สุจิตต์ วงษ์เทศ/ลาวปนเขมร ในกรุงศรีอยุธยา

ลาวปนเขมรพวกหนึ่ง เป็นชาวสยาม มีศูนย์กลางอยู่เมืองเวียงจัน ตั้งแต่หลัง พ.ศ.1000 มีในขบวนเกียรติยศจากบ้านเมืองเครือญาติใกล้ชิดของกษัตริย์กัมพูชา ราว พ.ศ.1650 ดังมีภาพสลักบนระเบียงปราสาทนครวัด (ลายเส้นคัดลอกโดย คงศักดิ์ กุลกลางดอน คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ลาวปนเขมร

ในกรุงศรีอยุธยา

กรุงศรีอยุธยา มีพระเจ้าแผ่นดินเชื้อวงศ์ “ลาวปนเขมร” พบคำบอกเล่าอยู่ในเอกสารเก่าหลายเรื่อง เช่น พงศาวดาร, ตำนาน
แต่ที่สำคัญเป็นคู่มือทูตในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์เมื่อทูตสยามอยุธยาไปฝรั่งเศส มีตอนหนึ่งดังนี้

คู่มือทูตสยามไปปารีส

“หากถามว่า กษัตริย์องค์ปัจจุบันสืบตระกูลมาแต่ใด, และกรุงสยามเก่าแก่หรือสร้างใหม่, และเมืองโบราณสุดอยู่ที่ใด
ให้ตอบว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบันสืบสันตติวงศ์ มาจากสมเด็จพระปฐมสุริยนารายณีศวรบพิตร์ Seangae ซึ่งครองเมืองชัย Ppaha มหานคร เมื่อ พ.ศ.1300 โดยมีกษัตริย์ 10 พระองค์สืบทอดกันในเมืองนั้น
ต่อมาสมเด็จพระยโศธรวรรมเทพราชาธิราช (Sommedethia Prayasouttora Ttarrena Ttepperaacchaatti) ก่อตั้งกรุงยโศธร (ปุระ) นครหลวง และมีกษัตริย์อีก 12 พระองค์ สืบทอดกันมา ต่อจากนั้นไป สมเด็จพระพนมทะเลศรีมเหศวรวารินทร์ราชบพิตร์ ไปอยู่สุโขทัย
ใน พ.ศ.1731 ท่านก่อตั้งเมืองเพชรบุรีที่มีกษัตริย์ 4 องค์ครองเป็นระยะเวลา 163 ปี ในที่สุดสมเด็จพระรามาธิบดีบพิตร์ ได้สืบสันตติวงศ์และสร้างกรุงสยามในปี 1894, ซึ่งเป็นราชธานีตลอดจนทุกวันนี้ โดยชื่อว่ากรุงเทพมหานครศรีอยุธยา พระองค์ทรงครองอยู่ 27 ปีต่อไป สิริรวมมีกษัตริย์ 50 พระองค์ ในระยะเวลา 926 ปี”

คำอธิบายของไมเคิล ไรท

คู่มือทูตนี้ เป็นบางตอนจากบทความ “ภูมิศาสตร์-ประวัติศาสตร์สยาม : เอกสารชั้นต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่เปิดเผยใหม่” โดย ไมเคิล ไรท [ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 26 ฉบับที่ 4 (กุมภาพันธ์ 2548) หน้า 90-94] มีอธิบายไว้ดังนี้
“ในวารสารสยามสมาคม JSS vol. 90.1 & 2, (2002) Dr. Michael Smithies ได้เสนอและแปลเป็นภาษาอังกฤษ เอกสารสมัยสมเด็จพระนารายณ์ชิ้นหนึ่งที่ไม่เป็นที่รู้จักในวงการสยามศึกษามาก่อน เอกสารชิ้นนี้เต็มไปด้วยข้อมูลเกี่ยวกับภูมิศาสตร์-ประวัติศาสตร์ที่รู้กันหรือเชื่อกันในยุคนั้น”

ความเป็นมาของเอกสาร

“เอกสารฉบับนี้ไม่สมบูรณ์และชื่อเดิมไม่ปรากฏ, แต่จากหลักฐานภายในก็เชื่อได้ว่าทำขึ้นมาเมื่อ พ.ศ.2224 และคงเป็นฝีมือราชบัณฑิตกรุงศรีอยุธยา จากเนื้อความเราทราบได้ว่า นี่คือหนังสือแนะนำให้ราชทูตสยามตอบอย่างเหมาะสมเมื่อถูกราชการต่างประเทศซักถาม, จึงแต่งเป็นรูปปุจฉา-วิสัชนา ขอเรียกไว้ก่อนว่า ‘คู่มือทูตตอบ’
หนังสือ ‘คู่มือทูตตอบ’ มีประวัติดังนี้ :-
1. ฉบับเดิมภาษาไทยที่หายไปนั้น, ทำขึ้นมา พ.ศ.2224
2. ในระยะเวลาไล่เลี่ยกันบาทหลวงคงแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส คนแปลคงถนัดภาษาไทยดีมาก เพราะท่านปริวรรตชื่อเฉพาะต่างๆ ถูกต้องแม่นยำตามตัวอักษรอย่างมีระเบียบเฉพาะของท่าน แต่ฉบับนี้ไม่เหลือให้เห็นเช่นกัน
3. ต่อมาเมื่อฉบับที่ 2 ลบเลือนเสียมาก, ก็ได้รับการคัดลอกอีกชั้นหนึ่งโดยบาทหลวง (?) ที่ไม่รู้ภาษาไทยและมีลายมือแย่มาก ชื่อเฉพาะหลายคำจึงเลอะเลือน, จึงติดตามคำเดิมได้ยาก ฉบับนี้แหละที่เหลือให้ตรวจในหอจดหมายเหตุของคณะบาทหลวง Missions Etrang?re de Paris (AME 854, ff. 721-727)
4. ต่อมาฉบับที่ 3 ได้รับการพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาฝรั่งเศสโดย Alain Forest ในหนังสือ Les Missionaires fran?ais au Tonkin et au Siam, XVIIe-XVIIIe si?cles, BK 1, Histories de Siam (Paris, L’Harmaltan, 1998) ในการปริวรรตลายมือในฉบับที่ 3 มีการอ่านผิดเพิ่มเติมบ้าง
5. ใน JSS vol. 90 ท่าน Smithies ได้แปลภาษาฝรั่งเศสในฉบับที่ 4 ของท่าน Forest เป็นภาษาอังกฤษโดยมีความแก้ไขเล็กน้อยและมีคำพิมพ์เพิ่มเติมบ้างแต่ไม่มาก
ในบทความนี้ผมจะพยายามแปลงานของ Smithies (ฉบับที่ 5) เป็นภาษาไทย, ทั้งนี้โดยจะไม่หวังรื้อฟื้น (Reconstruct) ภาษาของฉบับภาษาไทยชั้นปฐม ผมจะแปลภาษาอังกฤษของ Smithies อย่างเรียบง่ายพอได้ความ (ผิดๆ ถูกๆ) ส่วนศัพท์ที่เป็นชื่อเฉพาะนั้น, หากจับความได้มั่นคงไม่เป็นที่สงสัย, ผมจะปริวรรตเป็นอักษรไทยโดยไม่มีอักษรโรมันกำกับ หากเป็นที่สงสัยก็จะเสนอคำแปลโดยมีอักษรโรมันกำกับ หากนึกไม่ออกผมจะให้เฉพาะอักษรโรมัน และขอให้ท่านผู้อ่านช่วยสันนิษฐาน
ในกรณีชื่อบุคคลและสถานที่ต่างๆ ผมอาศัยฉบับภาษาฝรั่งเศสของ Forest เพราะฉบับภาษาอังกฤษของ Smithies มีการคัดลอกพิมพ์ผิดเพิ่มเติมบ้าง”

ลาวปนเขมร

คู่มือทูตสยามอยุธยาบอกชัดเจนว่าพระเจ้าแผ่นดินอยุธยามี 2 กลุ่มปนกัน เรียก “ลาวปนเขมร” ได้แก่ กลุ่มลาวลุ่มน้ำโขง กับกลุ่มเขมรเมืองพระนคร
1. กลุ่มลาวลุ่มน้ำโขง คือ “สมเด็จพระปฐมฯ” ตรงกับความทรงจำในเอกสารตาชาร์ตกับลาลูแบร์ ว่าอยู่เมืองไชยบุรีมหานคร เป็นกลุ่มพระเจ้าพรหมเมืองเชียงแสน เชียงราย
2. กลุ่มเขมรเมืองพระนคร คือ “สมเด็จพระยโศธรฯ” แห่งกรุงยโศธร หรือเมืองพระนครหลวง ตรงกับทุกวันนี้เรียกนครธม
ลาวปนเขมรในคู่มือทูตที่ยกมานี้ สอดคล้องกับพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน เล่าเรื่องเสียกรุงครั้งแรก พ.ศ.2112 แล้วเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ โดยสรุปดังนี้
พระเจ้าแผ่นดินองค์เก่า เป็นเชื้อวงศ์ลาวฝ่ายพระเจ้าพรหม เมืองโยนกเชียงแสน
พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ เป็นเชื้อวงศ์เขมร เมืองละโว้