ย้อนเหตุระทึกนิสิตหนุ่ม จมน้ำสาหัส-ปอดติดเชื้อ ม.เกษตรโต้วุ่น-รับน้อง กสม.จับตาละเมิดสิทธิ

เป็นเรื่องราวใหญ่โตที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

สำหรับกรณีที่นิสิตหนุ่มวัย 19 ปี น้องใหม่จากคณะพาณิชยนาวีนานาชาติ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จมน้ำในบ่อของมหาวิทยาลัย อาการสาหัส ขณะร่วมกิจกรรมของคณะ

แม้ทางมหาวิทยาลัยจะออกมาชี้แจงถึงกิจกรรมดังกล่าวว่าไม่ใช่การรับน้อง อีกทั้งน้ำในบ่อที่บอสลงไปว่ายก็ไม่มีสารพิษใดๆ

แต่ด้วยอาการปอดติดเชื้อ เป็นตายเท่ากัน ย่อมก่อให้เกิดคำถามถึงกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย ว่าควรมีขีดขั้นความเหมาะสมเพียงใด

1-66
สลดนิสิตจมน้ำ-ปอดติดเชื้อ

เหตุสลดครั้งนี้ถูกเปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Pook Sukonta Berthebaud โพสต์ภาพหนุ่มร่างใหญ่ ผิวคมเข้ม ฉีกยิ้มกว้างในชุดนักเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง พร้อมบรรยายใต้ภาพสรุปว่า เด็กผู้ชายในภาพชื่อบอส โชคชัย อดีตประธานนักเรียนโรงเรียนสันติราษฎร์รุ่น 40 บอสเป็นเด็กกิจกรรม เพื่อนๆ และรุ่นน้องรวมถึงครูบาอาจารย์รักเขามาก บอสมีรอยยิ้มที่สดใสและได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย…วิทยาเขตศรีราชา

และโดนรุ่นพี่จากคณะ… รับน้องด้วยวิธีป่าเถื่อน ด้วยการดำน้ำในท่อบำบัดน้ำเสีย ผลคือน้องจมน้ำเน่า และตอนนี้กำลังอยู่ในห้อง ICU โรงพยาบาลชลบุรี โดยไร้รุ่นพี่คนใดและเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยคนใดเหลียวแล

จนบัดนี้ บอสยังไม่ฟื้นเลย เราขอประณามทางมหาวิทยาลัยที่ปล่อยให้เกิดกิจกรรมทุเรศๆ และต่อต้านการรับน้องในคณะทุกรูปแบบ พูดเลยพ้นรั้วมหาลัยมาสิบกว่าปีไม่เคยได้ใช้ประโยชน์อะไรจากการรับน้องแม้เพียงสักอย่างเดียว”

เมื่อโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

พร้อมกับการสืบหาข้อเท็จจริง ซึ่งก็ทราบความว่าเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อช่วงเย็นวันที่ 8 ก.ย. โดยแพทย์โรงพยาบาลชลบุรี รับคนไข้ทราบชื่อภายหลังว่านายโชคชัย ทองเนื้อขาว หรือน้องบอส อายุ 19 ปี นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ ม.เกษตรฯ วิทยาเขตศรีราชา เข้ารักษา

โดยมีอาการหมดสติไม่รู้สึกตัว แพทย์ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งจากการรักษาพบว่ามีอาการติดเชื้อที่ปอดทั้ง 2 ข้าง เนื่องจากสำลักน้ำไม่สะอาด แพทย์จำเป็นต้องให้ยานอนหลับ เพราะไม่ต้องการให้รู้สึกตัว เนื่องจากมีอาการต้านเครื่องช่วยหายใจ

พร้อมทั้งให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อในปอด อาการยังวิกฤต ต้องใช้เครื่องพยุงไม่ให้ออกซิเจนในเลือดต่ำ เพราะจะกระทบต่อการทำงานของสมอง รักษาตัวอยู่ในไอซียู และต้องเช็กปอดกับสมองต่อไปว่าจะกลับมาหายเป็นปกติหรือไม่

หลังจากดูอาการอยู่ในห้องไอซียูถึง 6 วัน นพ.ชุติเดช ตาบองครักษ์ ผอ.รพ.ชลบุรี ก็ระบุว่าสามารถถอดเครื่องช่วยหายใจได้แล้ว ค่าออกซิเจนในเลือดเกือบจะเป็นปกติ สามารถลุกนั่งได้เองบนเตียง และกินอาหารเองได้ อ่านหนังสือได้ จำพ่อแม่พี่น้องได้ดีทุกคน หากไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ ก็สามารถย้ายมารักษาตัวในห้องพิเศษ

ถือเป็นข่าวดีที่ครอบครัวน้องบอสได้รับในรอบหลายวัน


เผยรุ่นพี่ท้า-ไม่ใช่รับน้อง

สําหรับกิจกรรมดังกล่าว ที่มีผู้ระบุว่าเป็นการรับน้องนั้น นายจงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า เมื่อเหตุเกิดในมหาวิทยาลัย เราก็จะไม่ปัดความรับผิดชอบ จะต้องดูแลทุกอย่าง แต่เบื้องต้นขอให้เด็กปลอดภัยก่อน

สำหรับบ่อดังกล่าวยืนยันไม่ใช่บ่อบำบัดน้ำเสีย หรือบ่อบำบัดสารเคมี แต่เป็นบ่อน้ำปกติที่รองรับน้ำฝน และน้ำที่ไหลมาจากภูเขาด้านหลังมหาวิทยาลัย แต่เผอิญบ่อนี้ตั้งอยู่ข้างแล็บเคมี จึงเรียกกันติดปากว่าบ่อเคมี โดยบ่อดังกล่าวคณะพาณิชยนาวีฯ ใช้ฝึกภาคปฏิบัติเกี่ยวกับการขนส่งทางน้ำมาตลอด

ทั้งนี้ ต้องตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบรุ่นพี่ที่จัดกิจกรรมทั้งหมด หากพบว่ามีความประมาทเลินเล่อ ก็ต้องมีความผิด เรื่องนี้ไม่มีการปัดความรับผิดชอบแน่นอน เพราะย้ำทุกคณะแล้วว่ากิจกรรมรับน้องต้องไม่รุนแรง และต้องมีอาจารย์ดูแล

การรับน้อง มหาวิทยาลัยมีมาตรการอยู่แล้วคือ หนึ่ง ไม่ให้ใช้ความรุนแรง สอง ไม่ให้มีการบังคับ สาม ไม่ให้มีการว้าก จากการตรวจสอบนิสิตไม่ได้ทำนอกเหนือกรอบที่กำหนดไว้แต่อย่างใด ในตอนนี้เราคงยังไม่หาข้อเท็จจริง เราขอให้นิสิตของเราปลอดภัยก่อน ซึ่งกรณีนี้เป็นกิจกรรมกลางแจ้ง เป็นกิจกรรมเฉลยรหัส เป็นกิจกรรมสนุกสนาน” รรท.อธิการบดีกล่าว

ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ พล.ร.ท.นิรุทธ์ หงส์ประสิทธิ์ คณบดีคณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ยืนยันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่การรับน้อง เป็นเพียงกิจกรรมของคณะที่จัดขึ้นในบริเวณมหาวิทยาลัย คือ พี่พบน้อง เพื่อเฉลยสายรหัส และหลังจากทราบสายรหัสแล้ว รุ่นพี่จะดูแลกันต่อไปในอนาคต

โดยกิจกรรมนี้จัดขึ้นบริเวณสนามซอฟต์บอล ซึ่งเป็นลานดินกว้าง มีรุ่นพี่และรุ่นน้องเข้าร่วมประมาณ 400 คน ใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมงหลังจากเสร็จกิจกรรมแล้ว กลุ่มรุ่นน้องและรุ่นพี่ประมาณ 6-7 คน และหนึ่งในนั้น คือนายโชคชัย เดินไปล้างตัวที่บริเวณสระแก้มลิง ที่ห่างจากจุดจัดกิจกรรมประมาณ 20-30 เมตร

ในช่วงที่ล้างตัวอยู่นั้น มีรุ่นพี่ให้น้องปี 1 ว่ายข้ามฝั่งไปหารุ่นพี่ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามโดยไม่ได้บังคับ ซึ่งมาทราบในภายหลังว่าน้องมีอาการป่วยไม่สบายและเกิดจมน้ำ แต่รุ่นพี่ที่เห็นเหตุการณ์ก็ลงไปช่วยเหลือและนำตัวส่งโรงพยาบาลชลบุรีโดยด่วน พร้อมประสานให้ญาติรับทราบ ยืนยันดูแลตลอดไม่ได้ทอดทิ้ง

ด้าน นายวรปรัชญ์ อายุ 18 ปี เพื่อนน้องบอส เผยว่า หลังจากที่เสร็จจากกิจกรรมบริเวณสนามซอฟต์บอล ร่างกายเปรอะเปื้อน จึงมาล้างตัวที่สระดังกล่าว จังหวะนั้นมีรุ่นพี่พูดหยอกล้อ ให้ว่ายน้ำข้ามไปหารุ่นพี่ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม

จังหวะที่ว่ายไปนั้น รุ่นพี่เห็นท่าทางของบอสไม่ดี จึงลงไปช่วยและรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที ซึ่งคาดว่าบอสอาจว่ายน้ำไม่แข็ง ประกอบกับร่วมกิจกรรมเวลานาน และมาลงว่ายน้ำทำให้เกิดปัญหา และจมน้ำได้

อย่างไรก็ตามยังเป็นประเด็นคำถามว่าการตะโกนท้าทายหรือหยอกล้อในภาวการณ์ที่ทำกิจกรรมเช่นนี้ รุ่นน้องมีสิทธิปฏิเสธหรือไม่

และเข้าข่ายละเมิดสิทธิหรือไม่


กสม.จับตาละเมิดสิทธิ

หลังเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องน่ากลัว ซึ่งได้กำชับให้เลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา (กกอ.) รายงานข้อเท็จจริง พร้อมดูรายละเอียดต่างๆ ว่ารับน้องมีข้อดี ข้อเสีย หรือข้อควรระวังอะไรบ้าง

หากทุกมหาวิทยาลัยเห็นตรงกันว่าการรับน้องมีข้อดี ก็ต้องกำหนดกรอบแนวทางการรับน้องให้ชัดเจนว่ามีกี่ข้อ และควรจัดกิจกรรมในรูปแบบใด โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กเป็นสำคัญ เพื่อให้เด็กและผู้ปกครองสบายใจ ซึ่งเท่าที่ดูเชื่อว่ารุ่นพี่ไม่มีเจตนาอยากทำให้รุ่นน้องได้รับอันตราย

กำหนดกรอบกันให้ชัด ให้ผู้ปกครองสบายใจ เด็กปลอดภัย ทุกคนได้รับสิ่งที่เป็นข้อดี หากต่างฝ่ายต่างทำ แม้เจตนาดีอยากให้น้องรักสามัคคีมีความอดทน แต่วิธีการมันไม่เหมือนกัน เมื่อเกิดเหตุลักษณะนี้ก็มีแต่เสียใจ”

ขณะที่ นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิเด็กและการศึกษา เปิดเผยว่า กสม. รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมต่างๆ ภายในสถาบันการศึกษาหลายสถาบัน พบว่าบางกิจกรรมมีผลกระทบต่อสภาพร่างกายและจิตใจของนักศึกษาใหม่

แม้ไม่ได้มีการบังคับให้นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม แต่นักศึกษาใหม่ส่วนใหญ่เกรงว่าจะไม่ได้รับการยอมรับ จึงยอมเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ แบบไม่เต็มใจ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน

จึงขอเสนอแนะต่อสถาบันการศึกษาให้มุ่งเน้นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ และต้องประชุมซักซ้อมความเข้าใจกับนักศึกษา เพื่อให้ทราบถึงข้อควรปฏิบัติหรือไม่ควรในกิจกรรมต่างๆ พร้อมชี้แจงถึงผลกระทบต่อสถาบันการศึกษาและตัวนักศึกษา

การพิจารณาอนุญาตให้จัดกิจกรรมใดๆ สถาบันควรพิจารณาว่านำไปสู่จุดมุ่งหมายตามต้องการจริงหรือไม่ และทุกครั้งต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษาดูแลอย่างใกล้ชิด สามารถตัดสินใจในเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิด ป้องกันไม่ให้เกิดมีการละเมิดสิทธิของนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม

หากมีการละเมิดสิทธิหรือผิดกฎหมาย สถาบันการศึกษาต้องดำเนินตามกฎหมาย

ด้าน นายอัมพร ทองเนื้อขาว พ่อของน้องบอส ระบุว่า หากลูกชายหายดีเป็นปกติ ก็คงไม่ฟ้องร้องดำเนินคดี แต่ก็อยากให้มหาวิทยาลัยเข้ามาตรวจสอบกิจกรรมต่างๆ

ไม่ให้เกิดเหตุสลดซ้ำแล้วซ้ำอีก