ล้านนาคำเมือง : วิหารแบบล้านนาในล้านช้าง

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “วิหารแบบล้านนาในล้านช้าง”

อาณาจักรล้านนาและล้านช้างมีประวัติความเป็นมาในยุคก่อตั้งที่สัมพันธ์กันด้วยปัจจัยหลักทางด้านการร่วมชาติพันธุ์ในบรรพบุรุษยุคแรก มีการก่อตั้งร่วมศักราชเดียวกัน โดยล้านช้างตั้งหลังล้านนาประมาณ 60 ปี

ศูนย์กลางอารยธรรมล้านนาอยู่ที่เชียงใหม่

ขณะที่ล้านช้างมีศูนย์กลางอารยธรรมแห่งแรกที่เชียงทอง หรือหลวงพระบาง

ความเชื่อมโยงทางชาติพันธุ์และอารยธรรมเริ่มแรก ทำให้วัฒนธรรมต่างๆ มีความใกล้เคียงกันมาก ทั้งภาษา อาหาร เครื่องแต่งกาย ความเชื่อ ฯลฯ

โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนา ที่เริ่มแรกได้รับมาจากทางทิศตะวันตกของลุ่มน้ำโขงผ่านพุกามมายังดินแดนอาณาจักรสุวรรณโคมคำที่รุ่งเรืองขึ้นเป็นแห่งแรก

หลังจากกลุ่มคนไทได้ขับไล่ขอมออกไป อาณาจักรสุวรรณโคมคำนี่เองที่เป็นต้นกำเนิดอารยธรรมล้านนาและอารยธรรมล้านช้าง

พัฒนาต่อเป็นอาณาจักรโยนก มีเมืองเชียงแสนเจริญรุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรมโดดเด่นแผ่อิทธิพลทางพุทธศาสนาและศิลปะไปสู่ดินแดนโดยรอบ

วิหารสกุลช่างเชียงแสนมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นทางรูปทรงและโครงสร้างที่ลงตัวทั้งเทคนิคการเข้าไม้แบบถอดประกอบได้และมีสัดส่วนที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นชัดเจน นับจากอาณาจักรโยนกไปจนถึงสมัยล้านนาจึงพัฒนารูปแบบวิหารอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งแน่นอนว่าได้ส่งอิทธิพลไปสู่ล้านช้างในส่วนหนึ่ง

หลักฐานที่ชัดเจนได้แก่การเกิดขึ้นของวิหาร (สิม) ในเมืองเชียงทอง หลังจากพระเจ้าไชยเชษฐาได้มาครองล้านนาในช่วงเวลาหนึ่งแล้วได้นำเอานักปราชญ์ คัมภีร์ทางพุทธศาสนา และช่างหมวดต่างๆ กลับไปยังล้านช้างหลังจากพุทธศักราช 2091

พระองค์เป็นโอรสของกษัตริย์ล้านช้างและมีพระมารดาคือพระนางยอดคำทิพย์ผู้เป็นธิดาของกษัตริย์ล้านนาผู้มีเชื้อสายตรงสืบต่อจากพญามังรายมหาราชผู้ก่อตั้งราชวงศ์ล้านนา

ขณะที่เวลานั้นไม่มีผู้ใดมีศักดิ์เหมาะสมเท่า ดังนั้นจึงถูกอัญเชิญมาครองล้านนาในช่วงนั้น

วิหารวัดเชียงทองเป็นวัดหลวงแห่งแรกที่สร้างโดยพระไชยเชษฐา ด้วยแบบอย่างวิหารทรงเชียงแสนที่รับแบบอย่างมาจากล้านนา

จึงปรากฏความงามที่รักษาเอกลักษณ์เดิมไว้มากคือ ระบบการวางผัง แบบแปลน โครงสร้าง ที่อ้างอิงสัดส่วนร่างกายมนุษย์ รูปแบบโครงสร้างและสัดส่วนหลังคาที่มีการลดระดับชั้นหลายระดับ

การกำหนดให้ระนาบหลังคาแอ่นโค้งค่อนข้างลาดต่ำ

ส่วนประดับและสัญลักษณ์ที่สะท้อนความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุทั้งวิธีการวางผัง และการทำปราสาทเฟื้องกลางสันหลังคา ช่อฟ้าในรูปแบบโหง่ว หรือช่อฟ้ายองปลี

สัดส่วนของสีหน้า (หน้าจั่ว) และการตกแต่งอาคารด้วยลายคำบนพื้นฮักสูนหาง (ชาดผสมน้ำรัก)

ส่วนประกอบของฮวงผึ้ง (โก่งคิ้ว) ที่โดดเด่นอ่อนช้อยงดงาม

รวมทั้งส่วนประกอบตกแต่งอื่นๆ ของอาคารอีก เช่น แขนนาง (นาคทันต์หรือหูช้าง) นิยมประดับลวดลายต่างๆ เช่น ลายเครือเถา ลายพญานาค ลายดอกไม้สวรรค์ เป็นต้น

รูปแบบวิหารในอิทธิพลไทยวนล้านนาส่งผลต่อวัดยุคแรกๆ ในหลวงพระบาง ปัจจุบันสามารถเยี่ยมชมศึกษาทั้งในและนอกกำแพงเมืองเดิม เฉพาะในเขตกำแพงมีอย่างน้อย 5 วัด

วิหารกลุ่มอื่นๆ ของหลวงพระบางได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมไทลื้อ

และในภายหลังสถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ได้ส่งอิทธิพลเข้ามาเริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แห่งรัตนโกสินทร์ เกิดกลุ่มวัดที่มีอิทธิพลรัตนโกสินทร์อีกกลุ่ม

และเวลาผ่านไปยังเกิดรูปแบบผสมผสานเป็นกลุ่มใหม่ขึ้นอีกในภายหลังด้วยการสร้างสรรค์ของช่างท้องถิ่น เป็นกลุ่มวัดใหม่ๆ ที่มีอายุการก่อสร้างไม่นานมาก