต่อมา บุชต้องถอยกลับ ยกเลิกมาตรการดังกล่าว หลังพ่ายคดีนี้ให้กับอียู

 

กลับมาที่ทรัมป์ แค่ตั้งท่า ก็เจอกระแสขู่ตอบโต้ชนิดตาต่อตาฟันต่อฟันเข้าใส่ โดยเฉพาะจากอียู ซึ่งในปีที่แล้วส่งออกเหล็กมายังตลาดสหรัฐมากเป็นอันดับ 2 รองจากแคนาดา ที่ขู่จะเก็บภาษีในอัตราเดียวกันคือ 25 เปอร์เซ็นต์กับสินค้าจากสหรัฐที่นำเข้ามาในอียูซึ่งมีมูลค่ามากถึงราว 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยสินค้าแบรนด์ดังในกลุ่มเป้าหมายที่จะโดนพิษกำแพงภาษีทรัมป์เล่นงาน อาทิ ยีนส์ลีวายส์ รถมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อฮาร์เล่ย์-เดวิดสัน และเบอร์เบินวิสกี้ เป็นตัวอย่างคร่าวๆ ที่นายฌอง โคลด ยุงเคอร์ ประธานกรรมาธิการยุโรป ยกตัวอย่างขึ้นมา

คำขู่ตอบโต้ของอียูก็ทำให้ทรัมป์ออกมาตอกกลับว่ารถยนต์นำเข้าจากอียูก็จะโดนกำแพงภาษีของสหรัฐด้วย

คำขู่ตอบโต้กันไปมาที่เกิดขึ้นในตอนนี้ กำลังจะเป็นส่วนหนึ่งของผลกระทบอย่างใหญ่หลวงที่จะมีต่อระเบียบการค้าโลกจากการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า ที่เชื่อว่าจะทำให้ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม หรือไม่มากก็น้อย

เพราะชาติที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าดังกล่าว จะหาแนวทางมาตอบโต้เอาคืน

ที่จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและผู้บริโภคเองต่างได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงแน่นอน

ตัวอย่างเช่น การเก็บภาษีนำเข้าเหล็กในอัตราสูงของทรัมป์ แม้จะช่วยปกป้องอุตสาหกรรมผลิตเหล็กและแรงงานในสหรัฐ

แต่มาตรการนี้ก็จะทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันต้องได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่ใช้เหล็กนำเข้ามามีราคาแพงขึ้นไปด้วย

ส่วนประเทศที่ส่งออกสินค้าเกี่ยวกับเหล็กไปยังสหรัฐ เช่น รถยนต์ ก็ต้องเผชิญกับกำแพงภาษี ที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตพุ่งขึ้นไป

ซึ่งก็จะดันราคาสินค้าให้สูงขึ้นตาม ที่ย่อมจะมีผลต่อยอดขายหรือการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคตามมาว่าจะยอมซื้อสินค้าที่มีราคาแพงขึ้นหรือไม่

 

สถาบันเสาหลักอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ดับเบิลยูทีโอ รัฐบาลนานาชาติ รวมถึงจีนยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจจากซีกโลกตะวันออกที่เป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่สุดของโลก ตลอดจนวงการอุตสาหกรรมชั้นนำทั่วโลก ต่างทัดทานเป็นเสียงเดียวกันให้ทรัมป์เปลี่ยนใจ

ที่ยังรวมไปถึงสมาชิกระดับสูงภายในพรรครีพับลิกันเองด้วยที่ก็หวั่นเกรงถึงผลลัพธ์เลวร้ายที่จะตามมา หากทรัมป์ประกาศใช้มาตรการนี้ขึ้นมาจริงๆ

ตอนนี้ต้องรอลุ้น แค่เพียงอึดใจ…