เศรษฐกิจ/ลุ้นเกณฑ์คุมคริปโตเคอเรนซี่ จะซ้ายปิดประตู…ขวาอ้ารับไฮเทค หรือพบครึ่งทางเทรดได้แต่มีกติกา…ใกล้รู้กัน

เศรษฐกิจ

ลุ้นเกณฑ์คุมคริปโตเคอเรนซี่

จะซ้ายปิดประตู…ขวาอ้ารับไฮเทค

หรือพบครึ่งทางเทรดได้แต่มีกติกา…ใกล้รู้กัน

ความคืบหน้าการออกกฎหมายควบคุมเงินดิจิตอลหรือคริปโตเคอเรนซี่ ถือว่ามาได้ไกลพอสมควร หลังจากเจมาร์ทประกาศจะระดมทุนด้วยการเสนอขายเหรียญดิจิตอล (ไอซีโอ) เมื่อราวกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา
การประกาศออกไอซีโอแรกของเมืองไทย เป็นข่าวเปรี้ยง! ปลุกเอกชนหลายแห่งที่สนใจอยากออกไอซีโอเร็วขึ้น เพียง 1-2 เดือนแรกของปีนี้ นับไปนับมามีเป็นหลักสิบบริษัทที่ประกาศจะออกไอซีโอ รวมถึงจะเปิดเทรดคริปโตเคอเรนซี่
ทางฝั่งภาครัฐเอง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นมาตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2560 ทว่า ยังไม่เรียบร้อย จึงขยายเวลารับฟังความคิดเห็นต่อถึงปลายเดือนมกราคม 2561
ขณะที่กระทรวงการคลัง ได้เรียก 4 เสาหลัก ได้แก่ กระทรวงการคลังเอง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก.ล.ต. และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ประชุมกันอย่างต่อเนื่องและยิ่งเข้มข้น “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะสั่งการเอง
ขนาด พล.อ.ประยุกต์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังให้ความสนใจ กำชับให้ดูแลเรื่องนี้

และล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. … ยกระดับการกำกับดูแลตลาดทุนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
ซึ่ง 1 ใน 7 เนื้อหาของ พ.ร.บ. ที่แบ่งออกเป็นกลุ่มนั้น มีการระบุถึงการปรับปรุงบทนิยามการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ เพื่อให้กฎหมายมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะรองรับนวัตกรรม รวมทั้งเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว
และให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าร่วมทดสอบนวัตกรรมภายใต้โครงการเรกูลาทอรี่ แซนด์บ๊อกซ์ (Regulatory Sandbox) ได้
จนเกิดกระแสสับสนว่าจะรวมเรื่องการกำกับดูแลคริปโตเคอเรนซี่ด้วยหรือไม่
เมื่อสอบถามไปยัง ก.ล.ต. ได้รับข้อมูลยืนยันว่า พ.ร.บ.หลักทรัพย์ชุดยกระดับฯ นี้ ยังไม่ได้เขียนถึงคริปโตเคอเรนซี่ เพราะคณะกรรมการ (บอร์ด) ก.ล.ต. อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่ “ศักรินทร์ ร่วมรังสี” ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวย้ำว่า การประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เห็นชอบในหลักการของร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ชุดยกระดับฯ โดยในร่างแก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์ฯ จะไม่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการระดมทุนผ่านไอซีโอและการลงทุนเงินสกุลดิจิตอล แต่เป็นการทำให้เกิดความยืดหยุ่นที่จะรองรับนวัตกรรมและบริการรูปแบบใหม่เพื่อส่งเสริมการพัฒนาฟินเทคเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่อยู่ในช่วงสุญญากาศ รอรัฐบาลกางแผนประกาศเกณฑ์ควบคุมเงินดิจิตอล ทางฝั่งภาคเอกชนเอง แม้ว่าผู้ประกอบการต่อแถวเตรียมออกไอซีโอกันเป็นพรืด แต่ก็พบว่ามีบางส่วนเลือกที่จะหยุด รอฟังเกณฑ์กำกับดูแลให้ชัดๆ เสียก่อน
ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ธนาคารกรุงเทพ ขอปิดบัญชีเว็บไซต์เทรดคริปโตเคอเรนซี่เจ้าดังอย่าง Tdax ด้วย

“ปรมินทร์ อินโสม” ผู้ก่อตั้งเหรียญซีคอยน์และ Tdax เว็บไซต์สำหรับซื้อขายเงินสกุลดิจิตอลในประเทศไทยให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่แบงก์ชาติออกประกาศขอความร่วมมือแบงก์พาณิชย์งดทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับคริปโตเคอเรนซี่ทั้งทางตรงและทางอ้อม จนกว่าจะมีเกณฑ์การกำกับดูแลจากหน่วยงานภาครัฐ ส่งผลให้แบงก์กรุงเทพที่ผูกบัญชีกับ Tdax ขอปิดบัญชีการให้บริการ ทำให้ Tdax ต้องชะลอการออกไอซีโอเป็นการชั่วคราว และประกาศยกเลิกการทำไอซีโอของลูกค้าบางราย เพื่อรอความชัดเจนทั้งหมด แต่ก็ยังมั่นใจว่าจะไม่กระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุน
“ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (เจวีซี) ระบุว่า หากตัวโครงการไม่ชัดเจนอาจเกิดความเสี่ยงได้ เนื่องจากช่วงนี้มีบริษัทให้ความสนใจออกไอซีโอเป็นจำนวนมาก แต่การปิดหรือฟรีซบัญชีของแบงก์กรุงเทพจะไม่กระทบกับการซื้อขายหรือเทรดไอซีโอ
เพราะเป็นการฟรีซบัญชีขาเข้า เพื่อป้องกันแหล่งที่มาของเงินที่ไม่แน่ชัด

นอกจากการเทกแอ๊กชั่นของฝ่ายกำกับทั้ง 4 หน่วยงานที่เร่งสปีดการทำงาน เพื่อให้ทันกับการเทรดคริปโตเคอเรนซี่และการระดมทุนแบบใหม่ที่กำลังมาแรงในไทยแล้ว
กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นำโดย “พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็ประกาศว่าจะให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าร่วมการทำงานของฝั่งรัฐบาลด้วย พร้อมกันนี้ได้เปิดเวทีระดมความคิดเห็น เพื่อเสนอเป็นแนวทางกำกับให้กับกระทรวงการคลัง เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการออกกฎหมายมากำกับดูแล
“กระทรวงยุติธรรมอยู่ระหว่างกลางและปลายน้ำ ไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายหน้าที่ และย้ำว่าผู้บริหารส่วนใหญ่คือคนรุ่นเก่า ถ้าไม่รีบให้ความรู้หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เมื่อถึงเวลาที่มีคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความเข้าใจพูด จะสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง” พล.อ.อ.ประจินกล่าว
ทั้งนี้ พล.อ.อ.ประจินย้ำว่าต้องออกกฎหมายควบคุมในรูปแบบของ พ.ร.บ. หรือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งสกุลเงินดิจิตอลมีประโยชน์และสร้างโอกาส ขณะเดียวกันก็ยังมีความเสี่ยง ขอให้ประชาชนตรวจสอบอย่างรอบคอบ
โดยรัฐบาลกำลังหามาตรการบริหารจัดการสกุลเงินดิจิตอล เพื่อให้ผู้บริโภคไม่ตกเป็นเหยื่อ

ก็มารอดูว่าภายในครึ่งเดือนแรกนี้ จะมีประกาศออกมาหรือไม่ เพราะใกล้จะครบไทม์ไลน์เดิมที่รัฐบาลประกาศไว้แล้วว่าจะเร่งออกเกณฑ์อย่างด่วนจี๋
เพราะแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง และแบงก์ชาติให้ข้อมูลตรงกันว่ามีประชุมเรื่องนี้ในวันที่ 6 มีนาคม 2561 แต่ก็มีประกาศเลื่อนออกไปอย่างกะทันหันจึงก็ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ชนิดวันต่อวัน!
นักลงทุนและผู้ออกไอซีโอจะได้รู้ชัดเสียทีว่าตกลงเราอยู่ข้างใน เกณฑ์การคุมบ้านเราจะอยู่ฝั่งซ้ายสุดอย่างจีน อินโดนีเซียหรือไม่ ที่รัฐบาลห้ามเทรดคริปโตเคอเรนซี่ หรือจะใจดีอยู่ฝั่งขวาสุดอย่างญี่ปุ่น ที่ยอมรับให้ใช้คริปโตเคอเรนซี่ เป็น Method of payment ได้
หรือจะเลือกอยู่ตรงกลางคือ “ไม่ห้าม” แต่มีมาตรการรัดกุม เช่น ห้ามเยาวชนเข้ามาเทรด หรือกำหนดวงเงินขั้นต่ำ เพื่อป้องกันนักลงทุนรายย่อยโดนหลอก และป้องกันอาการหน้ามืดตามัวเมื่อเห็นกำไรงามๆ ที่บวกไป 100-200%
อย่างที่ “วชิรา อารมย์ดี” ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความเป็นห่วงว่า ทุกประเทศไม่ว่าเคร่งสุดหรือปล่อยมากสุด สิ่งที่ห่วงมากที่สุดคือ การยืนยันตัวตนและความเสี่ยงต่างๆ เช่น การทำเควายซี การทำโจรกรรมทางการเงิน
ขณะที่บางประเทศก็มองคริปโตเคอเรนซี่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์