สุจิตต์ วงษ์เทศ/ลาวลุ่มน้ำโขง โยกย้ายลงไปเป็น ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา

พระเจ้าพรหม วีรบุรุษในตำนานโยนก-ล้านนา เป็นต้นวงศ์พระเจ้าอู่ทอง กรุงศรีอยุธยา ไม่มีตัวตนจริง แต่มีผู้พยายามทำให้มีจริง (วาดจากจินตนาการของ "ปิยะดา" พิมพ์ครั้งแรกในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2547)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ลาวลุ่มน้ำโขง

โยกย้ายลงไปเป็น

ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ตํานานนิทานเป็นคำบอกเล่าเชิงสัญลักษณ์ถึงความเคลื่อนไหวของภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท จากลุ่มน้ำโขง ลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตามเส้นทางการค้าทางบกของดินแดนภายใน ซึ่งไม่มีเส้นทางเดียว
ทางหนึ่ง ตามลำน้ำสาขา เช่น กก-อิง-น่าน ผ่านเชียงแสน, เชียงราย, พะเยา, ลำปาง, แพร่, น่าน, อุตรดิตถ์ ฯลฯ
อีกทางหนึ่ง จากเชียงแสน, เชียงราย และหลวงพระบาง ตามแม่น้ำโขงลงเชียง คาน, เลย, ด่านซ้าย, นครไทย, ชาติตระการ, อุตรดิตถ์ ฯลฯ
เส้นทางอื่นนอกเหนือจากนี้อาจมีอีกก็ได้ แต่ขณะนี้ยังไม่พบ

เชื้อสายพระเจ้าพรหม

พระเจ้าแผ่นดินองค์แรกของกรุงศรีอยุธยา เป็นลาวลุ่มน้ำโขง เชื้อสายพระเจ้าพรหม (ตามตำนานสิงหนวัติ) อยู่ในความทรงจำมาแต่ยุคแรกๆ ของเจ้านาย, ขุนนางข้าราชการระดับสูงของกรุงศรีอยุธยา
แต่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเก่าสุดในเอกสารของ วัน วลิต (พ่อค้าฮอลันดา เนเธอร์แลนด์) เข้าไปในพระนครศรีอยุธยาแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ.2182 อ้างถึงผู้ก่อตั้งอยุธยา คือ “พรมเทพ” (มาจากพระเจ้าพรหมในตำนานสิงหนวัติ)
นับแต่นั้นก็มีบันทึกความทรงจำยุคอยุธยาตกทอดต่อมาไม่ขาดสายอย่างเดียวกันว่าพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาองค์แรก ที่รู้จักทั่วไปในชื่อตามตำนานว่าพระเจ้าอู่ทอง เป็นลาวลุ่มน้ำโขง จากเมืองเชียงแสน, เมืองเชียงราย

ร.4 ว่า พระเจ้าอู่ทอง เป็นลาว

พระเจ้าอู่ทอง (ในตำนานนิทาน) เป็นลาวลุ่มน้ำโขง จากเมืองเชียงแสน (จ. เชียงราย) ร.4 ทรงอธิบายพระราชทานให้หมอดีนส่งไปลงหนังสือพิมพ์ในเมืองจีน เมื่อ พ.ศ.2394 ว่า “พระเจ้าอู่ทองเป็นราชบุตรเขยของพระเจ้าศิริชัยเชียงแสน”
[สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอ้างไว้ในตำนานหนังสือพระราชพงศาวดาร อยู่ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (เล่ม 1) กรมศิลปากร พิมพ์ พ.ศ.2542 หน้า 39]

ร.5 ก็ว่าเป็นลาว

ต่อมา พระพุทธเจ้าหลวง ร.5 ทรงบอกไว้ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน (อยู่ในเดือน 4) ว่า “บรมราชวงศ์เชียงราย ตั้งแต่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ลงมา เป็นเชื้อสายของเงี้ยวหรือลาว”
เงี้ยวในที่นี้หมายถึงกลุ่มชนในวัฒนธรรมลาว ลุ่มน้ำสาละวิน (ในพม่า) แต่ไทยสยามเรียกคนกลุ่มนี้ว่าลาวพุงดำ หรือไทยใหญ่
พระเจ้าอู่ทองเป็นลาว ยังมีในพระราชนิพนธ์ ร.5 อีกหลายแห่ง จะเชิญมาดังนี้
“สมเด็จพระรามาธิบดี ที่สถาปนากรุงศรีอยุธยา ทรงเป็นเชื้อราชวงศ์ลาว”
ข้อความยกมานี้เป็นพระราชนิพนธ์ในพระพุทธเจ้าหลวง ทรงวิจารณ์เรื่องพระราชพงศาวดาร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โปรดให้พิมพ์แจก (ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรพินทุ์เพ็ญภาคย์ เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2479) จะคัดข้อความอีก 3 ตอน ดังนี้
“พระเจ้าแผ่นดินผู้ที่สร้างกรุงทวารวดีศรีอยุธยานั้น เป็นเชื้อราชวงศ์มาแต่ข้างฝ่ายลาว”
“สมเด็จพระรามาธิบดีนี้ ท่านก็เป็นพระเจ้าแผ่นดินข้างฝ่ายลาว”
“ในต้นราชตระกูลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 นั้น เป็นเชื้อลาวมาตั้งพระราชธานีในประเทศสยาม ธรรมเนียมต่างๆ คงยังเจือลาวอยู่บ้าง”

เชียงแสน เชียงราย

พระเจ้าอู่ทอง เป็นลาวลุ่มน้ำโขง จากเมืองเชียงแสน จ.เชียงราย มีหลักฐานและร่องรอยหลายอย่าง เช่น
พระเจ้าแผ่นดินองค์แรกของชาวสยามอยุธยา ครองอยู่เมืองแห่งแรกชื่อไชยบุรีมหานคร จากนั้นย้ายไปอยู่เมืองอีกแห่งหนึ่งชื่อไม่ชัดเจน เป็นความทรงจำของเจ้านายขุนนางข้าราชการกรุงศรีอยุธยา แล้วลาลูแบร์ฟังไปจดบันทึกในจดหมายเหตุ
“ไชยบุรีมหานคร” ในตำนานของคนยุคอยุธยา คือเมืองเชียงราย จ.เชียงราย พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ (ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์โบราณคดี ของกรมศิลปากร) บอกไว้ในหนังสือ เมืองราดของพ่อขุนผาเมืองกรุงสุโขทัย และรอยเชื่อมในประวัติศาสตร์ไทย (กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2555 หน้า 52-53)
เชียงแสน, เชียงราย เป็นหลักแหล่งหลากหลายชาติพันธุ์ แต่เรียกรวมๆ สมัยหลังว่าอยู่ในวัฒนธรรมลาว ในตำนานว่าเป็นดินแดนโยนกของไตโยน, ไตยวน
ไต แปลว่า ชาว (หรือคน) ไม่ไทยตามความหมายปัจจุบัน
โยน, ยวน, ยูน แปลว่า ข้าทาส เป็นคำพม่า (จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายไว้นานแล้ว)

ลุ่มน้ำน่าน อุตรดิตถ์

จากไชยบุรีมหานคร พระเจ้าแผ่นดินองค์แรกของชาวสยามยุคอยุธยา ที่ลาลูแบร์บันทึกไว้ ย้ายไปสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งไม่มีใครบอกได้ว่าอยู่ไหน?
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ บอกไว้แล้วว่าย้ายไปอีกแห่งหนึ่งเรียก “ท่าเสานครหลวง” อยู่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำน่าน ปัจจุบันเรียกบ้านท่าเสา ต.ท่าอิฐ อ.เมืองฯ จ.อุตรดิตถ์
ย่านนี้มีทั้งพระธาตุเมืองฝาง (สวางคบุรี) และพระบรมธาตุทุ่งยั้ง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สืบเนื่องมาจนทุกวันนี้