โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/หลวงพ่อแจ๋ ติสสโร พระเกจิบางน้ำเปรี้ยว

หลวงพ่อแจ๋ ติสสโร

โฟกัสพระเครื่อง

โคมคำ
[email protected]

หลวงพ่อแจ๋ ติสสโร

พระเกจิบางน้ำเปรี้ยว

“หลวงพ่อแจ๋ ติสสโร” พระเกจิชื่อดังวัดโพธิ์เฉลิมรักษ์ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ผู้ปรากฏเกียรติคุณชื่อเสียงโด่งดังมาแต่ครั้งอดีต
วัตถุมงคลล้วนได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะรูปเคารพนางกวัก และเหรียญนางกวัก
สำหรับ “นางกวัก” นับเป็นหนึ่งในรูปเคารพที่มีผู้นับถือกันอย่างมาก โดยเชื่อว่าสามารถดลบันดาลโชคลาภ เรียกทรัพย์สินเงินทองให้บังเกิดแก่ผู้กราบไหว้บูชา ให้ทำมาค้าขึ้น ซื้อง่าย ขายคล่อง และมีเสน่ห์มหานิยมด้วย
รูปเคารพนางกวัก ส่วนใหญ่ จะมีลักษณะเป็นสตรีไทยสมัยโบราณ ผมยาวประบ่า ห่มผ้าสไบเฉียง นุ่งผ้ายกดอก ประกอบด้วยพาหุรัด ทองกร และสร้อยสังวาล นั่งพับเพียบหรือคุกเข่าอยู่บนแท่นทอง มือขวายกงอขึ้นในลักษณะท่ากวักมือ มือซ้ายจะถือถุงเงินถุงทอง และจารึกอักขระขอม หัวใจพระสีวลี ผู้เป็นเอตทัคคะทางโชคลาภ คือ นะ ชา ลิ ติ เป็นต้น
วัตถุมงคลที่หลวงพ่อแจ๋สร้างนั้น มีเพียงไม่กี่รุ่น แต่ล้วนมีประสบการณ์ จนเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสในละแวกนั้น สมัยนั้นใครได้รับวัตถุมงคลจากมือ หลวงพ่อแจ๋ มักจะกล่าวกันว่า “รับกับมือแจ๋ แจ๋วแน่นอน” เป็นที่เล่าขานกันมาตราบทุกวันนี้
ที่ได้รับความนิยมในวงการพระเครื่อง คือ “เหรียญนางกวัก”
เหรียญนางกวัก หลวงพ่อแจ๋ สร้างในปี พ.ศ.2502 นับเป็นรุ่นแรกและรุ่นเดียว สร้างเป็นเนื้อเงินลงยา และเนื้ออัลปาก้า จำนวนการสร้างไม่เกิน 1,000 เหรียญ ปัจจุบันมีค่านิยมสูงและหายากยิ่ง
ลักษณะเป็นเหรียญรูปทรงห้าเหลี่ยม ด้านล่างเป็นเหมือนกลีบบัว 3 กลีบ หูในตัว
ด้านหน้าเหรียญ ยกขอบเส้นลวด มีอักขระขอมล้อมรอบ ภายในกรอบยันต์เป็นรูปหญิงไทยโบราณนั่งพับเพียบ มือขวายกมือกวักลาภ มือซ้ายวางไว้ที่หน้าตัก ซึ่งมีอักขระขอมว่า “โมมา” เหนือศีรษะมีคำว่า “นะ” ที่หูด้านขวามีคำว่า “นิ” หูด้านซ้ายมีคำว่า “มา” แขนซ้ายมีอักขระว่า “พุทธ” ต่อลงมาเป็นอักษรไทยว่า “พระครูแจ๋” และใต้อาสนะมีอักขระว่า “ทา อิ กะ วิ ติ”
ด้านหลังเหรียญ เป็นหลังเรียบ โดยหลวงพ่อแจ๋ จะลงอักขระของท่านด้วยเหล็กจารทุกองค์
นักสะสมต่างเสาะแสวงหามาครอบครอง สนนราคาเล่นหาก็สูงตามไปด้วย

เหรียญนางกวัก หลวงพ่อแจ๋

หลวงพ่อแจ๋ เดิมชื่อ จั่น เกิดเมื่อวันพุธ เดือน 8 ปีมะโรง ตรงกับปี พ.ศ.2432 ณ ต.ท่าไข่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา
ในวัยเด็กเรียนหนังสือกับพระอาจารย์เที่ยงและพระอาจารย์ทอง ซึ่งมีศักดิ์เป็นอา ที่วัดเมืองได้ระยะหนึ่ง แล้วกลับมาช่วยงานทางบ้านประมาณ 2-3 ปี จึงได้กลับไปบรรพชาอยู่กับหลวงอาทั้งสองอีกครั้ง
ช่วงที่เป็นสามเณร ศึกษาพุทธาคมกับหลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน ซึ่งขณะนั้นมาเป็นครูสอนกัมมัฏฐานอยู่ที่วัดโสธรวราราม
ต่อมาได้ลาสิกขาและเข้ารับราชการทหารอยู่ 2 ปี จึงได้ลาออก และเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ที่พัทธสีมา วัดนครเนื่องเขต (ต้นตาล) จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2455 โดยมีพระครูคณานุกิจ วัดแหลมบน (สายชล ณ รังษี) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูวินัยธรปาน วัดแหลมบน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูฮ้อ วัดแหลมบน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายา ติสสโร
จากนั้นจำพรรษาที่วัดนครเนื่องเขต (วัดต้นตาล) ศึกษาพระธรรมวินัย เรียนอักขระเลขยันต์ และวิทยาอาคมต่างๆ จากพระครูญานรังสีมุนีวงษา (ทำ) วัดสัมปทวน (นอก) เจ้าตำรับการสร้างพระปิดตาผงคลุกรักอันโด่งดัง, พระอาจารย์บัว วัดนครเนื่องเขต
นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาเพิ่มเติมกับพระเกจิอาจารย์อีกหลายรูป รวมทั้งอาจารย์สอน ฆราวาสชาวเขมร ต่อมาย้ายมาจำพรรษา ณ วัดโพธิ์เฉลิมรักษ์ อ.บางน้ำเปรี้ยว
และได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบแทนอาจารย์พรหม

เมื่อรับหน้าที่ปกครองดูแลวัด ท่านก็ได้ทำนุบำรุงและพัฒนาถาวรวัตถุและเสนาสนะต่างๆ ภายในวัดจนวัดเจริญรุ่งเรือง รวมทั้งมีส่วนช่วยเหลือและพัฒนาวัดโพธิ์แสงกาญจนราษฎร์ (คลอง 19) อีกวัดหนึ่งด้วย
ในช่วงที่มาอยู่ที่วัดโพธิเฉลิมรักษ์ อาพาธล้มป่วยลง พอดีกับอาจารย์สอนซึ่งเป็นชาวเขมรเดินทางมาเยี่ยมและพบเข้า อาสารักษาจนกระทั่งท่านหายดี จึงได้เรียนวิชาแพทย์แผนโบราณกับอาจารย์สอนด้วย
นอกจากนี้ ท่านยังได้เรียนวิชาโหราศาสตร์ควบคู่ไปด้วย จึงมีความรู้ในหลายด้าน
เป็นพระที่เมตตาธรรมสูง เคร่งครัดในระเบียบวินัย ใครไปใครมาท่านต้อนรับเสมอภาคกัน ช่วยเหลือปัดเป่าให้ทุกรายไป
จึงเป็นที่รักใคร่ของชาวบ้านในแถบนั้นมาก

วัตถุมงคลที่สร้างนั้นมีเพียงไม่กี่รุ่น แต่ละรุ่นล้วนมีประสบการณ์ จนเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใส กล่าวกันว่า สมัยนั้นใครได้รับวัตถุมงคลจากมือหลวงพ่อแจ๋ มักจะกล่าวกันว่า “รับกับมือแจ๋ แจ๋วแน่นอน” เป็นที่เล่าขานกันมาจนทุกวันนี้
ที่ได้รับความนิยมสูงในวงการ นอกจากเหรียญนางกวัก ปี 2502 ยังมีเหรียญหลวงพ่อแจ๋ ปี 2502 พิมพ์หน้าหนุ่มและหน้าแก่ และรูปหล่อปั๊มปี 2513, พระเนื้อผง เป็นต้น
มรณภาพเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2516 สิริรวมอายุ 84 ปี พรรษา 61