ประชา สุวีรานนท์ : คาร์ล บาร์กส์ กับ คาร์ล มาร์กซ์ (4)

(ซ้าย) Carl Barks and the Disney Comic Book (ขวา) How to Read Donald Duck

ทุกวันนี้ How to Read Donald Duck ยังเป็นตำนาน ในหลายประเทศในอเมริกาใต้ โดนัลด์ดั๊กยังเป็นตัวแทนของจักรพรรดินิยมอเมริกัน

และแม้เวลาผ่านไปหลายสิบปี หลังการ “ค้นพบ” คาร์ล บาร์กส์ ในฐานะผู้สร้างการ์ตูนชุดนี้ และบ่มเพาะ Cultural Studies จนเติบโตในวงวิชาการแล้ว หนังสือเล่มนี้ก็ยังเป็นแบบอย่างของการวิเคราะห์วัฒนธรรมป๊อปเรื่อยมา

ที่พอจะเทียบเคียงได้ เห็นจะเป็นหนังสือที่ออกมาเมื่อไม่นานมานี้ นั่นคือ Carl Barks and the Disney Comic Book: Unmasking the Myth of Modernity ของ โทมัส อังเดร (Thomas Andrae) ซึ่งเอาเฉพาะงานของคาร์ล บาร์กส์ ทั้งที่เป็นหนังและหนังสือการ์ตูนมาวิเคราะห์ หนังสือยกย่องบาร์กส์ในฐานะผู้สร้างการ์ตูนเป็ด มีความสามารถทั้งเขียน/วาดการ์ตูน และทำให้การ์ตูนมีฐานะสูงเท่าเทียมวรรณกรรม

ผู้เขียนยอมรับว่าการ์ตูนชี้เล่ห์กลของทุนนิยม สะท้อนด้านมืดของตัวละคร รวมทั้งความลุ่มหลงในทรัพย์ ความสำเร็จ การบริโภค และเทคโนโลยี่ของสังคม แต่การแสดงออกของหนังสือการ์ตูนเป็นไปในเชิงเสียดสีและล้อเลียน ซึ่งไม่ได้เกิดจากการ “สมคบคิด” ระหว่างดิสนีย์กับระบบทุนนิยม ตรงกันข้าม เป็นผลงานของปัจเจกบุคคลและชี้ให้เห็นบทบาทของวัฒนธรรมป๊อป นั่นคือวิจารณ์วัฒนธรรมกระแสหลัก

ในขั้นแรก ผู้เขียนพยายามลดฐานะของ How to Read Donald Duck โดยบอกว่าจุดอ่อนที่สำคัญของดอร์ฟแมนและแมทเทลาร์ทคือใช้มาร์กซิสม์อย่างทื่อๆ เช่นมองว่าวัฒนธรรมมีหน้าที่กดขี่ ในขณะที่เศรษฐกิจมีหน้าที่ขูดรีด หรือเชื่อว่าผลผลิตทางวัฒนธรรมจะต้องสะท้อนวิถีการผลิตทางเศรษฐกิจ ถ้าอุดมการณ์ของสังคมเป็นทุนนิยม ผลงานสร้างสรรค์ทางวัฒธรรมก็ต้องรับใช้อุดมการณ์นั้น นอกจากนั้น ยังเชื่อในสิ่งที่เรียกว่า Cultural Imperialism งานจึงเกี่ยวกับการแผ่อำนาจทางวัฒนธรรมของสหรัฐฯ มากกว่าการวิเคราะห์ตัวการ์ตูนและความสนุกสนานที่ผู้อ่านได้รับ

อังเดรไม่ได้ปฏิเสธการเมือง เขาเพียงแต่ไม่เชื่อว่าสิ่งที่แฝงอยู่เป็นอุดมการณ์ของทุนนิยม สิ่งที่เขาเสนอขึ้นมาแทนคือ “ความเป็นสมัยใหม่” หรือ Modernity ซึ่งก็เป็นอุดมการณ์แบบหนึ่ง แต่กินความมากกว่าเดิม ทุนนิยมเป็นเพียงส่วนประกอบของความเป็นสมัยใหม่

นอกจากจะไม่เข้าใจมาร์กซิสม์แล้ว ดอร์ฟแมนและแมทเทลาร์ทยังไม่รู้จักสังคมอเมริกันด้วย อังเดรโต้แย้งเรื่องภาวะไร้พ่อแม่ของตระกูลเป็ด และตอบคำถามว่าทำไมดั๊กเบิร์กจึงมีแต่งานบริการได้อย่างง่ายดาย

ประเด็นหนึ่งของหนังสือเล่มนี้คือ ผู้ที่กำหนดเนื้อหาของหนังสือการ์ตูนดิสนีย์ ไม่ใช่ดิสนีย์ แต่เป็นคาร์ล บาร์กส์ ซึ่งชี้ว่า
การสร้างตัวละครต่างๆ ให้มีเลือดเนื้อและรายละเอียด เผยด้านมืดของตัวละคร และเสียดสีล้อเลียนตัวเอง (self-reflexivity) ที่มีมากมายนั้น เกิดขึ้นได้เพราะนักวาดการ์ตูนมีโอกาสทำงานอย่างเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อดิสนีย์

โดยเปรียบเทียบ หนังสือการ์ตูนมีอิสระมากกว่ามากกว่าหนัง เมื่อบาร์กส์ลาออกจากแผนกหนังการ์ตูนและเข้าไปทำหนังสือการ์ตูนให้ Western Publishing ซึ่งเป็นบริษัทหนึ่งในเครือของดิสนีย์ เขามีบทบาททั้งเขียนเรื่องและวาดรูป และสามารถทำงานตามลำพัง นั่นคือ ไม่ต้องคุยงานกับฝ่ายอื่นๆ และไม่มีใครมาตรวจหรือเซนเซอร์ผลงาน ฐานะเช่นนี้ถือว่าเป็นอภิสิทธิ์ที่ไม่มีใครในอาณาจักรดิสนีย์เคยได้รับมาก่อน ด้วยเหตุนี้ จึงถือได้ว่าบาร์กส์จึงเป็น “ผู้สร้าง” การ์ตูนชุดนี้ด้วยตนเองจริงๆ

การ์ตูนรวมเล่มของแฟนตากราฟิกส์
การ์ตูนรวมเล่มของแฟนตากราฟิกส์

แน่นอน ผู้เขียน How to Read Donald Duck คงไม่รู้จักบาร์กส์ แต่ประเด็นที่อังเดรให้ความสำคัญกว่านั้นคือ บาร์กส์มีมุมมองที่ต่างจากดิสนีย์มาก เช่น มองสังคมสมัยใหม่ในเชิงลบ และทำให้เรื่องไม่หวานแหววเหมือนการ์ตูนชุดอื่นๆ ของดิสนีย์

บาร์กส์เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมและมีทัศนะที่รังเกียจ “สมัยใหม่” ซึ่งในที่นี้ หมายถึงประเด็นต่างๆ ที่หนังสือของดอร์ฟแมนและแมทเทลาร์ทมองข้ามไป เช่น วิกฤติความเป็นชาย ซึ่งเกิดในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 แต่กลับมาอีกในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และขึ้นสู่จุดสูงสุดในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ในยุคนั้น ความหวาดระแวงผู้หญิงและเด็ก ซึ่งหมายถึงการสูญเสียอำนาจของผู้ชายเป็นเรื่องธรรมดา ในหนังสือการ์ตูน โดนัลด์จึงถูกข่มเหงโดยผู้หญิงและหลานๆ อยู่เสมอ

เกียรติประวัติของบาร์กส์คือละเมิดข้อห้ามของดิสนีย์ เช่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาวิจารณ์อุตสาหกรรมและการทหาร ในช่วงหลังสงคราม เมื่อย้ายมาทำหนังสือการ์ตูน เขาเพิ่มโทนเสียดสีล้อเลียนและทำให้เรื่องยิ่งมืดลงกว่าเดิม เช่น ให้โดนัลด์กับศัตรูสลับบทกัน ตัวละครจะจะขี้ขลาดหรือกล้าหาญ จะชั่วร้ายหรือใจดีก็ได้

ตัวละครอาจจะเป็นปัจเจก แต่ก็ขัดแย้งในตัวเอง เช่น แม้โดนัลด์จะใจร้อนและขี้เกียจ แต่บางครั้งนิสัยดีและมีความรับผิดชอบ และแม้ลุงสกรู๊จจะเป็นายทุน แต่เป็นแบบอย่างของคนที่สร้างตัวเอง อันเป็นคตินิยมของคนรุ่นหนึ่ง และบาร์กส์ก็เห็นว่าตนเองเป็นแบบนั้น

ถึงที่สุดแล้ว อังเดรเห็นว่าจุดอ่อนของ How to Read Donald Duck คือไม่สนใจผู้อ่าน ผู้เขียนให้ความสำคัญกับการ์ตูนและ “สาร” หรือการตีความของเขา แต่ไม่สนใจว่าเด็กละตินอเมริกาอ่านอย่างไร และคนในประเทศอื่นๆ อ่านเหมือนกันหรือไม่

ไม่แปลกที่จะขัดแย้งกัน ดอร์ฟแมนและแมทเทลาร์ทมองว่าสารคือสิ่งที่มีอยู่จริง แต่อังเดรมองว่าวัฒนธรรมป๊อปและสื่อต่างๆ คล้ายเป็นสนามหรือสมรภูมิที่ “วาทกรรม” ต่างๆ เข้ามาต่อสู้และแย่งชิงพื้นที่กัน ส่วนประเด็นต่างๆ เช่น เพศ ชนชั้น และชาติพันธุ์ ก็ถูกวางซ้อนทับกันอยู่ในสนามนี้

ทั้ง How to Read Donald Duck และ Carl Barks and the Disney Comic Book เป็นหนังสือที่ควรอ่านควบคู่ไปกับผลงานบาร์กส์ ในการ์ตูนรวมเล่ม ที่ทะยอยออกมาเรื่อยๆ

ทั้งสองเล่มอาจจะเน้นบทบาทของวัฒนธรรมป๊อปในสังคมอย่างมาก แต่ก็ไม่ได้ทำให้การ์ตูนสนุกน้อยลง เหตุผลก็คือ ตัวละครของบาร์กส์มีเลือดเนื้อ โลดแล่นในจินตนาการของเรามานาน แม้จะเอามาแยกบริบททางสังคมออกไป ก็ยังสามารถกระโดดโลดเต้นต่อไปได้

พูดอีกอย่าง ทั้งสกรู๊จกับโดนัลด์เป็นเป็ดที่ชอบบุกตะลุยโดยไม่คิดหน้าคิดหลังอยู่แล้ว จะเพิ่มสัมภาระที่เรียกว่าจักรพรรดินิยมหรือ Modernity เข้าไป ก็คงไม่หนักมากขึ้นสักเท่าไร

ซึ่งทำให้คาร์ล บาร์กส์ยิ่งใหญ่ และทำให้การผจญภัยในรวมเล่มชุดใหม่น่าอ่านมากขึ้น