นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ช่างแต่งหน้าไทย

นิธิ เอียวศรีวงศ์

หนังสือที่เกี่ยวกับอินโดนีเซียเรื่องหนึ่งพูดถึงเมืองไทยในแง่มุมที่ผมไม่เคยนึกมาก่อนเลย เขาบอกว่าอินโดนีเซียและประเทศอื่นๆ ทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่มีประเทศใดที่มีท่าทีเชิงรุก (aggressive) เท่าประเทศไทย ในการเสนอภาพสัญลักษณ์แทนตัวแก่ชาวโลก จะด้วยเหตุผลเพื่อการท่องเที่ยว หรือเหตุผลอื่นใดก็ตามที

ยิ่งเปรียบกับอินโดนีเซียแล้วยิ่งเห็นชัด ที่จริงแล้ว อินโดนีเซียนั้นเป็น “ยักษ์” ตัวที่สามของเอเชีย ในแง่พื้นที่ประเทศและจำนวนประชากร เป็นประเทศมุสลิมที่มีประชากรนับถืออิสลามใหญ่สุดในโลก มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่ 27 ของโลก ประเทศนี้ยังมีความเป็น “ยักษ์” อีกหลายเรื่อง แต่ “ยักษ์” ตนนี้กลับซุกตัวอยู่เงียบๆ ในซอกหลืบของภูมิภาค ที่แทบไม่สะดุดตาใครในโลกเลย

จริงแฮะ เอ่ยชื่อประเทศไทยขึ้นมา ผู้คนกว่าครึ่งโลก จากนิวยอร์ก ยันไปถึงมอสโก ปักกิ่งและเดลลี นึกถึงอะไรที่เราเรียกว่า “ไทยๆ” ได้เยอะแยะไปหมด นับตั้งแต่ต้มยำ, ส้มตำ, ผัดไทย, ทุเรียน, มังคุด, (ข้าวเหนียว) มะม่วง, มวยไทย, รำไทย, ชุดไทย, ตุ๊กตุ๊ก, สงกรานต์, ถนนข้าวสาร, หาดป่าตอง, เชียงใหม่, เศรษฐกิจพอเพียง, เครื่องรางของขลัง ฯลฯ นึกไปยังไงก็ไม่หมด

แต่พอเอ่ยชื่อประเทศอินโดนีเซียขึ้นมาบ้าง ไม่มีภาพสัญลักษณ์อะไรผุดขึ้นในใจของคนส่วนใหญ่ในโลกเลย แต่ก่อนยังมีภาพของประธานาธิบดีซูการ์โนผุดขึ้นมาบ้าง แต่หลังปี 1965 ชื่อของท่านก็เลือนหายไปจนทำให้นึกอะไรเกี่ยวกับอินโดนีเซียไม่ออก เหลือแต่กาเมอลันซึ่งให้แรงบันดาลใจแก่เดอบุสซี แต่ปัจจุบัน คนก็ฟังเดอบุสซีและเพลงคลาสสิคน้อยลง จนแทบไม่เหลือเพลงคลาสสิคในเชิงธุรกิจอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวงดนตรีหรือแผ่นเสียง

ผมเคยไปเที่ยวอินโดนีเซียแล้วคิดว่า หากพูดถึง “ทรัพยากรการท่องเที่ยว” แล้ว เขามีมากกว่าเราเสียอีก แต่นักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจท่องเที่ยวอาจบอกว่า มันยังไม่ค่อยได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง รถโดยสารสาธารณะ ที่พัก ที่จับจ่ายซื้อของ ฯลฯ เช่น ทั้งชีวิต ผมรู้จักคนไทยอยู่คนเดียว ที่เคยไปเห็นตัวมังกรโคโมโดะเป็นๆ มาด้วยตาตนเอง เพราะมันไปยากไปเย็นแสนเข็ญสำหรับคนทั่วไป ไม่ “ลุย” จริง ไปไม่ถึงหรอกครับ

พม่ากับเวียดนามก็เหมือนกัน เที่ยวได้ไม่รู้เบื่อ แต่มีภาพสัญลักษณ์อะไรแทนสองประเทศนี้บ้าง พระมหาเจดีย์ชเวดากองอาจเป็นภาพแทนพม่าพอได้ แต่ผมไม่แน่ใจว่าคนในโลก โดยเฉพาะโลกตะวันตก คุ้นเคยกับพระมหาเจดีย์นี้แค่ไหน ส่วนเวียดนามนั้น เอ่ยขึ้นมาเมื่อไร คนมักนึกถึงสงครามเวียดนาม อันเป็นวีรกรรมที่ให้กำลังใจแก่คนเล็กๆ ทั่วโลก แต่นั่นก็นานมาแล้ว และคนรุ่นหลังรู้สึกว่าอยู่ห่างตัวจนนึกไปไม่เห็น

ครั้งสุดท้ายที่ผมไปเที่ยว คนเวียดนามคนหนึ่งยังรำพึงกับผมว่า ทำไมประเทศของเขาจึงต้องสู้ตายเพื่อหลักการอะไรถึงขนาดนั้น เหตุใดจึงไม่เอาอย่างไทย ซึ่งไม่ต้องมีหลักการอะไรทั้งนั้น แค่เอาตัวรอดไปวันๆ และพัฒนาเศรษฐกิจไปเรื่อยๆ ก็พอแล้ว และดีแก่บ้านเมืองมากกว่า

ตรงกันข้ามกับไทยนะครับ เรามีภาพสัญลักษณ์แทนตัวเต็มไปหมดทั้งโลก ผมอยากเดาว่าคนเห็นภาพพระปรางค์วัดอรุณฯ ก็ร้องอ้อไทยแลนด์หรือบางกอก เท่ากับเห็นอนุสาวรีย์เสรีภาพก็ร้องอ้อได้ทันทีว่านิวยอร์กหรือสหรัฐ

An empty river express boat catering to tourists wishing for a tour along Bangkok’s historic Chao Phraya River idles in the middle of the sinous river waiting for tourists 08 January 2003. The terrorist threat in Southeast Asia has cut growth in Thailand’s tourism industry, with lost revenue of 4.0 billion baht (92 million dollars) in the last three months of 2002 alone, a report said Monday. The Thai Farmers Research Centre said the number of arrivals in the fourth quarter would rise 2.4 percent to 2.68 million from a year earlier, 135,000 less than expected before October’s devastating bombing in Bali. The economic thinktank said the tourism sector had been damaged by a series of travel warnings issued by foreign governments after the Bali tragedy, and a spate of bombings in Thailand’s Muslim-majority south.. AFP PHOTO/Stephen SHAVER / AFP PHOTO / STEPHEN SHAVER

ทําไมไทยจึงมีท่าทีเชิงรุกในเรื่องนี้มากกว่าเพื่อนบ้านผมก็ตอบไม่ได้ แต่มีข้อสังเกตสองประการ

ประการแรกก็คือ ภาพสัญลักษณ์เหล่านี้ล้วนถูกสร้างและเผยแพร่ หลังสมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ลงมาทั้งสิ้น ก่อนหน้านั้น คนไทยไม่ได้สร้างภาพสัญลักษณ์ด้วยตนเอง แต่เป็นสิ่งที่คนต่างชาติสร้างให้ เช่น สยามเมืองยิ้ม, เมืองผ้าเหลือง, คนกินบัว, รวมทั้งภาพสัญลักษณ์ที่เราไม่ชอบด้วย เช่น ลิ้นสยาม (Siamese Talk)

คิดดูเรื่องนี้ก็น่าประหลาด เพราะท่ามกลางความจืดๆ ของไทยหรือสยามสมัยนั้น ผู้นำประเทศล้วนเป็นคนที่อาจเรียกได้ว่ามีลักษณะ “โลกนาคร” หรือ cosmopolitan โดยเฉพาะ “นาคร” ของยุโรป ร.4 ทรงมีลายพระหัตถ์ในภาษาอังกฤษถึงข้าราชการอาณานิคมระดับสูง ตลอดจนประมุขต่างประเทศอยู่เสมอ โดยแสดงออกซึ่งความเข้าพระทัยในแบบธรรมเนียมการสมาคมของฝรั่งเป็นอย่างดี รวมทั้งส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีในยุโรปหลายประเทศ ร.5 ตรัสภาษาอังกฤษได้คล่อง และเสด็จเยือนยุโรปด้วยพระองค์เอง ทั้งทรงส่งพระราชโอรสไปศึกษาต่อในยุโรปด้วย จึงมีผลให้รัชกาลต่อมาทั้งสองรัชกาล ไทยมีกษัตริย์ที่ “เจนจัด” กับโลกตะวันตก

แม้กระนั้นในช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สยามไม่ได้มีบทบาทในการเมืองระหว่างประเทศแต่อย่างไร เพียงแต่ปรากฏตัวให้โลกได้เห็นบนเวทีโลกในฐานะประเทศเอกราชอยู่บ่อยๆ เพื่อตอกย้ำคำรับรองที่มหาอำนาจให้แก่เอกราชและบุรณภาพทางดินแดนของสยาม

หลังการปฏิวัติประชาธิปไตยใน 2475 ผู้นำประเทศสำคัญสองคนของคณะราษฎร คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ต่างเป็นคนที่สังกัดอยู่ในวัฒนธรรมโลกนาคร ทั้งสองคนเป็นผู้นำประเทศในช่วงที่การเมืองโลกกำลังผันผวนอย่างยิ่ง จักรวรรดินิยมตะวันตกกลับเป็นฝ่ายตั้งรับในสถานการณ์ใหม่ภายใต้การนำของจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น ในที่สุดก็ถูกขับไล่ออกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปทั้งหมดด้วยกำลังทหารของจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น

สถานการณ์ผันผวนนี้ทำให้ผู้นำทั้งสองท่านต้องมองและปรับสถานะและบทบาทของสยาม-ไทยในภูมิภาคหรือในโลก ดูเหมือนทั้งสองเห็นตรงกันว่า ยุคสมัยของอาณานิคมตะวันตกได้สิ้นสุดลงแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะทหารคิดถึงความปลอดภัยของประเทศในอนาคต ด้วยการขยายดินแดนไปประชิดกับแนวป้องกันตนเองตามธรรมชาติ เช่น ภูเขาหรือแม่น้ำ ในขณะที่ท่านปรีดี คิดถึงการสร้างสายสัมพันธ์ที่เป็นมิตรเกื้อกูลกันกับประเทศเอกราชที่จะต้องเกิดใหม่อีกหลายประเทศในภูมิภาค

ความมุ่งหวังของทั้งสองท่านไม่บรรลุผลทั้งคู่ เพราะสงครามเย็นซึ่งเกิดขึ้นแทบจะทันทีที่สงครามร้อนยุติลง แม้กระนั้นผู้นำตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สืบมาจนจอมพล ป. พิบูลสงคราม และท่านปรีดี พนมยงค์ แม้สำนึกและพยายามมีบทบาทที่เป็นโลกนาคร แต่ก็ไม่ได้พยายามจะสร้างภาพสัญลักษณ์ “ไทยๆ” แก่ชาวโลกแต่อย่างใด จนมาถึงสมัยที่ไทยมีผู้นำส่วนใหญ่ซึ่งค่อนข้างจะ “บ้านนอก” หรือ parochial คือไม่เจนจัดกับโลกข้างนอกนัก ภาพสัญลักษณ์ “ไทยๆ” จึงถูกผลิตออกป้อนตลาดโลกจำนวนมาก

หลวงประดิษฐ์มนูญธรรม (ปรีดี พนมยงค์)

ประการที่สอง จากข้อสังเกตข้างต้น ผู้ที่ผลิตภาพสัญลักษณ์เหล่านั้นไม่ใช่รัฐบาลหรือผู้นำ อย่างน้อยก็ไม่ใช่โดยตรง หากจะมีส่วนอยู่บ้างก็คือหน่วยงานที่รัฐตั้งขึ้น เช่น องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว (ซึ่งนำเอาโปสเตอร์พระปรางค์วัดอรุณฯ ไปติดทั่วโลก) แต่คนที่ผลิตป้อนตลาดโลกได้มากที่สุด ผมอยากยกให้คนชั้นกลางไทย ซึ่งเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและความสำคัญนับตั้งแต่สมัยสฤษดิ์เป็นต้นมา

จากระยะแรกๆ ที่ยังอาจอายๆ กับภาพสัญลักษณ์ “ไทยๆ” บางอย่าง เช่น ตุ๊กตุ๊ก, ส้มตำ และอาหารข้างถนน แต่คนชั้นกลางไทยก็มีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้นตลอดมา จนปัจจุบันยังตะขิดตะขวงอยู่บ้างก็ไม่กี่อย่าง เช่น ไม่อยากให้ใครเรียกกรุงเทพฯ ว่าเป็นนครหลวงแห่งการค้าประเวณี แต่อยากให้หญิงไทยได้เป็นนางงามจักรวาล

กล่าวโดยสรุปก็คือ ชนชั้นสูงอาจเป็นผู้สร้าง “ชาติไทย” ขึ้นมา แต่คนชั้นกลางต่างหากที่เป็นผู้สร้างอัตลักษณ์ของชาติ ให้เป็นที่รู้จักในโลกกว้าง

พื้นที่สำคัญซึ่งคนชั้นกลางใช้สร้างอัตลักษณ์ของชาติ (หรือรสนิยมทางศิลปะ, แฟชั่น, วิถีชีวิต, แบบแผนการบริโภค ฯลฯ) คือตลาด ไม่ใช่ตลาดของการซื้อ-ขายเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงสื่อทุกประเภทซึ่งต้องอยู่ในบังคับของตลาด ยิ่งตลาดขยายเข้าไปในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งเคยปลอดจากตลาดมาก่อนมากเท่าไร คนชั้นกลางก็จะเป็นผู้กำหนดชีวิตทางสังคมมากขึ้นไปเรื่อยๆ เช่น วัด, โรงเรียน, โรงพยาบาล ฯลฯ … แค่สามอย่างนี้ คนชั้นกลางก็เป็นผู้กำหนดหรือกำกับความรู้, ความดี, และสุขภาพไปเสียแล้ว

A western tourist uses free internet facility to inform her relatives back home provided at a Thai Buddhist temple in Khao Lak, a province of the tourist resort island of Phuket which was badly affected by a massive tidal wave over the weekend, 27 December 2004. Thai Prime Minister Thaksin Shinawatra said that 2,000 people may have died in southern Thailand after the weekend’s devastating tidal waves which swept the region. AFPPHOTO/ JACK BARTON / AFP PHOTO / SAEED KHAN

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของคนชั้นกลางในเมืองไทยในระยะหลังมานี้ ได้ขยายลงมาถึงคนระดับล่างมากขึ้น เพราะไม่ได้อาศัยการศึกษาที่เป็นทางการเป็นทางผ่านเข้าสู่ความเป็นคนชั้นกลางเพียงอย่างเดียวเหมือนแต่ก่อน จึงน่าจะมีคนชั้นกลางหน้าใหม่ๆ จำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างอัตลักษณ์ของชาติขึ้นเหมือนกัน

เวลานี้ยังมองเห็นไม่ค่อยถนัดนัก หรืออย่างน้อยก็ยังมองไม่เห็นในภาพสัญลักษณ์แบบ “ไทยๆ” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก แต่หากดูจากงานวิชาการของนักวิชาการต่างชาติ ก็เป็นไปได้ว่าภาพสัญลักษณ์ของไทยกำลังจะเพิ่มชนิดขึ้นไปอีก และเป็นภาพสัญลักษณ์ที่ห่างจากวิถีชีวิตของคนชั้นกลางระดับบนด้วย

มอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นต้น กรุงเทพฯ ไม่ใช่เมืองแรกที่มีแท็กซี่มอเตอร์ไซค์ แต่ตกมาถึงปัจจุบัน ผมเข้าใจว่าไม่มีเมืองใดในโลกที่มีแท็กซี่มอเตอร์ไซค์มากเท่ากรุงเทพฯ จะเป็นเพราะระบบเศรษฐกิจไทย, ผังเมืองกรุงเทพฯ และสภาพการจราจร หรืออะไรก็ตามทีที่ทำให้แท็กซี่มอเตอร์ไซค์แพร่หลายในกรุงเทพฯ ถึงเพียงนี้

มีคนในอาชีพนี้เป็นหมื่น หากนับรวมครอบครัวเข้าไปด้วยก็เป็นแสน มีวิถีชีวิตที่ไม่สู้จะต่างกันนัก ไม่ว่าที่อยู่อาศัยหรือถิ่นที่อยู่อาศัย, อาหารการกิน, การพักผ่อนหย่อนใจ, หรือแม้แต่ภาษาพูดที่ใช้สื่อสารกัน ทำไมเขาและอาชีพการงานของเขาจะเป็นภาพสัญลักษณ์แทนเมืองไทยไม่ได้ ผมคิดว่าวันหนึ่งในอนาคต (อันไม่สู้ไกล) มอเตอร์ไซค์รับจ้างในกรุงเทพฯ อาจได้ขึ้นโปสเตอร์เหมือนพระปรางค์วัดอรุณฯ เช่นกัน

เพลงลูกทุ่ง เป็นภาพสัญลักษณ์ “ไทยๆ” แก่คนไทยมานานแล้ว แต่มันกำลังขยายไปสู่ความสนใจของนักวิชาการต่างชาติ และวันหนึ่งข้างหน้า เพลงลูกทุ่งอาจเป็นภาพสัญลักษณ์แทนเมืองไทย ในขณะที่เพลงไทยเดิมและเพลงลูกกรุงไม่ได้เป็น

หากเป็นจริงอย่างที่ผมคาดเดา น่าสังเกตด้วยว่า ภาพสัญลักษณ์ใหม่หรืออัตลักษณ์แบบใหม่เหล่านี้ แตกต่างจากอัตลักษณ์แบบเก่า คือไม่ค่อยห่วงว่าจะให้ภาพที่งามแก่โลกภายนอกหรือไม่ แต่มักเป็นภาพที่ “จริง” กว่า คือตรงกับความเป็นจริงในวิถีชีวิตของคนไทยมากกว่า

สรุปโดยไม่จำเป็นว่า เมืองไทยเปลี่ยนไปมากนะครับ ไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม