เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : ภูมิกวีเมืองเพชร

๐ มาลงเรือเมื่อจะล่องแรมสองค่ำ ต้องไปร่ำลาพราหมณ์ตามวิสัย

ไปวอนว่าท่านยายคำให้นำไป บ้านประตูไม้ไผ่แต่ไรมา

เป็นถิ่นฐานบ้านพราหมณ์รามราช ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายวงศา

เทวสถานศาลสถิตอิศวรา เสาชิงช้าก็ยังเห็นเป็นสำคัญ

ทั้งโบสถ์บ้านฐานที่ยังมีอยู่ แต่ท่านผู้ญาติกานั้นอาสัญ

เพราะกรุงแตกแยกย้ายพลัดพรายกัน จึงสิ้นพันธุ์พงศาเอกากาย

ที่เหล่ากอหลอเหลือในเนื้อญาติ เป็นเชื้อชาติชาวพริบพรียังมีหลาย

แต่สิ้นผู้ปู่ย่าพวกตายาย ญาติทั้งหลายมิได้รู้เรื่องบูราณ

แต่ตัวเราเข้าใจได้ไต่ถาม จึงแจ้งความเทือกเถาจนเอาวสาน

จะบอกเล่าเผ่าพงศ์พวกวงศ์วาน ก็เกรงท่านทั้งหลายจะอายครัน

จึงกรวดน้ำรำพึงไปถึงญาติ ซึ่งสิ้นชาติชนมาม้วยอาสัญ

ขอกุศลผลส่งให้พงศ์พันธุ์ สู่สวรรค์นฤพานสำราญใจ

 

นิราศเมืองเพชรของท่านกวีเอกสุนทรภู่ฉบับที่ขาดหายไปจากฉบับพิมพ์เป็นทางการ จำเพาะกลอนข้างต้นนี้มีหมายเลขกำกับบทว่าตั้งแต่ 238-243

อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ท่านได้ต้นฉบับมาจากหอสมุดแห่งชาติ ว่ามีถึง 20 บท

แต่แค่หกบทข้างต้นนี่ก็เผยให้ได้รู้ประวัติของท่านสุนทรภู่ว่าท่านมี “ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายวงศา” และ “ที่เหล่ากอหลอเหลือในเนื้อญาติ เป็นเชื้อชาติชาวพริบพรียังมีหลาย”

ท่านเป็นคนเมืองเพชรโดยสายตระกูล นี่แหละของจริง

 

ถามว่า เรื่องสำคัญอย่างนี้ทำไมจึงถูกทำให้ขาดหายไปจากการชำระเพื่อพิมพ์เผยแพร่

อาจารย์ล้อมเล่าว่า ท่านจันทร์ คือหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี นามปากกาว่า “พ.ณ ประมวญมารค” โอรสของ น.ม.ส. หรือพระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส ท่านสันนิษฐานว่า สุนทรภู่คงเป็นผู้ตัดออกเอง แล้วปรับสำนวนให้ต่อสนิทกันจะด้วยเหตุผลใดไม่ทราบ

ขอแสดงความคิดเห็นว่า ถ้าท่านสุนทรภู่ตัดกลอนที่เกี่ยวกับประวัติของท่านออกเองจริงก็น่าจะมาจากวรรคที่ว่า

“จะบอกเล่าเผ่าพงศ์พวกวงศ์วาน

ก็เกรงท่านทั้งหลายจะอายครัน”

นี่แล้ว นี่แหละ…ก็เกรงท่านทั้งหลายจะอายครัน

รายละเอียดอื่นต้องไปคุยกับท่านอาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ที่เมืองเพชรเอาเองละกัน

 

ไปเมืองเพชรมาเมื่อวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เลยมีโอกาสได้สังสันทน์กับพ่อครูปู่ปราชญ์ ท่านล้อม เพ็งแก้ว พลอยได้ “ภูมิเมืองเพชร” มาอีกหลายล้ำ

ไปร่วมรายการ “กวีปากกาทอง” ของศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งจัดร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี นอกจากท่านอธิการบดี ผศ.ดร.เสนาะ กลิ่นงาม แล้ว วิทยากรร่วมคือ คุณเรวัตร พันธุ์พิพัฒน์ ดร.ทวีศักดิ์ ปิ่นทอง กับชาวชมรมนักกลอนเมืองเพชร มีอาจารย์ทองใบ แท่นมณี คุณทวีสิทธิ์ ประคองศิลป์ และผองเพื่อนนักกลอนเมืองเพชรอีกหลากหลาย

สถาบันที่ส่งอาจารย์และนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมงานมีเช่น ม.ราชภัฏสวนสุนันทา จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยเพชรบุรี สาธิตราชภัฏเพชรบุรี บ้านแหลมวิทยา ท่ายางวิทยา เขาย้อยวิทยา และหนองจอกวิทยา

ศิลปินมือซอสำคัญของวงคันนายาว คือ ป่อง ต้นกล้า หรือ รังสิต จงฌาณสิทโธ ผู้ปักหลักครอบครัวอยู่เมืองเพชร ก็มาร่วมบรรสานซอเสนาะเสียง สะกดจิตสะกดใจให้ได้ฟังกันอย่างอิ่มหูไม่รู้หายอีกด้วย

 

เมืองเพชรหรือเพชรบุรีนี้เป็นเมืองเอกของภาคกลางตอนล่าง ต่อกับภาคใต้ตอนบนพอดี สำเนียงพูดของชาวเพชรจึงดูจะพิเศษกว่าเมืองอื่น คือออกสำเนียงที่เรียกว่า “เหน่อ” ซึ่งกระเดียดจะเป็นสำเนียงใต้แล้ว

น่าสังเกตคือ เสียงเหน่อนี้เป็นคำที่คนภาคกลางโดยเฉพาะชาวกรุงเรียก ซึ่งชาวเสียงเหน่อจะเรียกเสียงพวกชาวกรุงว่า เป็นเสียง “เยื้อง” คือเยื้องไปจากเสียงที่ใช้พูดกันเหน่อๆ นี่แหละ ยืนยันว่าเสียงเหน่อนี่แหละเสียงแท้ ไม่ใช่ “เหน่อ” อย่างว่าสักหน่อย

เคยไปฟังเสียงชาวเมืองตราด ก็ใช่เลย นี่ก็สำเนียงเพชรเหมือนกัน ลองฟังที่เขายกเป็นตัวอย่าง (พยายามสะกดออกเสียงใกล้เคียง) ดังนี้

“ท้างหมั่นขด หรดมั้นฮั้วฝัด ปลู ซั้มปะหรด ไม้ถั่นหลัด คว้ายหมั่นหยัดเฉด” คำตรงคือ

“ทางมันคด รถมันหัวฟัด ปลูกสับปะรด ไม่ทันลัด ควายมันยัดเช็ด”

แปลว่า “ทางคด รถแล่นหัวเหวี่ยง ปลูกสับปะรดยังไม่ทันขึ้น ควายมันกินหมด”

สำเนียงตราดกับสำเนียงเพชรก็นี่แหละใช่เลย

 

นอกจากสำเนียงแล้ว ยังมีสำนวนอีก ชาวเพชรนั้นขึ้นชื่อว่ามีเอกลักษณ์เรื่องสำนวนโวหารยิ่งนัก เช่น จะบอกว่า “ไม่ไป” ก็พูดว่า “ไปไม่” แล้วแถม “หรอก” เป็น “ไปไม่หรอก” คุณอัศศิริ ธรรมโชติ ศิลปินแห่งชาติ ชาวหัวหิน บอกว่า สำเนียงและสำนวนชาวหัวหินซึ่งอยู่ติดเมืองเพชร พูดคำว่า “ไม่ไป” สั้นกว่า “ไปไม่หรอก” คือจะพูดออกเสียงว่า “อึ๊มมร่อก” ซึ่งก็คือ “ไปไม่หรอก” หรือ “ไม่ไป” นั่นเอง

สำเนียง สำนวนแล้ว ชาวเพชรยังเป็น “เจ้าโวหาร” อีกด้วย ดังท่านสุนทรภู่กล่าวไว้ในนิราศเมืองเพชร เมื่อพายเรือสวนกันกับชาวเมืองเพชร

ถึงบ้านใหม่ไถ่ถามตามสงสัย

ว่ายังไกลอยู่หรือบ้านท่านขุนแขวง

ไม่บอกก่อนย้อนถามเป็นความแคลง

จะพายแรงหรือว่านายจะพายเบา

ถ้าพายหนักสักครู่หนึ่งก็ถึงดอก

สำนวนนอกน้ำเพชรแล้วเข็ดเขา

บ้างโห่ฉาวกราวเกรียวเกี่ยวข้าวเบา

บ้างตั้งเตาเคี่ยวตาลพานอุดม ฯ

“พานอุดม” นี่บางที่ว่า “สำราญรมย์”

 

นี่แหละ นี่แล้ว งานวรรณกรรมจึงสำคัญนัก

แต่มาเมืองเพชรชั่วประเดี๋ยวประด๋าว นอกจากได้ “สำนวนน้ำเพชร” และเกร็ดประวัติวงศ์วานของท่านสุนทรภู่ภาคพิสดารแล้ว

ยังได้ชื่นใจ อิ่มใจและภูมิใจกับเยาวชนคนหนุ่ม-สาวชาวเมืองเพชรที่กระตือรือร้นใคร่เรียนใคร่รู้เรื่องราวที่ทำให้เข้าใจชีวิตและความเป็นตัวของตัวเองอย่างมั่นใจ

ผ่านกวีปากกาทอง

 

น้ำเพชร

๐ สุนทรภู่ครูกลอนเคยสอนบอก

“สำนวนนอกน้ำเพชรแล้วเข็ดเขา”

นี่คำเพชรเพชรจริงยังพริ้งเพรา

ยังคงเค้าน้ำคำน้ำใจเพชร

สำนวนนอกน้ำเพชรเจ็ดกะรัต

เพชรรัตน์ล้อมวงมงกุฎเก็จ

หนึ่งน้ำคำน้ำหนึ่งมณีเม็ด

หนึ่งของดีของเด็ดเมืองเพชรแท้ ฯ