กรองกระแส/เมื่อเริ่ม จากกลัว รวมพล คนอยากเลือกตั้ง ก็เป็น อาชญากรรม

กรองกระแส

เมื่อเริ่ม จากกลัว

รวมพล คนอยากเลือกตั้ง

ก็เป็น อาชญากรรม

ไม่ว่าการออกมาปราม “อาจารย์” ไม่ว่าการออกมาปราม “นิสิตนักศึกษา ประชาชน” ที่ออกมาเคลื่อนไหวในนาม Start Up People
มาจาก “ความกลัว”
หากทุกอย่างดำเนินไปตามปกติ อย่างมากที่สุดก็แค่นำเอา พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ออกมาปราม
หรือไม่ก็อาจพ่วงคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เข้าไปด้วย
แต่นี่ไม่ว่า คสช. ไม่ว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่างพยายามจะขยายกรอบและขอบเขตออกไปจนถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116
ราวกับเด็กๆ เหล่านี้จะพากันออกมาทำลายความมั่นคง โค่นล้มรัฐบาล
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นเมื่อวันที่ 27 มกราคม บนลานสกายวอล์ก แยกปทุมวัน ไม่ว่าจะเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พวกเขาเพียงเรียกร้องต้องการ “การเลือกตั้ง”
ในที่สุดแล้ว ความกลัวของ คสช. ความกลัวของรัฐบาล จึงรวมศูนย์ไปยังความกลัวจะแพ้ต่อการเลือกตั้ง ความกลัวที่จะไม่ได้สืบทอดอำนาจ หรือถึงได้สืบทอดก็ไม่ได้ราบรื่น

บทเรียนจากอดีต
ผ่าน “การเลือกตั้ง”

บทเรียนจากอดีตในที่นี้มิได้เป็นเพียงอดีตจากพรรคไทยรักไทย หากแต่ยังเป็นอดีตจากพรรคพลังประชาชน และเป็นอดีตจากพรรคเพื่อไทย
รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป้าหมายคือพรรคไทยรักไทย
จึงไม่เพียงแต่จะมีการฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ทิ้ง แล้วร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ขึ้นมา และดำเนินการยุบพรรคไทยรักไทย เพื่อลบบทบาทและความหมายของพรรคไทยรักไทยให้หมดสิ้นไปจากหัวใจประชาชน
แต่แล้วในเดือนธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชนอันเป็นอวตารของพรรคไทยรักไทยก็ยังได้ชัยชนะจากการเลือกตั้ง
จึงต้องมีการเคลื่อนไหวอีกครั้งและนำไปสู่การยุบพรรคพลังประชาชน และดำเนินการปราบปรามการลุกขึ้นมาของ นปช. อันเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นกับเครือข่ายของพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นอวตารจากพรรคพลังประชาชนและพรรคไทยรักไทย
แต่แล้วในเดือนกรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยก็ยังได้รับความไว้วางใจเป็นอย่างสูงจากประชาชนในการเลือกตั้ง
จึงจำเป็นต้องก่อสถานการณ์นำไปสู่การรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557

บทเรียน เสียของ
บทเรียน รัฐประหาร

รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ได้กลายเป็นสิ่งหลอกหลอนและย้ำเตือนต่อรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อย่างรุนแรงล้ำลึก
เพราะคำว่า “เสียของ” จากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ลอยเด่น
รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จึงอุดช่องว่างรอยโหว่ทุกด้าน ไม่ว่าจะการงัดเอามาตรา 44 มาเป็นเครื่องมือ ไม่ว่าจะการงัดคำสั่งหัวหน้า คสช. มากำราบต่อทุกการเคลื่อนไหวในทางการเมือง และในที่สุดการวางระบบเพื่อรักษาและสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทำ “ประชามติ” ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศและบังคับใช้เมื่อเดือนเมษายน กระทั่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองผ่านการประกาศและบังคับใช้เมื่อเดือนตุลาคม
แต่การปลดล็อกพรรคการเมืองให้ทำกิจกรรมทางการเมืองก็ยังไม่เกิดขึ้น
ไม่เพียงแต่เท่านั้น ยังมีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 57/2560 ออกมา อันนำไปสู่การปรับแก้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และนำไปสู่การยกร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. อันทำให้กำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในเรื่องการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญต้องเลื่อนออกไปอีก 90 วัน
แต่ที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ กระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ก็ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเลือกตั้งในวันใด
นี่จึงเท่ากับเป็นรูปธรรมแห่งความกลัวและยังไม่กล้าที่จะเข้าสู่สนาม “การเลือกตั้ง”

เป้าหมาย คงเดิม
ปรปักษ์ ยังคงเดิม

จากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 มายังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เหมือนกับสถานการณ์จะเปลี่ยน
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแทบไม่มีอะไรเปลี่ยน
ทุกอย่างยังเริ่มต้นจากความกลัวต่อปรปักษ์ทางการเมืองเดิม เพียงแต่เปลี่ยนจากพรรคไทยรักไทย จากพรรคพลังประชาชน มาเป็นพรรคเพื่อไทย
ยังเป็นความหวาดกลัวว่าจะต้องพ่ายแพ้ใน “การเลือกตั้ง”
จึงไม่ยอมกำหนดโรดแม็ปการเลือกตั้งอย่างเด่นชัด จึงมองเห็นและประเมินคนที่แสดงตนว่าอยากและต้องการการเลือกตั้งเป็นศัตรูที่จะต้องใช้ไม้แข็งในทางกฎหมาย ในทางการเมืองเข้าไปจัดการ ไม่ว่าจะเป็นนิสิตนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นครูบาอาจารย์ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง
เป็นความกลัวต่อการเลือกตั้ง เป็นความกลัวจะแพ้ต่อการเลือกตั้ง