รายงานพิเศษ/เครื่อง EDC กระทรวงการคลัง ร้านค้าผวาโดนเช็กบิลภาษี แห่คืนไม่ขอยุ่งเกี่ยว

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

เครื่อง EDC กระทรวงการคลัง

ร้านค้าผวาโดนเช็กบิลภาษี

แห่คืนไม่ขอยุ่งเกี่ยว

 

หลังจากที่นโยบาย e-Payment ของกระทรวงการคลังประสบความสำเร็จอย่างมาก สะท้อนจากยอดขายสินค้าโดยการชำระผ่านเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ Electronic Data Capture (EDC) เพิ่มขึ้นอย่างมาก

แต่ขณะนี้พบว่ามีร้านค้าเริ่มอยากคืนเครื่อง EDC ให้กับภาครัฐเป็นจำนวนมาก

เนื่องจากกังวลว่าหากมียอดขายสินค้าเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะทำให้กรมสรรพากรเข้ามาตรวจสอบภาษีย้อนหลังและเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

ทำให้ร้านค้าไม่อยากยุ่งเกี่ยวในส่วนนี้กันอีก

ทำให้ น.ส.กุลยา ตันติเตมิท โฆษกกระทรวงการคลัง ออกมาชี้แจงว่า

“กรณีนี้เป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยกระทรวงการคลังเตรียมเดินสายชี้แจงกับร้านค้าว่าการติดเครื่องอีดีซีไม่เกี่ยวกับการถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลังและเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เพิ่มเติม เนื่องจากร้านค้าต่างๆ ที่ไปซื้อสินค้าจากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่มาขายต่ออีกทอด จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนนั้นไปแล้ว ไม่ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อนอีก อย่างที่มีความวิตกกังวลกันอย่างมาก

จากนโยบาย e-Payment โดยการชำระเงินสดผ่านเครื่องอีดีซี เครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยยกระดับวิถีชีวิตของประชาชน และสนับสนุนให้ประชาชน ภาคธุรกิจ ภาครัฐ เข้าถึงบริการทางการเงิน/การชำระเงินได้อย่างแพร่หลาย

เนื่องจากเป็นสื่อการชำระเงินที่ประชาชนมีความคุ้นเคยมากกว่าสื่อประเภทอื่นๆ

โครงการนี้จึงเป็นการส่งเสริมการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีค่าธรรมเนียมต่ำแทนการใช้เงินสดเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในต่างจังหวัด รวมทั้งการกระจายอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์หลากหลายรูปแบบ เช่น เครื่อง EDC เครื่องรูดบัตรมือถือ (MPOS) ตามความเหมาะสมของร้านค้าและพื้นที่

เป็นการเพิ่มทางเลือกในการชำระเงินให้กับประชาชน อีกทั้งจะส่งเสริมการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เงินสดในทุกภาคส่วน

“อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศความคืบหน้าอีกขั้นด้วยการทำข้อตกลง การรวมกลุ่มกันของ 5 ธนาคาร คือ ไทยพาณิชย์ กรุงไทย ทหารไทย ธนชาต และกรุงศรีอยุธยา ที่จัดตั้งกลุ่ม TAPS เพื่อติดตั้งเครื่องอีดีซี โดยได้ร่วมกันพัฒนาฟังก์ชั่นในการใช้งาน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ร้านค้าเพิ่มขึ้นในทุกๆ ด้าน

เครื่องรับบัตรกลุ่ม TAPS นี้ จึงเป็นเครื่องรับบัตรรูปแบบใหม่ แตกต่างจากเครื่องรับบัตรแบบเดิมๆ ในตัวเครื่องจะรวมฟังก์ชั่นพิเศษของทั้ง 5 ธนาคารสมาชิกไว้ในเครื่องเดียว เช่น ฟังก์ชั่นการผ่อนชำระ และฟังก์ชั่นการสะสมแต้ม ทำให้ร้านค้าไม่จำเป็นต้องมีหลายเครื่องเพื่อรองรับบัตรของแต่ละธนาคาร จะช่วยลดความซ้ำซ้อนด้านการลงทุนและการใช้งานแก่ร้านค้า

“ต่อไปการรับและจ่ายเงินของภาครัฐ ไม่ว่าจะผ่านบัตรเดบิต บัตรเครดิต หรือเป็นอะไรก็ได้ จะเป็นอิเล็กทรอนิกส์ เพราะเราไม่อยากให้แบกเงินสดกันไปเยอะๆ เพื่อจะมาชำระภาครัฐ เช่น การโอนที่ดินที่พูดกันว่าต้องแบกกันไปเป็นล้านบาท เป็นต้น และภาครัฐรับเงินสดก็ยุ่งยาก ต้องมานั่งนับอีก อีกทั้งเมื่อไม่ได้จ่ายเงินสด ก็คงเอาเข้ากระเป๋าใครไม่ได้ด้วย”

“ปัจจุบัน คนไทยมีบัตรเดบิตจำนวน 54 ล้านใบ และมีเครื่องรับบัตรกว่า 4 แสนเครื่อง แต่เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในประเทศแล้ว จำนวนเครื่องรับบัตรของไทยยังถือว่าน้อยdว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ถึง 4-5 เท่าตัว รวมทั้งปริมาณการใช้บัตรเดบิตในการรูดซื้อสินค้าและบริการยังไม่มากนัก

“จึงหวังว่า โครงการนี้จะเป็นแรงผลักดันสำคัญการส่งเสริมให้คนไทยหันมาใช้บัตรเดบิตที่คนส่วนใหญ่มีความคุ้นเคยกันอยู่แล้วมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสะดวกมากขึ้น ร้านค้ามีช่องทางรับชำระเงินในการทำธุรกิจด้วยต้นทุนที่ต่ำลงและประเทศสามารถลดต้นทุนการใช้เงินสดลงได้ด้วย”

อภิศักดิ์กล่าว

ภาครัฐได้สนันสนุนการติดตั้งเครื่องอีดีซีเป็นส่วนสำคัญในโครงการระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือ National e-Payment โดยผู้ที่ได้รับคัดเลือกทั้งสองราย ได้แก่ กลุ่ม Consortium ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารธนชาต

และกลุ่มกิจการการค้าร่วมโครงการอีเพย์เมนต์ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย จะทำหน้าที่กระจายอุปกรณ์รับชำระเงิน EDC ดังกล่าวไปยังร้านค้าทั่วไปจำนวน 5.6 แสนเครื่องทั่วประเทศ ไม่กระจุกตัวเฉพาะในเมืองใหญ่ จะเริ่มทยอยติดตั้งเครื่องได้ทันที คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 ปี 2561

โดยจะเป็นเครื่องที่ติดตั้งกับหน่วยงานราชการ เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการสามารถนำบัตรเดบิตและบัตรเครดิตไปใช้ผ่านเครื่อง EDC ในระยะต่อไปจะสามารถต่อยอดการใช้เครื่องรับบัตรกับบริการอื่นได้ เช่น โครงการตั๋วร่วม และบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น

ภายหลังจากติดตั้งเครื่องรับบัตรดังกล่าวแล้ว รัฐบาลจะกระตุ้นการใช้บัตรและชำระเงินในระบบอีเพย์เมนต์ต่อไป

ผลกระทบอีกประการหนึ่งที่รัฐจัดทำบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยใช้ผ่านเครื่อง EDC ก็คือร้านค้าเล็กจ่อปิดกิจการ เพราะคนในหมู่บ้านแห่ไปซื้อร้านที่เข้าร่วมโครงการ หรือห้างขนาดใหญ่แทน

นางสมจิตร สุวรรณมา อายุ 70 ปี อาชีพขายของชำใน ต.สวายจีก อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ออกมาระบุถึงผลกระทบจากบัตรสวัสดิการตามโครงการของรัฐบาล ถือว่าเป็นโครงการที่ดี โดยเฉพาะคนจนตามชนบท สามารถบรรเทาความเดือดร้อนในชีวิตประจำวันไปได้ในส่วนหนึ่ง ถึงแม้จะเป็นเงินเพียง 300 บาทต่อเดือนก็ตาม

แต่หลังจากโครงการเริ่มขึ้น ปรากฏว่า ร้านค้าขนาดเล็กที่ไม่มีรายชื่อได้เข้าร่วม ต่างได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด ยอดขายสินค้าลดไปกว่าครึ่งทำให้รายได้ลดลง

เพราะชาวบ้านจะไปรูดบัตรกับร้านที่มีรายชื่อในจังหวัดที่เป็นห้างขนาดใหญ่ และขยายสาขาไปทุกตำบล และเป็นห้างเดียวที่มีรายชื่อได้เข้าร่วมโครงการกับรัฐบาล ทำให้ร้านค้าต่างเกิดความสงสัยถึงขั้นตอนการพิจารณาร้านค้าที่เข้าร่วม ขณะที่คนจนที่ไปรูดซื้อสินค้า ส่วนใหญ่ก็จะซื้อเกินกว่าวงเงินที่ได้รับคือเดือนละ 300 บาทอยู่แล้ว

ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็จะจ่ายเงินส่วนต่างเพิ่มให้กับห้าง หากรัฐบาลเพิ่มวงเงินให้อีก คนกลุ่มนี้ก็จะมีพฤติกรรมเช่นเดิม ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ร้านค้าขนาดเล็กขายไม่ได้

นางสมจิตร กล่าวด้วยว่า อยากจะให้รัฐบาลยกเลิกการช่วยเหลือจากบัตรรูดสินค้ามาเป็นเงินสดแทน เพราะจะทำให้ร้านค้าขนาดเล็กตามหมู่บ้านมีรายได้จุนเจือครอบครัวไปด้วย

ส่วนที่เกรงว่าคนจนจะเอาเงินไปใช้อย่างผิดวิธีนั้นไม่เป็นความจริง เพราะมีคนจนจำนวนไม่น้อยที่รูดสินค้าอุปโภค-บริโภคออกมาแล้ว ก็จะนำไปแลกซื้อสุราขาวกับร้านขนาดเล็กมาดื่มอยู่ดี