วิกฤติศตวรรษที่21 : รัสเซียออร์ธอด็อกซ์กับปูติน

โลกหลังอเมริกา : การเคลื่อนย้ายอำนาจโลก (9)

เป็นที่สังเกตว่าขณะนี้ปูตินกับผู้นำศาสนารัสเซียออร์ธอด็อกซ์คนปัจจุบัน มีความสัมพันธ์พิเศษระหว่างกัน ต่างเคลื่อนไหวเกื้อกูลกัน ไม่เหมือนพระสันตะปาปาฟรานซิสที่มักวิจารณ์ผู้นำของตะวันตกอยู่เนืองๆ

จนมีเสียงวิจารณ์ว่า ปูตินที่มีความสัมพันธ์อันดีนี้ ต้องการใช้ศาสนารัสเซียออร์ธอด็อกซ์เพื่อฟื้นจักรวรรดิรัสเซียขึ้นมาใหม่

แต่เรื่องก็ไม่เป็นถึงขั้นนั้น ความสัมพันธ์พิเศษดังกล่าวไม่ได้ถูกวางแผนมาก่อน มันคลี่คลายไปตามการพัฒนาของกระบวนการสร้างชาติรัสเซียใหม่ ที่ปูตินและกลุ่มเป็นผู้คุมเกมสำคัญให้ดำเนินไปตามหนทาง “ประชาธิปไตยองค์อธิปัตย์”

เรื่องเป็นทำนองนี้ว่า ในข้อแรกหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ศาสนาต่างๆ ได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามความศรัทธาของผู้คน

ศาสนาสำคัญได้แก่ ศาสนาพุทธ คริสต์ออร์ธอด็อกซ์ตะวันออก อิสลาม และศาสนายูดาห์ ได้รับการยอมรับทางกฎหมายว่าเป็นศาสนาดั้งเดิม และเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางประวัติศาสตร์ของรัสเซีย

รัฐบาลไม่ได้กีดกันจำกัดการนับถือศาสนาเหมือนสมัยโซเวียต แต่ก็ยังคงควบคุมแนวทางและการปฏิบัติ เช่น ให้สำนักศาสนาจดทะเบียนเพื่อดำเนินการ

ความสัมพันธ์ระหว่างปูตินกับรัสเซียออร์ธอด็อกซ์นั้น มีทั้งที่เป็นด้านส่วนบุคคลและด้านการปกครอง

ซึ่งสรุปได้ดังนี้

ด้านการปกครอง วลาดิเมียร์ ปูติน เกิด 1952 ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสองสมัย สมัยแรกระหว่างปี 2000-2008 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายใต้ ดมิทรี เมดเวเดฟ ระหว่างปี 2009-2012 กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ระหว่างปี 2012 ถึง 2018 กำลังลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกสมัยในปีนี้

ซึ่งเขาต้องดูแลศาสนาต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย

ในด้านส่วนบุคคล บิดาปูตินเป็นชาวพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ถือศาสนาและพระเจ้า

ส่วนมารดานับถือศาสนารัสเซียออร์ธอด็อกซ์ ได้ลอบทำพิธีบัพติศมาให้ปูตินเมื่อยังเป็นทารก ไม่ให้บิดารู้

หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ปูตินได้เข้าทำงานการเมืองในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (เลนินกราดเดิม) และมีภารกิจที่จะต้องเดินทางไปยังอิสราเอล ในปี 1993 มารดาได้ทำพิธีสวมสร้อยไม้กางเขนให้ ซึ่งเขาไม่เคยถอดออกเลยนับแต่นั้น

ปูตินได้เปิดให้สาธารณชนได้เห็นสร้อยไม้กางเขนนี้หลายครั้งในรูปเปลือยอกขณะที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง จนกระทั่งเป็นที่สนใจของผู้คน

นอกจากนี้ ปูตินยังได้แสดงตัวเปิดเผยว่าเป็นผู้เลื่อมใสศรัทธาในศาสนา ไปโบสถ์ สวดมนต์

การที่ปูตินเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน ช่วยให้มีผู้เลื่อมใสศรัทธาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

จนประมาณว่าชาวรัสเซียราวสองในสามแสดงตนเป็นผู้นับถือศานารัสเซียออร์ธอด็อกซ์ แม้จำนวนมากจะไม่ได้ถืออย่างเคร่งครัด ไปโบสถ์ สวดมนต์เป็นประจำ

สรุปก็คือ รัสเซียออร์ธอด็อกซ์ได้กลายเป็นศาสนาหลักของชาติไป

ในส่วนที่เป็นทั้งเรื่องส่วนตัวและการปกครองประเทศ ปูตินได้กล่าวในการให้สัมภาษณ์นิตยสารไทม์ของสหรัฐ ที่ได้เลือกเขาเป็นบุคคลแห่งปี 2007 ในประเด็นเกี่ยวกับบทบาทของศาสนาต่อรัฐบาลและการปกครอง

นิตยสารไทม์ได้ตั้งคำถามว่าเหตุใดเขาจึงให้ความสำคัญแก่ศาสนา ต่างกับผู้นำอื่นในสมัยสหภาพโซเวียตที่ไม่นับถือพระเจ้า และปฏิเสธบทบาทของศาสนา

ปูตินตอบว่า “อย่างแรกที่สุด เราควรปกครองโดยสามัญสำนึก (ไม่ใช่อุดมการณ์) แต่ก่อนอื่น สามัญสำนึกควรจะได้ตั้งอยู่บนฐานของศีลธรรม และเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่จะมีศีลธรรมโดยแยกจากค่านิยมทางศาสนา” (ดูบทความชื่อ Vladimir Putin and Religion ใน religionfacts.com, 2017)

คำสัมภาษณ์ดังกล่าวอธิบายได้ว่า ปูตินมีประสบการณ์ตรงที่เห็นความจำกัดของอุดมการณ์ที่ดูรอบด้านและสูงส่ง ทั้งได้มีการลงแรงปฏิบัติอย่างจริงจังมาหลายสิบปีในสมัยโซเวียต แต่การได้ผลกลับลดลง จนกลายเป็นสิ่งที่ตายตัว อืดอาด จนกระทั่งห่างไกลจากศีลธรรมและความเป็นจริงในที่สุด

เขาจึงได้ให้ความสำคัญแก่สามัญสำนึก คือ ความรู้สึกดีชั่วถูกผิด ความเหมาะควร และความเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ที่ผู้คนทั้งหลายทั้งปวงได้รู้สึกและเห็นได้

กลับไปสู่ศาสนารัสเซียออร์ธอด็อกซ์ ซึ่งเป็นนิกายศาสนาคริสต์ที่แยกตัวจากนิกายโรมันคาทอลิกในต้นศตวรรษที่ 11 ได้แผ่มาสู่รัสเซียและยุโรปตะวันออก กลายเป็นศาสนาประจำชาติรัสเซีย

นิกายนี้ไม่มีศูนย์อำนาจกลางเหมือนโรมันคาทอลิก แต่ละประเทศดูแลกันเอง มีประมุขของตนเอง เรียกว่า ปาตริอาร์กหรืออาร์กบิชอพ (ทางไทยเรียกว่าสังฆราช)

ไม่เคร่งด้านพิธีกรรม ส่งเสริมการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย

ในระยะเวลาหลายร้อยปี รัสเซียออร์ธอด็อกซ์ได้มีการปฏิรูปหลายครั้งตามการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์

แต่โดยทั่วไปดำรงควบคู่ไปกับระบบฟิวดัลในรัสเซีย

เมื่อเกิดปฏิวัติสังคมนิยมในปี 1917 โดยพรรคบอลเชวิก คริสตจักรนี้ก็ตกอับสูญเสียเอกสิทธิ์ต่างๆ ที่ดินและทรัพย์สินถูกริบ กิจกรรมทางศาสนาถูกจำกัดและเพ่งเล็ง

เมื่อโซเวียตล่มสลาย รัสเซียออร์ธอด็อกซ์ก็ได้ฟื้นตัวขึ้นใหม่ และมีอะไรต้องทำมากมายคู่ขนานไปกับการสร้างรัสเซียใหม่ในสมัยปูติน

การปฏิรูปคริสต์จักรรัสเซียออร์ธอด็อกซ์เกิดขึ้นจริงจังเมื่อปาตริอาร์กคีริลล์ (Patriarch Kirill เกิด 1946) ขึ้นสู่ตำแหน่งในปี 2009 สมัยประธานาธิบดีดมิทรี เมดเวเดฟ ท่านผู้นี้ได้ชื่อว่ามีแนวคิดเชิงปฏิรูปและเป็นแบบเสรีนิยมคล้ายเมดเวเดฟ

ความสัมพันธ์ระหว่างคีริลล์กับปูตินที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ดูราบรื่นดี จนกระทั่งเมื่อปูตินประกาศการลงสมัครแข่งขันในเดือนกันยายน 2011 ก็ได้เกิดการเคลื่อนไหวคัดค้านปูตินและรัฐบาลต่อเนื่องครั้งใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2011 จนถึงปี 2013

ประเด็นการเคลื่อนไหวสำคัญได้แก่ การโกงการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในเดือนธันวาคม 2011 และการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤษภาคม 2012 ลามไปสู่การโค่นล้มปูติน

Russian President Vladimir Putin gives a speech during a meeting with members of the country’s Olympic team at the Kremlin in Moscow on July 27, 2016.
President Vladimir Putin on July 27 said the absence of some Russian stars at the Rio Games would hit the quality of the competition. / AFP PHOTO / POOL / Alexander Zemlianichenko

ในช่วงแรกคีริลล์วางตัวเป็นกลาง กระทั่งเอียงข้างฝ่ายประท้วง ต้นเดือนธันวาคม 2011 เขากล่าวถึงการเคลื่อนไหวประท้วงว่า “เป็นการตอบโต้เชิงลบที่ถูกกฎหมายต่อการคอร์รัปชั่น”

แต่แล้วก็เปลี่ยนท่าทีอย่างรวดเร็ว คีริลล์กล่าวยกย่องการปกครองของปูตินในช่วงแปดปีแรกว่าเป็น “ปาฏิหาริย์ของพระผู้เป็นเจ้า” (มีนาคม 2012)

หลังจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองก็สนิทสนมเกื้อกูลกันอย่างที่เห็น

รัสเซียออร์ธอด็อกซ์บนเวทีโลก

รัสเซียใหม่ภายใต้ปูตินได้ก้าวขึ้นเวทีโลก รัสเซียออร์ธอด็อกซ์เป็นเช่นกัน ตามแนวทางการสร้างรัสเซียใหม่ที่เข้มแข็งมีบทบาทบนเวทีโลก รัสเซียออร์ธอด็อกซ์ (รวมทั้งศาสนาอื่น) ควรจะได้มีส่วนร่วม และมีบทบาททั้งในประเทศและเวทีโลกดังนี้

ประการแรก เป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางประวัติศาสตร์ สร้างรากฐานความเป็นเอกภาพในชาติและชาวรัสเซีย

ประการต่อมา ส่งเสริมความรักชาติ ความภูมิใจในมรดกทางประวัติศาสตร์และการก้าวหน้าต่อไปบนพื้นฐานนี้ รักษาความมั่นคงสถาบันสังคม ได้แก่ ครอบครัว การถือเพศภาวะ คัดค้านการกระทำข้ามเพศภาวะ มีการเรียกร้องสิทธิของเกย์ เป็นต้น

อีกประการหนึ่ง คัดค้านการกระทำสุดโต่ง เช่นเคร่งศาสนา คิดแยกดินแดน หรือเปิดเสรี ยอมรับพฤติกรรมข้ามเพศภาวะ เป็นต้น

ประการท้ายสุด คือการก้าวสู่เวทีโลก คีริลล์ได้พบปะกับสันตะปาปาฟรานซิส เป็นการพบระหว่างผู้นำคริสตจักรทั้งสองเป็นครั้งแรกที่กรุงฮาวานา นครหลวงของคิวบาในเดือนกุมภาพันธ์ 2016

มีการออกแถลงการณ์ร่วม ใจความเพื่อสร้างเอกภาพ การทำงานร่วมกันฉันมิตร ในโลกที่มีการท้าทายมากมาย

เหตุการณ์นี้ส่งเสริมให้รัสเซียออร์ธอด็อกซ์ก้าวขึ้นมาเป็นศาสนาใหญ่ของโลก

ทำให้รัสเซียมีภาพลักษณ์เป็นตัวแทนของชาวคริสต์ ขณะที่ชาวตะวันตกนับถือศาสนาและพระเจ้าน้อยลง

ลัทธิยูเรเซียใหม่-สะพานเชื่อมยุโรปและเอเชีย

ปูตินกล่าวถึงยูเรเซียมากขึ้นในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2012 แนวคิดยูเรเซีย เกี่ยวข้องกับทฤษฎีด้านภูมิรัฐศาสตร์

ในรัสเซียเองก็มีนักวิชาการนักคิดเช่น อเล็กซานเดอร์ ดูกิน (Aleksandr Dugin เกิด 1962) ที่รวมความคิดยูเรเซียกับการสร้างทฤษฎีการเมืองใหม่เข้าด้วยกัน

แต่ปูตินกล่าวถึงยูเรเซียจากความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์และสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันมากกว่า

ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน ชาวรัสเซียสำนึกว่าตนเป็นชาวยุโรป

การรุกรานของชาวมองโกลและเข้ามาปกครองรัสเซียอยู่หลายร้อยปี เป็นแรงกระตุ้นให้พระเจ้าซาร์หลายพระองค์เข้าผนวกดินแดนด้านตะวันออกไปจนถึงฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก

หลังการล่มสลาย ได้เกิดการต่อสู้สองแนวทางในการสร้างชาติรัสเซียใหม่ ระหว่างกลุ่มเสรีนิยมที่ต้องการพัฒนาตามแบบอย่างตะวันตก เรียกว่า “ลัทธิยุโรป-แอตแลนติก”

และกลุ่มที่เน้นให้รัสเซียครองความเป็นใหญ่ในดินแดนยูเรเซียเป็นลัทธิยูเรเซีย

ปูตินเอนเอียงมาทางลัทธิยูเรเซีย โดยคำนึงถึงเหตุการณ์ความเป็นจริงหลายประการ ได้แก่

ข้อแรก ตะวันตกต้องการความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอภาค ต้องการกดให้รัสเซียเป็นเบี้ยล่าง ในความสัมพันธ์แบบนี้รัสเซียไม่มีวันที่จะพัฒนาขึ้นมาเข้มแข็งได้เหมือนเดิม ประชาชนจะอยู่อย่างลำบากและอ่อนแอ

ข้อต่อมาได้แก่ วิกฤติเศรษฐกิจ 2008 ที่สหรัฐและสหภาพยุโรปและลามมาสู่รัสเซีย แสดงว่ายุโรปอยู่ในภาวะตะวันคล้อยจะตกดินในไม่ช้า ความจำเป็นในการสร้างโลก หลายขั้วอำนาจจึงเป็นไปได้ และมีความจำเป็นต้องทำให้เกิดขึ้น

ข้อสุดท้าย คือการรุ่งขึ้นของจีน ที่เข้มแข็งเกรียงไกรกว่าพวกมองโกลและประเทศญี่ปุ่นก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นอันมาก รัสเซียไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากผูกมิตรกับมหาอำนาจทางตะวันออกนี้

แนวคิดยูเรเซียของปูติน เป็นความคิดยูเรเซียแบบใหม่ ไม่ใช่ต้องการครองความเป็นเจ้า เพราะว่ามันไม่อาจเป็นไปได้ แต่เป็นแนวคิดที่จะวางบทบาทของรัสเซียในฐานะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างยุโรปและเอเชีย เสริมไปกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งทางของจีน

ปูตินได้เคลื่อนไหวจัดตั้ง “สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย” (EAEU หรืออย่างย่อว่า EEU) เริ่มดำเนินการต้นปี 2015 ประเทศสมาชิกได้แก่ เบรารุส คาซัคสถานและรัสเซีย และมีความคิดที่จะขยายสมาชิกไปยังประเทศอื่น

ปูตินได้กล่าวถึงโครงการนี้ว่า “สหภาพยูเรเซียเป็นโครงการที่ประสงค์จะรักษาเอกลักษณ์ของชาติต่างๆ ที่เข้าร่วมสหภาพ รวมทั้งประวัติศาสตร์ของชุมชนยูเรเซียในประเทศใหม่และในโลกใหม่” เป็นการมองถึงโลกใหม่ที่ตะวันออกมีบทบาทขึ้น

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงแรงขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ของรัสเซีย และปรัชญาการยูโดทางการเมืองของปูติน