สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ล่องสาละวิน เยือน ร.ร. I see U ภาษาไทยบันใด 4 ขั้น ที่บ้านกลอเซโล (9)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ออกจากโรงเรียนบ้านบุญเลอ คณะ กพฐ. ไปกันต่อ รถขับเคลื่อนสี่ล้อลัดเลาะไปตามเส้นทางรายรอบด้วยผืนป่า ไต่เขาสูงขึ้น สูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงเนินสูงสุดที่พักรถ ถูกเนรมิตเป็นจุดชมวิว “สุดแดนสยามบนยอดดอย” มองลงไปเห็นพื้นที่สามเหลี่ยมแม่น้ำเมยบรรจบกับสาละวิน ภาพธรรมชาติสร้างช่างสวยงามตรึงตา สายน้ำไหลเชี่ยว สองฝั่งโอบรอบด้วยแมกไม้เขียวครึ้ม

พักรอจนขบวนรถทุกคันมาพร้อมกันแล้วเดินทางต่อไปตามถนนลูกรัง หินกรวดใหญ่น้อยขรุขระ โขยกเขยกไปจนเข้าเขตหมู่บ้าน จอดหน้าโรงเรียนบ้านกลอเซโล ตั้งอยู่กลางชุมชน

หน้าประตูทางเข้าเห็นป้ายประชาสัมพันธ์ โครงการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมสำหรับโรงเรียนที่ไม่มีไฟฟ้า โดย กสทช. และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด พ.ศ.2553 ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เก็บพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในโรงเรียน ได้ยินเสียงเครื่องปั่นไฟสำรองดังกระหึ่งมาจากด้านหลัง

ด้านในป้ายแนะนำประวัติโรงเรียนเขียนบอกไว้หน้าอาคาร ปี 2531-2532 ปิด ไม่มีครูสอน เปิดปี 2533 โครงการน้ำใจไทยในอเมริกันที่ 14 มาช่วยสร้างอาคารปี 2536

ถึงวันนี้มีนักเรียนทั้งหมดเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยง 72 คน ชาย 39 คน หญิง 33 คน ในจำนวนนี้เป็นนักเรียนพักนอนที่โรงเรียน 12 คน มีเด็กพิเศษเรียนร่วม 8 คน

ครู 7 คน เป็นครูการศึกษาพิเศษ 1 คน มีทั้งที่เป็นคนพื้นราบจากลำปาง แม่สะเรียง กะเหรี่ยงและไทยใหญ่ มี น.ส.พิมพ์ประไพ ฤทธิ์ธรรมชาติ ครูเอกปฐมวัยและสอนภาษาไทยด้วย ทำหน้าที่รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียน

เธอบอกว่า มีเชื้อสายไทยใหญ่ รักษาราชการแทน ผอ. มาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว

 

โรงเรียนบ้านกลอเซโลเป็นหนึ่งใน 20 โรงเรียนนำร่องการอ่านออกเขียนได้ ครูพิมพ์ประไพเคยเข้าร่วมหลักสูตรฝึกอบรมจัดโดย ดร.ศิวกานท์ ปทุมสูติ ผู้เชี่ยวชาญการสอนภาษาไทย แล้วนำมาพัฒนาเป็นโครงการส่งเสริมการอ่านออกเขียนได้ที่โรงเรียนทำให้นักเรียนพัฒนาขึ้นมาก สามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้กว่า 80%

เดินชมบริเวณโรงเรียน ครูสำนึก ชัยเพชรภูธร ในชุดกะเหรี่ยง สอนนักเรียนห้อง ป.2 ออกมาชวนให้ขึ้นไปทักทายนักเรียนของเขา กำลังเรียนเรื่องสุขอนามัย ดูจากจอดีแอลทีวี

ผมฟังเสียงเด็กอ่านออกเสียง สะกดคำต่างๆ นึกสนุก ขอเข้าร่วมชั้นเรียนด้วย ให้นักเรียนช่วยกันเขียนชื่อจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทยที่พวกเธอจำได้ ออกไปเขียนบนกระดานหน้าห้อง

เด็กนั่งคิด มองหน้าครูฉุกเฉินชั่วครู ก่อนพากันยกมือออกไปเขียนทีละคนสองคน ลำพูน ลำปาง เชียงราย แม่ฮ่องสอน สบเมย แม่สามแลบ

ผมเขียนคำถามใหม่บนกระดาน ไหนบอกครูซิ เด็กดีเป็นอย่างไร เขียนคำตอบให้ดูหน่อย เด็กรีบออกไปเขียนแข่งกัน ช่วยพ่อแม่ถูบ้าน กวาดบ้าน ผมถามต่อ แล้วเด็กไม่ดีล่ะเป็นอย่างไร เด็กนั่งนึก ก่อนเอ่ยตอบ ไม่ช่วยพ่อแม่ถูบ้าน กวาดบ้าน ผมอดยิ้มด้วยความสุขไปกับเด็กๆ ไม่ได้ ภาษาไทยใช้การได้ ไม่กลัวคนแปลกหน้า กล้าแสดงออกอีกต่างหาก

ครูสำนึกปล่อยให้ผมเรียนๆ เล่นๆ กับเด็กสนุกสนานชั่วครู่ กลับเข้ามาใหม่พร้อมด้วยเอกสารปึกใหญ่ คู่มือการสอนภาษาไทยโดยวิธีการแจกลูกผสมคำ ของ ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ วิทยากรสอนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ผมพลิกอ่านด้านใน พิมพ์ครั้งที่ 10 พ.ศ.2553 ศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม เคล็ดไทยจัดจำหน่าย

ครูบอกว่า วิธีการของ ผศ.ศิวกานท์ ใช้ได้ผลมาก การสอนภาษาไทยโดยแจกลูกผสมคำ ทำให้เด็กอ่านออก เขียนคำสะกด การัตน์ ถูกต้องขึ้น

 

การเรียนการสอนภาษาไทย คณะครูร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษาทำโครงการส่งเสริมการอ่านออกเขียนได้ ผลิตแผ่นพับแนะนำขั้นตอนการปฏิบัติ ชัดเจน อ่านง่าย สะดวกใช้ “กิจกรรมบันไดทักษะ 4 ขั้น แก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แก้ง่ายนิดเดียวตามแนวทางของ ดร.ศิวกานท์”

ขั้นที่หนึ่ง แจกลูกให้ผูกจำ วันละ 30 นาที ขั้นที่สอง อ่านคำ ย้ำวิถี วันละ 10 นาที ขั้นที่สาม คัดลายมือซ้ำอีกที วันละ 10 นาที ขั้นที่สี่ เขียนคำบอกทุกชั่วโมง วันละ 10 นาที

เดือนแรก อ่านเขียน แจกลูก แม่ ก.กา และผันเสียง 20 ชั่วโมง

เดือนที่สอง อ่านเขียนแจกลูกสะกดคำ แม่ กง กน กม เกย เกอว และผันเสียง 25 ชั่วโมง

เดือนที่สาม อ่านเขียนแจกลูกสะกดคำ แม่กก กด กบ ย้อนบูรณาการกับตัวสะกดคำเป็นในสระที่เพิ่มเข้ามาและผันเสียง 20 ชั่วโมง

เดือนที่สี่ อ่านเขียนแจกลูกคำสระลดรูป คำสระเปลี่ยนรูป คำควบกล้ำ คำอักษรนำ และผันเสียง 20 ชั่วโมง

ทำตามขั้นตอนบันได 4 ขั้น สรุปผลการจัดกิจกรรม ผลการอ่าน ร้อยละ 68.85 ได้ระดับดีเยี่ยม ร้อยละ 9.83 ได้ระดับดีมาก ร้อยละ 6.67 ได้ระดับดี ร้อยละ 4.91 ได้ระดับพอใช้ ร้อยละ 8.19 ได้ระดับอ่านไม่คล่อง

การเขียน ร้อยละ 34.42 ได้ระดับดีเยี่ยม ร้อยละ 8.19 ได้ระดับดีมาก ร้อยละ 8.19 ได้ระดับดี ร้อยละ 8.19 ได้ระดับพอใช้ ร้อยละ 6.67 ได้ระดับควรปรับปรุง

ครูสมนึก เคยสอนที่โรงเรียนเอกชนมาก่อน มาสอบเป็นครูอัตราจ้างได้ที่โรงเรียนบ้านกลอเซโล ครูบอกว่า ไม่ค่อยได้ลาหยุดกัน อยู่บนดอยมีความสุขที่ได้เห็นพัฒนาการของนักเรียน

ฟังครูแล้วคิดถึงดัชนี้ชี้วัดความสำเร็จของการจัดการศึกษา น่าวัดดัชนีความสุขของครู นักเรียน ตรงนี้ต่างหากเป็นตัวชี้วัดเชิงประจักษ์ ที่มีความหมายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคะแนนโอเน็ต เอ็นที ปิซ่า

อย่างที่ครูเรฟ เอสควิก โรงเรียนประถมศึกษาโฮบาร์ต ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา เจ้าของผลงานเขียน “ครูนอกกรอบ ห้องเรียนนอกแบบ” เขียนไว้ ตัวชี้วัดการประเมินการอ่านของเด็กอาจเริ่มต้นที่คะแนนจากแบบทดสอบมาตรฐาน แต่ท้ายที่สุด เราต้องวัดความสามารถในการอ่านของเด็กจากเสียงหัวเราะที่เปล่งออกมาและน้ำตาที่รินไหลขณะที่เด็กซึมซับตัวอักษร

ครับ ไม่ใช่แต่ตัวเลขในสมุดยืมหนังสือ แต่เป็นเสียงหัวเราะและน้ำตาของเด็กที่เกิดขึ้นจากการอ่าน เป็นหลักฐานยืนว่าเด็กได้ความรู้ ความรู้สึก อารมณ์ร่วม จินตนาการจากการอ่านจริง

 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความเสียสละทุ่มเท พยายามช่วยเหลือนักเรียนของครูบนดอย ครูอัตราจ้างทำงานครบ 5 ปีสอบบรรจุเป็นข้าราชการไม่ได้สักที ยังมีอีกมาก

กับครูที่สอบได้และขึ้นบัญชีไว้ พอได้รับการเรียกตัวเพื่อบรรจุ เดินทางไปดูโรงเรียน ห่างไกลยากลำบาก ขึ้นรถ ต่อเรือ ข้ามห้วย ข้ามเขา หลายชั่วโมง ไม่ไหว ขอสละสิทธิ์ดีกว่า ยังเกิดขึ้นเป็นปกติ ทำให้โรงเรียนขาดครู ขาดผู้อำนวยการตัวจริง มีแต่รักษาการยาวนาน ปัญหานี้ยังดำรงอยู่ในหลายโรงเรียน โรงเรียนบ้านกลอเซโลก็เป็นหนึ่งในนั้น

ทางออกควรเป็นเช่นไร ฟังความคิดของครูเอกชัย กี่สุขพันธ์ กรรมการ กพฐ. เสนอให้ใช้แนวทางครูครอบครองปรปักษ์

“ครูคนไหนทำงานด้วยความมานะอดทนต่อความยากลำบาก สอนในโรงเรียนอย่างนี้ติดต่อกันได้นานถึง 5 ปี ไม่ขอย้ายไปไหน ให้พิจารณาบรรจุเป็นครูเลย แบบการครอบครองที่ดิน หากผู้ครอบครองเกิน 10 ปีไม่มีใครมาทวงสิทธิ์ ถือว่าครอบครองปรปักษ์”

แนวคิดแบบท้าทายนี้ควรรับไว้พิจารณาหรือไม่ อาจขยายจาก 5 ปีเป็น 10 ปีก็ยังไม่สายเกินไป